Skip to main content
sharethis

เวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 โรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งกุลาร้อยเอ็ดเดือด เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาถูกตำรวจดันล้มพร้อมตั้งแผงกั้นและปิดประตูห้องประชุมไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านเข้าร่วมเวที 'เลิศศักดิ์' เผยชาวบ้านแจ้งการชุมนุมถูกต้องตามกฎหมายควรคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องไม่ใช่คุ้มครองความปลอดภัยของบริษัท ชี้เวที ค.3 ที่จัดขึ้นนี้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่รับฟังความคิดเห็นพร้อมทั้งละเมิดการรับฟังความคิดเห็นและดูถูกคนในพื้นที่ขณะที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เครือข่ายฅนฮักทุ่งกุลาย้ำเดินหน้าสู้ต่อแม้คนในเครือข่ายฯ ถูกบริษัทฟ้องคดีกลั่นแกล้ง (SLAPP) เตรียมเดินหน้ายื่นศาลปกครอง กทม.ให้บริษัทยุติโครงการให้ได้ ด้าน PI เผย “เศรษฐา” แสดงจุดยืนในเวทีประชุมสมัชชา UN ว่าด้วยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐต้องยุติที่บริษัทฯฟ้องคดี นักปกป้องสิทธิฯโดยทันทีและต้องยุติโครงการในพื้นที่ทันทีถึงจะเป็นไปตามจุดยืนรัฐบาลที่ประกาศไว้ในเวทีโลกเพื่อการตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 ที่อาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ ต.บัวแดง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3  เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่   โดยเมื่อเวลา 7.30 น.ทั้งหมดได้ตั้งขบวนที่เทศบาลตำบลโนนสวรรค์ก่อนจะเคลื่อนตัวมายังที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์พร้อมกับถือป้ายผ้าข้อความรณรงค์ ปกป้องทุ่งกุลา ยกเลิกโรงงานน้ำตาลปกป้องทุ่งกุลา และจัดเตรียมหุ่นฟางที่เป็นสัญลักษณ์ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและบริษัทที่รับจ้างจัดทำเวทีรับฟังความเห็นมาด้วย

ก่อนหน้านี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นไปแล้ว 2 ครั้งโดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่ศาลาเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลสระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ไม่ได้จัดในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ที่เป็นที่ตั้งของโรงงาน และครั้งที่ 2 จัดขั้นในวันที่ 18 ก.ค. 2566 ถึงแม้จะจัดในพื้นที่ต.โนนสวรรค์แต่ก็เป็นการจัดในพื้นที่ปิดของบริษัทมีรั้วและประตูแสดงขอบเขตอย่างชัดเจนและประชาชนที่เห็นต่างทั้งหมดก็ถูกกันออกหรือปิดประตูไม่ยอมให้เข้าและมีการเตรียมการใช้การฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯมาเล่นงานนักปกป้องสิทธิฯในครั้งนั้นด้วย ซึ่งการจัดเวทีทั้ง 2 ครั้ง ทีผ่านมานั้นนักปกป้องสิทธิฯเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้ชุมนุมคัดค้านไปแล้วและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสั่งให้เวทีรับฟังความเห็นของโรงงานเป็นโมฆะ เพราะไม่มีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

และครั้งล่าสุดนี้เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ที่นอกเขตพื้นที่จัดตั้งโรงงานและนอกพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ที่จะได้รับผลกระทบอีกเช่นเคยโดยบริษัทฯได้จัดเวที ที่ ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่จะทำการจัดตั้งโรงงานจึงนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาในครั้งนี้

ตำรวจดันชาวบ้านล้มลงกับพื้นและตั้งแผงพร้อมปิดประตูไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวที พ้อทำไมตำรวจไม่ปกป้องชาวบ้านแต่ปกป้องนายทุน

ทันที่ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้เดินทางถึงอาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ที่เป็นเวทีจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายตั้งขบวนพร้อมทั้งเอาแผงกั้นมากั้นและปิดแผงเหล็กห้องประชุมลงเพื่อไม่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาเดินทางเข้าไปในพื้นที่ห้องประชุม ตัวแทนกลุ่มเลยเริ่มปราศรัยเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต้องการให้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีเครือข่ายฯบางส่วนซึ่งเป็นผู้หญิงสูงอายุปูผ้าลงกับพื้นพร้อมทั้งก้มกราบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้เปิดทางให้เข้าไปยังห้องประชุม  ขณะที่กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาพยายามจะเดินเข้าไปในห้องประชุมกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งขบวนอยู่ผลักและดันกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุล้มลงกับพื้น พร้อมทั้งเกิดความชุลมุนขึ้น

โดยหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกผลักล้มลงกับพื้นกล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ทำไมถึงทำกับชาวบ้านแบบนี้ ถ้าเขามาสร้างโรงงานได้ ลูกหลานของเราจะเดือดร้อน พวกเราเดี๋ยวก็ล้มหายตายจากไปแล้ว แต่ลูกหลานเราจะต้องอยู่กับมันตลอดชีวิต อ้อยก็ปลูกไม่ได้ในพื้นที่นี้จะมาสร้างโรงงานไปทำไม ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปกป้องเราไปปกป้องนายทุนทำไม”

“เลิศศักดิ์” เผยชาวบ้านแจ้งการชุมนุมถูกต้องตามกฎหมาย ตำรวจต้องคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องไม่ใช่มาดูแลความปลอดภัยของบริษัท ชี้เวทีค. 3 ที่จัดขึ้นนี้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่รับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีที่ละเมิดการรับฟังความคิดเห็น เป็นเวทีที่ดูถูกคนในพื้นที่ มาจัดที่ ต.บัวแดง แต่พื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ที่ต.โนนสวรรค์

ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากล่าวว่า มันจะมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นและทำลายผืนแผ่นดินถิ่นเกิดของพวกเขา พวกคุณคือส่วนหนึ่งของความเลววันนี้ วันนี้เราทำการแจ้งชุมนุมสาธารณะ ทำไมไม่เปิดประตูห้องประชุมให้ชาวบ้านได้เข้าไปแสดงความเห็น ถามจริงๆ ปิดประตูทำไมปิดเพื่ออะไร พี่น้องตำรวจได้ประโยชน์อะไรจากมันการปิดประตูกั้นชาวบ้าน คอยยั่วยุพี่น้องชาวบ้านตลอดพี่น้องนั่งลงแล้วก็ยังมายืนค้ำหัวชาวบ้านเป็นตำรวจภาษาอะไร ไม่เคยให้ความช่วยเหลือประชาชน เราแจ้งชุมนุมสาธารณะคุณต้องดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องไม่ใช่มาคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของบริษัท  วันนี้คนที่รับจ้างทำเวทีเห็นคนหนุ่มสาวรับจ้างบริษัทหลายคนเมื่อสองสามปีก่อนพลังของคนหนุ่มสาวได้ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลของประยุทธ์ จันโอชา สร้างสังคมสร้างอนาคตให้กับบ้านเมือง แต่วันนี้กลับมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งรับใช้นายทุนทำลายแผ่นดินถิ่นเกิดทุ่งกุลาของตนเอง อยากขอแนะนำให้ลาออกจากบริษัทนี้เสีย อย่าทำงานเหยียบหัวประชาชนอย่าทำเป็นไม่สนใจว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะเดือดร้อนอย่างไร

“วันนี้เรามาทำหน้าที่ในการปกปักรักษาผืนดินทุ่งกุลาได้เป็นอย่างดีแล้ว เรามาบอกให้ทุกคนได้รู้ว่าเวทีค. 3 ที่จัดขึ้นมาแบบนี้มันเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่รับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีที่ละเมิดการรับฟังความคิดเห็น เป็นเวทีที่ดูถูกคนในพื้นที่ มาจัดที่ ต.บัวแดง แต่พื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ที่ต.โนนสวรรค์ ดังนั้นควรเอาโรงงานมาตั้งที่ ต.บัวแดงแทน เราต้องการเข้าไปข้างในแต่ตำรวจไม่ยอมให้เราเข้า ต่อให้เวทีนี้จะได้จัดหรือไม่ได้จัดเขาก็จะหน้ามึนพูดให้มันครบ 3 ชั่วโมงแล้วก็บอกว่าเวทีนี้ผ่าน ต่อให้เราแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยแค่ไหนก็ตามเขาก็จะไม่สนและจะบอกว่ามีมาตรการป้องกันไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตนคิดว่าเรามาทำหน้าที่ของเราได้สมบูรณ์แล้วเรามาปกป้องแผ่นดินเกิดของเรา ชัยชนะของเราอยูเบื้องหน้าไม่ใช่อยู่ข้างหลังต่อให้เวทีนี้ผ่านก็ไม่ได้รับประกันว่าโรงงานแห่งนี้จะเกิดขึ้น เรายังมุ่งมั่นที่จะเอาโรงงานนี้ออกจากทุ่งกุลาให้ได้ อยากสร้างให้ไปสร้างที่อื่นไม่ใช่ทุ่งกุลา”นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากล่าว

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายฅนฮักทุ่งย้ำเดินหน้าสู้ต่อแม้คนในเครือข่ายถูกบริษัทฟ้องถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองกทม.ให้บริษัทยุติโครงการให้ได้

หนูปา แก้วพิลา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากล่าวว่าการมาของเราในวันนี้ก็เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเรา เราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่จะมีโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่จะมาตั้งในพื้นที่ ทั้งการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นเหมือนที่เกิดขึ้นในวันนี้และหลายๆ ครั้งที่มีการจัดเวที นอกจากนี้บริษัทยังฟ้องร้องกลั่นแกล้งดำเนินคดีกับเครือข่ายของเราที่ออกมาเคลื่อนไหวอีกด้วย เราจะไม่ยอม แม้ว่าจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นอีกมาก และขอย้ำว่าทุ่งกุลาที่เป็นพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิติดอันดับโลก เราปลูกข้าวหอมมะลิให้คนทั้งประเทศกินรัฐบาลควรส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิของเราอย่างจริงจังไม่ฉาบฉวยเพื่อให้เราสามารถเอาข้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ทำให้เราเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐที่เอื้อนายทุนเช่นนี้

“แม้วันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปิดกั้นไม่ให้เราเข้าไป ก็อย่าคิดว่าจะปิดกั้นการต่อสู้ของเราได้ การต่อสู้ของเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้หลังจากนี้เราจะเข้าไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกรุงเทพมหานครให้หยุดโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของเราให้ได้” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากล่าว

องค์กร Protection International ชี้ “เศรษฐา” ไปแสดงจุดยืนในเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นรัฐต้องยุติที่บริษัทฯฟ้องคดีกลั่นแกล้ง(SLAPP) นักปกป้องสิทธิฯโดยทันทีและต้องยุติโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทด้วย ถึงจะเป็นไปตามจุดยืนรัฐบาลที่ประกาศไว้ในเวทีโลกเพื่อการตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

ด้านปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International กล่าวว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายมาเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรง รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสำคัญนี้ และจากการเข้าร่วมการประชุม เวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ( UNGA78 )สำหรับประเทศไทยเองมีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแสดงจุดยืนตามนโยบายรัฐบาลในการเชื่อมโยงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 หัวข้อหลัก คือการลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งจากการประชุม Climate Ambition Summit 2023 ต่อเนื่องจากการประชุม SDG Summit เสนอแนวทางรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเชิงสร้างสรรค์ เช่น แนวทางการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) ที่เน้นตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปลูกข้าวอินทรีย์ของเครือข่ายของคนฮักทุ่งกุลาคือการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) เป็นการตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง ดังนั้นรัฐบาลต้องยุติการที่บริษัทฯได้ทำการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง(SLAPP) ต่อนายเกียรติศักดิ์ คำพิลา นักปกป้องสิทธิฯและสมาชิกของเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา  โดยทันทีและต้องยุติโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทด้วย ถึงจะเป็นไปตามจุดยืนรัฐบาลที่ประกาศไว้

เผาหุ่นฟางพร้อมเผยแพร่แถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์คัดค้านโรงงานน้ำตาล

หลังจากปราศรัยนานร่วมกว่าสามชั่วโมงในช่วงท้าย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการร่วมกันเผาหุ่นฟางที่เปรียบเสมือนตัวแทนของบริษัทโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และบริษัทที่รับจ้างจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเผาเพื่อขับไล่ให้พ้นจากแผ่นดินทุ่งกุลา พร้อมกับเผยแพร่แถลงการณ์ 5 ข้อเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านโครงการ โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ถูกยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ด้านโครงการอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน โดยเป็นการยื่นผ่านปริวาส ชัยเลิศ นายอำเภอปทุมรัตต์ที่หอประชมอำเภอปทุมรัตต์เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 ที่ผ่านมาโดยแถลงการณ์ 5 ข้อมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้

1.  พื้นที่ อ.ปทุมรัตต์และอำเภอใกล้เคียงทั้งใน จ.ร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียง ได้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นเยี่ยมของทุ่งกุลาซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  รวมถึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของแผนพัฒนาภาคอีสานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566 ให้เป็นพื้นที่เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์  ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและยกระดับกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานสินค้าอย่างครบวงจร จึงเป็นเหตุผลที่โครงการทั้งสองควรถูกยกเลิก เพิกถอน หรือยุติการผลักดันใด ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

2. โครงการทั้งสองได้ขัดขวางและทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็น และทางบริษัทฯและบริษัทจัดทำ EIA ได้มีการใช้กลไกข้าราชการ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในระดับอำเภอและจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการผลักดันโครงการ ประชาชนที่เห็นต่างทั้งหมดจะถูกกันออกหรือปิดประตูไม่ยอมให้เข้า  โดยเตรียมการใช้การฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯมาเล่นงานการดำเนินโครงการทั้งสองจึงขัดต่อหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐบาลไทยและธุรกิจจะต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริงที่

3.โครงการทั้งสองเคยได้รับสิทธิ์ตั้งโรงงานน้ำตาล มีกำลังการผลิตเท่ากัน และตั้งอยู่ที่เดียวกัน มาแล้วครั้งหนึ่ง ในนามบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)โดยจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่โรงงานน้ำตาลเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการไอน้ำและไฟฟ้าให้กับโรงงานผลิตน้ำตาล โดยสิทธิ์ตั้งโรงงานมีอายุ 5 ปี แต่บริษัทน้ำตาลบ้านโป่งไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานได้ตามกำลังการผลิตที่ได้รับสิทธิ์ จึงทำให้ไม่สามารถดําเนินการตั้งโรงงานน้ำตาลให้แล้วเสร็จและเริ่มประกอบกิจการได้ทันภายในห้าปีนับจากวันที่ได้รับสิทธิ์ตั้งโรงงานแต่กลับไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น คือ บริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด และได้ไปขอหนังสือรับรองในการอนุญาตตั้งโรงงาน น้ำตาลอีกครั้งหนึ่ง โดยมีกำลังผลิตเท่ากันที่ 24,000 ตันอ้อย/วัน  ด้วยเหตุที่ได้กล่าวมา เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เห็นว่า “สิทธิ์ตั้งโรงงานน้ำตาล” หรือ “หนังสือรับรองในการอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล” ไม่ควรได้รับสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตเป็นครั้งที่สองในพื้นที่เดิม จากเหตุที่ไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานได้ตามกำลังการผลิตที่ได้รับสิทธิ์ และเนื่องด้วยความไม่เหมาะสมของพื้นที่ เพราะพื้นที่บริเวณทุ่งกุลานี้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้จดสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

4. พื้นทุ่งกุลาเป็นพื้นที่เป้าหมายของแผนพัฒนาภาคอีสานของสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566 ให้เป็นพื้นที่เพิ่มศักยภาพการผลิต ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น  การย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัทฯออกไปจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะมั่นใจหรือเชื่อใจได้ว่าหากบริษัทฯสามารถก่อสร้างโรงงานได้ จะไม่พลิกลิ้นกลับมาทำลายพื้นที่ทุ่งกุลาฯด้วยการกำหนดเป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยในภายหน้า

5. บริษัทฯได้ทำการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง (SLAPP) ต่อนายเกียรติศักดิ์ คำพิลา ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เพื่อหวังจะปิดปาก ทำให้กลัวและไม่ให้ทำการวิพากษ์วิจารณ์การผลักดันโครงการทั้งสองของบริษัทฯอีกต่อไป โดยตั้งข้อหาร้ายแรงเพื่อสกัดขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของนายเกียรติศักดิ์ ซึ่งเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่กำลังทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างประชาธิปไตยให้กับผู้คนในชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาตระหนักถึงเหตุผลที่ได้กล่าวมา เพื่อยุติการผลักดันโครงการทั้งสองมิให้ดำเนินการอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net