Skip to main content
sharethis

แม้ว่าจะมีกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนมาโดยตลอด ต่อกรณีที่รัฐบาลจะผลักดันแผนการจัดการน้ำขนาดยักษ์ใหญ่นับพันล้านบาท แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลทักษิณยังคงเดินหน้าผลักดันแผนดังกล่าว ล่าสุดมีการนำเข้าสู่การประชุมของ ค.ร.ม.สัญจรที่จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้รัฐบาลใช้ข้ออ้างคลาสสิก คือการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมที่ใช้มาตลอดนั่นเอง

ใจความสำคัญของมติ ค.ร.ม.ที่น่าติดตามคือ แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงบูรณาการ ในมติดังกล่าวระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน คือจะต้องมีการจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำหลักของทั้งประเทศ การดำเนินงานคือ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำ และก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม และพัฒนาโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

แม้ว่าที่ผ่านมาโครงข่ายส่งน้ำที่รัฐบาลกล่าวถึง หรือการส่งน้ำระบบท่อจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนมาแล้วว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง มิหนำซ้ำยังทำให้ชาวบ้านต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำเพิ่มขึ้นด้วย

อะไรคือชลประทานระบบท่อ

"ชลประทานระบบท่อ" หรือโครงข่ายส่งน้ำ หรือ Water Grid คำนี้ผุดขึ้นมาในช่วงปี 2546-2547 ก่อนจะหมดยุคทักษิณ 1 ทั้งนี้โครงการชลประทานระบบท่อถูกชูว่าเป็นแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวคือจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวได้ หากจะทำโครงการชลประทานระบบท่อจะต้องทำโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำ และผันน้ำจากลุ่มน้ำของประเทศเพื่อนบ้านมายังประเทศไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย

ชลประทานระบบท่อ เรียกได้ว่าเป็นการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยนักวิชาการฝ่ายที่สนับสนุนชลประทานระบบท่อยืนยันว่าจะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นแต่เดิมไม่สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่สูงได้ ก็จะสามารถส่งไปได้โดยผ่านระบบท่อ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในการสูบน้ำขึ้นมาใช้ เป็นต้น

แผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เสนอโดยคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติเมื่อปี 2546 ที่มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นประธาน ครั้งนั้นระบุว่าจะดำเนินการเพื่อให้มีน้ำใช้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานจำนวน 103 ล้านไร่ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2551 โดยจะต้องพัฒนาชลประทานระบบท่อ หรือเครือข่ายส่งน้ำ และมีข้อเสนอให้พัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการผันน้ำเชียงคาน-ฝายชนบท-ชี-มูล โครงการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากลาว ผันน้ำเซบังมายังลุ่มน้ำชีตอนล่าง ผันน้ำจากประเทศกัมพูชา น้ำสตรึงนัมมายังระยอง ผันน้ำจากประเทศพม่า น้ำสาละวินมายังเขื่อนภูมิพล เป็นต้น

การดำเนินโครงการทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท งบประมาณลงทุนที่สูงมากขนาดนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากไปเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ช่วงแรก ๆ ของการชูแผนดังกล่าว ฝ่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอออกมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากขนาดนั้น เพราะความเป็นจริงแล้ว การจัดการน้ำโดยชาวบ้านจัดการกันเองใช้เงินน้อยมาก หรือแทบไม่ต้องใช้เลย ขอเพียงแต่รัฐบาลส่งเสริมการจัดการน้ำของชาวบ้านก็จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้

แหล่งน้ำของชาวบ้านแม้จะมีขนาดเล็ก ๆ แต่ก็เพียงพอแม้ในยามแล้ง แม้แต่ภาคอีสานที่ขึ้นชื่อว่าแล้งสุด ๆ ชาวบ้านเองก็สามารถเอาตัวรอดจากยามแล้งได้เช่น การพึ่งพาป่าบุ่งป่าทาม การขุดบ่อเล็ก ๆ ไว้ในที่นา ที่สวน เป็นต้น

นอกจากนี้ฝ่ายภาคประชาชนก็ยังชี้ประเด็นความล้มเหลวของโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการโขง-ชี-มูลว่าไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังเป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้โครงการโขง-ชี-มูล มีเป้าหมายในการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้เพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน แบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ ระยะเวลาดำเนินการยาวนานถึง 42 ปี (2532-2576) หลังการประชุม ค.ร.ม.สัญจรเมื่อปี 2532 มีการอนุมัติงบประมาณทันทีงวดแรก 1,800 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อนที่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสียด้วยซ้ำ

องค์กรสิ่งแวดล้อมทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง เช่น โครงการทามมูลที่อีสาน และโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (ปัจจุบันคือมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ) ได้ทำการศึกษาผลกระทบของโครงการโขง-ชี-มูลแล้วพบว่าโครงการดังกล่าวสร้างปัญหาอย่างมาก เช่น เมื่อสร้างเขื่อนทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มเนื่องจากดำเนินการบนพื้นที่ดินเค็ม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ในท้องถิ่น และยังไม่มีความคุ้มทุนในการจัดการน้ำ โครงการทามมูลคำนวณต้นทุนการพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการโขง-ชี-มูลเฉพาะพื้นที่ราษีไศลจะอยู่ที่ 170,000 บาทต่อไร่ ขณะที่ต้นทุนที่ชาวบ้านจัดการน้ำกันเองโดยการขุดคลอง และสูบน้ำไปใช้จะอยู่ที่แปลงละ 1,000 บาทต่อไร่เท่านั้นเอง

ส่วนการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งเป็นละเมิดสิทธิของประเทศเพื่อนบ้านไปอีกด้วย แต่ดูเหมือนเสียงของชาวบ้านก็เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง การผลักดันโครงการชลประทานสมัยใหม่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลทักษิณ 2 และมีทีท่าว่าจะเป็นจริงในอีกไม่ช้า

ล้มเหลว เกษตรกรแบกภาระค่าน้ำ

แม้ว่าโครงการชลประทานระบบท่อ จะถูกชูว่าเป็นการจัดการน้ำแบบก้าวหน้าเพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรได้ แต่ในความเป็นจริงกลับมีเสียงสะท้อนมาอย่างต่อเนื่องจากเครือข่ายประชาชนโดยเฉพาะที่ภาคอีสานว่า ล้มเหลว และกลับเป็นการสร้างภาระให้แก่เกษตรกรต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีการนำร่องทำโครงการชลประทาน 10 หมู่บ้าน ใน 7 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และตราด ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 875 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร 50,000 ไร่

เช่น กรณีกรมชลประทานทำโครงการทดลองชลประทานระบบท่อที่บ้านโนนฆ้อง ต.บ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่นตั้งแต่ปี 2542 ชาวบ้านเล่าว่าท่อที่ใช้ส่งน้ำมีขนาดเล็กมากกว่าที่จะปล่อยน้ำลงในไร่นา เพราะเพียงแค่ 1 ไร่ต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน มีพื้นที่รับน้ำได้จริงเพียงแค่ 100 ไร่ ขณะที่โครงการคุยว่าจะจ่ายน้ำได้ 3,000 ไร่

นอกจากนี้ชาวบ้านยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะโครงการจะบวกทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์วัดน้ำเข้าไปด้วย ตกรายละ 10,000 กว่าบาทต่อไร่ ที่สำคัญมีปัญหาท่อแตก ท่อรั่วเป็นประจำ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ถอนตัวออกจากโครงการไปแล้ว เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้ม

สมบัติ โพตานิ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำระบบท่อบ้านโนนฆ้อง กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านพากันออกจากโครงการนอกจากจะรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินค่ามิเตอร์วัดน้ำแล้ว ในอนาคตก็จะต้องจ่ายค่าน้ำตามมิเตอร์ถึงหน่วยละ 2-4 บาท แต่เดิมชาวบ้านไม่เคยต้องจ่ายค่าน้ำใด ๆ และยังกลัวว่าจะสูญเสียสิทธิการจัดการน้ำไปอีกด้วย

มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าวว่าชลประทานท่อลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน การเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนก็หลีกไม่พ้นที่จะทำให้น้ำเป็นสินค้า การที่เกษตรกรต้องแบกภาระจ่ายค่าน้ำ ทำการเกษตรจะคุ้มหรือไม่ เช่นกรณีภาคตะวันออก บริษัทอีสวอเตอร์สามารถซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่รัฐบาลลงทุนสร้างในราคา 50 สตางค์ต่อคิว แล้วต่อท่อส่งไปขายในราคาคิวละ 4-6 บาท การทำนาต้องใช้น้ำประมาณ 1,200 คิวต่อไร่ เท่ากับว่าชาวนาต้องจ่ายค่าน้ำถึงไร่ละ 4,800 - 7,200 บาท ต่อไร่

มติ ค.ร.ม.17 พ.ค. ที่จะบูรณาการจัดการน้ำผ่านไปอย่างเงียบ ๆ แม้ว่าฝ่ายภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ รวมไปถึงองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องก่อนประชุม ค.ร.ม.สัญจร แต่ดูเหมือนว่าเสียงท้วงติงของฝ่ายประชาชนกลับเป็นข่าวมุมเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับข่าวคณะรัฐมนตรีเดินชมปราสาทเขาพนมรุ้งอย่างเหน็ดเหนื่อย

หลังจากนี้การติดตามนโยบายสาธารณะเรื่อง "น้ำ" โปรดอย่ากระพริบตา เชื่อว่าการทำโครงการขนาดใหญ่คงลอดสายตาเราไปได้ง่าย ๆ เหมือนที่ผ่านมา.

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net