Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จิ๊กซอว์ชุดหนึ่งถูกต่อเข้าด้วยกันอย่างใจเย็น...

แต่ละส่วนของภาพ ค่อยๆ ถูกนำไปแปะบนเฟรมไปเรื่อยๆ จนภาพเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่เมื่อต่อไปเรื่อยๆ จนถึงชิ้นสุดท้าย...

แต่สิ่งที่ได้เห็น แทนที่จะเป็นภาพอันสวยงาม กลับได้เห็นช่องว่างที่โหว่อยู่...บางส่วนของจิ๊กซอว์คงหายไป

"แบบนี้ภาพก็ไม่สมบูรณ์สิวะ" ใครบางคนแถวๆ นั้นพูด

@#@#@#@#@

งาน "สังวาสเสวนา" ครั้งที่ 2 ที่องค์การแพธจัดขึ้น หลังจากที่ครั้งแรกได้พาสื่อมวลชนไปสัมผัสกับมุมมองเรื่องเพศอันหลากหลาย มาใน "สังวาสเสวนา" ครั้งนี้ในชื่อ "ผู้ใหญ่ในชีวิตเด็ก" ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่วันครอบครัวกำลังจะมาถึงในอีกสิบกว่าวันข้างหน้า

เราชอบคิดกันว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อ แม่ ครบหน้าครบตา และครอบครับใดที่ขาดใครคนใดคนหนึ่ง ครอบครัวนั้นๆ ก็มักจะได้เครื่องหมายการค้า "ครอบครัวมีปัญหา" ไปประดับเป็นอาจิณ

แต่...ครอบครัวมันหมายถึงแค่พ่อ แม่ ลูกหรอกหรือ...

"ตอนเด็กๆ คนภายนอกจะมองดูเหมือนกับว่าครอบครัวของเราสมบูรณ์ เพราะมีพ่อ-แม่-ลูก ครบ" แม่อุ้ย - อดีตเด็กที่ปัจจุบันเป็นsingle-mumลูกหนึ่งเล่าให้เราฟัง "แต่จริงๆ แล้วทั้งพ่อ-แม่ต่างก็ผ่านการแต่งงาน และมีลูกติดมาด้วยทั้งคู่ แล้วทั้งคู่ก็แต่งงานเพราะญาติจับคู่ โดยคิดว่าถ้ามีพ่อ-แม่ครบคงจะดีกว่า โดยมีเราที่เกิดหลังจากทั้งคู่แต่งงานกัน"

แม่อุ้ยเล่าถึงสภาพครอบครัวที่ต้องเจอในวัยเด็กว่า "ตอนนั้นเหมือนอยู่ท่ามกลางสงคราม ทั้งพ่อและแม่ต่างก็ปกป้องลูกติดของตัวเอง แล้วเราก็ไม่รู้จะไปไหน จำได้แม่นว่าตอนสมัย ป. 3 เคยเขียนเรียงความเรื่อง "ครอบครัวของฉัน" ตามความรู้สึกของตัวเอง แล้วถูกครูเรียกเข้าไปพบ แล้วก็บอกกับเราว่า "การไม่รักพ่อแม่เป็นเรื่องไม่ดีนะ" ทำให้ตอนเด็กๆ เราไม่กล้าจะระบายความรู้สึกกับใคร แต่พอเราโตขึ้น เราก็ระบายเรื่องนี้กับเพื่อนของเรา ซึ่งก็ทำให้เราสบายใจขึ้น และการที่เรามีเพื่อน ทำให้เราสามารถประคับประคองชีวิตมาได้ และยังสอนการใช้ชีวิตให้กับเรา ทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำยังไง ถึงจะได้ความรักจากเพื่อน"

ต่อมาแม่อุ้ยก็แต่งงานและมีลูกสาว แต่ชีวิตคู่ก็มีปัญหาจนถึงขั้นเลิกรากัน "ตอนแรกๆ พอลูกถามว่าพ่อหายไปไหน เราก็ตอบว่าพ่อต้องไปทำงานที่อื่น แต่พอสัก 8-9 ขวบ ลูกก็เริ่มถามว่า "แม่ไม่รักพ่อแล้วเหรอ" เราก็ต้องตอบไปตามความจริงว่า "จ๊ะ แม่ไม่รักกับพ่อแล้ว แต่ยังไงก็ตาม ทั้งแม่และพ่อก็ยังคงรักลูกอยู่" ต่อมาลูกก็เข้าใจ และสามารถจัดการกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้"

ผู้ร่วมวงเสวนาอย่าง ปอ- เด็กหนุ่มที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อ-แม่แยกทางกัน แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาขาดความอบอุ่นเลย "แม้ว่าพ่อกับแม่จะเลิกกันตั้งแต่เด็ก แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเด็กมีปัญหา เพราะเราก็ยังมีแม่ พี่ๆ และป้าคอยดูแลอยู่ตลอด อีกทั้งพ่อเองก็ยังคงโทรมาหาบ่อยๆ และยังคงเป็นที่ปรึกษาให้เราอยู่ตลอด"

"ส่วนเรื่องที่พ่อกับแม่เลิกกันนั้นมันเป็นเหตุผลของผู้ใหญ่ แต่สำหรับผม...แม้ว่าครอบครัวจะไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้า แต่ถ้ายังคงมีความเอาใจใส่กันอยู่ ก็จะไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป" ปอเล่าให้เราฟัง

บางคนจะคิดว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์มีโอกาสจะเข้าถึงสิ่งไม่ดีได้มากกว่าคนอื่น แต่ปอบอกกับเราว่า "ถ้าถามว่าผมเคยลองพวกเหล้า-บุหรี่ไหม ก็บอกตามตรงว่าเคยลองตามประสาวัยรุ่น อย่างบุหรี่ก็เคยลอง แต่ไม่ชอบและรู้สึกไม่ดี อย่างเหล้าก็เคยลอง แต่เป็นการลองที่อยู่ในสายตาของที่บ้าน แต่ก็ไม่ชอบ และไม่ได้ติดอะไร"

"ครอบครัวอยู่ไม่พร้อมหน้ากันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อย่างเพื่อนๆ ของผมบางคนพ่อแม่ก็เลิกกัน แต่ทั้งคู่ก็ยังดูแลลูกของตัวเองอยู่ พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกขาดอะไร และก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่เด็กจากครอบครัวแตกแยกจะเป็นเด็กมีปัญหา เพราะพวกเขาก็สามารถเป็นคนดีของสังคมได้" ปอบอกกับเรา

อ้น-สราวุฒิ มาตรทอง ที่เราจะคุ้นกับภาพบนโลกสมมติที่ชื่อว่า "วงการบันเทิง" แต่ปูมหลังของเขาก็มาจากครอบครัวที่คนส่วนใหญ่บอกว่า "ไม่สมบูรณ์" เช่นกัน "ตอนเด็กๆ จะถูกเพื่อนล้อบ่อยๆ ว่า "ไอ้หรั่งๆ" พอเราไปถามย่าว่าทำไมหน้าเราเหมือนฝรั่ง ย่าก็จะตอบว่าเพราะแม่ชอบดูรูปฝรั่งตอนท้อง หน้าเลยคล้ายฝรั่ง แต่เมื่อเป็นวัยรุ่นจึงได้รู้ว่าแม่ท้องกับพ่อที่เป็นฝรั่ง"

"ตอนเด็กๆ ผมจะอยู่กับย่าและอา ท่ามกลางสังคมที่พอออกจากประตูบ้านก็ต้องพบกับเรื่องร้ายๆ อย่างการตีรันฟันแทงและยาเสพย์ติด สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขคือการออกไปที่คลองหลังบ้าน เล่นกับผลมะแว้ง และปลากริมปลากัดที่อยู่ในคลอง ผมยังมีคุณป้าที่เรียนจบปริญญาตรี และมีอาชีพเป็นทนาย ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ผมอยากทำตาม เพื่อไม่ให้ทางบ้านเสียใจและร้องไห้" อ้นเล่าให้เราฟังถึงชีวิตวัยเด็ก

วัยแห่งการเล่าเรียนก็เป็นช่วงหนึ่งที่ทำให้อ้นได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ "ตอนอยู่ที่โรงเรียน ได้แสดงบนเวทีในงานต่างๆ ทำให้ผมรู้ว่าผมมีความสุขเมื่อได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้อื่น แต่ตอนช่วงป.4 ถึง ป.6 เราไม่รู้สึกดีกับผู้ใหญ่เท่าไหร่ เพราะเราเห็นครูมักจะโอ๋แต่เด็กที่เรียนเก่งๆ จนทำให้ในตอนนั้นผมรู้สึกว่าเราต้องเก่งกว่าคนอื่นๆ โดยไม่ต้องสนใจใคร ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไปตอนเข้าเรียนชั้นมัธยม เพราะตอนนั้นผมเก่งภาษาอังกฤษมาก ครูสอนภาษาอังกฤษก็ชื่นชม แต่ครูก็ไม่ทิ้งเพื่อนๆ ที่เก่งน้อยกว่า ซึ่งสอนให้ผมรู้ว่า "แม้เราจะเก่ง แต่เราก็ต้องไม่ปล่อยให้เพื่อนที่เก่งน้อยกว่าตายเป็นอันขาด" หลังจากนั้นผมก็ช่วยเพื่อนในสิ่งที่เพื่อนไม่รู้ เพื่อนก็จะช่วยในเรื่องที่เราไม่รู้เช่นกัน"

อ้นเล่าให้เราฟังต่อว่า "แต่ก่อนผมเคยไม่คิดจะรักใคร เพราะกลัวว่ารักแล้วจะต้องผิดหวัง พอผมเอาเรื่องนี้ไปคุยกับแม่ของเพื่อนที่เป็นนักจิตวิทยา ท่านก็บอกเราว่า "ถ้าเรายังเป็นแบบนี้ เราก็คงจะไม่ไปถึงไหน" จนบัดนี้ก็ไม่กลัวที่จะรักแล้ว เพราะรู้ว่าไม่มีสิ่งไหนที่สมบูรณ์แบบหรอก และไม่มีใครที่ดีที่สุด เราต้องพยายามทำให้ดีที่สุดในชีวิตของเราเอง"

"ที่เราได้เห็นในวงคุยวันนี้ เป็นตัวอย่างของครอบครัวชายขอบ ที่มักจะถูกคนทึกทักว่าคนที่เกิดมาในสภาพนี้ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้" นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ -จิตแพทย์โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์แสดงความเห็น "สิ่งง่ายๆ ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีได้ ก็คือการรู้จักรัก ให้เกียรติ และภูมิใจในตัวเอง เพราะการรักตัวเองจะเป็นพลังในการป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆ และแรงกดดันจากสังคมภายนอก จากตัวเขา ซึ่งก่อนที่จะรักตัวเองได้นั้น ต้องได้รับความรักจากคนที่รักเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อ-แม่ก็ได้"

"เด็กต้องทราบถึงปัญหาที่ครอบครัวกำลังเผชิญอยู่ เขาจะได้เข้าใจและสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ ในส่วนของสังคมก็ต้องมีเวทีสาธารณะที่เปิดกว้าง และสามารถพูดคุยถึงปัญหาได้ทุกเรื่อง และเปิดกว้างสำหรับคนในทุกส่วนของสังคม" นพ. ประเสริฐกล่าวสรุป

@#@#@#@#@

รูปจิ๊กซอว์รูปนี้ถูกนำมาใส่กรอบแขวนฝาผนัง ทั้งๆ ที่ชิ้นส่วนของมันก็ยังคงหายไปไหนก็ไม่รู้เหมือนเดิม

แต่หากมองดูดีๆ ที่จุดที่ชิ้นส่วนหายไป กลับมีสีน้ำวาดและระบายให้เป็นส่วนที่ขาดหายไป

"รูปมันก็ไม่สมบูรณ์อยู่ดีแหละวะ" คนๆ เดิมที่บ่นก็ยังมาบ่นต่อไป

เจ้าของรูปตอบ "จะให้ทำยังไงล่ะ อุตส่าห์ต่อมันมาจนจะเสร็จอยู่แล้ว จะปล่อยเอาไว้อย่างนั้นมันก็กระไรอยู่

…ถึงรูปที่ได้จะไม่สวยอย่างที่มันควรจะเป็น แต่มันก็สวยเท่าที่มันเป็นได้นี่"

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net