Skip to main content
sharethis

สหพันธ์นักฟุตบอลนานาชาติ (FIFPRO) นำเสนอเรื่องราวของ ของ 'กิลเบิร์ต' (นามสมมติ) นักฟุตบอลชาวแอฟริกันที่เคยไปค้าแข้งยังยุโรปมาก่อน ในช่วงปี 2018 เขาก็ย้ายไปร่วมสโมสรแห่งหนึ่งในลีกชั้นนำของทวีปแอฟริกา สุดท้ายแล้วเขากลับติดอยู่กับปัญหาทางกฎหมายนานกว่า 4 ปี ก่อนที่เขาจะชนะคดีด้วยการสนับสนุนจาก FIFPRO และสหภาพแรงงานนักฟุตบอลท้องถิ่น


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

เรื่องของ 'กิลเบิร์ต'

ผมอยากให้ชัดเจนว่าผมแบ่งปันเรื่องราวนี้เพื่อเตือนนักฟุตบอลคนอื่น ๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงที่พวกเขาเผชิญเมื่อไปเล่นต่างประเทศ  ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิหรือประจานใคร ดังนั้นผมจึงขอเล่าเรื่องนี้ในนาม "กิลเบิร์ต" ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงของผม และจะไม่เอ่ยถึงชื่อสโมสรหรือประเทศ

ตอนแรก โอกาสย้ายไปเล่นที่แอฟริกาจากยุโรปดูดีมาก ผมถูกติดต่อโดยอดีตนักเตะคนหนึ่ง เขาสนับสนุนสโมสรที่มีความทะเยอทะยานในการสร้างทีม พวกเขาเป็นทีมเล็ก ๆ ที่หวังจะกลายเป็นทีมใน 6 ทีมแรกที่ดีที่สุดของลีกสูงสุดในประเทศ

ผมรู้จักประเทศนี้ดีเพราะเคยเล่นให้กับทีมเยาวชนระดับชาติ ผมรู้จักลีก ทีม สนามกีฬา และรู้ว่าแฟนบอลชื่นชมนักฟุตบอลที่นั่นแค่ไหน ผมแค่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การเล่นในสนามกีฬาที่สวยงามเหล่านั้น

แต่มันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่: ผมเซ็นสัญญาสัญญานั้นโดยไม่ตรวจสอบเงื่อนไข และส่งให้กับอดีตนักฟุตบอลอีกคนที่จัดการเรื่องย้ายทีมให้ผม ผมไม่ได้รับสำเนาสัญญาด้วยซ้ำ นี่คือคำแนะนำแรกของผมสำหรับนักฟุตบอล: ควรให้สหภาพแรงงานนักฟุตบอลที่คุณสังกัด ตรวจสอบสัญญาและขอสำเนาหลังจากเซ็นสัญญาแล้ว แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณไว้ใจคนที่คุณกำลังติดต่อด้วยก็ตาม ในฐานะนักเตะ คุณเปราะบาง - โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในต่างประเทศ

ทุกอย่างดูเหมือนจะเรียบร้อยดี: มีการจัดการเรื่องการเดินทางและผมพักอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่ดี แต่วันเวลาผ่านไป 2 เดือน ผมยังไม่ได้รับเงินเดือนและค่าเซ็นสัญญา ผมพูดคุยเรื่องนี้กับคนที่ผมติดต่อ อดีตอดีตนักฟุตบอลคนนั้น เขายืนยันกับผมว่าทุกอย่างจะได้รับการดูแล


ที่มาภาพ: FIFPRO

เมื่อผมเดินทางไปเก็บตัวกับสโมสรเป็นเวลา 1 เดือน ช่วงสัปดาห์สุดท้าย พวกเราทั้งทีมโดนไล่ออกจากโรงแรม เนื่องจากสโมสรไม่ได้ชำระค่าอะไรเลย ดูเหมือนว่าผู้นำของสโมสรทะเลาะกันเอง ประธานสโมสรออกจากทีมไปพร้อมกับคนที่ผมติดต่อ ซึ่งพวกเราไม่ได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย

หลังจากเก็บตัวและหยุดพัก 4 วัน เนื่องในเทศกาลอีดิลอัฎฮา ในเดือน ส.ค. พวกเราขึ้นรถบัสเดินทางไกล 9 ชั่วโมงเพื่อไปแข่งกับทีมชั้นนำของประเทศ เราแพ้ไป 6-0 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใจหลังจากหยุดซ้อมไป 4 วันและเดินทางไกล

ในเดือน ก.ย. สโมสรแจ้งให้ผมและนักเตะอีก 3 คนที่เซ็นสัญญาพร้อมกัน ทราบว่าเราต้องออกจากทีม สื่อมวลชนเสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับพวกเรา บอกว่าพวกเราไปแค่เพื่อเอาเงินและต้องการทำลายสโมสร แต่ถึงตอนนั้น พวกเราไม่มีใครได้รับเงินสักเหรียญเดียวจากสโมสร

สโมสรต้องการฉีกสัญญาของพวกเราและใช้แรงกดดันทุกวิถีทางเพื่อบั่นทอนจิตใจ พวกเขาข่มขู่ผม ดูถูกผม ยั่วยุผมให้โกรธ วันหนึ่ง ผมถูกเรียกตัวเข้าไปในห้องทำงาน เจอกับชายฉกรรจ์ 5 คน ท่าทางก้าวร้าว พวกเขาบังคับให้ผมเซ็นยกเลิกสัญญา พอผมปฏิเสธ พวกเขาก็จับผมโยนออกจากห้องทำงานไปเลย

สโมสรต้องการให้ผมและนักเตะคนอื่น ๆ โต้ตอบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเล่นงานพวกเรา แต่พวกเรารู้ดีว่าถ้าตอบโต้ มันคงไม่จบลงด้วยดี


ที่มาภาพ: FIFPRO

ผมยังโดนปรับเงิน 20,000 ยูโรในข้อหาไม่สุภาพกับประธานคนใหม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย โชคดีที่ผมระมัดระวังตัวไว้ล่วงหน้าด้วยการอัดเสียงการสนทนาทั้งหมดไว้ในโทรศัพท์มือถือที่ผมเก็บไว้ในกระเป๋า

การอยู่กับสโมสรตลอดเวลานี้มันยากลำบากมาก ผมกับนักเตะอีก 3 คน ต่างนับวันรอที่จะออกจากทีมได้ ผมจำภาพถ่ายของพวกเราในช่วงเวลานั้นได้: พวกเราดูเหนื่อย ผมยาว เคราเฟิ้ม แต่เราก็ยืนหยัดเคียงข้างกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

เราได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานของเรา ซึ่งเราติดต่อพวกเขาไปอย่างรวดเร็ว ผมอยากสนับสนุนให้นักฟุตบอลทุกคนเข้าร่วมสหภาพแรงงานนักฟุตบอลหรือสมาคมนักฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการไปเล่นต่างประเทศ พวกเขาให้การสนับสนุนเราเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ FIFPRO ที่เข้ามาช่วยเหลือผ่านสหภาพแรงงานนักฟุตบอลในประเทศของเรา ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่เราโทรไป ขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็อยู่ที่นั่นเพื่อพูดคุย รับฟัง และให้กำลังใจเรา ผมไม่รู้ว่าเราจะจัดการอย่างไรหากปราศจากสหภาพแรงงาน พวกเราจะหาเงินจ้างทนายได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้รับเงินเดือนจากสโมสร

สหภาพแรงงานขอให้เราส่งสัญญาไปให้ แต่เราไม่มี พวกเราอาศัยวันหยุด ขับรถที่เช่ามาเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเพื่อไปที่สำนักงานสมาคมฟุตบอล (FA) ในเมืองหลวงเพื่อขอรับสัญญาของเรา ตอนแรก สมาคมฯ บอกว่าไม่มี แต่พอพวกเรากลับไปอีกครั้งไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก็มีคนยื่นสัญญาของเราให้เฉย ๆ ซึ่งดูแปลกประหลาด พวกเราสังเกตเห็นว่าสัญญาของเราถูกดัดแปลง มันชัดเจนมาก หมึกปากกาเปลี่ยนแปลงวันที่ จำนวนเงิน และมีการปลอมแปลงลายเซ็น

ในที่สุด เดือน ต.ค. FIFPRO และสหภาพแรงงานของเราแจ้งให้เราทราบว่าเราสามารถออกจากทีมได้ พวกเราอดทนรอมาจนสามารถยุติสัญญาอย่างปลอดภัยด้วยเหตุผลอันสมควร ผมโล่งอกมากที่ได้กลับบ้าน แต่กว่าจะกลับมาเป็นตัวเองเหมือนเดิมก็ใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ผมไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกจากบ้าน และไม่อยากเล่นฟุตบอล

ประสบการณ์ของผมในแอฟริกาทำลายอาชีพการงานของผม ผมเคยเล่นฟุตบอลอาชีพในยุโรปมาก่อนที่จะไปที่นั่น ดังนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองเก่งพอที่จะเล่นในแอฟริกาได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่อยากเล่นอีกต่อไป บางครั้งก็เจ็บปวดเมื่อผมดูการแข่งขันทางโทรทัศน์และเห็นนักเตะที่เคยเล่นร่วมทีมเยาวชนทีมชาติ คุณเริ่มคิดถึงสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ถ้าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่เกิดขึ้น

ผมอยากใช้เรื่องราวของผมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลเมื่อไปเล่นต่างประเทศ นั่นคือเหตุผลที่สำคัญมากที่นักเตะต้องเข้าร่วมสหภาพแรงงานนักฟุตบอล


ที่มาภาพ: FIFPRO

ทำไมเรื่องราวของกิลเบิร์ตมีความสำคัญต่อ FIFPRO และนักเตะคนอื่นๆ

สำหรับฟีฟโปร คดีของกิลเบิร์ตถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายกฎหมายของฟีฟโปร สามารถใช้ประโยชน์จากบทความใหม่ในระเบียบวินัยของฟีฟ่า (FIFA Disciplinary Code) ได้สำเร็จ

กิลเบิร์ตชนะคดีที่คณะอนุญาโตตุลาการ (National Dispute Resolution Chamber - NDRC) เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2019 โดยสโมสรเก่าของเขาถูกสั่งให้จ่ายเงินเดือนที่ค้างชำระอยู่ แต่สโมสรปฏิเสธที่จะตอบสนองและไม่เคยจ่ายเงินให้กิลเบิร์ต แม้ว่าเขาจะส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังสโมสร 3 ฉบับ ระหว่าง ก.ย. 2020 ถึง มี.ค. 2022 ก็ตาม

กิลเบิร์ตยังได้ส่งคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร 4 ครั้ง ไปยังสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้น ระหว่างเดือน ต.ค. 2020 ถึง ต.ค. 2022 เพื่อขอให้พวกเขาบังคับใช้คำตัดสินให้สโมสรจ่ายเงินให้เขา อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ไม่ได้ตอบจดหมายของเขาเลย

ในเดือน พ.ค. 2023 หลังจากผ่านไป 3 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสิน FIFPRO ได้นำคดีของกิลเบิร์ตไปยังคณะกรรมการวินัยของ FIFA (FIFA Disciplinary Committee) ตามมาตรา 21.5 ของระเบียบวินัยของฟีฟ่า สมาคมฟุตบอลจะถูกปรับเงิน กรณีที่ไม่สามารถบังคับใช้คำตัดสินที่ออกโดยองค์กรตัดสินที่มีอำนาจภายในสมาคมนั้นได้ และหากสมาคมยังคงไม่สามารถบังคับใช้คำตัดสิน สมาคมฯ อาจถูกบทลงโทษทางวินัยเพิ่มเติม

กรณีของกิลเบิร์ต สมาคมฯ ไม่สามารถบังคับใช้คำตัดสินที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสิน ดังนั้น สมาคมฯ จึงอาจถูกลงโทษตามระเบียบวินัยของ FIFA ได้

เนื่องจากกิลเบิร์ตเคยร้องขอให้สมาคมฯ เข้าแทรกแซงหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับเงินตามคำตัดสินที่ออกเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2019 เขาจึงร้องขอให้คณะกรรมการวินัยของ FIFA ลงโทษสมาคมฯ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ประสบความสำเร็จ ในปลายปี 2023 กิลเบิร์ตได้รับเงินที่เขาพึงได้รับในที่สุด

รอย เวอร์เมอร์ (Roy Vermeer) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ FIFPRO ยินดีกับการนำมาใช้ของมาตรา 21.5 โดยกล่าวว่า “บ่อยครั้งที่เราเผชิญกับสถานการณ์ที่นักเตะได้รับคำตัดสินที่มีผลผูกพันจากคณะอนุญาโตตุลาการ แต่เราไม่สามารถดำเนินการตามคำตัดสินนั้นได้ และสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้นๆ ก็ไม่ได้ใช้พลังอำนาจทางวินัยเพื่อปกป้องสิทธิ์ของนักเตะเหล่านี้”

“การที่นำมาตรา 21.5 บรรจุไว้ในวินัยของ FIFA เมื่อปี 2023 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกรณีของกิลเบิร์ต ในที่สุดเขาก็ได้รับเงินที่พึงได้ หลังจากผ่านไปกว่า 4 ปี”


ที่มา:
Why footballers should join a union when playing abroad: A player’s story (FIFPRO, 4 March 2024)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net