Skip to main content
sharethis

เผย กมธ.แรงงาน พร้อมช่วยแรงงานปางช้างภูเก็ต ย้ำ กม.ชี้ชัดห้ามต่างด้าวทำงาน 40 อาชีพ

3 มี.ค. 2567 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวผ่านรายการสามารถ 5 นาที ช่องทางเฟซบุ๊กสามารถ เจนชัยจิตรวนิช และช่องทาง TikTok: jopstoploss ว่า วันนี้เป็นเรื่องที่คิดว่าจะต้องสื่อสารกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน คือเรื่องของปางช้างที่จังหวัดภูเก็ต ที่มีการทำร้ายคุณหมอคนไทย แล้วปรากฏว่า เจ้าของปางช้างนั้นเป็นคนต่างประเทศ เรื่องนี้เอง ตนได้หารือกับนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ท่านก็เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องลงไปตรวจสอบที่จังหวัดภูเก็ต ก็คงจะต้องมีการหารือในกรรมาธิการการแรงงาน ในการประชุมในวันพุธที่จะถึงนี้ ซึ่งตนคิดว่าต้องลงไปให้ความรู้กับประชาชน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ 5 เสือภูเก็ตนั้นจะต้องร่วมมือในการที่จะช่วยเหลือคนไทย

"ข้อเท็จจริงที่ได้รับข้อมูลมา คือคนที่เคยเป็นลูกจ้าง หรือเป็นแรงงานคนไทยที่อยู่ในปางช้างนี้ ปรากฏว่าถูกเลิกจ้าง เพราะเขาบอกว่าลาไปทำบุญ 100 วัน ปรากฏว่าไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง คนไทยที่เคยเป็นลูกจ้างปางช้างนี้ บอกว่าฟ้องร้องแล้ว แต่สุดท้ายต้องถอน เพราะไม่มีเงินสู้คดี ขอให้มาร้องเรียนที่กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรได้เลย หรือติดต่อไปที่ 5 เสือ แรงงานจังหวัดภูเก็ต แล้วถ้ายังไม่ได้คำตอบอะไรให้ติดต่อมาที่ตนได้ ยินดีช่วยเหลือ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น"

นายสามารถ กล่าวต่อว่า คนต่างด้าวที่มาทำงาน แทนคนไทยนั้นทำไม่ได้ทุกอาชีพ เพราะว่ามีกฎหมายแล้วก็เป็นข้อบังคับ 40 อาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ห้ามชาวต่างชาติทำ ประกอบไปด้วย  4  บัญชี ได้แก่บัญชีที่ 1 จะมี 27 งาน คือ งานแกะสลักไม้,งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (forklift),งานขายทอดตลาด,งานเจียระไนเพชร/พลอย,งานตัดผม/เสริมสวย,งานทอผ้าด้วยมือ,งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย เป็นต้น,งานทำกระดาษสาด้วยมือ,งานทำเครื่องเขิน,งานทำเครื่องดนตรีไทย,งานทำเครื่องถม,งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก,งานทำเครื่องลงหิน,งานทำตุ๊กตาไทย,งานทำบาตรพระ,งานทำผ้าไหมด้วยมือ,งานทำพระพุทธรูป,งานทำร่วมกระดาษ/ผ้า,งานนายหน้า/ตัวแทน,งานนวดไทย,งานมวนบุหรี่,งานมัคคุเทศก์,งานเร่ขายสินค้า,งานเรียงอักษร,งานสาวบิดเกลียวไหม,งานเลขานุการ และงานบริการทางกฎหมาย

บัญชี 2 คือ งานที่ให้คนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยทำเท่านั้น ได้แก่ วิชาชีพบัญชี,วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพสภาปัตยกรรม

บัญชีที่ 3 คืองานฝีมือ กึ่งฝีมือ โดยให้คนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขหรือให้คนต่างด้าวทำได้แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งานคือ เกษตรกรรม, ช่างก่ออิฐช่างไม้ ช่างก่อสร้าง คาน, งานทำที่นอน, งานทำมีด, งานทำถุงเท้า, งานทำหมวก, งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกายและงานปั้นเครื่องดินเผา

บัญชี 4 งานฝีมือที่ให้คนต่างด้าวทำเฉพาะงานที่มีนายจ้างและให้เข้ามาไทยตาม MOU หรือเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข โดยจะทำงานนั้นได้เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าในที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จำนวน 2 งาน ได้แก่งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

"ฉะนั้นถ้าใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ตัวนายจ้างมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาท ต่อการจ้างงานต่างด้าวหนึ่งคน ซึ่งหากกระทำผิดซ้ำจะมีโทษปรับ 50,000 - 200,000 บาท โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และขึ้นบัญชีห้ามจ้างรายงานต่างด้าวอีก 3 ปี นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องสื่อสารไปยังพ่อแม่พี่น้องคนไทย รวมไปถึงนายจ้างด้วย ในเรื่องของปางช้างก็ต้องดูว่าให้คนต่างประเทศ เป็นเจ้าของได้หรือไม่ ผมคิดว่าช้างควรอยู่ กับคนไทย แล้วก็ต้องมีกฎหมายควบคุม ไม่ใช่ให้ใครมาเปิดปางช้างก็ได้ เรื่องนี้กรรมาธิการการแรงงาน ดูแลอย่างใกล้ชิด" นายสามารถ กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 3/3/2567

กสร. สั่งช่วยแรงงานถูกเลิกจ้างที่ปทุมธานี

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่สหภาพแรงงานย่านรังสิตและ สส. พรรคก้าวไกล นำอดีตลูกจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี มายื่นคำร้อง ต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ว่า ตนได้ทราบเรื่องแล้ว ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เป็นสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ได้มีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างโดยมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2567 จากนั้น ลูกจ้างจำนวน 32 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 26 คน มีความกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวหน้า จึงมายื่นคำร้องดังกล่าว “ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี อำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องของลูกจ้างอย่างเต็มที่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งจากลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้าง พึงได้รับ รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับคุ้มครองดูแลอย่างเป็นธรรมตามกรอบ ของกฎหมาย” นางโสภากล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 2/3/2567

กมธ.แรงงาน ลุยจัดการกองทุนประกันสังคม พร้อมหนุนจัดตั้งธนาคารแรงงาน

29 ก.พ. 67 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ แถลงข่าวผลการพิจารณาตรวจสอบและติดตามปัญหาการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยระบุว่าจากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบและติดตามปัญหาแรงงานต่างด้าวและการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ได้มีประเด็นข้อซักถามในรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน โดยมีผลการพิจารณา 3 เรื่อง ประกอบด้วย การดำเนินโครงการและกระบวนการจัดจ้างงานด้านไอทีของสำนักงานประกันสังคมจำนวน 31 โครงการ ซึ่งผลจากการพิจารณาศึกษานอกจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องเป็นไปตามกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วนั้น สำนักงานประกันสังคมควรจะต้องมีการเปิดเผยกระบวนการ ขั้นตอน เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถรับรู้การดำเนินการในการใช้งบประมาณต่าง ๆ ของสำนักงานประกันสังคมได้ ขณะที่ข้อมูลการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่กองทุนประกันสังคมจ่ายให้ในแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังพบว่ากองทุนประกันสังคมควรจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการทางการแพทย์ของสถานบริการสถานพยาบาลคู่สัญญาโดยให้มีการสำรวจความพึงพอใจ รวมถึงการควบคุมมาตรฐานของยาที่จ่ายให้กับ ผู้ประกันตนเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อยกระดับสถานพยาบาลของรัฐ และเพื่อให้ประโยชน์จากการจ่ายเงินของกองทุนประกันสังคมตกอยู่กับสถานพยาบาลของรัฐมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ของกองทุนประกันสังคมและหลักเกณฑ์การพิจารณานั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ มีประเด็นข้อสงสัยกระบวนการในการพิจารณาการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลอย่างไรในการเลือก สินทรัพย์แต่ละประเภท โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมทั้งเสนอขอให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนและสถาบันการเงินที่ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงได้ง่ายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 29/2/2567

อัยการฟินแลนด์ตั้งข้อหาค้ามนุษย์อดีต CEO-คู่ค้าคนไทย ปมจ้างแรงงานเก็บเบอร์รี่ปี 65

สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินคดีขบวนการลักลอบขนแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ว่าสำนักข่าว YLE. ของฟินแลนด์ได้รายงานข่าวว่าอัยการฟินแลนด์ได้ดำเนินการตั้งข้อหากับนายจั๊กก้า คริสโต (Jukka Kristo) อดีตซีอีโอของบริษัท Polarcia Marjanhankinta ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ค้าปลีกเบอร์รี่ที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสํานักงานอัยการแห่งชาติฟินแลนด์ พบว่าตอนนี้นายคริสโตถูกตั้งข้อหาแล้วกว่า 77 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ยังมีการแจ้งข้อหาดังกล่าวกับ น.ส. เค (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นคู่ค้าทางธุรกิจคนไทยกับนายคริสโต ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกหนึ่งราย ทางอัยการฟินแลนด์ไม่ได้มีการตั้งข้อหาแต่อย่างใด

คู่ค้าทางธุรกิจคนไทยรายนี้ถูกกล่าวหาว่าได้ดำเนินโครงการจัดหาแรงงานไทย ซึ่งปรากฏว่าเป็นการบังคับใช้แรงงานและทำงานในสภาวะที่เสื่อมโทรมขณะเก็บเบอร์รี่ป่าในฟินแลนด์ในช่วงปี 2565 และยังมีการกล่าวหาว่าแรงงานไทยเหล่านี้กำลังอยู่ในอุตสาหกรรมของการค้าทาสยุคใหม่ ภายใต้รายละเอียดการจ้างงานที่มีมูลค่าสูงในภูมิภาคแถบสแกนดิเนเวีย

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 28/2/2567

กระทรวงแรงงานตั้งเป้าปีนี้ ส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ 1 แสนอัตรา เตรียมหารือเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น ส่งคนไปทำงานเพิ่ม

28 ก.พ.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ปี 2567 แก่ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ 144 บริษัท โดยตั้งเป้าจัดส่งแรงงานไปทำงานยังประเทศต่างๆ ให้ได้ 100,000 อัตรา ภายในปีนี้

ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศแล้ว 29,399 คน และเตรียมเดินทางไปเกาหลีใต้ เพื่อเจรจาเพิ่มโควตาโครงการ EPS หรือ วีซา E-9 ในสาขาอุตสาหกรรมภาคบริการ และปรับข้อจำกัดด้านอายุ เพิ่มโอกาสให้แรงงานสูงอายุและมีประสบการณ์ทำงานสูง รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการจ้างแรงงานเพศหญิง พร้อมหารือการขยายตลาดแรงงานทักษะฝีมือ หรือ วีซา E-7 กับผู้ประกอบกิจการอู่ต่อเรือเพิ่มเติม

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น เตรียมเจรจาขยายตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม บริการด้านอาหาร และบริการโรงแรม และหารือเพื่อเข้าร่วมกับองค์กรผู้รับในประเทศญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้แรงงานไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแสวงหาตลาดแรงงานใหม่ ในประเทศที่กำลังขาดแคลนแรงงาน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เน้นไปทางแถบทวีปยุโรป เช่น ออสเตรเลีย อิตาลี โปรตุเกส อีกด้วย

ส่วนการจัดส่งแรงงานกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ขณะนี้ เริ่มมีแรงงานภาคบริการ ที่กระทรวงการต่างประเทศ อนุญาตให้กลับไปทำงานได้แล้วบางส่วน ส่วนแรงงานภาคการเกษตร กระทรวงแรงงาน กำลังเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดส่งแรงงานกลับไปทำงานในพื้นที่ ที่ได้รับรองความปลอดภัยก่อน โดยที่ขณะนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน กำลังประสานกระทรวงการต่างประเทศ ให้แรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดการสู้รบให้สามารถกลับไปทำงานได้

ที่มา: Thai PBS, 28/2/2567

กลุ่มแรงงานปักหลักหน้าสภา จี้สส.รับหลักการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล วอนใช้กลไกรัฐสภาแก้ไขกฎหมายที่มีมานานตั้งแต่ปี 2541

28 ก.พ. 2567 ที่ประตูทางเข้ารัฐสภา เกียกกาย (ฝั่ง ส.ส.) ถนนทหาร เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดชุมนุมเรียกร้องให้ สส.โหวตเห็นชอบรับหลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล ในการลงมติวาระที่ 1 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายสหภาพแรงงานจาก จ.สุรินทร์ สระบุรี อ่างทอง ปราจีน สมุทรปราการ ผู้ใช้แรงงานจากทั่วประเทศ ทยอยเดินทางมารวมตัวกัน

น.ส.ธนพร หรือ ไหม กล่าวว่า เราได้แจ้งสน.บางโพและแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐสภาแล้ว แต่มาถึงมีการนำรั้วเหล็กมากั้น เราจึงต้องรื้อออกเพราะเป็นการชุมนุมตามสิทธิ์

วันนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เข้าวาระแรก จะเป็นหลักประกันของคนทำงานทุกคน ซึ่งกฎมายนี้มีความสำคัญมาก เราจะมาร่วมกัน 95 สหภาพแรงงาน เรียกร้องในข้อเสนอที่เรียกร้องมายาวนาน มี สส.ที่จะนำกฎหมายแรงงานเข้าสู่สภาในวันนี้ เราจึงมาสนับสนุน

“ขอฝาก สส.และพรรคการเมือง อยากให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลยกมือรับรองกฎหมายฉบับนี้เพื่อที่จะได้พูดคุยกัน ใช้กลไกรัฐสภาแก้ไขกฎหมาย เราเป็นผู้ใช้แรงงาน อยู่กับกฎหมายฉบับนี้มานานตั้งแต่ 2541 มีการแก้แบบปะผุ ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ นิยามความคุ้มครองยังแคบอยู่ ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมีกฎหมายนี้ออกมา แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปก็ล้าสมัย” น.ส.ธนพร ระบุ

ต่อมาเวลา 10.40 น. สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ประเทศไทยเดินทางมาสมทบ

จากนั้นนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การแรงงาน พร้อมด้วย สส.จากพรรคก้าวไกล เดินทางมาเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุม

สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 20 ปี มีสาระสำคัญ 9 ข้อคือ

1.คนทำงานทุกคนคือแรงงาน : เปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

2.“การจ้างงานรายเดือน” ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน คือ 30 วัน รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามกฎหมายกำหนด

3.เปลี่ยนรายวันเป็นรายเดือน : ในสถานประกอบการที่มีทั้งการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ : กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายปี โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ เช่น หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี

5.ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ : เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้างต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน

6.ลาหยุด 10 วันต่อปี สะสมได้ : ให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน

7.ลาดูแลผู้ป่วย : ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

8.พื้นที่ปั๊มนมในที่ทำงาน : สถานที่ทำงานต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการให้นมบุตร หรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน

9.ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน : นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

ที่มา: ข่าวสด, 28/2/2567

สรรพากรกำหนดให้นายจ้างยื่นแบบเงินเดือน พนักงานทุกเดือน

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ออกประกาศ กำหนดให้นายจ้าง ยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ตามมาตรา ๔. (๑) (๒) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินเดือนค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น เพื่อป้องกันปลอมแปลงเอกสารรายได้ ที่กรมสรรพากรกำหนดให้นายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ และนำส่งภาษี ให้กรมสรรพากรเป็นรายเดือนด้วยแบบ ภ ง.ด. ๑ และยื่นแบบสรุปรายปีด้วยแบบ ภ.ง.ด.๑ ก

หรือ ภง.ด.๑ ก พิเศษ นั้น ปัจจุบันสัดส่วนของนายจ้างที่ยื่นแบบดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (ระบu e-Filing)

ระบบ e-With holding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) คิดเป็น ร้อยละ 98 ของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน Digital Tax Ecosystem ของกรมสรรพากรอย่างเต็มรูปแบบ

หวังอำนวยความสะดวกบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ผ่านระบบ My Tax Account เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.๙0/๙๑ และป้องกันขบวนการทุจริตขอคืนเงินภาษี รวมทั้งการสร้างรายจ่ายเท็จในภาคธุรกิจ

กรมสรรพากรจึงได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๓๘) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖ กำหนดให้การยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภง.ด.๑ ภ.ง.ด.๑ ก และ ภง.ด.๑ ก พิเศษ ต้องดำเนินการ

ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบ e-Filing ระบบ e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบกับการจ่ายเงินได้เดือนภาษีมกราคม 2567 เป็นต้นไป

“หากไม่สามารถยื่นแบบดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในรูปแบบกระดาษพร้อมหนังสือถึงกรมสรรพากร ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นแบบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการของนายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตั้งอยู่” โฆษกกรมสรรพากร กล่าว

กรมสรรพากรได้พัฒนาบริการยื่นแบบแสดงรายการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการวางเป้าหมายในการสร้าง Digital Tax Ecosystem อย่างครบวงจร เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การกำหนดให้นายจ้างยื่นแบบ ภ.ง.ด.๑ ภ.ง.ด.๑ ก และ ภ.ง.ด.๑ ก พิเศษ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว อีกทั้งช่วยยกระดับบริการที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกรมสรรพากรจะนำข้อมูลเงินได้ที่ได้รับจากนายจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาแสดงบนระบบ My Tax Account ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจัดวางข้อมูลบนแบบแสดงรายการภาษีในรูปแบบ Pre-Fill สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) ในขั้นตอนการยื่นแบบ ภง.ด.๙0/๙๑ ให้แก่ผู้เสียภาษี

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/2/2567

ก.แรงงาน เตรียมปรับค่าแรงรอบ 2 ลุ้นหลายจังหวัดแตะ 400 บาท

แรงงานตัดเย็บเสื้อกาวด์ทางการแพทย์ใน จ.สิงห์บุรี ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 341 บาท และบางส่วนได้รับค่าจ้างเป็นชิ้นงาน ผู้บริหารบริษัท ระบุว่า ขณะนี้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังพอแบกรับได้ แต่หากสูงไปกว่านี้ หรือ ไปถึงระดับ 600 บาท ธุรกิจคงไปต่อไม่ไหว เพราะต้นทุนปัจจุบันสูงอยู่แล้ว

ขณะที่ความสามารถการผลิตของแรงงานเท่าเดิม โดยเห็นว่า รัฐควรเปลี่ยนแนวคิด การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องปรับให้สูง เป็นการควบคุมราคาสินค้า หรือดูแลค่าครองชีพแทน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่า วันนี้ (27 ก.พ.2567) จะมีการประชุมอนุกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 และใช้คำว่า "เพื่อเป็นของขวัญสงกรานต์" ให้กับผู้ใช้แรงงาน

จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่เพื่อพิจารณาสูตรปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่จะนำมาใช้ก่อนจะส่งให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด นำสูตรไปพิจารณาว่าพื้นที่ไหน สาขาอาชีพอะไรที่ควรได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง ส่วนจังหวัดที่เหลือให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศไปรอบแรกเมื่อปี 2566 และปี 2570 ค่าแรงขั้นต่ำจะไปอยู่ที่ 600 บาท

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในอดีต มีการปรับปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้คงไม่ง่าย เพราะมีเงื่อนไขต่างๆ กำหนดไว้ เช่น การพิจารณาจะต้องผ่านกลไกของไตรภาคี มีสูตรการกำหนดค่าจ้าง เช่น เงินเฟ้อ

นอจากนี้ยังเห็นว่า การปรับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ สามารถทำได้และเป็นไปได้มากที่สุด แต่การปรับตามเขตหรือพื้นที่ ต้องมีข้อมูลชัดเจนและคำนึงความสามารถนายจ้างด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากปรับค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ ระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว และยังมีผลให้ต้องขยับค่าแรงทั้งกระดาน เช่น หากค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แรงงานที่เคยได้ 400 บาท ต้องปรับฐานเพิ่มเพื่อเป็น 450 บาทเป็นต้น

ที่มา: Thai PBS, 27/2/2567

ส.อ.ท.ห่วงวิกฤติสถานการณ์ 'แรงงาน' ในประเทศ

จากกรณีรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าบังคับเกณฑ์ทหารพลเรือน ซึ่งครอบคลุมแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้ MOU ด้วย โดยขณะนี้ชาวเมียนมาหลายพันคนรอยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐบาลทหารประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ระบุ ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานไทยเลือกงานเหลือเพียงแรงงานต่างด้าวที่จะทำ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือหากไทยยังขาดแคลนแรงงานหน้าที่ของไทยคือ เมื่อชาวเมียนมาเข้ามาแล้วมองว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือเป็นแรงงาน หากมองเป็นแรงงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากมองว่าเป็นผู้ลี้ภัยก็ต้องผลักดันกลับประเทศ

ทั้งนี้ หากมองย้อนหลังไป 30 ปี แรงงานไทยก็เคยไปเป็นแรงงานด่างด้าวแบบผิดกฎหมายที่สหรัฐฯ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นแรงงานต่างด้าว แต่พยายามทำให้คนกลุ่มนี้จ่ายภาษีเงินได้ให้ถูกต้องและเป็นแรงงานที่ทำให้สหรัฐฯ เวลานั้นมีแรงงานทำงานเพียงพอ เพราะแรงงานภาคเกษตรระดับล่างคนสหรัฐฯ เองไม่ทำ ซึ่งส่งผลดีทั้งรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และตัวแรงงานเอง

ส่วนแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยอยู่แล้วจะถูกเรียกตัวกลับทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น ต้องกลับมาดูว่าไทยมีสนธิสัญญาอะไรที่จะต้องส่งตัวกลับหรือไม่ ต้องดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ประเทศไทยต้องมองความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมถึงความมั่นคงด้านประชากรและแรงงานที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กำลังขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องตระหนัก

ที่มา: เนชั่นออนไลน์, 26/2/2567

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net