Skip to main content
sharethis

'เบญจา' เผยกองทัพบก-กองทัพเรือ เลี่ยงให้ข้อมูลธุรกิจพลังงานของกองทัพอย่างตรงไปตรงมา อ้างปั๊มน้ำมันมีเพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงาน แต่กลับแสวงหารายได้จากภายนอก รายได้ไม่ส่งคลัง

 

10 เม.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (10 เม.ย.) ระบุว่า ที่รัฐสภา เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม กล่าวถึงการประชุม กมธ.วิสามัญฯ เมื่อวานนี้ (9 เม.ย) มีเรื่องน่าตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น

เบญจา แสงจันทร์ (ที่มา: ทีมสื่อพรรคก้าวไกล)

หนึ่ง กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ให้ความคิดเห็นทางกฎหมายตามที่ กมธ.วิสามัญฯ แจ้งขอ โดยให้เหตุผลว่า เพราะ กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

สืบเนื่องจาก กมธ. ต้องการให้มีการตีความสถานะทางกฎหมายของ ททบ.5 และ RTA (Royal Thai Army Enterprise) ว่าเป็นอะไรกันแน่ เช่นเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กองทัพบกหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการบริหารจัดการในอนาคต แต่กฤษฎีกากลับระบุว่า กมธ. ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ กฤษฎีกาจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องให้ความเห็น

เบญจา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนพบกรณีเช่นนี้ และเห็นว่ามีปัญหา 2 ส่วน 1. การตีความว่า กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของสภาฯ และสภาฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นกรรมาธิการ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐนั้น ความน่ากังวลของเรื่องนี้คือ กมธ. ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯ เป็นหนึ่งในกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร การที่กฤษฎีกาให้ความเห็นเช่นนี้ จะนำไปสู่ปัญหาของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ที่จะเป็นการลดอำนาจการพิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ที่เป็นหน้าที่ของสภาฯ หรือไม่ 2. หากกฤษฎีกายืนยันว่า กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เหตุใดที่ผ่านมากฤษฎีกาจึงวางตนไม่สม่ำเสมอ เมื่อไรอยากให้ความเห็นทางกฎหมายก็ให้ แต่พอถึงเรื่องที่ไม่อยากให้ความเห็นก็อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ อ้างว่า กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ทั้งที่ในอดีต กมธ. คณะต่างๆ ก็เคยเชิญกฤษฎีกามาให้ความเห็นทางกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง

การหาคำตอบให้ได้ว่า ททบ.5 มีสถานะอะไร เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากตอนนี้ ททบ.5 ซึ่งประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่มีกองทัพบกเป็นผู้รับใบอนุญาต และ RTA ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ ททบ.5 ไม่เคยยอมรับว่าเป็นบริษัทของตนเอง เป็นบริษัทที่มีกองทัพบกถือหุ้นใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 ถือเป็นกิจการที่มีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น มิใช่กองทัพบกถือหุ้นอย่างโดดๆ เพราะมีข้าราชการทหารเป็นเสมือนผู้แทนในหุ้นนั้น ซึ่งก็เป็นประเด็นข้อสงสัยสำคัญว่า สถานะของ ททบ.5 และ RTA เป็นกิจการของรัฐประเภทใด เข้านิยามตามกฎหมายใด เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะขณะนี้ไม่สามารถยืนยันสถานะทางกฎหมายของ ททบ.5 และ RTA ได้

หลังจากนี้ กมธ. จะทำหนังสือส่งถึงกองทัพบก เพื่อขอให้กองทัพบกสอบถามไปที่กฤษฎีกาว่าสรุปแล้ว ททบ.5 และ RTA มีสถานะเป็นอะไร เชื่อว่าแนวทางนี้จะได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เช่นเดียวกับกรณีธนาคารกรุงไทย ที่ตนเคยดำเนินการตามคำแนะนำของกฤษฎีกามาแล้ว

กล่าวคือเมื่อครั้งมีคำถามว่า ธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำให้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะอดีตหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย ได้คำตอบกลับมาว่า ธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฏหมาย 3 ฉบับ ซึ่งหากตนเทียบเคียงกับกรณี ททบ.5 และ RTA จึงควรทำหนังสือถึงกองทัพบก ในฐานะผู้ถือหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้กองทัพบกส่งให้กฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ททบ.5 และ RTA มีสถานะใดกันแน่

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า อีกกรณีคือข้อมูลด้านธุรกิจพลังงานของกองทัพ ที่พบว่าบางเหล่าทัพพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

โดยในอนุกรรมาธิการก่อนหน้านี้ได้ให้เหล่าทัพต่างๆ เข้ามาชี้แจง พบว่ากองทัพอากาศและกองบัญชาการกองทัพไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ 2 เหล่าทัพที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง คือกองทัพเรือ ไม่สามารถให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกิจการที่ตัวเองมี และอ้างว่าสถานีบริการน้ำมันเป็นเพียงส่วนสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์หรือภารกิจของกองทัพเรือ ทั้งที่ความจริงกองทัพเรือมีรายได้จากหน่วยบริการเหล่านี้

อีกหน่วยงานคือ กองทัพบกที่ไม่ยอมให้ข้อมูลตามที่อนุกรรมาธิการฯ ขอไป อ้างว่ากิจการ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ไม่ใช่กิจการด้านพลังงาน จึงไม่มีเอกสารรายรับ รายจ่าย รายได้ หรืองบการเงิน ตามที่ขอไปมาชี้แจง ซ้ำยังขอเวลารวบรวมเอกสารเพิ่มเติมทั้งที่กองทัพบกเองก็เคยถูกขอมาแล้วหลายครั้ง

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกรณีการผลิตปิโตรเลียมที่บ่อน้ำมันในลุ่มแอ่งฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ชี้แจงว่า สงวนพื้นที่ไว้เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในช่วงวิกฤต แต่ความเป็นจริงคือปิโตรเลียมถูกขุดและนำมากลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันฝาง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แนฟทา (Naphtha) น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกส่งออกไปขายภายนอกยังคู่ค้าเอกชน ทั้งที่ปิโตรเลียมถือเป็นสมบัติของชาติ เป็นทรัพยากรร่วมกันของคนไทยทุกคน หากจะทำธุรกิจด้านนี้ต้องเสียค่าภาคหลวงเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ปตท. แต่กรณีบ่อน้ำมันที่ฝาง ตลอดกว่า 66 ปีที่ผ่านมา กรมการพลังงานทหารกลับครอบครองไปใช้สร้างรายได้ให้หน่วยงานตัวเองโดยไม่เสียค่าภาคหลวงแต่อย่างใด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net