Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิและกระบวนการยุติธรรมของยูเอ็นร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องยุติการดำเนินคดีม.112 กับ “ทนายอานนท์” รวมถึงยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ที่ถูกเอามาบังคับใช้อย่างไม่เป็นตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีอยู่

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2567 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเสรีภาพและกระบวนการยุติธรรมของสหประชาชาติที่แสดงความกังวลต่อการลงโทษจำคุกอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์และยังคงถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ในขณะนี้

“การพิพากษาจำคุกและการทำให้การกระทำของอานนท์ นำภากลายเป็นอาชญากรรมนี้ไม่ได้สัดส่วนอย่างชิ้นเชิงและเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เสียงของนักปกป้องสิทธิและผู้เห็นต่างเงียบลงอย่างตั้งใจ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวและระบุด้วยว่าเคยมีการแสดงความกังวลต่อการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศไทยมาหลายปีแล้วและกลไกพิเศษของสหประชาชาติเคยส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ศาลพิพากษาลงโทษ อานนท์ นำภา จำคุกเป็นเวลา 4 ปี ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2567 เพราะอานนท์ปราศรัยในการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสภาทนายความในพระบรมราชูถัมภ์เคยตั้งเรื่องไต่สวนเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นทนายความของเขาด้วย ที่ผ่านมาอานนท์ยังเคยตั้งคำถามต่อการบังคับใช้มาตรา 112 ในการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทยและกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในไทยด้วย  

“การลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบเป็นเรื่องที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีอยู่ และสร้างบรรยากาศอันเย็นยะเยือกต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ” ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุ

“การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และการพูดที่มุ่งหมายให้เกิดการปฏิรูปและรณรงค์สิทธิมนุษยชนควรได้รับการปกป้องและสนับสนุนในสังคมประชาธิปไตย พวกเราเรียกร้องต่อรัฐไทยให้กลับคำพิพากษาต่ออานนท์ นำภา รวมถึงยุติการดำเนินการฟ้องคดีต่อเขา” ผู้เชี่ยวชาญระบุและเห็นว่านักกฎหมายมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและจะต้องไม่ถูกเพิกถอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพตามแนวคิดที่ได้แสดงออกมาในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายของพวกเขา

เหล่าผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นยังย้ำถึงจุดยืนก่อนหน้านี้ในการเรียกร้องให้รัฐไทยยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์และทำให้ประมวลกฎหมายอาญาเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ยุติการดำเนินคดีทางอาญารวมถึงปล่อยตัวพวกเขาที่เพียงออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ในแถลงการณ์ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมออกแถลงการณ์ครั้งนี้มีทั้งผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบและการร่วมกลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็น และผู้รายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยกลไกพิเศษนี้ทำหน้าที่ในการค้นหาข้อเท็จจริงและติดตามตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศทั่วโลก

องค์กรสิทธิฯ บอกแนวข้อสอบก่อนรัฐบาลเศรษฐาจะไปให้นานาชาติเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ของ UN

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยเคยประกาศเจตนารมณ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกในวาระปี 2568-2670 เมื่อ 24 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมามาตรา 112 เป็นประเด็นหนึ่งที่กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเคยแสดงข้อกังวลต่อการใช้กฎหมายมาตรานี้ถึงรัฐบาลไทยมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมามีข้อร้องเรียนถึง 21 ครั้งจากกรณีต่างๆ ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เคยแสดงความเห็นว่าประเด็นนี้จะส่งผลต่อการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ ของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net