Skip to main content
sharethis

กสม.ชี้บริษัทแพลตฟอร์มไม่นับ “ไรเดอร์” เป็นลูกจ้างทั้งที่บริษัทมีอำนาจควบคุมและลงโทษเหมือนเป็นลูกจ้างไม่ใช่หุ้นส่วนอย่างที่บริษัทอ้าง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ผิดกฎหมายแรงงานและประกันสังคม เสนอให้แก้ไขปรับค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ เหมือนเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย

29 มี.ค.2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานถึงมติที่ประชุมต่อประเด็นมีผู้ร้องเรียนว่าบริษัทแพลตฟอร์มจ้างงานไรเดอร์โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคมและแรงงานสัมพันธ์ ด้วยการทำให้ไรเดอร์เป็นหุ้นส่วนและไม่ถือว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง อีกทั้งยังให้ไรเดอร์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำงานเองเช่น ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมสภาพรถ ค่าเครื่องแบบหรืออุปกรณ์

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 74 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในการทำงาน และสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ รวมทั้งสิทธิของทุกคนในอันที่จะมีสวัสดิการสังคมรวมทั้งการประกันสังคม

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนหลักเป็นค่ารอบซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามผลงานที่ทำได้ตามอัตราที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด โดยไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เนื่องจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับไรเดอร์ไม่มีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน แต่ให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ แทน เช่น ประกันภัย สินเชื่อจากสถาบันการเงิน การฝึกอบรม ส่วนลดในการซื้อสินค้าต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชา
ไรเดอร์โดยตรงด้วยการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในการเข้าและออกงาน การแต่งกาย และการจัดส่งสินค้า ซึ่งหากไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามจะมีการลงโทษด้วยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการทำงานบางประการ เช่น วิธีการจ่ายงานและค่าตอบแทน ซึ่งไรเดอร์จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิต่อรอง

นอกจากนั้นไรเดอร์ยังไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหรือมีส่วนร่วมในกำไรหรือขาดทุนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งต้องหาอุปกรณ์ในการทำงานและต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ การทำงานของไรเดอร์จึงไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ของผู้ประกอบการ

ไรเดอร์จึงเข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ ไรเดอร์จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบกิจการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นนายจ้าง ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ มีคำพิพากษากรณีนี้ในทำนองเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ตามสัญญาระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม
เป็นความสัมพันธ์ของการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายจ้างที่มีอำนาจสั่งการและลงโทษ

ดังนั้น ผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจึงไม่ได้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบอาชีพอิสระ แต่มีสถานะทางกฎหมายเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการเจ้าของแพลตฟอร์ม การที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้อง ปฏิบัติไปในทางเดียวกันว่า ไรเดอร์ไม่ใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ไรเดอร์ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน อีกทั้งไม่มีหลักประกัน ในเรื่องค่าตอบแทน รวมถึงไม่ได้รับสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้องทั้งสี่ราย และกระทรวงแรงงาน สรุปได้ดังนี้

(1) ให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิและสวัสดิการ
ที่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสำรวจสภาพการจ้างงานในปัจจุบันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายกรณีถือว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง เช่น หลักเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง ระยะเวลาทำงาน การกำหนดวันลา วันหยุด เป็นต้น และกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อให้ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่ารอบและค่าตอบแทนอื่นให้กับไรเดอร์ได้รับไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

(2) ให้กระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจากการที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมาย และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองให้การใช้แรงงานไรเดอร์เป็นไปด้วยความเป็นธรรม โดยอาจกำหนดกฎกระทรวงให้งานไรเดอร์ที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับการคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในลักษณะเดียวกันกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 และนำข้อมูลที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวมากำหนดในกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองการใช้แรงงานไรเดอร์ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานและการประกันสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ให้ซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ทราบถึงนิติสัมพันธ์
ที่ถูกต้องและปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการควบคุม กำกับ และติดตามให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกรายปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องสภาพการจ้างงานของไรเดอร์ต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะลูกจ้างด้วย

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือรูปแบบแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับในระยะยาวต่อไป เช่น การแก้ไขนิยามของนายจ้าง ลูกจ้างและสัญญาจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และนิยามการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net