Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ: FIFPRO

นักฟุตบอลก็เหมือนกับคนทำงานคนโดยทั่วไป ที่ควรได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะไม่ถูกคุกคามและถูกละเมิด

ความเกลียดชังออนไลน์ที่ส่งตรงถึงนักกีฬา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา สหพันธ์นักฟุตบอลนานาชาติ (FIFPRO) ได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายรายเพื่อต่อสู้กับปัญหาระดับโลกนี้

FIFPRO และหน่วยงานกำกับดูแลฟุตบอลโลก เพิ่งเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความน่ากังวลของการละเมิดทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปที่ผู้เล่นในช่วงฟุตบอลโลกปี 2022 โดยอิงจากการค้นพบจากเครื่องมือกลั่นกรองโซเชียลมีเดีย (SMPS)

ในปี 2022 FIFPRO และ FIFA ใช้บริการกลั่นกรองโซเชียลมีเดียในการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยการสแกนถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง ซึ่งเมื่อตรวจพบแล้วจะทำให้ผู้รับและผู้ติดตามของพวกเขาไม่สามารถมองเห็นถ้อยคำเหล่านั้นได้

“มันสำคัญอย่างยิ่งที่ FIFPRO และ FIFA กำลังปกป้องผู้เล่นในเรื่องนี้” มาร์ค-แอนโทนี เคย์ (Mark-Anthony Kaye) สมาชิกของ Global Player Council (GPC) ของ FIFPRO และยังเป็นนักฟุตบอลทีมชาติแคนาดาในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ปี 2022 เคย์ เคยทนทุกข์ทรมานกับการเหยียดเชื้อชาติทางออนไลน์หลังการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 

“ควรใช้เครื่องมือทั้งหมดเพื่อช่วยในเรื่องนี้ และในที่สุดก็มีคนนำหัวข้อนี้เข้าสู่วาระการพูดคุยที่จริงจัง” เคย์ กล่าว

SMPS สแกนโพสต์และความคิดเห็นมากกว่า 20 ล้านรายการ บน Facebook, Instagram, TikTok, Twitter และ YouTube ตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 โพสต์/ความคิดเห็นที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นการละเมิด เลือกปฏิบัติ หรือคุกคาม ได้รับการรายงานโดยตรงไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องเนื่องจากละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน ในหลายกรณี โพสต์ที่ละเมิดจะถูกลบออก

นอกจากนี้ ทีมชาติและนักฟุตบอลที่เข้าร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ยังได้รับสิทธิ์เข้าถึงซอฟต์แวร์การดูแลซึ่งจะซ่อนความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมจากหน้าเพจของพวกเขา โดยมีความคิดเห็นทั้งหมด 286,895 รายการซ่อนไม่ให้สาธารณชนเห็นก่อนที่ผู้รับที่เป็นเป้าหมายหรือผู้ติดตามจะต้องดูเนื้อหาของพวกเขา

“การละเมิดบนโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก มันผ่านพ้นไปแล้ว” เคลลีน อคอสตา (Kellyn Acosta) หนึ่งในสมาชิก GPC เช่นเดียวกับเคย์ และยังเป็นนักฟุตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันที่กาตาร์ปี 2022  ด้วยเช่นกันกล่าว 

“เป็นเรื่องยากที่จะเห็นว่ามันเป็นความคิดเห็นเหยียดเชื้อชาติ หรือไม่ มันเป็นเพียงความคิดเห็นที่หยาบคาย ไม่ว่าจะเป็นการขอพร(สิ่งเลวร้าย)ให้กับเรา การอวยพร(สิ่งเลวร้าย)ให้กับครอบครัวของเรา เมื่อเรากำลังพูดถึงครอบครัวหรืออะไรทำนองนั้น มันก็จะบาดลึกลงไปอีกหน่อย” อคอสตา กล่าว

นอกจากนี้ได้มีการใช้ SMPS ให้แก่ผู้เล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2023 เพื่อป้องกันการละเมิดทางออนไลน์โดยอัตโนมัติอีกด้วย

สหภาพแรงงานกับการปกป้องนักฟุตบอลในประเทศ


ที่มาภาพ: FIFPRO

ในฐานะองค์กรระดับนานาชาติ FIFPRO จะดำเนินงานในระดับโลก ส่วนองค์กรสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกจะดำเนินงานเพื่อปกป้องนักฟุตบอลอาชีพในแต่ละประเทศ

สหภาพแรงงานหลายแห่งได้ใช้วิธีแก้ปัญหาเพื่อปกป้องผู้เล่นจากการละเมิดทางออนไลน์ รวมถึงสมาคมนักฟุตบอลอังกฤษ (PFA) ที่รับรองว่าสโมสรต่างๆ ได้สร้างกลไกการสนับสนุนเพื่อให้ผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิด

ในขณะเดียวกันสมาคมนักฟุตบอลฝรั่งเศส (UNFP) ของฝรั่งเศสและสมาคมนักฟุตบอลออสเตรเลีย (PFA) ได้ร่วมมือกับบริษัท AI ในประเทศของตนเพื่อต่อสู้กับการละเมิดทางออนไลน์ เทคโนโลยีจะสแกนโพสต์และความคิดเห็นทั้งหมดที่ส่งถึงผู้เล่นโดยตรง โดยกรองความคิดเห็นที่เป็นพิษ (toxic) เช่น การเหยียดเชื้อชาติ การเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศ และภาษาที่คุกคาม ออกไป

นี่เป็นเพียงบางส่วนของสหภาพแรงงานหลายแห่งที่ให้ความคุ้มครองในประเด็นนี้ 

“การละเมิดนักฟุตบอลของเราทางออนไลน์ยังคงเป็นประเด็นที่สมาชิกของเราให้ความสำคัญและกังวล และจำเป็นต้องมีแนวทางที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับลีก หน่วยงานกำกับดูแลของเรา สโมสร และรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยความร่วมมือ” แคทรีน กิลล์ (Kathryn Gill) ผู้บริหารสมาคมนักฟุตบอลอังกฤษ กล่าว

ปัญหาระดับโลก ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอล

แน่นอนว่าการละเมิดทางออนไลน์ซึ่งมุ่งเป้าไปที่นักกีฬา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกฟุตบอลเท่านั้น สำหรับกีฬาอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับโลกนี้ด้วยเช่นกัน FIFPRO จึงได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงานผู้เล่นจากกีฬาต่างๆ เพื่อรวมความรู้และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

เมื่อปี 2022 FIFPRO, สมาคมผู้เล่นบาสเก็ตบอลชายอเมริกัน (NBPA) และสมาคมผู้เล่นบาสเก็ตบอลหญิงอเมริกัน (WNBPA) ได้เปิดตัวการศึกษาระดับนานาชาติครั้งแรกโดยพิจารณาถึงลักษณะและระดับของการละเมิดทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปที่นักกีฬาอาชีพในกีฬาหลายประเภท

การทำงานร่วมกันของสมาคมผู้เล่นทั้ง 3 แห่ง (FIFPRO, NBPA และ WNBPA) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะค้นหาจุดร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและนักกีฬาจาก 2 กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยเป็นแนวร่วมในการต่อต้านการละเมิดและปกป้องนักกีฬา

การวิเคราะห์แบบแผนการละเมิดนักกีฬาทางออนไลน์ พบว่าการเหยียดเชื้อชาติและความกลัวหวั่นเกรงเป็นสาเหตุของการล่วงละเมิด ซ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการกระทำต่อนักฟุตบอลชาย (85%) และผู้เล่นบาสเกตบอล (74%)

4 ใน 5 กรณีของการละเมิดที่มุ่งเป้าไปที่ผู้เล่นบาสเก็ตบอลหญิง โดยการใช้ข้อความทางเพศที่โจ่งแจ้งหรือล่วงละเมิด

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก จำเป็นต้องรับรู้ขอบเขตความรับผิดชอบของตน


ที่มาภาพ: FIFPRO

เป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานในการปกป้องนักกีฬาและรับรองความปลอดภัยของพวกเขา ในขณะที่ FIFPRO และสหภาพสมาชิกจัดให้มีมาตรการเพื่อช่วยต่อสู้กับการละเมิดนักฟุตบอลทางออนไลน์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด – แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สโมสร ลีก และสถาบันกำกับดูแล – จำเป็นต้องรับทราบความรับผิดชอบของพวกเขาเมื่อต้องร่วมมือกันในประเด็นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีหน้าที่ในการดำเนินการตามนั้น ตั้งแต่การกลั่นกรองและการปกป้องในทุกภาษาไปจนถึงการลบความคิดเห็น

“การละเมิดทางออนไลน์เป็นปัญหาทางสังคม และในฐานะอุตสาหกรรมเราไม่สามารถยอมรับมันได้ เพราะรูปแบบใหม่ของการละเมิดและการเลือกปฏิบัตินี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากรวมถึงผู้เล่นของเราด้วย” เดวิด อกานโซ (David Aganzo) ประธาน FIFPRO กล่าว 

“สหภาพแรงงานหลายแห่งดำเนินงานได้ดีมากในหัวข้อนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับรายงานของเราที่เปิดตัวร่วมกับสหภาพผู้เล่นอื่นๆ ทำให้เราได้รับข้อมูลเชิงลึกมากมายเมื่อดำเนินการเรื่องนี้ในอนาคต การศึกษาวิจัยเช่นรายงานเหล่านี้มีความสำคัญ แต่ก็ต้องนำไปสู่การดำเนินการเพื่อป้องกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” อกานโซ กล่าว

“เป็นหน้าที่ของเราในฐานะสหภาพแรงงานที่จะช่วยปกป้องผู้เล่น ด้วยการให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่พวกเขา” โยนาส แบร์-ฮอฟฟ์มันน์ (Jonas Baer-Hoffmann) เลขาธิการทั่วไปของ FIFPRO กล่าว 

“เรายังต้องทำงานกับบริษัทโซเชียลมีเดียและสถาบันที่มีความรับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกัน ในการปกป้องนักฟุตบอลและส่งเสริมชุมชนออนไลน์ที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน” แบร์-ฮอฟฟ์มันน์ กล่าว


ที่มา:
How FIFPRO is combatting social media abuse of footballers (FIFPRO, 11 July 2023)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net