Skip to main content
sharethis

โฆษกรัฐบาลฯ เผยไทยสนับสนุนการแก้ไขทุกปัญหาโดยทุกคู่ขัดแย้งด้วยสันติวิธี พร้อมให้ความช่วยเหลือตามแนวทางหลักการสากล แจงเครื่องบินพม่าเป็นการปฏิบัติภารกิจพลเรือนตามปกติ - ประธาน กมธ.ต่างประเทศ ห่วงสถานการณ์ชายแดน ย้ำ 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ชี้เป็นเวลาเหมาะสมผลักดันกระบวนการสันติภาพในพม่า เพราะถ้ามีการสู้รบต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดคือประเทศไทย

8 เม.ย. 2567 เว็บไซต์รัฐบาลไทย  รายงานว่านายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยว่า ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใครในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายยืนหยัดคู่ความสงบสุข การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีเสมอมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ต่อประเด็นเรื่องเครื่องบินพม่าเป็นการปฏิบัติภารกิจฝ่ายพลเรือน ขอนำเครื่องบินพลเรือนเพื่อขอขนส่งสิ่งของพลเรือนตามปกติ ไม่ได้เป็นการรองรับภารกิจพิเศษ หรือมีการขนกำลังทหารหรืออาวุธ แต่อย่างใด

“รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายอย่างชัดเจนเสมอมา ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายดำเนินการในทางสันติวิธี แต่ในทางมนุษยธรรม ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือพลเรือน ตามแนวทางหลักการสากลเพื่อสันติสุขของโลกตามที่ได้ดำเนินการตลอดมา” นายชัย กล่าว

ประธาน กมธ.ต่างประเทศ ห่วงสถานการณ์ชายแดนไทย ย้ำ 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ

ไทยรัฐออนไลน์  รายงานว่านายนพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ที่กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ยึดเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ของประเทศไทย และในขณะนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาแล้วบางส่วนนั้น ในเรื่องนี้ กมธ.ต่างประเทศ เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อ ดังนี้

1. รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิด

2. มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในพม่า

3. ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนพม่าและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ

4. ผลักดันการเจรจาสันติภาพในพม่าโดยผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในพม่า ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุด และได้จังหวะเวลาที่สุด

นายนพดล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกับทางรัฐบาลทหารพม่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำถามว่าเรามีแผนรองรับที่ทันการและครอบคลุมหรือไม่ เนื่องจากการสู้รบน่าจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้ง และจะมีคนหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น อาจจะมีคนหนีการเกณฑ์ทหารในพม่าข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถามว่าระบบการตรวจสอบและการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองทันการและสามารถรองรับได้เพียงใด มิฉะนั้นในอนาคตเราก็จะมีบุคคลที่เข้าเมืองแต่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในอนาคต

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ล่าสุดในพม่า จึงขอตอกย้ำข้อเสนอ 4 ข้อที่ กมธ.ต่างประเทศ เคยเสนอไปแล้วเพื่อให้ภาครัฐไปดำเนินการ โดยเฉพาะ ข้อ 1 เร่งรัดการมีกลไกระดับชาติจะเป็นในรูปแบบกรรมการ หรือมีเจ้าภาพในรูปแบบอื่นเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในพม่าอย่างใกล้ชิด เพื่อมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ และข้อ 2 ซึ่งภาครัฐน่าจะสื่อสารแผนรองรับการอพยพหนีภัยสงครามและหนีการเกณฑ์ทหารว่าน่าจะมีจำนวนเท่าใด เพราะขณะนี้มีข้อมูลว่ามีชาวพม่าที่เข้ามาในไทยโดยไม่ผ่านช่องทางคนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีจำนวนเท่าไร และจะมีผลกระทบในระยะยาว

“ในขณะที่มีผู้หนีภัยสงคราม เราก็ต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าการหลบภัย อาหาร อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือการสู้รบ คิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากในการที่จะผลักดันกระบวนการสันติภาพในพม่า โดยการตั้งทรอยก้าพลัสเพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายในพม่าหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน เพราะถ้ามีการสู้รบกันต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือประเทศไทย”

นายนพดล ระบุอีกว่า เรามีความปรารถนาดี อยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ และเอกภาพในพม่า ไทยจึงควรเป็นหัวหอกหลักในการร่วมมือคุยกับทางประธานอาเซียน จีน อินเดีย และควรดำเนินการทันที เพราะข้อเสนอในเรื่องนี้นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีเรื่องพม่าก็ได้เสนอแนะรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ก็จะปูทางไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุดที่สุด รวมทั้งจะเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net