Skip to main content
sharethis

'ศิริโรจน์' สส.สมุทรสาคร ก้าวไกล สวมเสื้อไรเดอร์ ติงนโยบายด้านแรงงานของ ครม.เศรษฐา 1 ไม่ชัดเจน พร้อมสะท้อนปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานตามกฎหมาย และเรียกร้องให้รัฐช่วยลดราคา-ขั้นตอนการลงทะเบียนทำบัตรทำงานแรงงานข้ามชาติ

 

12 ก.ย. 2566 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ วันนี้ (12 ก.ย.) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

หลังจากเซีย จำปาทอง สส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ศิริโรจน์ ธนิกกุล สส. พรรคก้าวไกล สมุทรสาคร อภิปรายต่อว่าด้วยประเด็นสิทธิแรงงานที่ถูกลืม โดยเฉพาะ แรงงานแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) และแรงงานข้ามชาติ

ศิริโรจน์ ระบุว่า เหตุที่ใช้คำว่า แรงงานที่ถูกลืม อาจไม่ถูกเสียทีเดียว เมื่อลองดูในคำอ่านแถลงนโยบายของเศรษฐา อาจต้องเรียกว่า ลืมแรงงานทั้งระบบหรือไม่ เพราะมีถ้อยความไม่กี่คำที่พูดถึงแรงงาน คือ “ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม” และคำว่า “การเปิดรับแรงงานต่างด้าว” หลังจากนั้น นายกฯ ก็ไม่มีการกล่าวถึงแรงงานข้ามชาติอีกเลย ทำให้ไม่ทราบรายละเอียดว่าสวัสดิการคือสวัสดิการด้านไหน หรือนโยบายการเปิดรับแรงงานข้ามชาติแตกต่างจากสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร 

ศิริโรจน์ มีข้อคำถามไปยังนายกฯ ว่าทำไมถึงยกกระทรวงแรงงานให้พรรคภูมิใจไทย เพราะว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเลย อย่างมากมีเพียงนโยบายลดรายจ่ายครัวเรือนเท่านั้น

ปัญหาสถานะการจ้างของไรเดอร์ที่ไม่แน่นอน ไม่ครอบคลุมกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

ศิริโรจน์ อภิปรายพร้อมกับสวมแจ๊กเก็ตไรเดอร์ โดยระบุว่า วันนี้เขามาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนไรเดอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่เคยทำมาก่อนที่จะทำงาน สส. สส.คนเดิมระบุว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ไรเดอร์กลายเป็นอาชีพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีบริษัทแพลตฟอร์มหลายเจ้าเข้ามาทำธุรกิจในตลอด มีไรเดอร์จำนวนมากที่ทำงานเป็นแบบประจำ และแบบงานเสริม

สส.พรรคก้าวไกล สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมระหว่างทำงาน ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ปัญหาเกิดขึ้นกับทุกเจ้าทุกแพลตฟอร์มมากน้อยแตกต่างกันไป

ที่มา: TP Channel

สส.พรรคก้าวไกล สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า ประการแรก ไรเดอร์ประสบปัญหาการลดค่ารอบอย่างไม่ธรรม และโดยพลการ ซึ่งสวนทางกับการเก็บค่า Gross Profit หรือ GP ที่เก็บจากร้านค้า ซึ่งไม่เคยลดลงเลย นอกจากนี้ ค่ารอบที่แตกต่างกันระหว่างโซนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ค่ารอบของพื้นที่ต่างจังหวัดจะน้อยกว่าทั้งที่ราคาน้ำมันเท่ากัน ปัญหาการเพิ่มระบบงานพ่วงทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานทีละหลายงานพร้อมกัน ทำงานเยอะขึ้น แต่ค่าจ้างลดลง รวมไปถึงปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษแบนห้ามรับงานโดยไม่เปิดเผยสาเหตุ หรือการที่ไรเดอร์ต้องแบกรับต้นทุนหลายอย่างด้วยตัวเอง เช่น การซื้อแจ๊กเก็ต กล่องบรรทุกอาหาร ค่าบำรุงรถจักรยานยนต์ ค่าโทรศัพท์ และอื่นๆ หรือแม้แต่ต้นทุนการรักษาสุขภาพ

ศิริโรจน์ มองว่า ปัญหาดังกล่าวมรต้นเหตุมาจากการตีความให้ไรเดอร์ ไม่ใช่ "ลูกจ้าง" แต่บริษัทใช้คำว่า "พาร์ทเนอร์" ของบริษัท ถ้าบอกว่าเป็นพาร์ทเนอร์กัน หมายความว่าต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่นี่กลับได้เพียงฝ่ายเดียว 

การตีความดังกล่าวทำให้ บริษัท ไม่ต้องปฏิบัติกับไรเดอร์ตามกฎหมายแรงงาน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน สิทธิและการคุ้มครองได้เพียงตามที่บริษัทจะเมตตาเจียดมาให้เท่านั้น 

"อย่างที่ผมได้เล่าไป ผมเคยเป็นหนึ่งในไรเดอร์ เคยประกอบอาชีพนี้มาก่อนเป็น สส. ตอนผมขับมอเตอร์ไซค์ ผมเคยประสบอุบัติเหตุรถล้ม ขณะที่วิ่งไปส่งอาหาร จนกระดูกข้อมือซ้ายผมหัก ต้องใส่เฝือกเป็นเดือนๆ แต่ผมไม่เคยได้รับการดูแล หรือเหลียวแลจากบริษัทต้นสังกัดเลย พอพยายามจะเรียกร้อง ก็ถูกตอบกลับมาว่า ยังทำงานไม่ถึงตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด ที่จะได้รับประกันอุบัติเหตุ ผมเล่าเรือ่งนี้ให้ไรเดอร์ฟัง เขาขำ และบอกว่า อาจจะต้องตายก่อน บริษัทถึงจะส่งพวงหรีดกับค่าทำศพมาให้" ศิริโรจน์ กล่าว

ชงแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดนิยามนายจ้างให้ชัดเจน 

ศิริโรจน์ เสนอว่าการแก้ปัญหาของไรเดอร์ ต้องเริ่มจากการแก้ไขกฎหมาย ถ้าบอกว่า ไรเดอร์ กับแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ลูกจ้าง-นายจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เราก็ต้องเข้ามาแก้ไขตรงนั้นให้ครอบคลุม โดยแก้ไขนิยามว่า “นายจ้าง” ที่มีต่อคนทำงานเป็นอย่างไร สัญญาจ้างที่เป็นธรรมเป็นอย่างไร มีสิทธิและสวัสดิการที่เหมาะสมกับการทำงาน รวมไปถึงประกันสังคมแบบถ้วนหน้าที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของไรเดอร์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ศิริโรจน์ ระบุต่อว่า อยากเห็นรัฐบาลชุดนี้รับฟังและแก้ไขปัญหาของไรเดอร์หลายแพลตฟอร์ม และทำนโยบายตามที่เคยให้ไว้ในวันแรงงานแห่งชาติ และสามารถร่วมผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานของพรรคก้าวไกล ที่เคยยื่นต่อรัฐสภา เมื่อ 14 ส.ค. 2566 ได้อีกด้วย

'ก้าวไกล' สะท้อนปัญหาแรงงานข้ามชาติ เชิงนโยบาย-ปฏิบัติ

ศิริโรจน์ ระบุเหตุที่เขาอยากอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเขาเป็น สส.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นดั่งเมืองหลวงของประชากรข้ามชาติ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศไทยขาดแรงงานข้ามชาติไม่ได้ พวกเขาเป็นเหมือนฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา โดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการประมง จำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตอนนี้มีจำนวนมากถึง 2,750,000 คน 

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากคำแถลงนโยบายของนายกฯ เศรษฐา มีเพียงกล่าวสั้นๆ เท่านั้นว่า จะมีการเปิดรับแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายเป็นอย่างไร แตกต่างจากรัฐบาลสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร ไม่มีบอกกล่าวในคำแถลงฉบับนี้

ศิริโรจน์ กล่าวต่อว่า เขาเคยทำงานเป็น HR ทำให้ทราบปัญหาการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยครั้งนี้เขาจะขอเจาะจงที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จากทั้งกระบวนการ MOU และมติ ครม. โดยปัญหาหลักของแรงงานข้ามชาติมี 2 อย่าง 1. ด้านนโยบายลักลั่นย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ และ 2. ในทางปฏิบัติคือการขึ้นทะเบียนการต่ออายุบัตรแรงงาน 

ชง ครม.แก้ปัญหาราคา-ขั้นตอนลงทะเบียน ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ศิริโรจน์ กล่าวขยายความว่า ที่บอกว่านโยบายของไทยมีความลักลั่นย้อนแย้ง เพราะถึงแม้ว่าเราจะต้องการกำลังของแรงงานข้ามชาติที่สูง แต่เราก็กลัวเรื่องอาชญากรรม และความมั่นคง สุดท้าย เลยเกิดเป็นการกำหนดจำนวนปีของแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาทำงานอยู่ในไทยได้ โดยตั้งแต่ปี 2562-2566 หรือในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีนโยบายแรงงานข้ามชาติไร้แบบแผน และไม่มีแผนงานระยะยาว มีเพียงมติ ครม.ที่ต่ออายุ หรือกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะต่ออายุบัตรแรงงานข้ามชาติ ซึ่งออกมามากถึง 18 ฉบับ โดยฉบับล่าสุด ออกมาเมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ศิริโรจน์ กล่าวต่อว่า นโยบายที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมายตามมา โดยปกติแล้วแรงงานที่อยู่ครบกำหนด ก็ต้องกลับประเทศ แต่พอมีออกมติ ครม.ต่ออายุเรื่อยๆ แรงงานข้ามชาติเขาก็ไม่กลับ และรอต่ออายุใหม่ในประเทศไทย เพราะว่าเดี๋ยว ครม.ก็ออกอีก สุดท้ายก็ทำให้เกิดช่องเรียกรับเงินหรือส่วยเพื่อจะเอาโควต้าแรงงานข้ามชาติ โรงงานก็ต้องยอมจ่ายใต้โต๊ะ และมีการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศในช่วงที่มีความต้องการแรงงานสูง 

ส่วนปัญหาในเชิงปฏิบัติ คือการขึ้นทะเบียนบัตรทำงานแรงงานข้ามชาติที่มีราคาแพงสูงถึงเกือบ 1 หมื่นบาท และมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ การตรวจโควิด-19 การเข้าระบบประกันตน และอื่นๆ 

นอกจากนี้ การทำบัตรแรงงานมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องผ่านอีก 5 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานประกันสังคม และกรมการจัดงาน หรือถ้าเป็นแรงงานภาคการประมง ต้องผ่านกรมประมงอีกหน่วยงาน เพื่อทำ "Sea Book"

ที่มา: TP Channel

ศิริโรจน์ เสนอว่า อยากให้รัฐบาลมีการทำ 'One Stop Service' เพื่อลดขั้นตอนยุ่งยากเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพยายามทำแล้วก็ตาม กลับพบปัญหาว่าไม่ได้มีการเปิดให้ทำได้ตลอด จึงอยากฝากนโยบายนี้ให้รัฐบาลไปดำเนินการ

นอกจากนี้ เงินค่าธรรมเนียมที่เก็บจากแรงงานข้ามชาติทั้งหมดถูกนำเข้าส่วนกลาง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้เลยสักบาท แต่กลับต้องแบกรับต้นทุนในการให้บริการค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น และเข้าใจว่าเงินอุดหนุนท้องถิ่นคำนวณจากประชากรในพื้นที่ ไม่รวมแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งต้องถามรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมาจากพรรคเดียวกับ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สส.พรรคก้าวไกล สมุทรสาคร กล่าวว่า สุดท้าย เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในแรงงานข้ามชาติ พบว่าแรงงานข้ามชาติผู้หญิง และเด็ก ต้องตกอยู่สภาวะที่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะลูกจ้างแบบ MOU จะเปลี่ยนนายจ้างทีก็ยาก ถ้าไม่ถึงเวลาที่กำหนด 

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือการลงนามสัตยาบันในอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อปลดล็อกเสรีภาพในการรวมตัว และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทั้งในเศรษฐกิจ และทางสิทธิมนุษยชน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net