Skip to main content
sharethis

สส.ก้าวไกล ไม่เห็นด้วย ก.แรงงาน เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยกอำนาจให้ ครม. กำหนดที่มาบอร์ดประกันสังคม ยืนยันคนบริหารเงินกองทุน ต้องมาจากการเลือกตั้ง

นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกระทรวงแรงงานเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยกเลิกความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 วรรค 3 ที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อพิจารณาบรรจุในวาระ

ครม. หาก ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการสภาฯ ทราบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สงสัยมากว่าทำไมจึงมาผลักดันในช่วงนี้ ทั้งที่เราเพิ่งมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทางตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม 2566

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญก็คือร่างของกระทรวงแรงงาน เขียนว่าหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. นั้น เท่ากับว่าให้อำนาจอยู่ในมือ ครม. จะกำหนดให้บอร์ดประกันสังคมมาจากการแต่งตั้งก็ได้ เลือกตั้งบางส่วนก็ได้ เลือกตั้งผ่านตัวแทนอะไรสักอย่างก็ได้ จะออกแบบให้เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นการเลือกตั้งทางตรงที่ผู้ประกันตนได้ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างเต็มที่

ดังนั้น ตนจะคัดค้านเรื่องนี้จนถึงที่สุด และยืนยันว่าคนบริหารเงินกองทุนประกันสังคม ที่ทุกคนส่งเงินเข้ากองทุนทุกๆ เดือน ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน เราเข้าใจว่าการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ แต่ควรเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจว่ามีปัญหาตรงไหน ต่อให้บอกว่าเมื่อกฎหมายเข้าสภาฯ ก็ต้องผ่านกรรมาธิการ แต่คำถามคือแล้วจะร่างกฎหมายแบบนี้มาทำไมตั้งแต่แรก ทำไมไม่ยืนยันสิทธิเลือกตั้งทางตรงของประชาชน

ส่วนกรณีการรับรองผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม สส.ชลบุรี เขต 7 กล่าวว่า เพิ่งมีการรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นเวลากว่า 50 วันหลังวันเลือกตั้ง ถือว่าล่าช้ามาก เพราะการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมีผู้มาใช้สิทธิน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง สส. และยังมีปัญหาผลคะแนนเปลี่ยนแปลง แต่ละคนเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน แต่ที่เปลี่ยนแปลงมากและส่งผลให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยน คือคะแนนของ ปรารถนา โพธิ์ดี มีการเปลี่ยนแปลงกว่า 1,300 คะแนน ส่งผลให้ลำดับเปลี่ยนจากที่ 7 ไปอยู่ที่ 9

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 18/2/2567

กมธ.แรงงาน สผ. ส่งเรื่องขอ รมว.แรงงาน ดูสวัสดิการให้แรงงานทุกกลุ่ม หลังพบไรเดอร์ เสียชีวิตไร้การเยียวยา

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพิจารณา ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กรณีแรงงานไรเดอร์ในแพลตฟอร์มไลน์แมน ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการทำงานขับรถส่งพัสดุ 1 ราย และอีก 1 ราย ประสบอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะ ระหว่างการทำงาน โดยทั้ง 2 กรณีได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทนแล้ว แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถรับเงินทดแทนได้ เนื่องจาก บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนไรเดอร์ไว้ ส่งผลให้ไม่ได้รับเงินเยียวยา

คณะกรรมาธิการการแรงงาน พิจารณาและมีข้อสังเกตและข้อเสนอเกี่ยวกับนิยามคำว่าลูกจ้างและนายจ้าง ว่าควรคลอบคลุมถึงพนักงานไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์ม และสถานประกอบการกับหน่วยงานรัฐควรบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาค รวมถึงควรมีมาตรฐานการตรวจสอบเงื่อนไขการทำงาน และสวัสดิการผู้ใช้แรงงาน คณะกรรมาธิการมีมติจัดทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทีได้รับความเดือดร้อน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 16/2/2567

กยศ. เปิดปรับโครงสร้างหนี้วันแรก มีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญากว่า 1,000 ราย ยืนยันเมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดให้ผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันแรก มีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญากว่า 1,000 ราย ปลดภาระผู้ค้ำประกันหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทันที ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายวันเข้าทำสัญญาล่วงหน้าทางเว็บไซต์ กยศ. และกองทุนฯจะทยอยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้กู้ยืมจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนฯได้เปิดให้ผู้กู้ยืมที่ลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เป็นวันแรก โดยมีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญากว่า 1,000 ราย สำหรับผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้แก่ ลูกหนี้ทุกกลุ่ม โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี และในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น และผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th โดยจะเปิดให้เข้ามาทำสัญญาทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 09.00 - 20.00 น. และกองทุนฯจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี ซึ่งคาดว่าจะมีเงินกลับเข้ามาที่กองทุนฯอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าวในที่สุด

ที่มา: กระทรวงการคลัง, 16/2/2567

‘กมธ.ต่างประเทศ’ ขอทูตเกาหลีขยายโควต้าแรงงานไทย-คลี่คลายปัญหาตรวจคนไทยเข้าประเทศ

16 ก.พ. 2567 นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.ได้พบหารือกับนายปาร์ค ยงมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ในโอกาสที่นายปาร์คฯ เดินทางเข้ารับตำแหน่ง โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือในประเด็นภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ซึ่งตนได้ย้ำบทบาทของไทยในเวทีโลกที่จะเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ และเน้นย้ำความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุน โดย กมธ.สนับสนุนการเจรจาและทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement) ระหว่างไทยและเกาหลีให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในหลายมิติ

นายนพดลกล่าวต่อว่า ในเรื่องความร่วมมือทางด้าน Soft Power ซึ่งฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลียินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับฝ่ายไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลีพัฒนาไปไกลมาก และเรื่องนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ นอกจากนั้น กมธ.ได้กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยถูกปฏิเสธการเข้าเมืองที่สนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวไทยที่ตั้งใจไปเที่ยวเกาหลีถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง ซึ่งท่านทูตเกาหลีได้รับว่าฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีก็ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีความยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการส่งเสริมการทูตภาคประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศต่อไป ส่วนปัญหาแรงงานไทยที่อยู่เกินวีซ่านั้น กมธ.สนับสนุนการไปทำงานที่เกาหลีอย่างถูกกฎหมายและฝากทางเกาหลีเพิ่มโควต้าแรงงานไทยให้มากขึ้น รวมทั้งลดขั้นตอนเพื่อให้คนไทยไปทำงานในช่องทางนี้เพื่อจะได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการตามกฎหมาย

ที่มา: แนวหน้า, 16/2/2567

ประกันสังคม จับมือ ธ.ก.ส. รับชำระเงินสมทบกองทุน ผ่านแอป BAAC Mobile

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และนายไพศาล  หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในปี 2567 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจจากผู้ประกันตน ด้วยการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงาน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สำนักงานประกันสังคมและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการสร้างประกันสังคมยุคใหม่ ผ่าน Best e-Service จากการนำระบบ e-Claim มาใช้ในการให้บริการเบิก-จ่ายเงิน และพัฒนาช่องทางการชำระเงินสมทบผ่าน Application BAAC Mobile อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อพี่น้องที่ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า รับจ้างทั่วไป หรือเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีช่องทางในการชำระเงินที่สะดวกครอบคลุมยิ่งขึ้น สร้างแรงจูงใจในการชำระเงินสมทบให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ครบถ้วน

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อ Kick off การให้บริการรับชำระเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Mobile Application ธ.ก.ส. (BAAC Mobile) เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถชำระเงินสมทบได้ทุกที่ ทุกเวลา ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นธนาคารที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับ ทุกภูมิภาค และทุกอาชีพสามารถเข้าถึงได้ทั้งในเมืองและชนบท ทั้งนี้ ยังมีบริการรับสมัครผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 อีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในการจัดโครงการพัฒนาระบบรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผู้ประกันตน และยกระดับการให้บริการนำส่งเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้สามารถนำส่งเงินรายเดือนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพียงผู้ประกันตนกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และจำนวนเงินที่ประสงค์จะนำส่งเงินสมทบ และยืนยันรายการ ระบบของธนาคารจะส่งข้อมูลการนำส่งเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมแบบออนไลน์ได้ทันที ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการให้บริการทางการเงินครบวงจรที่รวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างวินัย และความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ประกันตน มาตรา 40 โดยปัจจุบันธนาคารเปิดให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) แอปพลิเคชัน BAAC Mobile 2) บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ และ 3) เคาน์เตอร์สาขาของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ

ที่มา: สยามรัฐ, 14/2/2567

เปิดตัวคู่มืออัตราเงินเดือนปี 2567 กว่า 900 ตำแหน่งในไทย พร้อมผลสำรวจ Salary & Work Trend จากคนทำงานกว่า 2,400 คนทั่วประเทศ

บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย HR Solutions Provider ผู้นำระดับโลกด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดตัว Adecco Thailand Salary Guide หรือคู่มืออัตราเงินเดือน ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในปีนี้นอกจากจะมีข้อมูลอัตราเงินเดือนของพนักงานตำแหน่งต่างๆ ในประเทศไทยกว่า 900 ตำแหน่งแล้ว ยังมาพร้อมกับผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศกว่า 2,450 คน เกี่ยวกับความพึงพอใจด้านเงินเดือนและสวัสดิการขององค์กรที่ตนเองสังกัด และความรู้สึกต่อเทรนด์การทำงานต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการซึ่งกระจายการจ้างงานไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า gig economy หรือระบบเศรษฐกิจจากการรับงานเป็นชิ้นหรือเป็นครั้ง และมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานประจำมาเป็นสัญญาจ้างตามระยะเวลาหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และดีลิเวอรี

ในเรื่องของเงินเดือนและทักษะมาแรงพบว่า เงินเริ่มต้นของตำแหน่งต่างๆ ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่เพดานเงินเดือนมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเป็นผลจากการแย่งชิงทาเลนต์ เช่น คนทำงานในระดับประสบการณ์ 0-3 ปี เงินเดือนสูงสุดที่ได้รับสูงถึง 100,000 บาท จากเดิมที่มีคนเคยได้ 80,000 บาทในปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินเดือนในตำแหน่ง Software Engineer ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อองค์กรในปัจจุบันที่นำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และหากมี soft skills ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย องค์กรก็พร้อมจะจ้างด้วยอัตราเงินเดือนสูงกว่าอัตราทั่วไปของตลาด ส่วนเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง อาจสูงถึง 600,000 บาทหรือมากกว่า เช่น ตำแหน่ง Medical Director ในธุรกิจ Healthcare หรือ ตำแหน่ง Managing Director ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งสองธุรกิจเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจด้านสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ เช่น Chief Digital Officer และ Chief Technology Officer ที่เงินเดือนอาจสูงถึง 500,000 บาทหรือมากกว่า ในภาพรวมตำแหน่งที่มีความต้องการสูง และได้เงินเดือนดีคือ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะหรือมีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะยังมีไม่เพียงพอในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ผลสำรวจ Salary and Work Trend Survey จากผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 2,456 คน ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของตลาดแรงงานได้ชัดเจนขึ้น เช่น

• คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือ 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสามอุตสาหกรรมที่มองว่าธุรกิจที่ตนเองสังกัดกำลังเติบโตมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้คนกล้าใช้เงินซื้อสินทรัพย์หรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงการหันมาใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันท่วงที

• คนทำงาน 36% บอกว่าตนเองกำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังในช่วงปีนี้ ในขณะที่ 54% บอกว่าพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ

• คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน 60% คาดหวังการได้เงินเพิ่มมากกว่า 20% จากงานใหม่ และยิ่งมีอายุการทำงานน้อยก็จะมีสัดส่วนที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคนที่อยู่นานกว่า

• พนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ (องค์กรขนาด 500 คนขึ้นไป) ให้คะแนนระบบพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร (Learning & Development) ในระดับดี-ดีมาก ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากพนักงานในองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แสดงถึงการให้ความสำคัญขององค์กรใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการ reskill/upskill ให้กับพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

• คนทำงาน 64% มองว่า CSR (Corporate Social Responsibility) / ESG (Environment Social Governance) เป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆ ขององค์กร

• ทักษะด้านดิจิทัลและความเป็นผู้นำ เป็นทักษะอันดับหนึ่งร่วมกันที่คนทำงานกว่า 60% ต้องการพัฒนา โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพได้มากที่สุด โดยทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือระดับใดในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทักษะความเป็นผู้นำก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• คนทำงาน 74% มองการเกิดขึ้นของ Generative AI เช่น ChatGPT ในแง่ดี และมีคน 45% ที่ใช้ Generative AI ช่วยในการทำงานเป็นประจำ มีเพียง 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานพาร์ตไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร ทั้งนี้เนื่องจาก Gen AI สามารถทำงานได้หลากหลายและช่วยจัดการงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างการแปลภาษา งานออกแบบ ทำกราฟิก จนไปถึงการวางโครงงานของโปรเจกต์ต่างๆ ได้ ทำให้คนที่ทำงานพาร์ตไทม์ที่อาจรับงานเป็นชิ้นงาน อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในขณะที่ผู้บริหารอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง

คุณธิดารัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มตลาดแรงงานในปีนี้ที่บางธุรกิจอาจจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงาน ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรพิจารณาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เช่น การให้มี "นโยบาย remote / hybrid work" ต่อไป ซึ่งสถิติพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้สมัครงานและพนักงานใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ และการทำงานแบบรีโมตช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถจากทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่ตั้งของสำนักงาน การมีตัวเลือกการทำงานแบบรีโมตหรือไฮบริดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดึงดูดและรักษาทาเลนต์ในปี 2024 อีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญคือ การสร้าง "วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง" (Strong Company Culture) เพราะการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความผูกพันและต้องการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ทาเลนต์คุณภาพมักจะมองหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงค่านิยมและเป้าหมายที่ตรงกับตนเองและสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมแบบยั่งยืน (โดยเฉพาะ Gen Z ที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่) การทำงานแบบทีม การแบ่งปันความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การส่งเสริมความหลากหลายและการรวมกลุ่ม ความยืดหยุ่นในการทำงาน พนักงานที่มีความสุขและพึงพอใจมักจะทำงานได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรและเวลาที่จะต้องใช้ในการสรรหาและฝึกฝนพนักงานใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานมีความยืดหยุ่นและการเชื่อมต่อทางดิจิทัลจนกลายเป็นปกติองค์กรต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ Gen AI รวมถึงนโยบาย Wellbeing ที่ดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงานไปพร้อมกัน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานได้มีเส้นทางการเติบโตและมีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตามต้องการ และสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมี competitive salary ที่ผลสำรวจพบว่าเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครงาน 94% ใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรหนึ่งๆ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนของตำแหน่งต่างๆ ได้จากการเช็กข้อมูลจาก Salary Guide และติดตามข่าวสารตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด

ด้านคุณไซม่อน แลนซ์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ในปีที่ผ่านมาองค์กรทั่วภูมิภาคได้เจอกับความท้าทายหลายประการซึ่งส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์การจ้างงาน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้สมัครงาน หลายองค์กรไม่สามารถรับผู้สมัครได้ทันทีและมีกระบวนการต่อรองเงินเดือนที่ยาวนานขึ้น การรักษาให้ยังคงอยู่กับองค์กรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่อมาคือการขาดแคลนทาเลนต์ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารที่เข้าใจเทคนิคการทำงานร่วมกับคนหลากหลายวัฒนธรรม และสุดท้ายคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทักษะสำคัญต่อการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้หัวหน้างานต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทักษะให้พนักงานเก่ากับการสรรหาพนักงานใหม่ที่สามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้ทีมยังคงทำงานร่วมกันได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในด้านรูปแบบการทำงาน พบว่าการทำงานแบบรีโมตยังคงเป็นรูปแบบที่คนคาดหวังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในกระบวนการสรรหาที่คนต้องการสมัครงานออนไลน์ได้ 100% ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการเริ่มงานวันแรก หรือความคาดหวังต่อการใช้นโยบายรีโมตต่อไป นำไปสู่การตั้งคำถามต่อนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ทาเลนต์หลายคนหันมาทบทวนและพิจารณาอีกครั้งว่ายังอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่

สำหรับการคาดการณ์ในปีนี้ เชื่อว่าหลายองค์กรจะมีการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจาก digital disruption โดยเพิ่มการจ้างงานในรูปแบบ partnership & outsourcing หรือการจ้างคนและทีมงานภายนอกเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจ career transition & outplacement ที่เชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างองค์กรและการเลิกจ้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเชื่อว่าการแย่งชิงตัวทาเลนต์จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตำแหน่งดิจิทัล AI และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/2/2567

อัพเดตเยียวยาแรงงานกลับจากอิสราเอลหัวละ 5 หมื่น คาดจบสิ้น ก.พ. 67 นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่หนีภัยสู้รบในประเทศอิสราเอล และยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล รายละ 50,000 บาท ว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาฯให้ผู้มีสิทธิฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงวันนี้ (13 ก.พ. 2567) รวมจำนวน 33 วัน กระทรวงแรงงานได้โอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิหรือทายาทของแรงงานแล้ว จำนวน 5,820 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 291,000,000 บาท หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินเดือน ก.พ. นี้ได้อย่างแน่นอน

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านกระบวนการนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ และดำเนินการทันที เพื่อให้พี่น้องแรงงานที่กลับจากประเทศอิสราเอลได้รับเงินเยียวยา 50,000 บาท โดยเร็วที่สุด

“ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจากบางรายเอกสารไม่สมบูรณ์ ยังไม่ได้เซ็นชื่อในเอกสาร จึงมีการส่งกลับไปให้แก้ไข และส่วนที่ไม่ผ่านการพิจารณานั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่กลับมาก่อนวันที่ 7 ต.ค. 2566 และไม่ใช่วีซ่า Re-Entry จึงไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า ในส่วนของสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยนั้น ล่าสุด มีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 10,101 ราย ยื่นคำร้องกับกระทรวงแรงงานทั้งหมด 9,067 ราย จำแนกเป็น ยื่นด้วยตนเอง 8,997 ราย ทายาทยื่นในกรณีการเสียชีวิต 32 ราย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/2/2567

รมว.แรงงาน กระชับความร่วมมือออสเตรเลีย เจรจาเปิดตลาดภาคเกษตร เล็งส่งออกแรงงานไทย

12 ก.พ. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และคณะ เข้าพบ ดร.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ (H.E.Dr.Angela Jane Macdonald) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย และคณะ เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงานในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ มีกำหนดเดินทางไปเยือนเครือรัฐออสเตรเลียในระหว่างวันที่ 16 – 22 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพบปะผู้ประกอบการหารือแนวทางขยายตลาดแรงงานภาคเกษตรในออสเตรเลีย ณ สถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่แรงงานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในส่วนของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร ซึ่งคุ้นเคยกับการทำในสวนและในไร่เป็นอย่างดี และมักจะหาโอกาสในการไปทำงานต่างประเทศแบบฤดูกาลในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวในประเทศไทย จึงอยากให้รัฐบาลออสเตรเลียเปิดโอกาสให้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศอิสราเอลได้ไปทำงานในออสเตรเลีย เนื่องจากแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถทำงานเกษตรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และพร้อมที่จะพัฒนาทักษะด้านภาษาให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ออสเตรเลียกำหนด

“สำหรับการเดินทางไปออสเตรเลียในครั้งนี้ ผมและคณะจะไปพบกับเจ้าของสวนผลไม้เชื้อสายไทยในเมืองดาร์วิน ซึ่งที่นี่มีความต้องการแรงงานในภารคเกษตรเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงานขอขอบคุณเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ที่ช่วยประสานงานกับทางการออสเตรเลียและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเยือนเครือรัฐออสเตรเลียของผมและคณะในครั้งนี้ เพื่อเจรจาขยายตลาดแรงงานภาคเกษตร หวังว่ากระทรวงแรงงานและสถานทูตฯ จะร่วมทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความร่วมมือในการส่งเสริมให้แรงงานของไทยได้ไปทำงานในออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน ดร.แอนเจลา กล่าวว่า ทางการออสเตรเลียยินดีอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมมือกับรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะความร่วมมือในการส่งเสริมให้แรงงานไทยได้ไปทำงานภาคเกษตรโดยเฉพาะแรงงานที่มาดูแลสวนมะม่วง รวมทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น และการหารือในวันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) จะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/2/2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net