Skip to main content
sharethis

กระทรวงมหาดไทย จับมือมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หารือแนวทางขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นย้ำหน้าที่ของมหาดไทย คือ การนำอุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

4 ก.ค.2566 กองสารนิเทศ สป.มท. รายงานว่า วันนี้ (4 ก.ค.) เวลา 09.15 ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์สำหรับการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมี คณะนักวิจัยอาวุโสจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ประกอบด้วย วรรณสินท์ สัตยานุวัตร์ ชลิดา เพียรสร้าง กิจธนันต์ ปัญญาพัฒนสุข ผาณิต ชวชัยชนานนท์ ร่วมสัมภาษณ์ โดยทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทและหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารราชการในระดับพื้นที่ (Area-Based) ทั้งด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และความมั่นคงภายใน รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน โดยการดำเนินโครงการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางการขจัดความยากจนและพัฒนาศักยภาพของคนในทุกช่วงวัย โดยมีกรอบแนวทางจากการนำองค์ความรู้คู่คุณธรรม มาส่งเสริมชีวิตด้วยการดำเนินการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

“เป้าหมายหลักของการดำเนินการเกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ พออยู่ พอกิน พอใช้ และมีความสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่เรียกว่า หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้การมีความรู้คู่คุณธรรม เริ่มต้นจาก “การพัฒนาคน” จากนั้นให้คนไปพัฒนาพื้นที่ เพื่อทำให้คนสามารถดำเนินวิถีชีวิตโดยอยู่กับธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในชีวิต ทำให้คนทุกคนบรรลุความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needed) ทั้งตนเองและครอบครัว ซึ่งหากนำทฤษฎีใหม่มาใช้เป็นกิจวัตรให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากขั้นต้น คือ ทำได้ด้วยตนเองให้พอมีพอกิน จากนั้นขั้นกลาง คือ ขยายผลจากการมีกิน มีใช้ ไปสู่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทานแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและชุมชน และขั้นสูง คือ การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างความมั่งคั่ง โดยการทำให้คนที่ร่วมโครงการได้รวมกลุ่ม ร่วมเอาผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน มาแปรรูปเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศได้” สุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ การนำหลักการและอุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ การทำให้คนมีกินมีใช้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ซึ่งแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายถึงความมักน้อย สมถะ แต่หมายถึง “เหมาะสมพอดีตัว” คือการมีเพียงพอตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม และต้องควบคู่กับความรู้และคุณธรรม ซึ่งการจะทำให้สำเร็จจากขั้นต้นไปสู่ขั้นสูงต้องอาศัยผู้นำที่มีความเข้มแข็ง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นนักบริหารมืออาชีพ และที่สำคัญ คือ ต้องมีอุดมการณ์และแรงปรารถนาที่จะขับเคลื่อนเพื่อส่วนรวม พร้อมบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งโครงการนี้จะต้องขยายไปทั่วทั้งประเทศ ไปยังทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ไม่ได้เพียงแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ประชาชนมีความรักความสามัคคี ทุกชุมชนทุกพื้นที่มีความสุข ตามที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์การสหประชาชาติขับเคลื่อนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) “เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net