Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้พบปะกับครู ผู้บริหารสถานศึกษา อุสตาซ และครูโรงเรียนตาดี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 30 คน เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 


นายจาตุรนต์ กล่าวภายหลังการพบปะว่า ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถกำหนดแนว นโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยเดือนตุลาคม 2548 กระทรวงฯ จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การแปรญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี คาดว่า จะได้รับงบประมาณมาสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ

 

 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในด้านบุคลากร จะส่งเสริมขวัญกำลังใจครูในพื้นที่ โดยไม่เน้นการโยกย้าย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีครูย้ายออกจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนครูอย่างหนัก และการเปิดโอกาสเรื่องความก้าวหน้าให้ครูได้มีกำลังใจปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไป

 

 


นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า จะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยปัตตานี ซึ่งยกระดับมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยจะเร่งให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาสมัยหน้า และเร่งรัดให้ผ่านสภาในสมัยหน้าเช่นกัน ส่วนการปรับการศึกษาของโรงเรียนตาดีกา จะไม่ใช้คำว่าจัดระเบียบ แต่จะส่งเสริมและมีการบูรณาการหลักสูตรให้สอดคล้องกัน

 

 

 

 

 

ที่สำคัญคือจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ อาชีวะ และวิทยาลัยชุมชนให้มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ โดยจะระดมนักวิชาการมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีการแบ่งออกเป็นระดับกลาง และท้องถิ่น ซึ่งระดับกลางจะใช้ตัวอักษรมลายูมาในการเรียนการสอนด้วย

 

 


นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้เปิดสถาบันสอนภาษามลายูสากล เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่สามารถพูดภาษามลายูสากล เพื่อให้สื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเร่งรัดให้เปิดได้ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้

 

 


นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการสอนภาษาจีนกลาง และที่สำคัญคือภาษาไทย ที่จะรื้อระบบการเรียนการสอนใหม่โดยการเรียนภาษาไทยจะต้องมีความแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพื่อให้เข้ากับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ โดยจะระดมนักวิชาการและผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษามลายูในพื้นที่มาช่วยกันปรับการเรียนการสอนด้วย

 
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หลังจากที่ครูในโรงเรียนของรัฐย้ายออกจำนวนมาก ทำให้ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม พากันลาออกมาสมัครแทนอัตราครูที่ย้ายออก ทำให้ครูโรงเรียนเอกชนขาดแคลน จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะการแก้ปัญหาของโรงเรียนรัฐได้แต่ไปกระทบกับโรงเรียนเอกชนก็ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาขึ้นอีก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาระบบการศึกษาจะต้องทำควบคู่กันทั้ง 2 ส่วน จึงจะคลี่คลายปัญหาที่สั่งสมมานานได้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net