Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่13 ธ.ค.2549 ที่ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนาหัวข้อ "การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสังคมได้เสียอะไร" โดยเครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.)


 


นายพิภพ ธงไชย จากมูลนิธิเด็กและเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยถือเป็นทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้น หากจะทำอะไรต้องให้สังคมเป็นผู้ตัดสินภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ใช้ประชาคมของตนเองตัดสิน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญคือ รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะเสนอพระราชบัญญัติฉบับใดเข้าสู่การพิจารณา


     


ทั้งนี้ ส่วนตัวยอมรับว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นระบอบที่จะต้องมีการเคลื่อนไหว ทว่า เมื่ออยู่ในระบบราชการกลับไม่มีความเป็นอิสระเหมือนกับโดนมัดตราสังข์ แต่เมื่อมีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลับนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกลายเป็นองค์กรธุรกิจ ดังนั้น ณ เวลานี้คงต้องต้องหาจุดกลางว่าการศึกษาแบบอิสระและเพื่อประชาชนอยู่ตรงไหน


 


ขณะเดียวกันเมื่อวิเคราะห์มาตรา 6 ของ ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.....พบว่า มีลักษณะคล้ายๆ กับเขตเศรษฐกิจเสรีซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรผลักดัน


 


 "หัวใจสำคัญของการออกนอกระบบราชการคือต้องมีการกระจายอำนาจทางการศึกษาขณะนี้เท่าที่มองดูกฎหมายของจุฬาฯ ยังไม่มีอะไรใหม่ในระบบนี้เลย อำนาจยังขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นหลัก ถ้าพ.ร.บ.ของจุฬาฯนำร่องแล้วผ่าน มหาวิทยาลัยอื่นก็ต้องตามเพราะเห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ แต่ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ประชาชนและนักศึกษามีส่วนร่วมตรงไหน คนจนได้แต่ขอทุนเรียน จุฬาฯจะกลายเป็นของลูกคนรวยเท่านั้นหรือกลายเป็นมหาวิทยาลัยของชนชั้นสูงและการกำกับดูแลของผู้บริหารอยู่ตรงไหน ความโปร่งใสการตรวจสอบไม่ทันสมัย หลักประกันเสรีภาพของอาจารย์และนักศึกษาอยู่ตรงไหน การตอบคำถามสำคัญๆที่สังคมถามถือเป็นหน้าที่ที่ต้องตอบให้หมด"


 


ด้านรศ.ดร.ใจ อึ้งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาคือขณะนี้ไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงขาดความโปร่งใส ซึ่งคนส่วนใหญ่ในจุฬาฯต่างไม่เห็นด้วย ผู้บริหารจึงแอบเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบเอง เพราะฉะนั้นการออกนอกระบบจึงผูกมัดกับเผด็จการ ไม่มีคุณธรรม ที่สำคัญผู้บริหารของจุฬาฯได้ชูความเป็นเลิศทางวิชาการมาอ้าง แต่ผู้บริหารเองทั้งชุดก่อนและปัจจุบันต่างไม่เข้าใจหลักของเศรษฐศาสตร์การเมืองพื้นฐานคือการออกนอกระบบเป็นทางเลือกของการเมืองเป็นกลไกการตลาดจึงมองว่าเป็นเรื่องของอวิชชา


 


สำหรับเรื่องความเป็นเลิศทางวิชาการ หากเป้าหมายคือการลดงบประมาณตามแนวคิดเสรีนิยมแล้วจะต้องมีการลดจำนวนอาจารย์และเพิ่มจำนวนนักศึกษา ทำให้ระบบการเรียนการสอนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์คงทำได้ยาก ทั้งนี้ หากจะเพิ่มความเป็นเลิศทางวิชาการจริงต้องเพิ่มสัดส่วนอาจารย์ให้พอเหมาะกับจำนวนนิสิต แต่แม้กระทั่งในปัจจุบันเองจุฬาฯ ก็ไม่มีงบประมาณในการให้เพื่อนำเสนองานทางการศึกษาทั้งในส่วนของอาจารย์และนิสิต แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การออกนอกระบบได้ทำลายคุณภาพทางวิชาการ เอาปรัชญาเสรีนิยมพ่อค้าแม่ค้ามาทำลายการศึกษา


 


 "อยากทิ้งคำถามไว้ว่า 1. หากคิดว่าคนส่วนใหญ่ในจุฬาฯพึงพอใจต่อการออกนอกระบบจริงก็ให้ทำประชามติ 2.จะรอการตัดสินที่มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ 3. พ.ร.บฉบับใหม่ของจุฬาฯจะสามารถส่งเสริมสหภาพแรงงานของอาจารย์ได้หรือไม่ 4. พ.ร.บ.จุฬาฯจะเปลี่ยนผู้บริหารที่จะมาจากการเลือกตั้งจากประชาคมจุฬาฯทุกปีได้หรือไม่"


 


ด้าน ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ทำให้สถานภาพทางการบริหารจัดการคล่องตัวขึ้นเพราะที่ผ่านมาการที่จะก้าวหน้าทางสังคมเท่าที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐภายใต้ระบบราชการทำได้ยาก อีกประเด็นคือหากมีอาจารย์เกษียณอายุราชการต้องหาอาจารย์มาทดแทนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งในระบบราชการทั่วไปทำได้แต่ในมหาวิทยาลัยทำไม่ได้ อีกทั้งอาจารย์เกษียณไป 1 คน ทำให้งบประมาณสูญหายไป โดยประมาณ 60,000 บาท และที่จุฬาฯมีอาจารย์เกษียณอายุต่อปีเฉลี่ยประมาณ 100 คน ทำเงินสูญไปกว่า 60 ล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้คุณภาพทางวิชาการแย่ลง


 


ที่สำคัญคือ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะได้เงินงบประมาณมาเป็นก้อนซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถนำมาบริหารจัดการได้เอง เงินจะไม่สูญเปล่า และจะมีการนำมาตรา 14 ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้มาแปรญัตติกรณีการปรับปรุงเงินเดือน คือหากข้าราชการได้เงินเดือนเพิ่มจะต้องเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานด้วยเพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการปรับเงินเดือนข้าราชการแต่ไม่ปรับในส่วนของพนักงานด้วย แต่ถ้าแปรญัตตินี้ไม่ได้ ข้าราชการส่วนใหญ่ก็ไม่อยากแปรสภาพ ซึ่งนั่นเป็นคนละประเด็นกับการเห็นด้วยหรือไม่กับพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้


 


 "พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ไม่ได้เป็นการประกอบธุรกิจแต่เป็นไปตามมาตรา 7 นั่นคือเป็นการสร้างองค์ความรู้คู่คุณธรรมและตามมาตรา 8 บริหารจัดการมหาวิทยาลัยตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมหาวิทยาลัยตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 6 เป็นมหาวิทยาลัยของแผ่นดิน อีกส่วนหนึ่งจะมีการแปรญัตติของบทเฉพาะกาลคือถ้าข้าราชการเปลี่ยนเป็นพนักงานจะต้องได้บำนาญ อีกทั้งข้าราชการที่เปลี่ยนเป็นพนักงานก็ยังคงได้เข้ากองทุนกบข.และยังได้เครื่องราช4 สายเหมือนเดิมทุกกระบวนการมีขั้นตอนที่โปร่งใส่ชัดเจน และจะมีการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกด้วย ทั้งในส่วนของผู้บริหารด้วย"ศ.ดร.เกื้อสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net