Skip to main content
sharethis

----------------------------------------------------

ปี 2531 ภาคใต้ของประเทศไทย ประสบกับวาตภัย อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนในเขตป่า ภูเขาของจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช น้ำป่า พื้นดิน ท่อนซุง ได้เลื่อนไหลลงมาทับถมผู้คน บ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหายไปเป็นจำนวนมาก กระแสธารน้ำใจของผู้คนในสังคมไทย ต่างหลั่งไหลกันมะรุมมะตุ้มช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยในครั้งนั้นจากทั่วสารทิศ

บทเรียนที่สำคัญของขบวนความช่วยเหลือจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้าไปในชุมชน เราพบว่ามีการช่วยเหลือที่นำไปสู่การทำลาย (ทั้งการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และก่อให้เกิดการทำลายโครงสร้างกลไกภายในชุมชน) และการช่วยเหลือที่นำไปสู่การหนุนเสริมสร้างฐานความเข้มแข็งของชุมชน อยากนำประสบการณ์ช่วยเหลือจากครั้งนั้นมาเล่าสู่กันฟัง

เช่น หลายๆ ชุมชน ผู้คนหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งขวัญและกำลังใจ บางครัวเรือนที่อยู่ที่หลับนอนก็ไม่มี อาศัยอยู่ตามวัด ศาลากลางบ้าน โรงเรียน อย่างหมดอาลัยในชีวิต 2 - 3 อาทิตย์ผ่านไป แต่ละคนเริ่มตั้งสติได้ กลับไปสู่ชุมชนของตัวเอง สร้างกระท่อม กระต๊อบแยกย้ายกันไปในถิ่นอาศัยที่ตัวเองเคยอยู่

ท่ามกลางความช่วยเหลือจากทั่วสารทิศ ที่แวะเวียนเข้ามาแลกสิ่งของให้กับชุมชน เราพบว่า

1. ชุมชนที่ขาดการรวมกลุ่มจัดตั้งในชุมชนจะประสบกับความขัดแย้ง แตกแยกจากการยื้อแย่งสิ่งของที่มีคนนำมาบริจาค เพราะแต่ละคนแต่ละครอบครัวก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ขาดความมั่นใจในอนาคตว่าสิ่งของที่ตัวเองได้รับจะทำให้ชีวิตในครอบครัวของตัวเองจะอยู่ได้สักกี่วัน

การแย่งชิงสิ่งของ การขนคนในครอบครัวมาเข้าคิว เพื่อรอรับสิ่งของเป็นไปด้วยความโกลาหล ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันก็มี ไม่มีโอกาสได้ไปคิดปรับปรุงการประกอบอาชีพ ปรากฏการณ์ที่พบเห็นก็คือ บางครอบครัวมีข้าวปลา อาหารแห้ง กองเต็มไปหมดในขณะที่บางครอบครัว(ที่มีสมาชิกน้อย) มีสิ่งของไม่มากนักของบางอย่างก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์

2. บางชุมชนที่มีการรวมกลุ่มจัดตั้งอยู่เดิมหรือมีการเคลื่อนไหว จัดระบบภายในของชุมชนขึ้นรองรับความช่วยเหลือ เช่น การลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการมัสยิด หรือการรวมตัวกันของผู้นำตามธรรมชาติ เพื่อจัดระบบดูแลกันภายในชุมชน แบ่งกันออกเป็นกลุ่ม เป็นโซน ของบริจาคที่หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน จะถูกจัดระบบรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ สร้างหลักประกันให้กับแต่ละครอบครัวว่าแต่ละคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้มีเวลาไปคิดเรื่องการประกอบอาชีพ ไปฟื้นฟูเรือกสวนไร่นาที่เสียหาย

ชุมชนบ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดระบบของชุมชนรองรับความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ สร้างความรักความสามัคคีและสามารถฟื้นชุมชนหลังภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว

มหันตภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดของภาคใต้ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างกว้างขวาง เฉพาะชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งจากการสำรวจคร่าวๆ ของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ ร่วมกับสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ พบพื้นที่ชุมชนประมงที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้อยู่ในเขต 6 จังหวัด 29 อำเภอ 111 ตำบล 497 หมู่บ้าน 20,178 ครัวเรือน มีประชากรที่เป็นชาวประมงที่ได้รับผลกระทบประมาณ 101,209 คน เสียชีวิตไปประมาณ 1,500 คน

ความช่วยเหลือจากทุกส่วนของสังคมไทย ต่างหลั่งไหลลงไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างคึกคักโกลาหล ไม่แตกต่างไปจากเหตุการณ์วาตภัยในปี 2531 ในฐานะคนปักษ์ใต้คนหนึ่ง และในฐานะที่ทำงานอยู่กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือพี่น้องที่ต้องประสบเคราะห์กรรมอันแสนสาหัสในครั้งนี้

ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากทุกท่าน ทุกหน่วยงานได้กรุณาก่อให้เกิดการหนุนช่วยในการช่วยเหลือตัวเองของพี่น้องควบคู่กันไปด้วย โดยการหนุนเสริมให้ความสำคัญต่อการจัดระบบสร้างกลไกการช่วยเหลือกันเองขึ้นในแต่ละชุมชนที่ท่านลงไป ความช่วยเหลือของท่านจึงจะไม่เป็นการทำลาย

ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือของท่านจะนำไปสู่การก่อรูปปูฐานความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพราะในอนาคตยังมีงานฟื้นฟูชุมชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกมากรออยู่ ซึ่งต้อง
อาศัยความรักความสามัคคีและองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้นไปได้อย่างยั่งยืน

บรรจง นะแส
โครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้

บรรจง นะแส
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net