Skip to main content
sharethis

วานนี้(12 ธ.ค.)นายภัทรดนัย จงเกื้อ รองเลขาธิการองค์การนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(สจพ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (13 ธ.ค.) กลุ่มเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา 9 สถาบัน ประกอบด้วย สจพ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และม.มหิดลนัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา เวลาประมาณ 12.00 น. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบต่อนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเปิดเวทีปราศรัย โดยตัวแทนนิสิต นักศึกษาแต่ละสถาบันจะอ่านแถลงการณ์ของแต่ละแห่ง และแถลงการณ์ร่วมของ 9 สถาบัน


         


ทั้งนี้ ในส่วนของนักศึกษา สจพ.นัดรวมตัวกันบริเวณสวนปาล์ม ใน สจพ. เวลา 11.30 น. โดยจะมีการไฮปาร์กก่อนที่จะมีรถมารับนักศึกษาไปสมทบกับเพื่อนต่างสถาบันที่หน้ารัฐสภา


         


นายภัทรดนัยกล่าวอีกว่า เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จดหมายข่าวสภาคณาจารย์ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นของประชากรใน สจพ.ต่อร่าง พ.ร.บ.สจพ. โดยส่งแบบสอบถามไปยังบุคลากรของ สจพ. ทั้งสิ้น 1,500 ชุด รับคืน 762 ชุด ทั้งนี้ มีผู้เห็นควรชะลอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถึง 65.34% แสดงว่าบุคลากรใน สจพ.ไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ แต่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกลับไม่ให้ความสนใจ


         


อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวคัดค้านการออกนอกระบบของนักศึกษาขณะนี้ ได้รับความกดดันจากผู้บริหารเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ตนถูกผู้บริหารขู่ว่าจะพักการเรียน นอกจากนี้ป้ายผ้าหรือเอกสารที่ติดให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวกับนักศึกษาในสถาบันก็ถูกฉีกและดึงทิ้งหมด โดยอธิการบดีเป็นผู้ลงมากำกับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเก็บป้ายผ้าต่างๆ ด้วยตนเอง


 


 ศิลปากรตบเท้าพบนายกฯ


วันเดียวกัน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นักศึกษาจากม.ศิลปากรกว่า 10 คนนำโดยนายปรัชชารัตน์ แสงจันทร์ นายกสโมสรนักศึกษาม.ศิลปากร ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัย โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน


 


นายปรัชชารัตน์กล่าวว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยับยั้งหรือชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากรออกไปก่อนเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบข้อมูลหลังการออกนอกระบบ ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ให้ประชาคมมหาวิทยาลัย ได้รับทราบข้อมูลโดยทั่วกัน


 


 "พวกเราไม่ได้คัดค้านและไม่ต้องการก่อม็อบประท้วงอะไรทั้งสิ้นแต่ต้องการให้รัฐบาลให้เวลาเพื่อทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและรับทราบผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับการออกนอกระบบเพราะตอนนี้ยังไม่มีใครมีข้อมูล แต่ถ้ารัฐบาลจะดื้อดึงนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เราคงทำอะไรไม่ได้"นายปรัชชารัตน์กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนักศึกษากลุ่มนี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย


 


นศ.-อาจารย์ม.บูรพาถูกข่มขู่


นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นิสิตม.บูรพา กล่าวว่า การแปรรูปให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นการให้ผู้บริหารหากินกับการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งธุรกิจการศึกษา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่ตรวจสอบหรือคานอำนาจผู้บริหาร แต่กลับทำงานเข้าขากับผู้บริหาร อีกทั้งยังได้ปิดหูปิดตาและวางกฎระเบียบข่มขู่นิสิต โดยมีอาจารย์บางคนวางมาตรการหักคะแนนนิสิต หากออกไปเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้นิสิตส่วนใหญ่เกิดความกังวล และมีการออกกฎระเบียบพิเศษเพื่อควบคุมไม่ให้อาจารย์ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา หากฝ่าฝืนอาจารย์จะถูกลงโทษทางวินัย ถือเป็นการบีบอาจารย์ทางอ้อม


       


"เรื่องนี้เราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าการออกนอกระบบส่งผลกระทบต่อนักศึกษาโดยตรง ดังนั้นในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ผมจะมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกฯ จากนั้นจะไปยื่นคัดค้านการพิจารณาของสนช.ที่อาคารรัฐสภาด้วย ไม่เพียงเท่านั้นผมยังจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมจากนายจรัญ ภักดีธนากุลอีกด้วย" นายภาคิไนย์ กล่าว


 


จุฬาฯเร่งล่ารายชื่อยื่นกรรมการสิทธิฯ


 นายเก่งกิจ นิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้แกนนำนักศึกษาได้มีการล่ารายชื่อเพื่อนำไปยื่นให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภายในสัปดาห์หน้าเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งแกนนำนักศึกษาและนักศึกษาที่เข้าร่วมประท้วงถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพลต่างๆ นานาไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้


 


 "ในวันที่13 ธ.ค.เราจะมีการรวมตัวกันทั้งนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา"นายเก่งกิจกล่าว


 


ครม.ผ่านร่าง พรบ.ม.บูรพา กับมหิดล


ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมครม.ว่า วานนี้ (12 ธ.ค.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ เข้าสู่การพิจารณา 2 ฉบับ คือ ม.บูรพา และม.มหิดล ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบผ่านร่างดังกล่าว


 


 "จริงๆ แล้ววันนี้จะนำเข้า 4 มหาวิทยาลัย แต่ม.อุบลราชธานี ได้มีหนังสือถึงตนขอรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ สำหรับม.ศิลปากร ทางคณาจารย์ ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวน ซึ่งผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรไปดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนเสนอมาใหม่ผมย้ำมาตลอดว่าขอให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อม คุยกันเสียให้เรียบร้อยก่อน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยก็เห็นด้วยที่จะต้องกลับไปเคลียร์ให้เข้าใจตรงกันซะก่อน"


 


ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า มีกระแสออกมาว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบ คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดพูดกันไปเอง แต่การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีลักษณะหน่วยงานประเภทที่ 3 เหมือนกับองค์การมหาชน ซึ่งจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จะมีความก้าวหน้าและมีความเป็นเลิศด้านวิชาการ


 


 "การออกมาคัดค้านของนิสิต นักศึกษา ห่วงว่าค่าเทอมจะสูงขึ้น อันที่จริง ทุกวันนี้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนร้อยละ 70 ส่วนที่นิสิต นักศึกษาจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น และเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลยังให้การสนับสนุนงบไม่น้อยไปกว่าเดิม ดังนั้น อาจมีการขึ้นค่าเทอมบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐแล้ว ค่าเทอมของเอกชนสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐประมาณ 8 เท่า"


 


ขณะที่ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล แถลงว่า การพิจารณาของครม.ไม่ได้นำข้อเรียกร้องของนักศึกษามาพิจารณาแต่อย่างใด โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ รมว.ศธ.ก็พร้อมชี้แจงผ่านรายการสายตรงจากทำเนียบ


          ทั้งนี้ การนำมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบขึ้นอยู่กับการเสนอของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมไม่เหมือนกัน หากมหาวิทยาลัยใดต้องการชะลอก็สามารถเสนอได้ ส่วนร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยที่ผ่านมาพิจารณาของสนช.ที่เป็นเอกฉันท์ รัฐบาลก็พร้อมเดินหน้า


 


อธิการบดีมธ.ขึ้นค่าเทอมอีก 20%


ที่ห้องผู้สื่อข่าวกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เวลาประมาณ 16.00 น. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่เดินทางมากระทรวงเพราะต้องการทำความเข้าใจมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งขณะนี้สังคมเกิดความเข้าใจผิดอยู่หลายประเด็น และเป็นเรื่องเก่าที่พูดมาหลายปีแล้ว แต่ปัจจุบันเรื่องนี้มีพัฒนาการไปมาก เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ ความเข้าใจที่คิดว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ คือ


 


การแปรรูปมหาวิทยาลัย ตนอยากทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การออกนอกระบบคือเปลี่ยนรูปมหาวิทยาลัย แต่เป็นการเปลี่ยนจากส่วนราชการเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับหรือคล้ายรูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย คือเป็นองค์กรของรัฐที่ไม่มีหุ้น ซึ่งไม่ใช่การแปรรูปหรือดำเนินงานแบบ ปตท.ที่มีการเข้าตลาดหลักทรัพย์และมีการขายหุ้น


 


ทั้งนี้ ม.ในกำกับทั้ง 6 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว ปัจจุบันก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ ปีละร้อยล้านหรือบางครั้งปีละพันล้านก็ได้รับเงินอุดหนุนตามแต่ภาระของรัฐ ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ยังไม่ได้อกนอกระบบ หรืออย่างม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ออกนอกระบบไปแล้วก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐให้การสนับสนุนเช่นเดิม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องห่วงใยว่ารัฐจะไม่สนับสนุน


 


สำหรับข้อกังวลของสังคมที่ว่าเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้ว จะทำให้มหาวิทยาลัยขึ้นค่าเทอม และเมื่อการขึ้นค่าเทอมจะผลให้นักศึกษาที่ยากจนไม่มีโอกาสได้เข้ามานั่งเรียน ตนยืนยันว่าไม่มีการปิดกั้นเด็กยากจน อย่าง มธ.ได้มีการจัดสรรทุนให้เด็กร้อยละ 10 ของงบที่รัฐจัดสรรให้และยังมีเหลือจำนวนมาก เพราะเราติดตามดูความเป็นอยู่ว่ายากจนจริงหรือไม่ เพื่อพิจารณาการขอรับทุน ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยมีทุนลักษณะนี้ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเด็กยากจน และอีกอย่างยังมีทุน กยศ.ให้เด็กกู้ยืมด้วย


 


ดร.สุรพลชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรือไม่ กลไกการกำหนดค่าเทอม ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติที่จะไม่เปลี่ยนจากเดิม โดยยกตัวอย่างม.ธรรมศาสตร์ ในปี 2539 เคยมีขึ้นค่าเทอมสูงถึง 100% กับนักศึกษาที่เข้าใหม่ในปีการศึกษา 2540 จากเดิมนักศึกษาจ่าย 5,000 ก็เพิ่มเป็น 10,000 บาท ซึ่งวิธีการคิดการปรับค่าธรรมเนียมเหล่านี้ก็เป็นมติจากสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย


 


เช่นเดียวกับในปีการศึกษา 2550 มธ.จะมีการปรับเพิ่มค่าเทอมจากเดิมอีก 20% เนื่องจาก มธ.มีต้นทุนด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ อีกอย่างหนึ่งตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีการปรับเพดานค่าเทอม ดังนั้นค่าเทอมที่เก็บอยู่ทุกวันนี้ถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก


 


 "ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มธ.ไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าเทอม ดังนั้น ในปีการศึกษา 50 นี้ มธ.มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าเทอม 20 % เพราะขณะนี้ มธ.มีต้นทุนสูงด้านการจัดศึกษาค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์ เราจะจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ผมขอยืนยันว่าการขึ้นค่าเทอมขึ้นอยู่กับต้นทุนการจัดการศึกษา บวกกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ออก"ดร.สุรพลกล่าว


 


 


 


ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net