Skip to main content
sharethis

'สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช' อดีต รมว.คลัง แย้ง รบ.รักษาการ แก้เกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงวัย ซัดการให้สวัสดิการ​ถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุ​ ซัดระบบสงเคราะห์อนาถา พาสวัสดิการถอยหลังเข้าคลอง เอื้อคอร์รัปชัน ด้านรองรักษาการโฆษกเพื่อไทย พร้อมเสนอ 5 นโยบายช่วยสังคมผู้สูงอายุ

 

15 ส.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานวันนี้ (15 ส.ค.) สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงการคลัง​ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลรักษาการ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับเกณฑ์สวัสดิการผู้สูงอายุว่า​ "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเกณฑ์​ใหม่​ของกระทรวงมหาดไทย​ ที่ต่อไปผู้สูงอายุ​ ต้องพิสูจน์​ความจน​ คือไม่มีรายได้​ หรือรายได้ไม่พอ​ จึงจะได้รับเงิน​เบี้ยผู้สูงอายุ 600,​ 700, 800, 1,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากเบี้ยผู้สูงอายุนี้​ ออกมาแบบมาตามกรอบความคิด​ "สวัสดิการ​ถ้วนหน้า" สำหรับคนไทยผู้มีอายุเกิน​ 60​ ปี​ทุกคน​ ที่ไม่ได้รับบำนาญหรือสวัสดิการ​อื่น เพื่อให้คนไทยที่ทำงานพัฒนาชาติบ้านเมือง​มานานจนอายุ​ 60​ ปี​ มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี​ ไม่เป็นภาระลูกหลานมากนัก​ ลูกหลานจะได้มีชีวิตเจริญรุ่งเรือง​ได้ดี​ และไม่ต้องห่วงพ่อแม่ที่แก่เฒ่า

สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช

สุชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนจากแนวคิดสวัสดิการ​ถ้วนหน้า​ มาเป็นระบบสงเคราะห์​อนาถา ถือเป็นวิธีคิดแบบถอยหลังเข้าคลอง​ เป็นระบบศักดินา​แบบเก่า​ เลือกปฏิบัติ​ เอาเงินรัฐบาลมาแจกแบบอุปถัมภ์​ เพื่อสร้างบุญคุณ​แก่ประชาชน การกล่าวอ้างว่ารัฐต้องใช้เงินกว่า​ 90,000​ ล้านบาท​ต่อปี ดูแลผู้สูงอายุ​กว่า​ 10 ล้านคน​ ทำให้รัฐบาลไม่มีเงิน​นั้น​ เป็นวิธีคิดแบบรัฐเป็นนาย​ ประชาชนเป็นบ่าว​ ไม่ใช่วิธีคิดแบบเสรีนิยม​ ที่รัฐบาลเป็นผู้รับใช้ ประชาชนเป็นนายรัฐบาล

"ผมหวังว่า​พี่น้องประชาชนผู้สูงอายุและลูกหลาน​ จะช่วยกันทักท้วง​ ให้เลิกระเบียบมหาดไทย​อันนี้​ และหากกระผมมีโอกาสเป็นรัฐบาลเอง​ ในอนาคตไม่นาน​ กระผมก็จะเปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุจาก​ 600​ ถึง 1,000​ บาท​ เป็น 3,000 บาทต่อเดือน​ เป็นบำนาญ​ของประชาชน​ ที่เป็นสิทธิของคนไทย​ รัฐบาลผู้จัดสรรเงินให้ไม่มีบุญคุณ​ ซึ่งจะใช้เงินปีละ​ 400,000​ ล้านบาท​ โดยปรับโครงสร้างรายจ่ายของรัฐบาลที่ฟุ่มเฟื่อย, ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นลง" สุชาติ​ กล่าว

'เพื่อไทย' เสนอทางออก ช่วยสังคมผู้สูงอายุ 

วันเดียวกัน ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการ และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้สูงอายุที่จะเข้าเกณฑ์ใหม่ได้รับเงินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือคนจน ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนดนั้น

ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงในสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลก ที่ต้องรับมือกับภาวะแก่ก่อนรวย โดย 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นผู้สูงอายุ และในอีก 20 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 โดย 63 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคเกษตร และ 87 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานนอกระบบ และมีปัญหาร่วมกันคือรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีเงินเก็บ

ดังนั้น นโยบายของพรรคเพื่อไทย จึงทำเพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้ เพื่อแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในทุกมิติผ่าน 'ชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทย' เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย

1. กระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือนร้อนให้ทุกคน

2. 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ "Softpower" (ซอฟต์พาวเวอร์) สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง ผู้สูงอายุคนเกษียณก็ยังสามารถทำงาน สร้างรายได้ มีศักดิ์ศรี

3. เพิ่มรายได้ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ 3 เท่าตัว เพราะผู้สูงอายุและกำลังจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อยู่ในภาคเกษตร

4. อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาลทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่ต้องลางาน

5. "Learn to Earn" เรียนเพื่อสร้างรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด

"สวัสดิการจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อไทย มุ่งเป้าให้คนไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง การปรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การให้ถ้วนหน้าแบบเดิม ต้นเหตุมาจาก 'รัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ' ซึ่งเพื่อไทย เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด เราจึงเป็นพรรคเดียว ที่พูดถึงการสร้างรายได้ เพื่อมีรายได้มาจัด 'สวัสดิการโดยรัฐ' สำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึง" ลิณธิภรณ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net