Skip to main content
sharethis

"พลเมืองเหนือ" ได้เคยคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ ถึงการต่อเติมอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จาก 2 ชั้นเป็น 3 ชั้น ด้วยกระจกทั้งหมดเมื่อ 2 ปีก่อน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูลถึงความเหมาะสมของโครงสร้าง เพื่อความปลอดภัยของข้าราชการที่อยู่อาศัยและประชาชนที่ไปติดต่อ

แต่อาคารหลังนั้นก็ต่อเติมเสร็จสิ้นด้วยเม็ดเงิน 23 ล้านบาท มีข้าราชการและผู้บริหารอาศัยอยู่ในนั้นกว่า 100 ชีวิต

เย็นวันที่ 11 เมษายน 2548 วันสุดท้ายก่อนจะปิดทำการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ข้าราชการทั้งหมดยังคงปฏิบัติงานอยู่ในอาคารหลังนั้น รวมทั้งนายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งอยู่ที่ชั้น 5 ด้วย

ได้เกิดฝนตกหนัก พายุกระโชกแรง และลูกเห็บตก เคลื่อนตัวเข้ามาสู่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ป้ายโฆษณา กิ่งไม้หักโค่นตกลงมากลางถนน รถที่สัญจรไปมาต้องจอดหลบข้าทาง แรงพายุยังทำให้หม้อแปลงไฟระเบิดและสัญญาณจราจรติดขัดหลายจุด

แรงพายุยังปะทะเข้าอย่างแรงกับอาคารกระจกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความสูง
5 ชั้น ส่งผลให้กระจกชั้น 3 แตกกระจายตกลงมาทำความเสียหายให้รถเจ้าหน้าที่ที่จอดอยู่ด้านล่างกระจกหน้าแตกเสียหาย 3 คัน แรงพายุยังปะทะกระจกชั้น 5 แตกและฝ้าเพดานบริเวณหน้าห้องนายธวัชวงศ์ ทรุดตัวลงมา ทำให้นายธวัชวงศ์และเจ้าหน้าที่อบจ.กว่า 100 คนต้องวิ่งหนีลงมาจากอาคารอลหม่าน

นายคณพล ปิ่นแก้ว ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่าขณะเกิดเหตุนายธวัชวงศ์ ได้อยู่ภายในห้องทำงานชั้น 5 แต่ไม่ได้รับอันตราย ได้ยินเพียงเสียงดังโครมคราม จึงออกมาดูและพบว่า ฝ้าบริเวณหน้าห้องได้ทรุดตัวลงมาส่วนชั้น 3 ไม่มีผู้ใดทำงานเพราะเป็นพื้นที่ปรับปรุงให้เป็นส่วนกิจการการศึกษาและห้องทำงานที่ปรึกษานายกอบจ.

ขณะนี้ได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุและประสานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้มาตรวจสอบความเสียหายและอพยพเจ้าหน้าที่ที่มีกว่า 100 คนและเอกสารทั้งหมดให้มาทำงานบริเวณหอประชุมด้านหลังแทน

"เบื้องต้นช่างสำรวจระบุโครงสร้างยังคงมั่นคง หากแต่ช่วงของกระจกอาจกว้างไปจนทำให้เกิดการแตกง่ายเมื่อมีแรงปะทะทั้งนี้เดิมอาคารหลังนี้มีความสูง 3 ชั้นแต่เพิ่งมีการต่อเติมให้อาคารกระจก 5ชั้นเมื่อปีเศษที่ผ่านมา เมื่อยุคผู้บริหารชุดเดิม ซึ่งหลังการมารับตำแหน่งของนายธวัชวงศ์ได้มีดำริให้ประสานให้คณะสถาปัตย์ฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตรวจสอบความมั่นคงและปรับปรุงงานกระจกที่มีแผ่นใหญ่และกว้างแต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน"

นายคณพลกล่าวว่า ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตรวจสอบความมั่นคงเพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อครั้งต่อเติมนั้น คาดการณ์ว่าเสาเข็มคงรับน้ำหนักได้ แต่ไม่แน่ใจเรื่องการคำนวนช่วงห่างของกระจก และการปะทะแรงลง

ทั้งนี้การตรวจสอบครั้งนี้จะต้องดูว่า หากปรับปรุงซ่อมแซมจะคุ้มค่าหรือไม่ หรือสร้างใหม่จะคุ้มกว่า เพราะเบื้องต้นจากการดูจากแบบ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจต้องใช้งบซ่อมแซมถึง 45 ล้านบาท ทั้งการฉีดปูนเสริมหัวเข็มบางต้น และปรับให้มีแบบที่สวยงามด้านสถาปัตยกรรมล้านนาด้วย
เพราะอาคารที่เป็นอยู่ก็มีการวิจารณ์ว่าเป็นแท่งไม่มีเอกลักษณ์ แต่ราคาที่ประเมินเบื้องต้นนายกอบจ.ก็เห็นว่าค่อนข้างสูง

แต่หากจะเป็นในลักษณะรื้อแล้วสร้างใหม่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและได้รูปทรงที่ดี ก็จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนกันด้วย เพราะนายกฯ ก็ไม่อยากให้เป็นลักษณะรื้อของเก่า เพราะอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะได้ข้อสรุป และทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ก็ย้ายมาทำงานที่ห้องประชุมด้านหลังกันทั้งหมด

ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้าง และความวิตกของข้าราชการ ที่ผ่านเหตุการณ์พายุซัดมา และวิตกถึงการต่อเติมอาคารว่าเกรงจะไม่ได้ปลอดภัยนั้น เป็นเพราะนับแต่การเริ่มต้นต่อเติมอาคาร มีเสียงเรียกร้องอยากให้สำรวจความมั่นคงและแบบที่เหมาะสมก่อนหน้านี้

"พลเมืองเหนือ" ฉบับที่ 70 ประจำวันที่ 3- 9 มีนาคม 2546 ได้รายงานคำสัมภาษณ์นายนิวัตร ตันตยานุสรณ์ สถาปนิก อดีตเทศมนตรีฝ่ายงานช่างเทศบาลนครเชียงใหม่ ระบุการตั้งข้อสังเกตการต่อเติมอาคารหลังนี้ ซึ่งเดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น มีอายุการใช้งานมากว่า 8 ปีแล้ว แต่มีการต่อเติมเพิ่มอีก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้น จึงเกิดคำถามว่าอาคารหลังนี้ออกแบบโครงสร้างเบื้องต้นไว้ 5 ชั้นหรือ 2 ชั้นกันแน่

" หากเป็นโครงสร้าง 5 ชั้น และมีการต่ออายุใบอนุญาตทุกปีก็หมดปัญหา ถือว่าการต่อเติมครั้งนี้เป็นไปตามแบบ แต่หากแบบเดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น ผู้รับผิดชอบคือเทศบาลนครเชียงใหม่จะดำเนินการอย่างไร และสามารถจะเปิดเผยรายละเอียดโครงสร้างการใช้งาน ตลอดจนวิศวกรผู้ควบคุมอาคารได้หรือไม่ เนื่องจากอาคารหลังนี้ถือว่าเป็นอาคารสาธารณะที่ประชาชนจะมาใช้งาน ประชาชนควรได้รับทราบรายละเอียด"

นายนิวัตร ได้ให้ข้อมูลเมื่อครั้งนั้นว่า ในแบบที่ต่อเติม จะต้องมีการระบุว่าเพื่อประโยชน์อะไร เพราะถ้าเป็นห้องธรรมดา จะคำนวณน้ำหนักอย่างหนึ่ง แต่หากเป็นห้องประชุม จะต้องคำนวณน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 3 เท่าตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 สิ่งที่เป็นประเด็นคือความปลอดภัยและความถูกต้อง เพราะหากเป็นเอกชนทำแล้วไม่ถูกต้องจะต้องทุบทิ้ง แต่หากเป็นหน่วยราชการด้วยกันมักมีอภิสิทธิ์

นายเฉลิมพล สันติมโนกุล ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ ระบุว่า การก่อสร้างต่อเติมสำนักงาน อบจ.นั้น ทางอบจ.ไม่ได้ขออนุญาตเทศบาล เพียงแต่มีการแจ้งให้เทศบาลฯ ได้ทราบในตอนเริ่มแรกที่จะก่อสร้างเมื่อ 8 ปีที่แล้วเท่านั้น โดยเทศบาลจะตรวจดูในส่วนของความสูงอาคาร ระยะเซ็ต ระยะถอยร่นเท่านั้น เรื่องรายละเอียดอื่นเช่นการขอต่อใบ
อนุญาต หรือความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร การออกแบบ อยู่ในความรับผิดชอบของกองช่างของอบจ.

ส่วนนายวสันต์ ไชยมนตรี หัวหน้าฝ่ายควบคุมอาคาร เทศบาลนครเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"ล่าสุดว่า อาคารของภาครัฐ จะสร้างหรือต่อเติมก็ไม่ต้องขออนุญาตก็ได้ และเทศบาลฯ ก็ ไม่ได้ดูแลส่วนนี้แล้ว ให้สอบถามโดยตรงที่อบจ.

ครั้งนั้น นายประชัน ชัยชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานกองช่างอบจ.เชียงใหม่ บอกเพียงว่า ไม่ทราบรายละเอียดการก่อสร้างต่อเติมอาคารเพิ่มอีก 3 ชั้น ทราบเพียงว่า จะใช้ทำสำนักงาน อบจ.ก็ไปขอจากเทศบาล ทางเทศบาลก็อนุมัติ ไม่ได้แนะหรือติติงเรื่องใด ส่วนเรื่องโครงสร้างและความแข็งแรงของตัวอาคาร วิศวกรบอกเพียงว่า โครงสร้างเดิมรับได้เท่านั้น

จนถึงขณะนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกองช่างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนควบคุมอาคารและผังเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังไม่มีการออกมาชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจนของอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ ที่สำคัญ อภิสิทธิ์ของการก่อสร้างอาคารของหน่วยราชการที่สามารถดำเนินการใดใด โดยไม่ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ดูแลตรวจสอบยังคงมีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องปฏิบัติ ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุผิดปกติ ต่างก็ออกมาปฏิเสธถึงความรับผิดชอบ

ท่ามกลางความสงสัยของประชาชน ท่ามกลางความวิตกกังวลของข้าราชการที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่อาคารหลังนี้อย่างหวาดผวาต่อไป

ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ ที่ชุดข้อมูลเหล่านี้ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องบอกกับประชาชนเจ้าของภาษี

หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเพียงกระจกแตก ฝ้ายเพดานหล่น ยังไม่มีสักคนที่ตายหรือบาดเจ็บ !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net