Skip to main content
sharethis


ประชาไท—25 พ.ย. 2548 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กรุงเทพฯ นางอรุณีประภา หอมเศรษฐี อดีตกรรมการสรรหา กสช. และนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ผู้ได้รับเลือกเป็น กสช. เห็นพ้องกัน ไม่ควรโอนกิจการของ กสช. ไปให้ กทช. ชั่วคราวตามข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

 


โดยนายเจิมศักดิ์ กล่าวในรายการ คมชัดลึก ช่องเนชั่นแชแนลว่า แม้ขณะนี้ กสช. ยังไม่มี ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลดูแลไปตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 80 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543  http://www.kodmhai.com/m4/m4-21/N1/m75-88.html


 


ทั้งนี้ กสช. กับ กทช. นั้น ทำหน้าที่ต่างกัน คือ กทช. เป็นเรื่องของโทรคมนาคม เป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่ห้ามยุ่งเรื่องเนื้อหา สิ่งที่ กทช ทำคือสร้างเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องโครงข่าย ฮาร์ดแวร์


 


ในขณะที่ กสช เป็นเรื่องของวิทยุและโทรทัศน์ เป็นเรื่องของ แมสมีเดีย สื่อสารกับมวชน กสช. ต้องดูเนื้อหา การจัดสรรคลื่นความถี่ ฉะนั้น กสช จึงต้องเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ศาสนา เยาวชน


 


นางอรุณีประภา กล่าวในรายการเดียวกันว่า ตนไม่เห็นด้วยเพราะกฎหมายนี้ทำเพื่อแบ่งงานกัน เป็นงานคนละส่วน และแตกต่างกันในรายละเอียด "เจตนารมณ์กฎหมายก็น่าจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันด้วย และสื่อสารมวลชนมันละเอียดอ่อนและต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และไหนๆ ถ้ามันยังไม่เกิด ก็ยังไม่ควรจะรวมกฎหมายหลายฉบับที่จะแก้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ แต่นี่ยังไม่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้เลย"


 


ด้านนายพิเชียรกล่าวว่าไม่เห็นด้วย เพราะหน้าที่หลักของ กสช. คือการจัดสรรคลื่นความถี่ และสมควรทำประชาพิจารณ์เสียก่อนก่อนที่จะทำเรื่องใหญ่อย่างนี้


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแลกเปลี่ยนความเห็นกันในประเด็นที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า กระบวนการสรรหา กสช. นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน นางอรุณีประภา กล่าวยืนยันว่าในกระบวนการคัดเลือก กสช. นั้นได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างใกล้ชิดแล้ว ในประเด็นของคุณสมบัติของกรรมการสรรหา และคุณสมบัติของผู้สมัคร กสช.


 


 "ทุกอย่างที่ทำก็ยังงง ๆ อยู่ว่าดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาว่าการสรรหาผิด ทั้ง ๆ ที่เราปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าทำได้ จริง ๆ เราก็มีเอกสารยืนยันหมด ว่าเป็นมาอย่างไรจึงทำให้เกิดตรงนี้ได้" นางอรุณีประภากล่าว


 


เช่นเดียวกับนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็น กสช. ซึ่งระบุว่ากระบวนการตรวจสอบของกรรมาธิการวุฒิสภาซึ่งนายเจิมศักดิ์ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้นละเอียดเสียยิ่งกว่ากระบวนการสรรหาของกรรมการสรรหาเสียอีก อีกทั้งผู้สมัคร กสช. ยังต้องตอบคำถามแบบเด็กๆ ว่า ถ้าเป็น กสช. แล้วจะทำอะไร ต้องการเงินเดือนเท่าไร เป็นต้น ทั้งนี้ คนที่จะเดินตามกฎหมายได้ 100 เปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้ และกรณีการเลือก กสช. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ซึ่งก็คงมีการตีความที่แตกต่างกันบ้าง


 


ด้านนายเจิมศักดิ์โต้ตอบว่า ตนยึดมาตรฐานของกฎหมาย โดยอธิบายว่าทั้ง นางอรุณีประภาและพิเชียร ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การเลือก กสช. เป็นกิจกรรมทางปกครอง ฉะนั้นกระบวนการทางปกครองทำตามอำเภอใจไม่ได้ ซึ่งศาลปกครองเขามีไว้เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลทางกฎหมาย


 


ทั้งนี้ กรรมการสรรหาอาจจะไม่เข้าใจกฎหมายและไม่ได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 7 และมาตรา 10 (1) พระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543  ซึ่งบัญญัติเรื่องการต้องระบุว่า ผู้สมัคร กสช. คนใดเชี่ยวชาญด้านใด http://www.kodmhai.com/m4/m4-21/N1/m6-31.html


 


"ผมตรวจสอบหมดแล้วพบว่าไม่มีการปรึกษา ผมค้นเอกสารรายงานการประชุมทุกชิ้น ซึ่งตอนที่ทำไม่ได้มีการถกเรื่องคุณสมบัติว่าใครเชี่ยวชาญด้านไหน ได้แต่ลงคะแนน จากนั้นก็ส่ง แล้วสำนักปลัดก็ท้วงว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ไปลงว่าใครเชี่ยวชาญด้านใด ผมก็ถามอาจารย์สมพร เทพสิทธา ก็ยอมรับว่าบกพร่อง ไม่ทราบจริง ๆ ว่าต้องทำอย่างนี้"


 


นายเจิมศักดิ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาของเรื่องการสรรหา กสช. จริง ๆ แล้วต้องโทษนักกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรีทีช่วยกรรมการสรรหา เป็นลักษณะการทำตามอำเภอใจแล้วมีนักกฎหมายมาตามอธิบายทีหลัง


 


สำหรับความเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ได้รับการสรรหาเป็น กสช. ซึ่งถูกเพิกถอนไปโดยคำตัดสินของศาลปกครองนั้น นายพิเชียรกล่าวว่า ตนคงไม่สามารถตอบแทนกรรมการอีก 6 คนได้ แต่ในส่วนของตนเอง ระหว่างนี้ก็จะศึกษาคำตัดสินซึ่งมีรายละเอียดถึง 94 หน้า และยอมรับว่าอาจจะอุทธรณ์คำตัดสินศาลปกครองกลางหากไม่มีหน่วยงานผู้รับผิดชอบกระบวนการสรรหายื่นอุทธรณ์


 


ทั้งนี้ นายพิเชียรออกตัวว่าไม่ได้ต้องการจะทำให้กระบวนการยืดเยื้อ หรือต้องการเป็น กสช. เพียงแต่อยากให้เป็นบรรทัดฐานเท่านั้น


 


ด้านนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวต่อกรณีของการเลือก กสช.  ว่า ในส่วนของวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ของตนเองเสร็จสิ้นแล้ว วุฒิสภาเพียงมีหน้าที่คัดเลือกให้เท่านั้น สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองก็เป็นกรณีที่ศาลปกครองก็ทำหน้าที่ไปตามกระบวนการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net