Skip to main content
sharethis

หากจะมองถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ เราคงจะคุ้นชินกับรถสี่ล้อแดง และรถโดยสารขนาดเล็กประเภทรถตุ๊กตุ๊ก และสามล้อถีบ ที่สามารถให้บริการได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และจากการแสดงความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ในหลายเวที ต่างมีเสียงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้ดีเพียงพอ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ยานพาหนะส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก ในปัจจุบัน

จากผลการศึกษาพบว่า การเดินทางในเขตเมืองมีการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลสูงถึง 90 % และใช้บริการรถสี่ล้อแดงเพียง 10 % ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนการเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ประมาณ 50 - 60 % ของยานพาหนะทั้งหมด

ทั้งนี้ แม้ว่าพื้นที่ภายในเขตเมืองเชียงใหม่จะไม่เอื้อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของประชากรในเขตศูนย์กลางเมืองเพิ่มขึ้น แต่ทว่า จำนวนประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชากรในส่วนนี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่อย่างยากที่จะปฏิเสธ ทั้งการประกอบอาชีพ การติดต่อ ธุรกิจ การค้า การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ ที่จำเป็นต้องนำยานพาหนะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเพิ่มขึ้น และยิ่งเมื่อทบทวนถึงเงื่อนไขในอนาคตที่เชียงใหม่จะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและศูนย์กลางเศรษฐกิจ หากไม่มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของเมืองแล้ว ย่อมส่งผลให้เชียงใหม่อาจต้องเผชิญปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นตัวการก่อมลภาวะอากาศเป็นพิษ ประชาชนอาจมีความเครียดเพิ่มขึ้น และอาจทำลายลักษณะความเป็นเมืองน่าอยู่ของเชียงใหม่ในที่สุด

ซีอีโอฉลุยไฟเขียวรถเมล์วิ่ง

หลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ความพยายามอีกยกในการระดมพลังหน่วยงาน องค์กร และผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วยเครือข่ายภาคเอกชน ที่เป็นชมรม สมาคมที่เกี่ยวข้อง, ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมในเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ นำเสนอปัญหาและความต้องการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทางเลือกใหม่ให้กับเมืองเชียงใหม่ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ซีอีโอเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน และได้สั่งการอนุมัติให้เปิดสัมปทานเส้นทางเดินรถแก่รถเมล์จำนวน 26 คันของเทศบาลนครเชียงใหม่

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เส้นทางที่ประกาศหาผู้ประกอบการเดินรถคือ 9 เส้นทางเดิมที่รถเมล์เหลืองเคยให้บริการในอดีต แต่เลิกกิจการไป กระนั้น เส้นทางยังคงมีอยู่เหมือนเช่นเดิม ไม่ได้ยกเลิก จึงประกาศใหม่ โดยทั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ และสหกรณ์นครลานนาเดินรถก็ยื่นเรื่องเข้ามา แต่ความพร้อมของเทศบาลฯ มีทั้งตัวรถ และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน จึงได้อนุมัติ ส่วนสหกรณ์นครลานนาเดินรถก็ไม่ได้ตัดสินทธิ์แต่อย่างใด ยังคงสามารถปรับแผนและยื่นเรื่องมาใน 6 เส้นทางที่เหลือได้ภายใน 60 วัน ส่วนกรณีที่รถสี่ล้อแดงบอกว่าทับสัมปทาน เดิมรถเมล์ขาวจะต้องวิ่งรอบนอกนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ และเส้นทางบางเส้นมีก่อนรถแดงด้วย

ทั้งนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ในฐานะผู้ประกอบการจะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตจากรถรับจ้างไม่ประจำทางมาเป็นรถรับจ้างประจำทาง ฝึกอบรมบุคลากร และออกเดินรถให้บริการภายใน 60 วันในอัตราให้บริการไม่เกิน 12 บาท

โดยขณะนี้เทศบาลนครเชียงใหม่เริ่มติดป้ายโฆษณารถเมล์ (Chiang Mai Bus : CMB) หรือสโลแกนที่ว่าขนส่งมวลชนเพื่อคนเชียงใหม่ทั่วเมืองแล้ว และเริ่มติดตั้งจุดจอดรับผู้โดยสาร ขณะที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนอยากให้เกิดรถขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นให้สมกับเป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศ

สี่ล้อแดงเตรียมก่อหวอด
ปิดถนนร้อง "ทักษิณ"

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มสี่ล้อแดงของสหกรณ์นครลานนาเดินรถ ที่ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 26 โดยมีสมาชิกกว่า 2,000 คน เข้าร่วมประชุม ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ซึ่งวาระเร่งด่วนที่หารือกันคือ กรณีเทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมจะนำรถเมล์ 26 คัน มาให้บริการใน 3 เส้นทางในเขตเมืองซึ่งได้รับสัมปทานเส้นทางแล้วในขณะนี้

นายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครลานนาเดินรถ กล่าวว่า ที่ประชุมใหญ่มีมติจะต่อสู้ร่วมกันในเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยรถเมล์ขาวของเทศบาลฯ ที่จะมาวิ่งให้บริการ จะต้องไม่วิ่งทับเส้นทางที่รถสี่ล้อแดงเคยได้สัมปทานไว้นั่นคือทั่วเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นหากรถเมล์ของเทศบาลจะมาวิ่งก็จะต้องวิ่งในเขตรอบนอกเมือง เท่านั้น และแม้สัมปทานที่รถเมล์ขาวของเทศบาลจะอิงสัมปทานเส้นทางเดิมของรถเมล์เหลืองที่เคยมีในอดีต ก็เป็นคนละเรื่องกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์นครลานนาเดินรถมีมติให้สมาชิกร่วมกันต่อสู้จนถึงที่สุด โดยวันใดที่มีรถเมล์เกิดขึ้น สี่ล้อแดงทั้งกว่า 2,000 คัน จะรวมตัวกันไปยื่นข้อร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ขนส่งจังหวัด และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจทำให้การจราจรติดขัดบ้าง และในวันที่ 11 มิถุนายน นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการจะมาเปิดโครงการไบโอดีเซล ก็ได้นัดหมายกันในเวลา 10 .00 น. ที่ทำการสหกรณ์หน้าศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่แม่โจ้เพื่อยื่นข้อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี
สำหรับกรณีสัมปทานเส้นทางเดินรถที่รถสี่ล้อแดงได้รับ แต่กลับไม่วิ่งรถตามเส้นทางที่ได้นั้น นายสิงห์คำกล่าวว่า ย้อนหลังการให้สัมปทานเส้นทาง ผู้ที่อนุมัติให้ก็เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ว่าแต่ละเส้นทางจะบรรจุรถกี่คัน และการที่ไม่วิ่งตามเส้นเดิมก็เป็นเช่นนี้มานานแล้ว ทางแก้คือจะต้องจัดเส้นทางโดยภาครัฐจะต้องนำงบประมาณมาดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในกฎเกณฑ์ เนื่องจากในการหารือจัดระบบขนส่งมวลชน รถสี่ล้อแดงได้เคยเสนอแผนงานไปแล้วว่าควรจะมีงบประมาณมาจัดสรร ก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ ขณะที่กลับมีงบประมาณมาให้เทศบาลฯ ออกรถเมล์ขาวแข่ง ถามว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียในจุดนี้

"ภาคราชการเคยหารือแผนจัดระเบียบชนส่งแต่ก็เหมือนเราถูกหลอก ภาคการเมือง โดยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยก็เคยบอกเองว่า หากจะมีระบบขนส่งมวลชนใหม่จะต้องหารือไม่ให้ผู้ประกอบการรายเดิมเดือดร้อน แต่กลับมาเป็นเช่นนี้รู้สึกเหมือนถูกหลอก ก็จะต้องเรียกร้องจนถึงที่สุด และหากรังเกียจรถแดงกันมาก ก็ให้รวมเงินกันซื้อทิ้งคันละ 1 ล้านบาทไปเลย"

ความพยายามให้เกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนที่เป็นทางเลือกของชาวเชียงใหม่มีมายาวนาน เสียงเรียกร้องให้มีรถเมล์เกิดขึ้นมีเป็นระยะ แต่ทุกครั้งเมื่อจะดำเนินการครั้งใด รถสี่ล้อแดงจะรวมตัวกันเรียกร้องลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้เคยเกิดเหตุปิดข่วงประตูท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่จนการจราจรเชียงใหม่เกิดโกลาหลมาแล้ว ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนโดยหอการค้า สภาอุตสาหกรม และชมรมธนาคาร ได้มีมติให้จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด จนในที่สุดคณะกรรมการจราจรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ผ่านมติการให้เส้นทางสัมปทานรถเมล์ต่อเทศบาลนครเชียงใหม่

อาจกล่าวได้ว่าวันนี้ของเชียงใหม่ ได้เข้าสู่ยุคระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบเสรีอย่างเต็มระบบ ซึ่งเปรียบเหมือนสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค และต้องมีความหลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อในสิ่งที่ดีและคุ้มค่าที่สุด ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องเกิดการแข่งขันในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน

เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของเชียงใหม่ ที่จำเป็นต้องมีทางเลือกใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทว่า หากรถสี่ล้อแดงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง และพลิกกลยุทธ์ทางการตลาดช่วงชิงความได้เปรียบ แข่งขันกันด้วยคุณภาพ มาตรฐานและราคา และเมื่อเป็นเช่นนั้น คนเชียงใหม่จะเลือกได้เองว่าจะพอใจนั่งรถขนส่งมวลชนสาธารณะแบบไหน ที่เป็นความต้องการที่แท้จริง

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net