Skip to main content
sharethis

วงเสวนาภาคประชาชนเตือนภาครัฐและสังคมไทยเฝ้าระวังไข้หวัดนกให้ดี เพราะเชื้อไวร้สอาจกลายพันธุ์จนติดต่อจากคนสู่คน พร้อมระบุคนไทยต้องช่วยกันหาวิธีรับมือกับโรคนี้ด้วยความเท่าเทียม

 

ประชาไท - 22 ต.ค. 2549 ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกภาคเกษตร ตัวแทนแรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกไก่สด และตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงเสวนาเรื่อง "ไข้หวัดนก-ไข้หวัดมรณะ" ซึ่งจัดโดยพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ในงานสมัชชาสังคมไทย

 

ปัญหาเรื่องไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามหาแนวทางป้องกันและควบคุมมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านั้นจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ยังไม่ได้รับการควบคุมอย่างได้ผลตามที่ตั้งเป้าไว้

 

ในการเสวนาเรื่อง "ไข้หวัดนก-ไข้หวัดมรณะ" ได้มีการอ้างอิงถึงข้อมูลไนเวบไซต์ขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มปิดไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่าฟาร์มปิดแห่งหนึ่งในเวียดนามเป็นสถานที่แรกที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก แต่รัฐบาลไทยกลับเข้มงวดกวดขันเกษตรกรรายย่อยเพียงอย่างเดียว โดยกล่าวว่าสัตว์ปีกในฟาร์มเปิดที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เป็นพาหะนำโรคไข้หวัดนก จึงจำเป็นต้องกำจัดให้หมดเชื้อ แต่กลับรับประกันว่าไก่ในฟาร์มปิดของกลุ่มทุนรายใหญ่ปลอดภัยกว่า

 

สุเมธ ปานจำลอง ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกภาคเกษตรฯ กล่าวว่าเกษตรกรหลายรายที่เลี้ยงไก่ในระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming)ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อกรณีไข้หวัดนกระบาดในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

 

การเกษตรพันธสัญญา หมายถึงการทำเกษตรกรรมแบบรับจ้าง ซึ่งทำให้เกิด "สัญญาทาส" ขึ้นมา เพราะเมื่อเกิดไข้หวัดนกระบาดอย่างหนักในประเทศไทย เกษตรกรที่มีพันธสัญญากับบริษัทรายใหญ่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือข้อยกเว้นใดๆ เลย

 

ทั้งนี้ รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการเกษตรพันธสัญญาขึ้น เพราะรัฐบาลต้องการหลักประกันด้านการผลิต และอยากนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้เพื่อความก้าวหน้า แต่การทำพันธสัญญาระหว่างบริษัทกับเกษตรกรกลับเป็นการผลักภาระให้กับชุมชน โดยก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก เกษตรกรพันธสัญญาต้องรับผิดชอบเรื่องการสร้างพื้นที่เลี้ยงไก่ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเลี้ยงไก่แบบฟาร์มเปิด แต่เมื่อมีการระบาดของไข้หวัดนก ทางบริษัทผู้ผลิตได้เรียกร้องให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ในระบบฟาร์มปิด ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และถ้ามีไก่ตายด้วยโรคไข้หวัดนกภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากฟาร์มที่เลี้ยงไก่ เกษตรกรรายย่อยก็ต้องฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด โดยบริษัทรายใหญ่ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร เช่นเดียวกับที่รัฐบาลมิได้ให้เงินชดเชยที่เหมาะสมกับความสูญเสียของเกษตรกรที่ต้องฆ่าไก่ของตนเองทั้งหมด

 

ด้าน กุลนิภา พันตน ตัวแทนสหภาพแรงงานไก่สดเซนทาโก พูดถึงปัญหาที่พบระหว่างการทำงานในบริษัทไก่สดเซนทาโก โดยระบุว่าบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รายใหญ่อย่างเซนทาโก มีมาตรฐานในการผลิต 2 ระบบ โดยเนื้อไก่คุณภาพคัดพิเศษจะถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และเนื้อไก่อีกเกรดซึ่งคุณภาพด้อยกว่าจะนำออกมาขายในตลาดเมืองไทย ช่วงที่เกิดไข้หวัดนก บริษัทเซนทาโกนำไก่จากฟาร์มเปิดหนีเข้ามาที่บริษัท แต่รัฐบาลมิได้คิดจะตรวจสอบอย่างจริงจังมากนัก

 

ขณะเดียวกัน คนในบริษัทเซนทาโกที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกก็ไม่ได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกัน และไม่ได้รับการป้องกันอันตรายจากไข้หวัดนกแต่อย่างใด  

 

ทางด้าน ใจ อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนจากพรรคแนวร่วมภาคประชาชนแสดงความวิตกว่า ไข้หวัดนกอาจพัฒนาไปเป็น "ไข้หวัดมรณะ" เนื่องจากเชื้อ H5N1 เป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่งซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะระบาดจากคนสู่คนได้ในที่สุด และเนื่องจากรัฐบาลไทยเคยปิดข่าวเมื่อมีการระบาดของไข้หวัดนกในระยะแรกเริ่ม จึงอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีการปิดข่าวอีกครั้งในกรณีที่สถานการณ์เรื่องไข้หวัดนกเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่

 

ขณะเดียวกัน ประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมถึงไทย ยังไม่มีบุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเตียงนอนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เพียงพอ ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละประเทศควรมียา Oseltamivir ที่ใช้ในการป้องกันไข้หวัดนก สำรองไว้ร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่รัฐบาลไทยชุดที่ผ่านมาคิดจะสำรองยานี้ไว้เพียง 1 ล้านเม็ดเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรจะมียาสำรองถึง 175 ล้านเม็ด จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของประชากร

 

ถ้าหากการสำรองยา Oseltamivir มีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ประเทศไทยคงไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่อาจเกิดขึ้นอีกระลอกในอนาคตได้ และประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากมีปริมาณที่จำกัด และผู้ที่จะเข้าถึงยาได้ก็คงจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์มากพอเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ยา Oseltamivir ที่มีวางจำหน่ายอย่างถูกกฏหมายมีเพียงยี่ห้อ Tamiflu ของบริษัท Roche เท่านั้น และบริษัทดังกล่าวถือเป็นบริษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าตลาดและผูกขาดสิทธิบัตรยาตัวนี้ไว้เพียงบริษัทเดียว และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทนี้คือนาย Donald Rumsfeld ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา

 

ตามปกติแล้ว เมื่อมีการป่วยและล้มตายจากการแพร่ระบาด พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวพันกับสัตว์ปีก จะต้องมีการชดเชยสวัสดิการให้กับพนักงาน แต่เกษตรกรพันธสัญญาและลูกจ้างในบริษัทอีก

หลายแห่งไม่เคยได้รับสวัสดิการส่วนนี้เลย

 

การเสวนาครั้งนี้สิ้นสุดลงโดยมีการสรุปว่า "ไข้หวัดนก" เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความป่าเถื่อนของระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ทั้งในด้านกลุ่มทุนภาคเกษตรและบริษัทยาข้ามชาติที่แสวงหาผลกำไรเหนืออื่นใด และในด้านที่รัฐบาลของนายทุนปกปิดความจริง โดยไม่ยอมลงทุนในการป้องกันประชาชน ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ว่าประชาชนจะต้องรวมตัวกันเพื่อรับมือกับปัญหาระดับชาติเช่นนี้ต่อไป

 

…................................................................

 

แถลงการณ์สหภาพแรงงานไก่สดเซนทาโก

 

 

 

สหภาพแรงงานไก่สดเซนทาโก ตั้งที่ 36/1 หมู่ที่ 13 ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ก่อตั้งมาเมื่อปี 2537 เป็นลูกจ้างบริษัทไก่สดเซนทาโก ตั้งที่ 54 หมู่ที่ 5 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีนายพงษ์ เหล่าวรวิทย์ เป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจสูงสุด และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทำกิจการประเภทแช่แข็งเพื่อการส่งออกและขายภายในประเทศ

 

สหภาพฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 จำนวน 4 ข้อ

 

1. ขอให้บริษัทฯ ช่วยเหลือค่าพาหนะคนละ 10 บาท ต่อคนต่อวัน (เพราะบริษัทไม่มีรถรับส่ง)

2. เมื่อมีการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ขอให้ปรับให้กับพนักงาน 100 เปอร์เซ็นต์ (เพราะบริษัทไม่มีการ

    ปรับค่าจ้างประจำปีถ้าลูกจ้างไม่ขอ)

3. ขอเอี๊ยมกันเปื้อนเปลี่ยนเมื่อชำรุด (คนงานซื้อเองผืนละ 32-35 บาท)

4. ขอวันลากิจกรรม กรรมการที่ไปทำงานหกับสหพันธ์แรงงานอาหารไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงาน

 

นายจ้างปิดงานวันที่ 16 มิถุนายน 2548 สหภาพฯ นัดหยุดงานวันที่ 2 กรกฎาคม 2548 มีการเจรจาที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี บริษัทฯ ยอมยกเลิกการทำงานวันที่ 17 สิงหาคม 48 และปิดงานครั้งที่ 2 วันที่ 20 สิงหาคม 48 มีการเจรจาที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2548

 

นายจ้างยอมยกเลิกการปิดงานและให้กลับเข้าทำงานวันที่ 29 สิงหาคม 2548 โดยจะมีการเจรจาเรื่องข้อเรียกร้องภายใน

 

วันที่ 29 สิงหาคม 2548 สมาชิกสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน บริษัทฯ ได้โยกย้ายหน้าที่การทำงานเปลี่ยนเวลาการทำงานผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทั้งหมด นำชายฉกรรจ์มาคุมจุดที่สหภาพฯ ทำงานอยู่ และมีการตั้งกล้องวงจรปิด

 

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งให้ใช้มาตรา 24 ชี้ขาดข้อเรียกร้อง วันที่ 15 สิงหาคม 2548 นายจ้างประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพฯ 102 คนโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ขออำนาจศาลแรงงานตักเตือนกรรมการ และเลิกจ้างสมาชิกสหภาพจำนวน 7 คนที่เป็นโจทก์ฟ้องเรื่องที่บริษัทตัดค่าจ้าง และเป็นแกนนำในการพูดคุยกับนายจ้างเรื่องที่เปลี่ยนเวลาการทำงาน โดยไม่มีการถามความเดือดร้อนของลูกจ้าง

 

แจ้งความดำเนินคดีกรรมการและสมาชิกสหภาพฯ ข้อหาบุกรุก/ หมิ่นประมาท/ กักขังหน่วงเหนี่ยว/ กักขังทำให้ผู้อื่นขาดอิสรภาพ บุกรุกทำลายทรัพย์วันที่มีการกินเลี้ยงปีใหม่

 

กรรมการและสมาชิกคนไหนรับเงื่อนไขและยอมเซ็นในเอกสารรับผิดและไม่ขอฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทฯ บริษัทฯ ก็จะยอมถอนคดีความ และให้กลับเข้าไปทำงานในหน้าที่และเวลางานเดิม ได้ทำโอที

 

สมาขิกที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขของบริษัทฯ ก็จะโดนตัดค่าจ้าง โดนฟ้องคดีความ โดนเลิกจ้าง ไม่จ่ายงานให้ทำตามเวลาของคนงาน โดนตามถ่ายรูปเวลาทำงาน คอยจับผิดเรื่องระเบียบบังคับ ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะนำมาใช้เฉพาะสมาชิกสหภาพฯ

 

สหภาพแรงงานฯ ได้ร้องเรียนการกระทำต่อเจ้าหน้าที่แรงงาน ร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร้องเรียนนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ร้องเรียนคณะกรรมาธิการแรงงาน ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหายังไม่ไดรั้บการแก้ไข นายจ้างยังตัดค่าจ้างเหมือนเดิมด้วยเหตุการเปลี่ยนเวลาทำงาน ให้คนงานเริ่มเข้าทำงาน 7.55 น. มาทำในแผนกที่เริ่มงาน 7.00 น. และต้องเปลี่ยนเวลาการทำงานด้วย แต่ให้คนที่เริ่มเวลาการทำงาน 7.00 น. ไปทำในแผนกที่เริ่มงาน 7.55 น.แต่ไม่ต้องเปลี่ยนเวลาการทำงาน กลุ่มแรกไม่ยอม จึงโดนตัดค่าจ้างเรื่อยมา 13 เดือน

 

คณะกรรมการสิทธิฯ อ้างว่าเรื่องอยู่ที่ศาลแรงงาน ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งที่สหภาพฯ ได้ทำการร้องเรียนตั้งแต่ที่ปัญหายังไม่มีการนำไปสู่ศาล

 

สหภาพฯ ขอเพียงให้กรรมการสิทธิ แสดงความคิดเห็นว่าบริษัทไก่สดฯ ทำการละเมิดกฏหมาย และสิทธิของลูกจ้างในการรวมกลุ่มหรือไม่

 

ปัจจุบันนี้ ในเรื่องคดีบุกรุกทำลายทรัพย์สินของบริษัทฯ นั้น ได้มีการประกันตัวมาสู้คดี โดยขอความช่วยเหลือทนายจากสภาทนายความ และคดีหมิ่นประมาทอยู่ที่อธิบดีเขต

 

-          สิ่งที่สหภาพแรงงานไก่สดกระทำ เป็นเพราะกฏหมายจะศักดิ์สิทธิ์ต่อเมื่อนำมาปฏิบัติต่อลูกจ้างเท่านั้น

-          คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจที่สิ้นสุดในการตัดสิน

-          ระบบไตรภาคีที่ล้มเหลว (พิพากษาตัดสินแทนศาล)

-          ขั้นตอนระยะเวลาและขบวนการที่ศาลแรงงานไม่เป็นประโยชน์ต่อคนจน

-          กฏหมายแรงงานกำหนดโทษนายจ้างน้อยเกินไป

-          ไม่มีบทกำหนดโทษต่อบริษัทฯ ที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกจ้าง

-          ขบวนการพิจารณาไม่เคารพคำว่าสิทธิของความเป็นมนุษย์ และที่มาที่ไปของปัญหา

-          ช่องโหว่ของกฏหมายที่ให้นายจ้างนำคนอื่นเข้ามาทำงานในขณะที่ลูกจ้างมีการยื่นข้อเรียกร้องและนัดหยุดงาน หรือนายจ้างปิดงาน

-          เมื่อนายจ้างทำผิดการโกงค่าจ้าง การเลิกจ้าง ละเมิดกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่มีการใช้กฏหมายมาบังคับ แต่กลับใช้ระบบการไกล่เกลี่ยน ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทำแทนนายจ้าง (การไกล่เกลี่ยลูกจ้างเสียเปรียบ 99.99 เปอร์เซ็นต์)

-          ในกรณีการเลิกจ้างที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตัดสินว่านายจ้างผิด แต่นายจ้างใช้สิทธิทางศาลฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะอยู่บนสาลแรงงาน ประกันสังคมไม่คุ้มครอง ไม่ได้รับประกันการว่างงาน ลูกจ้างต้องจ่ายประกันสังคมเพิ่มอีก 1 เท่า

-          กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่สามารพนำมาช่วยเหลือลูกจ้างได้

-          ไม่มีการตรวจสอบและการกำหนดกฏระเบียบข้อบังคับของนายจ้างที่เอาเปรียบลูกจ้าง โดยให้นายจ้างได้มีอำนาจเต็มที่ในการกระทำ

 

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง กฏหมายต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรม บริษัทไหนทำผิดก็ไม่สมควรได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ไม่สมควรมีการรับรองมาตรฐานใดๆ จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง การรับรองคุณภาพจากกระทรวงสาธารณสุข (มาตรฐานทุกตัวดูแค่เอกสารเท่านั้น) ไม่ว่าการตอสู้ของสหภาพแรงงานไก่สดเซนทาโกครั้งนี้จะเป็นแค่ตำนานของการต่อสู้

 

พวกเราก็จะสู้ จนสุดท้ายจะไม่มีใครเหลือเลยก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net