Skip to main content
sharethis

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพม่า มีการรวมกลุ่มกันในชื่อ "Karen River Watch" ที่ต่อต้านโครงการเขื่อนหลายแห่งในพม่าโดยเฉพาะที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิต ทั้งในด้านการใช้น้ำ การเดินทาง การประมง และการเกษตร นักกิจกรรมองค์กรสตรีกะเหรี่ยง Naw K’nyaw Paw ยืนกรานว่าทุกคนต้องสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ โดยไม่มีเขื่อนมาแย่งน้ำพวกเขาไป


ที่มาภาพ: Nyein Nyein / The Irrawaddy

เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วที่กลุ่มชุมชนชาวกะเหรี่ยงและนักสิ่งแวดล้อมทำการต่อต้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจีที่มีแผนสร้างบนแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายสำคัญที่สุดของพม่า

กลุ่ม "Karen River Watch" ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมภาคประชาสังคมได้ย้ำให้มีการแบนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ และปล่อยให้แม่น้ำสาละวินไหลโดยไม่มีอะไรมาปิดกั้น เพื่อเป็นการรักษาแหล่งทรัพยากรน้ำให้กับคนรุ่นต่อไป

มีประชากรราว 1,000 คนในพื้นที่ปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสาละวิน ได้เข้าร่วมกิจกรรม "วันหยุดเขื่อนโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มี.ค. ของทุกปี

แม่น้ำสาละวินมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคน เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่ใช้ในการคมนาคม, การประมง และใช้เป็นน้ำสำหรับการเพาะปลูก

"Salween Peace Park" จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเขตสงวนสำหรับชนพื้นเมืองที่จะมีการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ, มรดกทางวัฒนธรรม และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ในพื้นที่มูตรอ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพื้นที่ผาปูน ตามภาษากะเหรี่ยง

ผู้อาศัยในพื้นที่พากันรวมกลุ่มเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงความกังวลต่อเรื่องที่ว่า แผนการสร้างเขื่อนจะกระทบต่อระบบนิเวศของรัฐกะเหรี่ยง ที่ๆ มีประชากรราว 10 ล้านคนต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำ

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในยุคก่อนหน้านี้เมื่อปี 2548 ได้วางแผนจะสร้างเขื่อนแล้วหนึ่งปีต่อมาก็มีการลงนามในสัญญากับบริษัทซิโนไฮโดรของจีนและกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำหรับโครงการเขื่อน 1,360 เมกะวัตต์ ที่แม่น้ำสาละวิน ผู้อาศัยในพื้นที่ต่อต้านแผนการดังกล่าว แต่ก็มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทางสังคมในปี 2549

ในปี 2556 ประธานาธิบดีพม่าในยุคนั้นคือ เต็งเส่ง ประกาศแผนการจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน 6 แห่ง รวมถึงเขื่อนฮัตจีด้วย

ในช่วง 4 ปีถัดจากนั้นกำลังทหารฝ่ายเผด็จการพม่าได้วางกำลังคุ้มกันโครงการและการสร้างถนน จนเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ มีชาวบ้านหลายพันคนที่หนีออกจากบ้านของตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกเกณฑ์ไปบังคับใช้แรงงาน

ในเดือน พ.ค. 2564 ผู้นำเผด็จการทหารมินอ่องหล่ายได้เปรยว่าจะกลับมาดำเนินโครงการเขื่อนต่ออีกครั้ง

Naw K’nyaw Paw ประธานขององค์กรสตรีกะเหรี่ยง เป็นคณะกรรมการบริหารของ Salween Peace Park และดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของท้องถิ่นมูตรอที่อยู่ภายใต้การปกครองของ KNU เธอได้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านเขื่อนหลายครั้ง

Naw K'nyaw Paw เรียกร้องให้ ประชาคมโลกช่วยกันเรียกร้องเพื่อให้มีการยืนยันว่าโครงการพัฒนาใดๆ ก็ตามจะต้องมีการปรึกษาหารือกับคนในพื้นที่เสียก่อน นอกจากนี้ Naw K'nyaw Paw ยังได้พูดคุยกับสื่ออิระวดีเกี่ยวกับความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรของลุ่มน้ำสาละวินด้วย

ดูเหมือนว่าโครงการเขื่อนจะหยุดลง แต่มันจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งหรือไม่

Naw K'nyaw Paw กล่าวว่ารัฐบาลไทยและกองทัพเผด็จการพม่ามีความสนใจที่จะสร้างเขื่อนอยู่เสมอ แต่ผู้อาศัยในพื้นที่ต่อต้านและพวกเขาก็มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจากนานาชาติคอยสนับสนุน เธอมองว่าคงไม่สามารถสร้างเขื่อนต่อได้ในชั่วชีวิตของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม Naw K'nyaw Paw มองว่ากลุ่มผู้คัดค้านเขื่อนก็ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องปัญหาเขื่อนต่อไปเพื่อยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต คนรุ่นถัดไปจะต้องมีความเข้าใจและต้องยังคงต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์นี้ต่อไป

Naw K'nyaw Paw บอกว่าน้ำควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีพื้นเพแบบใดหรือมีสถานะทางสังคมแบบใดก็ตาม ไม่ใช่แค่สิ่งที่คนที่มีเงินและอำนาจเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ ควรจะมีความเท่าเทียมและสิทธิความเท่าเทียมกัน การเข้าถึงน้ำควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน

"โครงการเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบอย่างใหญ่หลวงและไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆ เลยกับคนในพื้นที่ ไฟฟ้าจะถูกส่งออกนอกประเทศในขณะที่คนในพื้นที่ต้องแบกรับภาระ ... ประชาคมโลกควรจะต่อต้านเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน" Naw K'nyaw Paw กล่าว

ธีมของวันที่ 14 มี.ค. ปีนี้คือ "สายน้ำเพื่อทุกคน" โดยที่แม่น้ำสาละวินมีความสำคัญในฐานะแม่น้ำที่ผู้คนใช้หาปลาและใช้เดินทางสัญจรได้ แต่หารมีเขื่อนจะทำให้วิถีชีวิตแบบนี้หมดไปเพราะพวกเขาจะมีการปิดกั้นสายน้ำทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป มีหลายประเทศที่กลุ่มธุรกิจและนักลงทุนที่ร่ำรวยทำการแย่งชิงน้ำจากหมู่บ้านทำให้แม่น้ำแห้งเหือด

"ถ้าหากพวกเราไม่รักษาแม่น้ำเอาไว้ให้ทุกคนเข้าถึงได้ มันก็จะกลายเป็นแค่สิทธิพิเศษสำหรับคนรวยบางคนเท่านั้น" Naw K'nyaw Paw กล่าว

"นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต่อต้านเขื่อน พวกเราจึงทุ่มเทให้กับการดูแลรักษาแหล่งน้ำของพวกเรา เพื่อให้มันสะอาดและไม่ทิ้งขยะลงไปโดยเฉพาะพลาสติก พวกเขาควรจะรักษาให้แหล่งน้ำสะอาดและไหลได้อย่างอิสระเพื่อคนรุ่นอนาคตของพวกเรา" Naw K'nyaw Paw กล่าว

เมื่อถามว่าทางกลุ่ม Salween Peace Park มีการรักษาแหล่งน้ำอย่างไรบ้าง Naw K'nyaw Paw ก็ตอบว่า ทางกลุ่มเองมีการประชุมเพื่อพูดคุยกันเรื่องการรักษาแหล่งน้ำ แหล่งประมง และหยุดการถางป่า เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นนโยบายอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีการนำมาปฏิบัติจริงด้วย

Naw K'nyaw Paw กล่าวว่าทุกๆ ปี พวกเขาจะย้ำเตือนถึงความรับผิดชอบในการที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้อาศัยในพื้นที่จะทำการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกับที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำมาก่อน โดยอาศัยความรู้แบบชนพื้นเมืองในการอนุรักษ์แม่น้ำและแหล่งประมง พวกเขาต้องส่งต่อความรู้นี้ไปให้คนรุ่นถัดไป

ในขณะที่ Salween Peace Park ถูกมองว่าเป็นขบวนการริเริ่มที่ประสบความสำเร็จ มีปัญหาอะไรบ้างไหมที่พวกเขาเผชิญจากความขัดแย้ง?

Naw K'nyaw Paw บอกว่าสาเหตุที่มันประสบความสำเร็จเพราะมันมีการดำเนินการแบบล่างขึ้นบน มีผู้อาศัยในพื้นที่เป็นผู้เลือกคณะกรรมการบริหาร มันมีการทำงานแบบให้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และทุกๆ คนก็ทำงานร่วมกัน ในทุกปีจะมีการประชุมหารือกันโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนของชุมชน รวมถึงจาก KNU และจากองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ

ในช่วงที่มีความขัดแย้งนั้นมีความยากลำบาก แต่ชาวบ้านก็รอดมาได้เพราะมีความรู้ ถึงแม้ว่าจะต้องละทิ้งหมู่บ้านแต่พวกเขาก็อาศัยในป่าได้เพราะมีความรู้จากการใช้ป่าเป็นแหล่งหาอาหารและรู้ว่าพื้นที่ไหนจะปลอดภัยถ้ามีการทิ้งระเบิดหรือการโจมตีทางอากาศ

"พวกเราอยู่รอดได้ก็เพราะว่าพวกเรายังคงมีผืนป่าและภูเขา และมีแม่น้ำที่พวกเราสามารถพึ่งพาได้ ... ผู้คนมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่าจะต้องรักษาผืนป่าของพวกเราให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง" Naw K'nyaw Paw กล่าว

การขาดโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เป็นข้อจำกัดในการสร้างความตระหนักรู้หรือไม่?

Naw K'nyaw Paw บอกว่าพวกเขาเรียกร้องให้มีการพัฒนาแบบชุมชน มีการให้ผู้อาศัยในพื้นที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการโครงสร้างพื้นฐานอะไร พวกเขาไม่อยากให้กลุ่มธุรกิจมาเอารัดเอาเปรียบพวกเขา

ก่อนหน้านี้การเข้าถึงการคมนาคมเคยมีความยากลำบาก แต่ในตอนนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ก่อนหน้านี้ถนนเก่ามีแค่รถจักรยานยนต์เท่านั้นที่แล่นได้ แต่ในตอนนี้สามารถเดินทางไปยังต้นน้ำของแม่น้ำสาละวินได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

"คนส่วนมากต้องการการพัฒนา แต่พวกเขาก็ต้องให้มีการรับฟังเสียงของพวกเขาด้วยเวลาที่มีการหารือในเรื่องนี้" Naw K'nyaw Paw กล่าว

ชาวบ้านพยายามทำให้ดีที่สุดในช่วงที่มีความขัดแย้ง แต่ก็มีความคืบหน้าอยู่บ้าง จากการที่ในอดีตมีค่ายทหารของกองทัพพม่าอยู่จำนวนมาก แต่ในตอนนี้ผู้คนสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวและสามารถช่วยกันสร้างถนนได้ ซึ่งนับเป็นก้าวแรก

แล้ววิธีการบริหารแบบ Salween Peace Park จะกลายเป็นโมเดลสำหรับสหพันธรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้หรือไม่?

Naw K'nyaw Paw ตอบว่าถ้าหากต้องการจะให้สหพันธรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์มีลักษณะการตัดสินใจแบบล่างขึ้นบน ก็ควรจะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย

"พวกเราควรจะสามารถตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาเองได้ นั่นคือความยั่งยืน สหพันธรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ควรจะมีการสร้างจากล่างขึ้นบน" Naw K'nyaw Paw กล่าว


เรียบเรียงจาก
“Water should be accessible to everyone”, The Irrawaddy, 21-03-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net