Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร


 


 


จากการติดตามกรณีเลิกจ้างคุณจิตรา คชเดช โดยบริษัทไทรอัมพ์ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนเกินกว่าข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างทั่วไป เนื่องจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ


 


กล่าวคือ ประการแรก นอกจากคุณจิตราจะมีสถานะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทแล้ว เธอยังเป็นประธานสหภาพแรงงานของพนักงานบริษัทไทรอัมพ์ ข้อเท็จจริงที่นายจ้างประกาศเลิกจ้างโดยไม่ว่ากล่าวตักเตือนและหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ประนีประนอมไกล่เกลี่ยกันก่อนนั้นชักชวนให้เราเชื่อว่าความขัดแย้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่มีอยู่ก่อนแล้วและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กรณีเลิกจ้างคุณจิตราจะถูกมองในแง่ของความข้ดแย้งระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน หรืออาจจะถึงขั้นระหว่างตัวแทนของทุนและขบวนการแรงงาน


 


อย่างไรก็ตาม หากมองในบริบทที่กว้างขึ้นกว่ากรณีคุณจิตรา คือปัจจัยเชิงสถาบันของไทยไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ ความล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานและจัดหาสวัสดิการที่มีคุณภาพและทั่วถึงโดยรัฐ รวมถึงความลักลั่นของอำนาจต่อรองระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นลักษณะปกติในระบบทุนนิยมอยู่แล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า กรณีพิพาทด้านแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมักคลี่คลายไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายนายจ้างเสมอ


 


โครงสร้างที่โน้มเอียงที่เป็นทุนเดิมนี้เองทำให้เราจำเป็นต้องเอาใจช่วยฝ่ายแรงงานเสมอเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น และก็อาจจะเป็นการชอบธรรมยิ่งขึ้นที่เราจะมองความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายในแง่ของความขัดแย้งทางชนชั้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในวงกว้างและเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระยะยาว


 


กลับมาสู่กรณีของคุณจิตรา อย่างไรก็ดี สมควรอย่างยิ่งที่จะเน้นว่าสาเหตุอีกประการที่ทำให้ข้อพิพาทในกรณีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์กับบริษัทมีความซับซ้อนขึ้นนั้น คือ เมื่อกรณีนี้ถูกนำไปโยงกับประเด็นที่เปราะบางและอันตรายอย่างเรื่องหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงและมักนำไปสู่ความแตกแยกและการเผชิญหน้าขั้นปะทะนองเลือดในสังคมไทย


 


เราจึงไม่สามารถถกเถียงและใคร่ครวญอย่างมีสติว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ "เกินกว่าเหตุ" หรือไม่ และผู้เขียนเชื่อว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่ต้องการให้เกิดจะไม่สามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างราบรื่นได้ ตราบใดที่ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายใดก็ตามยังไม่หยุดที่จะใช้ประเด็นหมิ่นสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือหรืออาวุธ


 


ผู้เขียนเองไม่ต้องการนำข้อถกเถียงในประเด็น "คิดต่างฯ" และการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือมาขยายผลในที่นี้ เพราะตระหนักดีถึงความเป็นไปไม่ได้ของการสื่อสารเรื่องนี้ในสังคมไทยปัจจุบันและตระหนักดีว่ามีแต่จะทำให้กรณีพิพาทนี้คลุมเครือมากขึ้นและไม่เป็นผลดีต่อการระงับข้อพิพาทที่น่าจะอยู่บนพื้นฐานของเรื่องแรงงานสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว


 


จึงต้องการเพียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจำกัดวงของประเด็นนี้ ให้อยู่ที่เรื่องความไม่เป็นธรรมที่ฝ่ายนายจ้างตัดสินใจเลิกจ้างคุณจิตรา โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เช่น การนำชื่อเสียงของบริษัทไปอ้างอิงกับพฤติกรรมส่วนตัว (ในเวลาส่วนตัว) ของคุณจิตรานั้นเกินกว่าเหตุหรือไม่?, การตีความเสื้อยืดตัวปัญหานั้นว่าทำลายชื่อเสียง อยู่บนวิธีคิดและอธิบายแบบใด? สมเหตุสมผลหรือไม่? ฯลฯ


 


เพียงแต่สามัญสำนึกโดยทั่วไปของคนธรรมดาก็อาจเข้าใจได้ว่าการตัดสินใจของนายจ้างนั้นปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นฝ่ายนายจ้างเองที่ตัดสินใจเลิกจ้างอย่างมีอคติ บนพื้นฐานของความแตกต่างในเรื่องจุดยืน/ความเชื่อ/ทัศนคติทางสังคม


 


เราทราบดีว่าปัญหา "การไม่ยอมรับ-อยู่ร่วม" (intolerance) ต่อรสนิยมและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ซึ่งเริ่มต้นมาจากกรณีขับไล่ทักษิณนั้น วันนี้ทำให้สังคมไทยถอยหลังจนอยู่ในสภาพดิ่งลงเหวอย่างไร ผู้เขียนอยากเตือนให้สังคมไทยระมัดระวังทัศนะอันตรายที่ยืนอยู่บน "ความไม่ยอมรับ-อยู่ร่วม" นี้อย่างยิ่งยวด เพราะความไม่ยอมรับ-อยู่ร่วมอันเดียวกันนี้เองเคยทำและยังคงทำให้เกิดสงครามการเมืองเรื้อรังในหลายประเทศ และทำให้เกิดการสังหารหมู่มาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า


 


กล่าวโดยถึงที่สุดแล้ว ถ้าหากการณ์กลับกลายเป็นว่าทัศนะที่อันตรายเช่นว่า "ผู้บริโภคสินค้าของบริษัทจะตัดสินใจเลือกซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าของตนบนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเห็นทางการเมือง" (หรือยิ่งไปกว่านั้น เกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือสีผิว) เป็นที่ยอมรับแล้วละก็ สังคมแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่คงจะเป็นสังคมที่น่ารังเกียจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้


 


 


 


 


 


................
อ่านเพิ่มเติม


ปธ.สหภาพไทรอัมพ์ ถูกเลิกจ้าง นายจ้างอ้างใส่เสื้อ "ไม่ยืนฯ" ทำ บ.เสียชื่อ


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ "ปธ.สหภาพ" กลับเข้าทำงาน


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 400 กว่าคนบุกสำนักงานใหญ่ กดดันนายจ้างเรียกร้องความเป็นธรรม


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผละงานวันที่ 3 นายจ้างยันไม่รับประธานสหภาพเข้าทำงาน


คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจังหวัดสมุทรปราการ


บทความ :เมื่อคนงานไทรอัมพ์ฯ ลุกขึ้นสู้ กอบกู้ศักดิ์ศรีกรรมาชีพ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net