Skip to main content
sharethis

เก็บตก 'พนิดา' พรรคก้าวไกล อภิปรายถามฟื้นฟูนิติธรรมเมื่อใด หลังตอนหาเสียง และแถลงนโยบายฯ รัฐบาลเคยให้คำมั่นไว้ แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจากยุค 'ประยุทธ์' การดำเนินคดีการเมืองยังต่อเนื่อง ชง 2 ข้อเสนอในขอบเขตฝ่ายบริหารในการแก้ไขปัญหา

 

4 เม.ย. 2567 ยูทูบ 'The reporters' ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (3 เม.ย.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 สมัยพิเศษ พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล จากสมุทรปราการ กล่าวอภิปรายเรื่อง "นิติธรรมเพื่อใคร หัวใจไม่ใช่ประชาชน" และเสนอ 2 ข้อถึงฝ่าบบริหาร ทำได้ทันที เพื่อฟื้นฟูนิติธรรม ตามที่พรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงและแถลงนโยบายไว้

พนิดา ระบุว่าเหตุที่ต้องมาอภิปรายเรื่องว่าเนื่องจากที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเสรีภาพและศาลยุติธรรมแห่งสหประชาชาติ เตือนกระบวนการยุติธรรมไทยการลงโทษอย่างซ้ำๆ อย่างไม่ได้สัดส่วนต่อนักสิทธิมนุษยชน ต่อวิจารณ์และการชุมนุมอย่างสงบ ถือเป็นเรื่องขัดกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะกรณีอยู่ และสร้างบรรยากาศในความมั่นใจในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และทาง UN ระบุว่ามีการเตือนประเทศไทยหลายครั้งแล้ว 

ต่อมา ยังมีคนโดนนิติสงครามเล่นงาน โดยตั้งแต่ ก.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน (เม.ย. 2567) มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,279 ราย เขาแค่เป็นผู้ที่คิดเห็นต่างและออกมาใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หลายคดีไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม หากปล่อยไป สังคมไทยจะหาจุดยุติความขัดแย้งยากขึ้น สุดท้าย นิติธรรมที่ถูกทำลาย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนไทย และนานาชาติ ไปจนถึงการบริหารประเทศด้านอื่นๆ

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า แม้ว่าช่วงเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยเคยแสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ยุติการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง และเน้นย้ำว่าผู้เห็นต่างทางความคิดควรได้รับสิทธิประกันตัวตามกฎหมาย และได้รับการพิจารณาคดีอย่างอิสระจนกว่าศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุดว่ามีความผิด

นอกจากนี้ ในวันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าสื่อ และวันแถลงนโยบายพรรคเพื่อไทยได้ออกมายืนยันว่าจะมีการฟื้นฟูหลักนิติธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมีส่วนร่วม ล่าสุด รัฐบาลไทยประกาศสมัครเข้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ทำให้หลายคนมองเห็นแนวโน้มที่ดีว่า ไทยจะนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระเร่งด่วน พวกเราจึงคาดหวังได้แน่นอนว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และสถานการณ์ความขัดแย้งจะเบาบางลง

ความตั้งใจดี แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 

พนิดา กล่าวว่า ในความเป็นจริงยังไม่เห็นรูปธรรมของความตั้งใจนี้ปล่อยสถานการณ์ดำเนินต่อไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่มีการวางแนวนโยบาย หรือคำสั่งใดๆ ให้ลด ละ เลิกการดำเนินคดีทางการเมือง เมื่อสงสัยว่าเมื่อไรจะฟื้นฟูนิติธรรม ก็พบคำสัมภาษณ์ว่า "ท่านนายกฯ ไม่แยแสอะไรเลยเมื่อสื่อตั้งคำถามถึงนักโทษคดีการเมือง ท่านตอบออกไปอย่างมั่นใจยืนยัน ท่านมองนักโทษทางการเมืองต้องเป็นไปตามกระบวนการศาลยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร"

สส.พรรคก้าวไกล วิจารณ์การพูดลักษณะนี้ไม่ต่างจากในสมัย ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่พยายามปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลไม่เกี่ยว ในข้อเท็จจริงคือคดีนี้มันเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง ความเห็นต่างทางการเมือง และมีกฎหมายที่ใช้จัดการคนเห็นต่างจากรัฐ จนมีการเรียกร้องประเด็นนิติรัฐและนิติธรรมเป็นวงกว้าง

"พรรคท่านก็น่าจะทราบดี เพราะสมัยท่านเป็นฝ่ายค้าน ท่านก็เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักโทษทางความคิดทุกคน ถ้าท่านบอกว่าคดีนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่ได้เป็นนิติสงคราม แล้ว สส.ฝั่งรัฐบาลจะเสนอตั้งคณะกรรมการนิโทษกรรมทางการเมืองอย่างไร ถ้ามันเป็นเรื่องปกติ" พนิดา กล่าว

พนิดา ชี้ว่า หลักการของคดีการเมือง เป็นคดีนโยบายที่การบังคับใช้ และความหนักเบาจะแปรผันไปตามวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่รัฐบาลอาศัยอำนาจเหล่านี้เข้าไปดำเนินคดี ยุติคดีได้ โดยการเข้าไปกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ ออกเป็นกำหนดแนวทางมติ ครม. ขอความร่วมมือจากกระบวนการยุติธรรม เพราะนโยบายจากฝ่ายบริหารจะกำหนดทิศทางการดำเนินงานของทุกภาคส่วน จากท่าทีที่ดูจะเหมือนต่อต้าน แต่ดูเหมือนตอนนี้จะเข้าร่วมหลอมรวมจนแยกไม่ออกเหมือนรัฐบาลชุดก่อน 

ปัญหานิติธรรมยุคเศรษฐา ปล่อยไว้ยิ่งแย่

พนิดา กล่าวว่า ปัญหานี้สะท้อนจากรัฐบาลสมัยประยุทธ์ หลังจากเมื่อ พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ประยุทธ์ มีการประกาศใช้กฎหมายทุกหมวดทุกมาตราในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง จนทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดี 270 ราย จากทั้งหมด 300 คดี มากสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง มีการใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ออกมาปราบปรามประชาชน มีประชาชนถูกดำเนินคดี 2,000 คน จนนานาชาติต้องออกมาเตือน

"เอาความมั่นใจไหนไปลงสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทำงานมา 7 เดือน แนวทางปฏิบัติในการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือฟื้นคืนความยุติธรรมให้ประชาชนยังไม่มีด้วยซ้ำ เขินไหมเวลาป่าวประกาศว่า ประเทศไทย 'comeback' (กลับมา) ป่าวประกาศยังไงสลัดภาพเผด็จการยังไม่พ้นเลย" พนิดา กล่าว

เกิดแล้ว เกิดอยู่ เกิดต่อ 5 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหากรัฐบาลยังเมินเฉย

พนิดา ยก 5 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดก่อน เกิดขึ้นอยู่ และจะเกิดขึ้นต่อไป หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการใดๆ หนึ่ง การคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่เมื่อ 23 ส.ค. 66 เป็นต้นมา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 144 กรณี เอาแค่ 2 เดือนแรกก็ปาไป 40 กรณี รูปแบบมีการไปสอดแนม คุกคามที่บ้าน ที่ทำงาน ระหว่างที่เขาใช้ชีวิต ยิ่งกว่านั้นมีการโทรเรียกมาพูดคุย ติดต่อ สอบถามข้อมูล มีการแทรกแซงปิดกั้น ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะด้วย

ต่อมา ปรากฏการณ์ที่ 2 การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกละเมิดสิทธิทางการเมืองต้องเผชิญกับความผิดปกติ และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ปัจจุบันมีต้องขังทางการเมืองและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 27 คน และมีอย่างน้อย 19 คนถูกคุมขังในยุครัฐบาลเศรษฐา ในจำนวนนี้มีเยาวชนถูกคุมขังในสถานพินิจบ้านเมตตา 2 คน โดยอาชญากรรมเดียวของพวกเขาคือการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ออกมาสู้ ออกมาต่อต้านผู้มีอำนาจ ในสังคมในระบอบการเมืองเท่านั้น  

พนิดา ถามว่า คำถามถือทำไมผู้ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ซึ่งเป็นหลักสากล เป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักนิติธรรมที่ท่านบอกว่ากำลังจะฟื้นฟู เมื่อก่อนมี #ปล่อยเพื่อนเรา พรรคเพื่อไทยทำได้ แต่ตอนนี้ท่านมีอำนาจมากกว่านั้นแล้ว ทำไมถึงไม่ทำแล้วละ

พนิดา ชี้ปัญหาเรื่องนิติธรรมต่อว่า การฝากขังในคดีอาญา ปกติถูกนำมาใช้ชั่วคราว และถูกนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายแล้วเท่านั้น คือถ้ามันมีมาตรการอื่นๆ ที่ป้องกันไม่ให้จำเลยหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตราย ก็ต้องใช้มาตรการอื่นๆ ก่อน เพราะว่าระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกขัง ตำรวจไปหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่คนที่ถูกขังไม่สามารถไปหาหลักฐานความบริสุทธิ์ของตัวเองไม่ได้ สุดท้าย ถ้าศาลตัดสินว่าพวกเขาไม่ผิด ใครจะรับผิดชอบกับเสรีภาพของพวกเขาที่ถูกลิดรอน 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า นี่จึงเป็นภาพสะท้อนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน สามารถประกันตัวได้ตั้งแต่ชั้นตำรวจแล้ว นายกรัฐมนตรีปัดความรับผิดชอบในส่วนนี้ไม่ได้ ไม่ต้องบอกว่าการประกันตัวเป็นเรื่องของศาล หากว่าไม่มีเหตุจำเป็น ตำรวจสามารถพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวได้เลย ไม่ใช่ฝากขังอย่างเดียว 

ปรากฏการณ์ที่ 3 ใช้ข้อหาไม่เหมาะสมกับสัดส่วน คุกคามผู้สื่อข่าว

พนิดา ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่ 3 มีการยัดคดีความรุนแรงโทษไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ในกรณีที่ชัดที่สุด คือ ทานตะวัน และณัฐนนท์ ที่บีบแตร และมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นทางด่วน และหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไปแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมันได้สัดส่วนอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้น ก็มีการไปปั่นเรื่องนี้เกินจริง กลายเป็นการคุกคามขบวนเสด็จ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีการโพสต์โซเชียล ระบุว่า เขาและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ ผ่านมาหลังจากนั้น ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ศาลออกหมายจับ พ.ร.บ.คอม และมาตรา 116 ซึ่งมันไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเลย พอใบอนุญาตมา คดีรุนแรงมาเลย นี่คือการยัดข้อหารุนแรงที่เกินควร ที่น่ากลัวคือมันเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากคดีมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น อยู่ในหมวดความมั่นคง เป็นข้อหาหนักมีโทษสูงถึง 7 ปี "ที่ตำรวจดำเนินการเช่นนี้ จะเป็นอะไรไปได้อีก นอกเสียจากเต้นตามคำพูดของนายกรัฐมนตรี" ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นส่งผลกระทบนำมาสู่การฝากขัง และปฏิเสธปล่อยตัวชั่วคราว

ทานตะวัน (ซ้าย) และ ณัฐนนท์ (ขวา) (ที่มา: แมวส้ม ประชาไท)

ทั้งนี้ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกฝากขังมาแล้ว 4 ผัด จนถึงวันนี้มีอดข้าวอดน้ำ เพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ท่านบอกว่าเป็นปกติ กรณีนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะอาจจะเสียชีวิตได้ตลอดเวลา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ พนิดา ได้ยกกรณีที่ รัฐบาลเศรษฐา มีการแจ้งดำเนินคดีกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปี’58 กับสองสมาชิกพีมูฟที่มาชุมนุมปักหลักรอบทำเนียบ เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ทั้งที่มีการทำตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เคยเห็นตรงกันว่ากฎหมายออกโดยรัฐบาลทหารนี้มีปัญหา เพราะว่าเป็นกฎหมายปิดปากประชาชน แต่พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนยังมีการใช้กฎหมายรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มิติใหม่คุกคามผู้สื่อข่าว

พนิดา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่ 4 มีการคุกคาม 2 ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่ภาคสนาม รายงานและติดตามการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว โดยทั้งคู่ถูกแยกขังเป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่ตำรวจจะส่งฝากขัง และได้ประกันตัว กรณีนี้มีแจ้งข้อหาย้อนหลังนานถึง 1 ปี และมีการฝากขังทั้งที่มันไม่มีความจำเป็น ซึ่งสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ยังไม่เคยมีกรณีจับกุมผู้สื่อข่าวแบบนี้ 

"ที่คือการส่งสัญญาณชัดๆ เลยว่า ภายใต้รัฐบาลชุดนี้หากสื่อมวลชนรายใดไปรายงานข่าวเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ สื่อมวลชนรายนั้นอาจถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้ในรัฐบาลประยุทธ์ ไม่มี" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรากฏการณ์สุดท้าย คือการเพิ่มข้อหาให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองปี 2563-2565 พนิดา ได้กล่าวถึงการกลับมาแจ้งมาตรา 112 กับผู้ชุมนุม 3 คนเมื่อ 14 พ.ย. 2564 แม้ว่าจะผ่านมานานถึง 2 ปีแล้ว แต่มีการดำเนินคดีย้อนหลังในข้อหามาตรานี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในรัฐบาลเศรษฐา มีการดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 15 คดี เกือบทั้งหมดมาจากกลุ่ม ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) มีการแจ้งความตั้งแต่ปี 2563-2565 ซึ่งเพิ่งมีหมายเรียก และไม่มีคดีไหนที่อัยการไม่ส่งฟ้องศาล ซึ่งนี่สะท้อนว่ารัฐบาลเศรษฐา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังปล่อยให้ใครก็ได้กล่าวหาด้วยข้อหาความมั่นคงร้ายแรง ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง หรือนโยบายในการพิจารณาคดีที่เป็นข้อหาความมั่นคง 

2 ข้อเสนอที่ฝ่ายบริหารทำได้

พนิดา เสนอว่า ฝ่ายบริหาร หรือนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ต้องไม่มีการคุกคามประชาชน การกลั่นกรองคดีต้องเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องไม่ปล่อยให้มีการดำเนินคดีกันมั่ว และยัดคดีที่รุนแรงเกินจริงไม่ได้สัดส่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเคารพสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คืนสิทธิในการประกันตัวในชั้นตำรวจ

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ข้อเสนอจากฝ่ายบริหารว่าให้ใช้ระเบียบอัยการสูงสุด การสั่งฟ้องคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงต่อชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ฉบับที่ 2 ปี 2561 ข้อ 7 ว่า 'ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ ให้พนักงานอัยการ พิจารณาโดยแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบ โดยให้คํานึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้'

โดยอนุ 4 ระบุว่า "ให้ใช้เหตุผลตามติ ครม. ถึงผลกระทบความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ"

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ในประวัติศาสตร์ ครม.เคยใช้ระเบียบข้อนี้ให้อัยการไม่ส่งฟ้องทางการเมืองมาต่างๆ ดังนั้น ถ้า ครม.ออกแนวนโยบาย อัยการหรือแม้กระทั่งในชั้นศาลสามารถใช้ช่องทางนี้ได้ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ความขัดแย้ง ก็เชื่อว่าจะมีส่วนที่ฝ่ายตุลาการสามารถพิจารณาคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้

"ดิฉันไม่ได้ขอให้นายกฯ ทำอะไรที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ไม่ได้ขอให้ท่านไม่บังคับใช้กฎหมาย ดิฉันมาบอกว่าให้ท่านทำในสิ่งปกติเป็นธรรมดา เป็นสากลแบบที่ท่านเคยสัญญาไว้กับประชาชนได้ คือการขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในขอบเขตที่ท่านทำได้" พนิดา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net