Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 2 ศพผู้มีหมายจับคดีความมั่นคง ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ชาวบ้านแห่ศพยกย่อง ชมรมพ่อบ้านใจกล้าชวนบริจาคช่วยเหลือครอบครัว พร้อมเสียงวิจารณ์รัฐต้องการรอมฎอนสันติสุขจริงหรือ

15 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 มี.ค.) ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวมกว่า 50 นาย ได้ใช้ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายเพื่อจับกุมบุคคลที่มีหมายจับคดีความมั่นคงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และถูกควบคุมตัวอีก 2 คน โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าลำดับเหตุการณ์ดังนี้

เวลา 04.00 น. หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม จ.ปัตตานี สนธิกำลังกับหน่วยทหารพราน ตำรวจและฝ่ายปกครอง บังคับใช้กฎหมายเข้าปิดล้อมบุคคลมีหมายจับ ที่บ้านเช่าในพื้นที่บ้านลูโบะซูลง ม.10 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี หลังได้รับแจ้งพบบุคคลเป้าหมายเข้ามาพักพิงหลบซ่อน

เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่จัดกำลังเข้าปิดล้อมตามขั้นตอนกฎหมาย โดยให้ผู้นำชุมชนมาเจรจาพูดคุยให้มอบตัว แต่ระหว่างนั้นถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่ เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงป้องกันตัว จนเกิดการปะทะกันเป็นระยะ

หลังสิ้นเสียงปืน เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 2 คน คือ

นายอุสมัน กือแน อายุ 25 ปี : ที่อยู่ ม.1 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีหมายจับข้อหาร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายฯ จากคดีวิสามัญฆาตกรรม 2 ศพ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ในพื้นที่ ม.5 ต.เตราะบอน

และ นายแพนดี หะยีวาเตะ อายุ 29 ปี : ที่อยู่ ม. 5 ต.เตราะบอน มี 2 หมายจับ ได้แก่คดียิงนายณัฎฐ์ บุญหลง เสียชีวิต ที่หน้าปั้มน้ำมันพีทีใน ต.เตราะบอน เมื่อ 30 กรกฎาคม 2559  และข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ จากเหตุระเบิดทหารพราน บนถนนสาย 42 (สายเก่า) บ้านเจาะกือแย ม.1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี เมื่อ 22 กันยายน 2560

เจ้าหน้าที่ยังได้ควบคุมตัวเจ้าของบ้านเช่าส่งไปยังศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 จำนวน 2 คนด้วย ได้แก่ นายมะการี มะเซ็ง และ นายบัสสัม มะเซ็ง และได้ตรวจยึดอาวุธปืนพก 2 กระบอกด้วย

ชาวบ้านแห่ศพเยี่ยงนักรบ

จากนั้น เจ้าหน้าที่นำศพไปที่โรงพยาบาลสายบุรี เพื่อชันสูตร โดยมีประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่เข้าไปติดตามสถานการณ์จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ปิดประตูไม่ให้เข้าไปในเขตโรงพยาบาล ต่อมาเจ้าหน้าที่เปิดประตูให้ญาติรับศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาได้

หลังจากรับศพผู้เสียชีวิตกลับถึงบ้านของทั้ง 2 คน มีญาติๆ และชาวบ้านจำนวนมากมาร่วมส่งผู้เสียชีวิต(ซาฮีด)ไปที่สุสาน โดยขณะนำศพออกจากบ้านมีการยืนแถวพร้อมกับยกมือลักษณะเหมือนตะเบ๊ะทำความเคารพศพ และระหว่างไปส่งศพนั้นมีการตะโกนคำว่า “อัลลอฮฮูอักบาร” (อัลเลาะห์ยิ่งใหญ่) และคำว่า “ปาตานีเมอเดกา” (ปาตานีเอกราช) สลับกันไปตลอดทางไปจนถึงสุสาน โดยมีผู้ติดตามหลายคนได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งลักษณะดังกล่าวเหมือนเป็นการให้ความเคารพยกย่องว่าเป็นผู้เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า หรือ ชาฮีด

ชมรมพ่อบ้านใจกล้าชวนบริจาคช่วยเหลือครอบครัว

ทางเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler's Club” ได้เปิดรับบริจาคเงินให้กับครอบครัวโดยตรง เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเยียวยาเบื้องต้น โดยเชิญชวนร่วมกันบริจาคให้ครอบครัวของนายอุสมัน กือแน ผู้เสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรม ในเหตุการณ์ปะทะดังกล่าว

เสียงวิจารณ์ต้องการรอมฎอนสันติสุขจริงหรือ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุปะทะเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมผ่านไปเพียง 3 วัน โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มักมีข้อเสนอให้หยุดใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน หรือรอมฎอนสันติ ต่อโต๊ะพูดคุยสันติสุขระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น เพราะมักมีเหตุรุนแรงมากขึ้นกว่าช่วงอื่น แต่มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ประกาศ “รอมฎอนสันติ” จริงๆ แต่ก็เพื่อเป็นการทดสอบอำนาจสั่งการฝ่ายปฏิบัติของขบวนการมากกว่า

ในปีนี้ก็เช่นกัน ก็มีข้อเสนอ “แผนรอมฎอนสันติสุข” ซึ่งเป็นข้อเสนอจากฝ่ายรัฐที่ต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการพูดคุยสันติสุข โดย พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในการอบรม"กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) คณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คพท.) รุ่นที่ 1 ว่า เป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายรัฐยื่นให้คณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น จะดำเนินการไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกศาสนิก สามารถปฏิบัติภารกิจของทุกคนในทุกเทศกาลได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่มีการรายงานถึงข้อตกลงใดๆ ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ แผนรอมฎอนสันติสุขดังกล่าว

เมื่อแผนรอมฎอนสันติสุขมาจากข้อเสนอจากฝ่ายรัฐเอง หลังเหตุปะทะล่าสุดจึงเกิดคำถามถึงความจริงใจของฝ่ายรัฐต่อการพูดคุยสันติสุข หากทำไม่ได้ทำไมจึงเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย ต้องการสันติสุขจริงหรือไม่ โดยมีการโพสต์ทั้งข้อความและคำกล่าวเชิงประชดประชันในสื่อสังคมออนไลน์ของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจากนักกิจกรรมหรือภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งวิจารณ์ว่าเป็นความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายปฏิบัติการกับคณะพูดคุยทำงานสวนทางกัน

ทั้งนี้ การลดการปิดล้อมจับกุม ยังเป็นข้อเสนอหนึ่งในการปฏิบัติของฝ่ายรัฐไทยในร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบครอบคลุม” (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ที่คณะพูดคุยทั้งสองผ่ายกำลังพิจารณาอยู่ในระดับคณะพูดคุยทางเทคนิค(คณะพูดคุยชุดเล็ก)

นอกจากนี้ กรณีการไลฟ์สดเหตุการณ์ปิดล้อมและวิสามัญฯ รวมถึงการแห่ศพผู้เสียชีวิตจากการวิสามัญฯพร้อมตะโกนคำว่าอัลเลาะห์ยิ่งใหญ่และปาตานีเอกราช และการระดมเงินช่วยเหลือครอบครัว เป็นสาเหตุการฟ้องการดำเนินคดีในลักษณะปิดปาก (SLAPP) โดยฝ่ายความมั่นคงด้วย อย่างที่นักข่าวกลุ่มสื่อ Wartani 2 คน และแกนนำกลุ่มพ่อบ้านใจกล้าฯ ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) ซึ่งในเหตุการณ์ล่าสุดก็มีการไลฟ์สดในหลายช่องทางทั้งที่เป็นเพจและเฟซบุ๊กส่วนบุคคล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net