Skip to main content
sharethis

ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าอัศจรรย์ใจที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ อัศจรรย์ใจเพราะโครงการขนาดใหญ่นี้ไม่มีการทำความเข้าใจในเรื่องที่มาที่ไปกับสังคมอย่างชัดเจน และผ่านกระบวนการตัดสินใจของผู้มีอำนาจอย่างรวดเร็วและลื่นไหลยิ่ง

"หากจะอ้างว่านี่เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นแผนหนึ่ง เป็นพันธกิจของรัฐบาลที่เคยแถลงต่อรัฐสภา และก่อนการหาเสียงเลือกตั้ง เหตุใดจึงเลือกแผนนี้ทำก่อน การเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะน่าจะประกอบไปด้วยความต้องการของสังคม" เจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งข้อสังเกต

"การมีส่วนร่วม" หรือเพียงนิทานหลอกผู้ใหญ่?

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ดูเหมือนจะเป็นข้อใหญ่ใจความของปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิดังกล่าวแล้วก็ตาม อาจารย์จากนิติศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า ภายใต้แนวทางของรัฐบาลชุดนี้ แสดงให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะ ไม่มีความเชื่อมโยงกับความต้องการสาธารณะ แต่เป็นลักษณะท็อปดาวน์ ที่ผู้นำแสดงความต้องการ และสั่งให้ช่างตัดเสื้อ หรือนักกฎหมายไปตัดแต่งให้ได้ตามความต้องการนั้น และน่าแปลกคือ มีนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่

"ถามว่าปฏิรูปการเมืองได้รัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว มันได้ช่วยอะไรให้แก่การสร้างนโยบายสาธารณะที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมหรือไม่ คำตอบก็คือไม่มี ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการคิดอ่าน ริเริ่ม ไม่มีสิทธิที่จะเลือกว่าอะไรคือความจำเป็นก่อนหลัง ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการรับฟังความเห็น เพราะฉะนั้นกระบวนการเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะยังคงเป็นแบบเดิม อันจะนำไปสู่การคอร์รัปชั่นทางนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง มิหนำซ้ำยังรุนแรงกว่าเดิม แนบเนียนกว่าเดิม ตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไปอย่างสิ้นเชิง" นักวิชาการด้านกฎหมายสะท้อนความสิ้นหวังอย่างตรงไปตรงมา

เขากล่าวด้วยว่าคำ "การมีส่วนร่วม" ยังคงเป็นวาทกรรมทางการเมือง ที่ไม่มีชีวิต และยังไม่ได้รับการปฏิบัติจริง การเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะยังคงเกิดขึ้นจากกลุ่มทุน นักการเมือง ระบบราชการ และขณะนี้มีอีกภาคีหนึ่งคือ "ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ" ดังที่ได้ขยายความเอาไว้แล้วในตอนที่1

"มันจึงควรมีการทบทวนกันอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเหมือนประชาสังคมถูกหลอกว่ามีรัฐธรรมนูญแล้ว การเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะจะไม่เหมือนเดิม แต่ข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่" เจริญ กล่าว

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ยังวิเคราะห์ถึงข้ออ้างความชอบธรรมในการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยชี้ให้เห็นจุดสำคัญว่า ความเป็นรัฐกับรัฐบาลนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน การตัดสินใจจะมีกฎหมาย องค์กรที่จะสร้างกฎหมายได้ต้องเป็นองค์กรแห่งรัฐ ซึ่งมีรากมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว และสิ่งที่รัฐบาลต้องการทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการก็ได้

การใช้อำนาจรัฐโดยรัฐบาลแบบไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าความต้องการของสองส่วนนี้ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่ใช่สิ่งที่จะอ้างได้ว่าเรื่องนี้เป็นความต้องการของรัฐ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตรงกันข้ามอาจเรียกได้ว่าอำนาจรัฐที่รัฐบาลใช้อยู่นั้นมีผลประโยชน์ขัดกันกับผลประโยชน์สาธารณะ

"ทุกวันนี้ชอบมีข้ออ้างว่าเพื่อประโยชน์ของรัฐ และเมื่อเป็นดังนั้นแล้วจะทำอะไรก็ได้ ความยุติธรรมคือการยุติทางกฎหมาย กฎหมายเขียนอย่างไรก็อย่างนั้น เพราะรัฐเป็นผู้เขียนกฎหมาย ดังนั้น การจำแนกระหว่างรัฐ รัฐบาล และสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็น"

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ การเกิดขึ้นของนโยบายนี้ไม่มีการศึกษาวิจัย ไม่เปิดเผยที่มาที่ไป ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้นทุนทางสังคมที่ต้องสูญเสีย รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการทำก่อนแล้วศึกษาทีหลัง

"ในทางวิชาการยังไม่เคยเห็นว่าการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสร้างประโยชน์อย่างไร ถ้าเราอยู่ในระบบการตัดสินใจบนฐานความรู้ ก็ต้องบอกประโยชน์ให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักประกันประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบุคคลอื่นที่ไม่ได้สิทธิพิเศษและผลิตสินค้าชนิดเดียวกันสู่ตลาด" เจริญ กล่าว

นอกจากนี้หลักประกันปัญหาคอร์รัปชั่นก็หาได้ปรากฏชัดไม่ โดยขณะนี้ก็มีปัญหาอยู่แล้วในเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจึงไม่สามารถแยกออกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของผู้มีอำนาจได้อย่างชัดเจน ยังไม่รวมถึงสิ่งที่จะตามมาจากการเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ บริการสาธารณะ การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ระบบสื่อสาร ดาวเทียม มูลค่ามหาศาล

เขายังชี้ให้เห็นประเด็นต่อมาด้วยว่า การเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็คือ การสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐด้วยวิธีการทางกฎหมาย ด้วยเหตุว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลต่อการไปยกเลิก เพิกถอนอำนาจทางกฎหมายของส่วนราชการอื่นๆ ที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งมันเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมได้เคยใช้กันมานาน เช่น กฎเกณฑ์ควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพราะเป็นโรงไฟฟ้าของรัฐที่ไม่ต้องทำตามมาตรฐานของ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม และยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ถ้าเป็นเอกชนจะสร้างโรงงานต้องได้มาตรฐานตามกฎหมาย กรณีดังกล่าวได้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างประเมินค่าไม่ได้ ทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม และสุขภาพสุขภาวะของคนในท้องถิ่น

"นั่นแค่โรงเดียว ที่เดียว ลองจินตนาการดูถึงของเสียที่จะเกิดขึ้น โรงงานขยะพิษ หรือโรงงานเครื่องจักรหรืออุตสาหกรรมมือสอง ที่จะย้ายฐานมาประเทศไทยอีกจำนวนมาก สังคมไทยต้องใช้ต้นทุนอย่างมากมายมหาศาล กระบวนการเลือกสรรอุตสาหกรรมมีอยู่อย่างไรก็ไม่ระบุ เป็นอำนาจการตัดสินใจของนักการเมือง" เจริญกล่าว

เมื่อประชาชนถูกปล้นอำนาจ

เจริญยังวิเคราะห์ถึงความไม่ชอบมาพากลของกฎหมายดังกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐและการใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬาร แต่ถูกนำเสนอในขณะที่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ จึงเป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งก็มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรที่ออกมาขานรับกันบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขามองว่านี่เป็นการช่วงชิงสถานการณ์เพื่อปล้นอำนาจประชาชน เหตุผลก็คือ บทบาทของประชาชน หลักการ กลไก และระบบที่ฝังอยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ จะถูกลบล้างไปหมด โดยเรื่อง การตรวจสอบไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย เพราะคนที่รักษาการกฎหมายนี้คือนายกรัฐมนตรี

"เมื่อเป็นดังนั้น หากมีปัญหาขึ้นมาก็จะไม่มีใครมารับผิดชอบตอบคำถามกับสภา อภิปรายนายกฯ ไม่ได้เพราะเสียงไม่ถึง มันทำให้ระบบความรับผิดชอบทางการเมืองหายไปเลย เพราะปลอดจากการถูกตรวจสอบทางการเมือง" อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวพร้อมเตือนว่า กฎหมายนี้ทำหน้าที่ "เล่นแร่แปลธาตุ" ในกระบวนการใช้อำนาจตัดสินใจของรัฐให้มารวมศูนย์อยู่ที่ CEO หรือผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ตามกฎหมายกำกับกระบวนการใช้อำนาจนี้แต่อย่างใด

แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะออกมาชี้แจงให้เบาใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังต้องผ่านการกลั่นกรองของรัฐสภา และใช้เวลาพิจารณาอีกพอสมควร แต่นั่นไม่ได้ตอบคำถามใหญ่ที่สุดว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มิพักต้องเอ่ยถึงข้อสังเกตต่างๆ ที่นำไปสู่ข้อกังขาว่า "ความพิเศษ" ของเขตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนั้น ที่สุดแล้วเพื่อใคร?

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net