Skip to main content
sharethis

สถานการณ์เมียวดี ยังรบพุ่งต่อเนื่อง กองกำลังผสม ฝ่ายต่อต้าน รปห. เข้าตีค่าย 275 ของกองทัพพม่าหนัก ด้าน 'เศรษฐา' ตั้งคณะทำงานชายแดน ให้ กต.รับผิดชอบหลัก เสริมด้วย สมช.

 

10 เม.ย. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดีย ‘X’ ระบุวานนี้ (9 เม.ย.) ว่า สถานการณ์ในเมียนมามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก การทำงานด้านนโยบายเมียนมาก็เพื่อสันติภาพ และเสถียรภาพของเมียนมา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

 

 

โพสต์ระบุต่อว่า การประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีชายแดนเมียนมาเช้านี้ (9 เม.ย.) คือประเทศไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และพร้อมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมถึงการค้าชายแดน

โพสต์ระบุด้วยว่า เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบหลัก โดยมีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ทำงานร่วมด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศทั้งประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

เว็บไซต์ ไทยพีบีเอส รายงานวานนี้ (9 เม.ย.) ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า เครื่องบินเมียนมาที่ลงจอดประเทศไทยแค่ขนเอกสาร ไม่มีอาวุธ กำลังพล หรือเจ้าหน้าที่มาด้วย ย้ำความเป็นกลางของไทยไม่มีการชักศึกเข้าบ้าน และไทยได้เตรียมรับมือด้วยการตั้งศูนย์รับช่วยเหลือได้ประมาณ 100,000 คน

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่สัปดาห์ที่ผ่านมา (6 เม.ย.) สำนักข่าวชายขอบ รายงานสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ฝั่งเมียวดี ว่ามีความคืบหน้า เนื่องจากกองกำลังผสม ประกอบด้วย กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นปีกการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) สนธิกำลังโจมตีและผลักดันฐานที่มั่นทางทหารของกองทัพพม่าให้ออกไปจากพื้นที่รอบเมืองเมียวดีได้จนเกือบหมด เหลือที่ค่ายกองพัน 275 ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของเมืองเมียวดี บนทางหลวงพิเศษเอเชีย 1 (AH1)

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมในกรณีนี้ด้วยว่า กองทัพพม่า ได้มีการวางอาวุธยอมแพ้กับทางกองกำลังผสม เป็น ทหารจำนวนราว 400 ราย 

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 มีการเผยแพร่เอกสารจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ขออนุมัติทางการไทย ให้เที่ยวบินพิเศษย่างกุ้ง-แม่สอด 3 เที่ยว ระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย. 2567 ลดจอดที่ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อขนสิ่งของและผู้โดยสาร (มีการสันนิษฐานว่าเป็นเชลยศึกสงคราม) กลับไปที่ประเทศต้นทาง 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 20.40 น. หลายสื่อรายงานตรงกันว่า มีเครื่องบินจากเมียนมามาลงจอดที่ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก ก่อนจะออกเดินทางไปในวันเดียวกัน โดยยังไม่มีรายงานจากทางการไทยว่า สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ได้ขนอะไรไปบ้าง

ทั้งนี้ เมื่อ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวบนเฟซบุ๊ก 'กระทรวงการต่างประเทศ' ต่อกรณีนี้ว่า ทางรัฐบาลไทยจึงได้อนุมัติคำขอโดยคำนึงถึงสถานการณ์เร่งด่วนและมีความเป็นไปได้ที่จะต้องอพยพบุคลากรของพม่าพร้อมครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย และเหตุผลด้านมนุษยธรรม ตามที่ไทยเคยให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายในพม่าตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net