Skip to main content
sharethis

'มานพ' สส.ก้าวไกล เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญหาทางออกปัญหาผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามตะเข็บชายแดน หวังหน่วยงานเกี่ยวข้องประสานความร่วมมือ ทำระบบส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 อย่างโปร่งใส และให้สิทธิสถานะบางอย่างในไทย

 

20 ม.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ในประเทศไท และผู้หนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเสนอโดย มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และ ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. กรุงเทพฯ เขต 2 พรรคก้าวไกล

มานพ คีรีภูวดล

มานพ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลห่วงใยกรณีผู้ลี้ภัยและหนีภัยสู้รบ ในกรณีประเทศเมียนมา พื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อรองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ตาก 3 แห่ง ราชบุรี 1 แห่ง และกาญจนบุรี 1 แห่ง มีจำนวนประชากรมากกว่า 70,000 คน โดยประเทศไทยคาดหวังจะให้คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเพียงชั่วคราวและจะส่งกลับเมื่อสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาดีขึ้น แต่ความจริงผ่านมา 30 ปี สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าจะหยุดลง
.
การมีสถานะชั่วคราวของผู้คนในพื้นที่พักพิง เต็มไปด้วยปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมาย ทั้งการถูกจำกัดให้อยู่แต่ในพื้นที่ ไม่สามารถเดินทางเข้าออกนอกพื้นที่พักพิงได้ ผู้คนจึงได้แต่รอคอยความช่วยเหลือ ไม่สามารถหารายได้มาหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว การเข้าถึงบริการสาธารณะ สิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลหรือการศึกษา แทบเป็นไปไม่ได้ บ้านเรือนยังไม่มีความมั่นคง เป็นเพียงไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบตองตึงและมีสภาพแออัด บ่อยครั้งเกิดเพลิงไหม้และไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว

ขณะที่สถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมายังมีอย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าก่อรัฐประหาร ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนถูกสังหารจำนวนมาก หลายหมื่นคนหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงไทย กลุ่มทหารชาติพันธุ์ได้ลุกขึ้นจับปืนต่อสู้กับทหารพม่าโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ส่งผลให้จำนวนผู้หนีภัยจากเมียนมาทะลักเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก

ด้วยปัญหาเดิมของผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงทั้ง 9 แห่ง ยังไม่ได้รับการแก้ไขผู้คนยังคงเผชิญปัญหาขาดความมั่นคงในชีวิต โอกาสกลับบ้านแทบไม่มี โอกาสไปประเทศที่ 3 ก็เป็นไปอย่างจำกัด ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญปัญหาการเข้ามาของผู้คนที่หนีภัยสู้รบอย่างต่อเนื่องตราบใดที่เมียนมายังไม่มีความสงบ ดังนั้น มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหา เป็นที่มาที่ตนเสนอญัตติดังกล่าว

มานพกล่าวต่อว่า สถานะของผู้คนในทั้ง 9 แคมป์ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัย หรือ Refugee ตามความหมายสากล รัฐจึงใช้คำว่าที่พักพิงชั่วคราว ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (พ.ศ. 2494)

แต่ปีนี้มีข่าวดี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีนโยบายอพยพโยกย้ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แคมป์ไปยังประเทศที่ 3 ดังนั้น มีความจำเป็นต้องใช้ กมธ.วิสามัญนี้พูดคุยถึงกระบวนการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานความร่วมมืออย่างเป็นระบบ

มานพ ระบุต่อว่า คำถามของตนคือจะทำอย่างไรให้ระบบการเข้าถึงสิทธิไปประเทศที่ 3 มีความโปร่งใส ตรงกับความต้องการของคนที่อยากไปจริงๆ รวมถึงต้องคิดว่ากลุ่มที่หลงเหลือไม่ได้ไป และกลับประเทศต้นทางไม่ได้ เราจะบริหารจัดการอย่างไร เช่น ทำให้พวกเขามีสถานะบางอย่างที่อาศัยในประเทศไทยได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ กมธ. ต้องช่วยกันหาทางออก ทั้งในแง่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และในแง่ความเข้าใจความรู้สึกของสังคม

มานพ กล่าวด้วยว่า นอกจากกลุ่มผู้ลี้ภัยเดิม ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่หลบหนีเข้ามาตามชายแดน หรือเรียกว่า “ผู้หนีภัยความไม่สงบ” ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้ ไทยต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจน 2. กลุ่มหนีภัยทางการเมือง ที่เข้าไปอยู่ในเมืองชั้นใน เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง มีการศึกษา มีทักษะ มีข้อมูลจากภาคประชาสังคมว่ากลุ่มนี้อาจมีประมาณ 30,000 คน แต่จากการสอบถามหน่วยราชการพบว่าไม่มีข้อมูล และไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร และ 3. กลุ่มผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความไม่สงบในประเทศเมียนมา

"ถ้าเราไม่มีระบบฐานข้อมูลของคนกลุ่มนี้ พวกเขาต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เรื่องนี้จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น ระเบียงมนุษยธรรมควรเกิดขึ้น สถานการณ์แบบนี้ประเทศไทยไม่สามารถหนีความรับผิดชอบได้" สส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังการอภิปรายของ สส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบส่งเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีระยะเวลาในการพิจารณา 90 วัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net