Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์เจรจา 3 ฝ่ายร่วมบริษัทฯ ครั้งล่าสุดยังไม่คืบ เตรียมเจราจาต่อวันนี้



ความคืบหน้าล่าสุดของการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ของตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดผู้ผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สลอคกี้ AMO ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกัน ยังหาข้อยุติไม่ได้


 


สืบเนื่องจากกรณีบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อาศัยอำนาจศาลอนุญาตเลิกจ้าง เลิกจ้างน.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ด้วยเหตุผลที่ น.ส.จิตราสวมเสื้อที่พิมพ์ข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย.เป็นการทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง


 


ทำให้พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กว่า 3,000 คน ทำการผละงานตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาพร้อมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพฯ กลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ให้บริษัทไม่ลงโทษเอาผิดพนักงานที่ผละงาน และให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์และส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพออกไป


 


น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า การเจรจา 3 ฝ่าย เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 14.00-16.30 น.โดยต่อเนื่องจากการเจรจา 3 ฝ่าย เมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รับในข้อเสนอเพื่อยุติปัญหา โดยคงหลักการที่ให้ลูกจ้างที่ไม่เข้าทำงาน กลับเข้าทำงานตามเดิม โดยไม่เอาโทษทางวินัย หรือ ความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา พร้อมรับตนเองกลับเข้าทำงาน และตัดข้อเสนอที่ให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์และส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพออกไปออก


 


นอกจากนี้ผู้แทนสหภาพแรงงานฯ ได้เสนอขอให้บริษัทฯ พิจารณาค่าจ้างระหว่างที่ลูกจ้างไม่ทำงาน โดยผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างตามข้อเสนอ และนัดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 21 ส.ค.51 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ แต่หลังจากนั้น บริษัทฯ ได้มีการขอเลื่อนการเจรจาออกไป จนกระทั่งได้มีการพูดคุยอีกครั้งในวันนี้ (27 ส.ค.)


 


น.ส.จิตรากล่าวต่ออีกว่า หลังจากพูดคุยราวสองชั่วโมงครึ่งทางบริษัทมีที่ท่าที่จะกลับไปเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยใหม่ โดยไม่ยอมรับการพูดคุยที่ผ่านมา และทางบริษัทก็มีข้อเสนอต่อสหภาพเช่นกัน ก็ไม่มีความชัดเจนวกไปวนมา ทำให้ในวันนี้การเจรจาไม่คืบหน้าและจะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้


 


ส่วนการชุมนุมของพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ดำเนินมาเกือบ 30 วัน น.ส.จิตรากล่าวว่าจะยังมีการชุมนุมกันต่อไปจนกว่าจะยอมรับในข้อเสนอ แต่คงต้องเข้มงวดในการชุมนุมและการป้องกัน เพราะกังวลเรื่องมือที่สาม อีกทั้งในส่วนการเคลื่อนขบวนการชุมนุมนั้นจะยังไม่มีในตอนนี้ เพราะสถานการณ์ทางการณ์เมืองยังไม่ปกติ อีกทั้งมีการวางแผนว่าจะมีการเดินทางไปพบผู้บริหารของบริษัทฯ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประเทศเยอรมัน


 


น.ส.จิตรากล่าวต่อว่า ในส่วนความช่วยเหลือขณะนี้นั้นทางสหภาพแรงงานฯ ได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินบริจาคและข้าวสารจากสหภาพแรงงานอื่นๆ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากผ้าป่าของนักวิชาการและภาคประชาชนที่ร่วมรณรงค์สนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวของพนักงานฯ ที่มีภาระเร่งด่วนระหว่างการผละงาน


 


โดยสหภาพแรงงานฯ ได้ช่วยเหลือสมาชิกผู้ร่วมชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานหญิง โดยการทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมในมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ให้ค่านมเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบสัปดาห์ละ 200 บาทต่อคน และช่วยเหลือในส่วนของค่าเดินทาง


 


กล่าวหาสมาชิกสหภาพฯ วางเพลิงบริษัทฯ ล่าสุดได้ประกันตัวแล้ว 


จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ด้านหลังโรงงงาน ของ บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเวลาประมาณ 6.50 น.ของวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเพลิงได้ลุกไหมกล่องกระดาษบริเวณที่ขนถ่ายสินค้า ซึ่งห่างจากจุดชุมนุมของสหภาพแรงงานที่อยู่ภาพนอกรั้วออกไปประมาณ 50 เมตร โดยมีป้อมยามและประตูอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมกับจุดเกิดเหตุ


 


ต่อจากนั้นเวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ได้ร่วมกันจับกุม นายโยธิน วานวิน สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จากบ้านพัก ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 550/2551 ลงวันที่ 26 ส.ค.51 โดยนายโยธิน ได้รับทราบข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นและได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นจึงได้ถูกนำตัวไปที่ สภ.บางเสาธง เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อ


 


น.ส.จิตรากล่าวว่า ในวันนี้ (27 ส.ค.) ได้มีการแจกแถลงการณ์ของบริษัทฯ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยระบุว่ามีบุคคลผู้หนึ่งได้ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาทางประตูด้านหลังของโรงงาน และได้จุดไฟที่กล่องกระดาก่อนที่จะหลบหนีไป โดยมีพนักงานจำบุคคลดังกล่าวได้ และจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าบุคคลที่ลอบวางเพลิง เป็นพนักงานที่ร่วมชุมนุมอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ยังไม่เชื่อว่ากรรมการสหภาพฯ หรือจะมีผู้ใดเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวนั้น ตนคิดว่าพนักงานที่ถูกตั้งข้อหาไม่น่าเป็นผู้กระทำการเพราะมีพยานหลักฐานยืนยันที่อยู่ชัดเจน


 


พร้อมยืนยันว่าสหภาพฯ ไม่มีแนวคิดที่จะทำอย่างนั้น เพราะขณะนี้ทางสหภาพฯ กำลังพยายามหาข้อยุติความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม และไม่เคยมีความคิดที่จะทำลายโรงงาน อีกทั้งการกระทำการดังกล่าวของสมาชิกสหภาพก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะได้มีการชุมนุมอยู่นอกรั้วและอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุกว่า 50 เมตร ซึ่งการผ่านเข้าออกประตูรั้วก็ต้องผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ต้องทำการตรวจบัตร และตรวจป้ายทะเบียนรถ


 


"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เราแน่นอน เรายืนยันได้ว่าสหภาพไม่มีแนวคิดในการทำลายโรงงาน แต่จากภาพที่ปรากฏอาจมีการจัดฉากโดยใครบางคน" ประธานสหภาพแรงงานกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหลังเกิดเหตุบริษัทได้ทำการแถลงข่าวไปทั่วโลกในทันที อีกทั้งยังมีการรายงานมูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้าน ทั้งที่มีเพียงกล่องและเศษผ้าเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกเพลิงเผา


 


น.ส.จิตรากล่าวอีกว่า เหตุการณ์การจับกุมสมาชิกสหภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมเสียขวัญ แต่กลับทำให้ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าทางบริษัทฯ ต้องการที่จะทำลายสหภาพ


 


"ไม่มีอะไรที่จะมาทำลายขวัญและกำลังใจพวกเราได้ สหภาพแรงงานจะอยู่เคียงข้างคนงานและผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกคน สิ่งที่เราต่อสู้ก็เพื่อให้มีสหภาพ" น.ส.จิตราหลังบนเวทีที่ชุมนุม หลังเข้าร่วมการเจรจา 3 ฝ่าย


 


ทั้งนี้ ในส่วนคดีของนายโยธิน รศ.สุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการยื่นประกันตัวในวันนี้ (27 ส.ค.) แต่ช่วงแรกตำรวจคัดค้านการประกันตัว จนมีการถกเถียงกันอย่างหนักกับตัวแทนสหภาพที่ไปคอยดูแล สุดท้ายจึงได้รับการประกันตัวในเวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากนั้นก็ได้เดินทางกลับเข้าร่วมชุมนุมหน้าโรงงานต่อ ส่วนเรื่องคดีนั้น นายโยธินกล่าวว่าต้องคอยให้เจ้าหน้าที่นัดหมายอีกครั้ง


 


.......................


หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เวลา 17.55น.


 


................
อ่านเพิ่มเติม


 


ปธ.สหภาพไทรอัมพ์ ถูกเลิกจ้าง นายจ้างอ้างใส่เสื้อ "ไม่ยืนฯ" ทำ บ.เสียชื่อ


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ "ปธ.สหภาพ" กลับเข้าทำงาน


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 400 กว่าคนบุกสำนักงานใหญ่ กดดันนายจ้างเรียกร้องความเป็นธรรม


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผละงานวันที่ 3 นายจ้างยันไม่รับประธานสหภาพเข้าทำงาน


ร่อนจดหมายประณามเลิกจ้าง ปธ.สร.ไทรอัมพ์ จี้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน-ทำลายสหภาพแรงงาน


แรงงานไทรอัมพ์ฯ นับพันบุกทำเนียบ ร่อนหนังสือจี้นายกฯ แก้ปัญหา "ขบวนการล้มสหภาพแรงงาน"


พนง.ไทรอัมพ์-ทีไอจี ร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ร้องช่วยปราม บ.เคารพสิทธิแรงงาน


แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนของบริษัทไทรอัมพ์ สำนักงานใหญ่ ประเทศเยอรมัน
นักวิชาการมอบเงินผ้าป่าหนุนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ระบุไม่ควรอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือรังแกคนจน
ประมวลความเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 10 - 14 ส.ค. ที่ผ่านมา


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ประกาศชุมนุมและเคลื่อนไหวจนกว่าบริษัทจะยอมรับขอเสนอของสหภาพฯ



 

เสวนา : การละเมิดสิทธิแรงงาน: กรณีศึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ โฮยา อัลมอนส์ ฯลฯ"
สหภาพแรงงานตะวันออก ค้านการจัดระเบียบการชุมนุมและร้องสิทธิคนงานไทรอัมพ์
เสวนา: "กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิแรงงาน"


 


 


บทความ :เมื่อคนงานไทรอัมพ์ฯ ลุกขึ้นสู้ กอบกู้ศักดิ์ศรีกรรมาชีพ


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร : ทัศนะที่อันตรายกรณีไทรอัมพ์


 


คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจังหวัดสมุทรปราการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net