Skip to main content
sharethis

ประชากรลด – เศรษฐกิจไทยไม่อาจรอเด็กเกิดใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

 หากประเทศไทยต้องการเพิ่มกำลังแรงงาน อาจขยายอายุการทำงานไปถึง 65 ปี แทนการเร่งอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากประชากรเกิดใหม่จะต้องรออย่างน้อย 18-25 ปี จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาตลาดแรงงานที่กำลังจะต้องเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ใน 10 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 433,030 คน ในขณะที่มีจำนวนคนตายถึง 472,546 คน ทำให้ประชากรไทย ณ เดือนตุลาคม ปี 2566 ลดลง 37,516 คน จาก 66.09 ล้านคนในปี 2565

โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ประชากรไทยมีเพศชาย 32.27 ล้านคน และเพศหญิง 33.82 ล้านคน มีสัญชาติไทย 64.87 ล้านคน

Generation Alpha ผู้ที่เกิดหลังปี 2555 11.28% และ Generation Z ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 มีสัดส่วน 20.23% (สัญชาติไทยรวม 2 Generation คิดเป็นสัดส่วนของประชากรอยู่ที่ 31.42%)

Generation Y ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 มีสัดส่วน 23.25% (สัญชาติไทย 23.26%)

Generation X ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 มีสัดส่วน 24.65% (สัญชาติไทย 24.71%)

Baby Boomer ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 มีสัดส่วน 17.07% (สัญชาติไทย 17.13%)

ก่อน Baby Boomer: ผู้ที่เกิดก่อนปี 2488 มีสัดส่วน 3.52% (สัญชาติไทย 3.48%)

จากสถิตินี้แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้มีสัญชาติอื่นอาศัยในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มก่อน Baby Boomer มีผู้มีสัญชาติอื่นเพียงประมาณ 6 หมื่นคน แต่ในกลุ่ม Generation Alpha และ Generation Z รวมกันมีถึง 3.7 แสนคน

ตัวเลขจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทย ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 (อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน) อยู่ที่ 65,066,812 คน ลดลง 39,669 คน จาก 65,106,481 คน ณ สิ้นปี 2565 และมีประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเพิ่มจาก 983,994 คน ณ สิ้นปี 2565 เป็น 991,155 คน

สถิติตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้เกิดใหม่อยู่ถึงกว่า 4.6 หมื่นคน ภายในเวลา 11 เดือน

จากตัวเลขสถิติแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังแรงงานอยู่ประมาณ 40 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 สัดส่วนแรงงานต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 62% ในขณะที่มีผู้มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี มีอยู่ 43.7 ล้านคน ณ สิ้นปี 2565 และมีผู้มีอายุระหว่าง 61-65 ปีอยู่ 3.9 ล้านคน

ใน 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Gen Z ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า Gen อื่น เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในขณะที่ Gen Baby Boom อยู่ในอายุเกษียณในปีนี้เป็นปีสุดท้าย หรือก็คือ ในปีหน้าจะมีคนที่อยู่ในวัยหลังเกษียณ 20.59%

กำลังแรงงานจะหายไปจากระบบราว 9.1 แสนคนในปี 2567 เนื่องจากเกษียณอายุที่ 60 ปี แต่มีแรงงานที่เข้ามาใหม่เพียง 7.9 แสนคน และส่วนต่างระหว่างกำลังแรงงานที่หายไปกับแรงงานเข้าใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประเทศอยู่ในสถานการณ์นี้อีกแค่ 10 ปี จะมีกำลังแรงงานหายไปจากตลาดรวมราว 3 ล้านคน

กองทุนประกันสังคมต้องแบกรับผลของกำลังแรงงานที่หายไปนี้ และผู้เสียภาษีเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายภาครัฐที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเกษียณอายุ ระบบสาธารณสุข และการปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะกับสังคมสูงวัย

เศรษฐกิจไทยไม่สามารถรอเด็กเกิดใหม่เติบโตอีก 18-25 ปี เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาครัฐควรใช้มาตรการอื่นแทนการเร่งอัตราการเกิด ที่จะสามารถแก้ปัญหาจำนวนแรงงานลดลงได้รวดเร็วกว่ามาตรการเร่งอัตราการเกิดแบบเดิมๆ เพราะตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ปัญหานี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 21/1/2567

ดีอีเปิด 10 "ข่าวปลอม" ประจำสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด อันดับ 1 เพจปลอมกรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัครพนักงาน

20 ม.ค. 2567 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 12-18 ม.ค. 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,194,201 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ  ทั้งสิ้น 140 ข้อความ

ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 113 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 27 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 97 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 59 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 53 เรื่อง อาทิ กรมการจัดหางาน แนะนำงานสร้ายรายได้ 890-2,800 บาท รับและส่งชิ้นงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นต้น

กลุ่มที่ 2  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 19 เรื่อง อาทิ ผิวไม่ใส เพราะหายใจไม่สุด มีเสมหะพิษ ที่ขับออกไม่หมด สะสมที่ปอด เป็นต้น

กลุ่มที่ 3  ภัยพิบัติ จำนวน 4 เรื่อง อาทิ วันที่ 17-19 ม.ค.นี้ หลายพื้นที่ตั้งแต่ ภาคเหนือ มาถึงภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลงอีกโดย กทม.อุณหภูมิต่ำสุด 20 องศา เป็นต้น

กลุ่มที่ 4  เศรษฐกิจ จำนวน 21 เรื่อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ลงทุน Gold Trading การลงทุนหุ้นเริ่มต้น 50$ (1,750 บาท) กองทุนปันผลเริ่มต้น 500$ (17,490 บาท) กำไรสูงสุด 20% เป็นต้น

โดย แบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 18 เรื่อง

สำหรับ ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็น ข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ

โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

1.รับสมัครพนักงานแพ็กของ รายได้เฉลี่ย 450 บาท/ต่อวัน ผ่านเพจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

2.สินเชื่ออเนกประสงค์กรุงไทย 5 พลัส วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ผ่านเพจ Loan Versatile 5 Plus

3.กรมการจัดหางาน แนะนำงานสร้างรายได้ 890-2,800 บาท รับและส่งชิ้นงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

4.เพจเฟซบุ๊ก Loan 5 Plus ที่ปรึกษาด้านสินเชื่อธนาคารกรุงไทย

5. งินกู้ด่วน 5,000-300,000 บาท ทุกอาชีพก็กู้ได้ ผ่านเพจ KA PRO ติดต่อผ่านไลน์

6.กลุ่ม Line ร่วมกับ SET เรียนรู้การซื้อ-ขายหุ้นฟรี ลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผล 4,000-8,000 บาท/สัปดาห์

7. เพิ่มเงินบำนาญรายเดือนให้ข้าราชการรายละ 5,000 – 10,000 บาท

8. ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ

9. อุปกรณ์ Power Factor Saver ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 50% ไม่ผิดกฎหมาย

10. เปิดลงทุน Gold Trading เริ่มต้น 50$ (1,750 บาท) กองทุนปันผลเริ่มต้น 500$ (17,490 บาท) กำไรสูงสุด 20%

ที่มา: คมชัดลึก, 20/1/2567

รมว.แรงงานยืนยันเงินเยียวยาแรงงานไทยจากอิสราเอล 5 หมื่นจ่ายเร็ว ส่งเอกสาร กต. กว่า 4.7 พันราย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่ ซึ่งได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล รายละ 50,000 บาท ว่าหลังจากที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินงบประมาณโครงการเยียวยาฯ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาฯให้ผู้มีสิทธิฯ ทันทีในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ดังนั้น จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2567 รวม 15 วัน กระทรวงแรงงานได้โอนเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิหรือทายาทของแรงงานแล้ว จำนวน 1,210 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 60,500,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินเดือน ก.พ. นี้

“ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ดำเนินการทันที และไม่ล่าช้า เพื่อให้พี่น้องแรงงานที่กลับจากอิสราเอลได้รับเงินเยียวยา 50,000 บาท โดยเร็วที่สุด ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับเงินเนื่องจากบางรายเอกสารไม่สมบูรณ์ ยังไม่ได้เซ็นในเอกสาร จึงมีการส่งกลับไปให้แก้ไข ทั้งนี้ คาดว่าจะทยอยโอนเงินเยียวยาได้มากขึ้นวันละอย่างน้อย 250 – 300 ราย เพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จให้ครบไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็วที่สุด ในส่วนของความคืบหน้าค่าพาหนะเดินทางของแรงงานที่กลับจากอิสราเอล ซึ่งมีแรงงานไทยได้ติดต่อสอบถามมายังกระทรวงแรงงานเป็นจำนวนมากถึงเรื่องที่ยังไม่ได้รับเงินค่าเดินทางกลับจากอิสราเอลดังกล่าวนั้น เกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการส่งคำร้องขอรับเงินค่าเดินทางฯ ไปยังกระทรวงการต่างเทศ (กต.) เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4,729 คน จากจำนวนผู้มายื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 – วันที่ 15 มกราคม 2567 ทั้งสิ้น 5,012 คน จำแนกเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน 2,698 คน และค่าแท็กซี่ 3,699 คน

“ในการยื่นคำร้องขอรับค่าเดินทางกลับจากอิสราเอลนั้น กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่รับเรื่องของคนไทยทุกคนที่เดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ทั้งกลุ่ม นักเรียน นักศึกษา และแรงงานไทย ซึ่ง กต.จะเป็นผู้พิจารณาค่าชดเชย/ค่าใช้จ่าย หลังจากยื่นเอกสารกับกระทรวงแรงงานแล้ว กต.จะดำเนินการจ่ายค่าพาหนะให้แรงงานต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า แรงงานไทยที่ยื่นคำขอไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับค่าเงินค่าเดินทางกลับจากอิสราเอล สามารถติดตามการยื่นคำขอได้ที่ Hotline call center กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทร.02 572 8442

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/1/2567

เชื่อแนวรบยิว-อามาส มีจุดสิ้นสุด รอเปิดพื้นที่สีเขียวส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลอีกระลอก

นายพงศ์ศักดิ์ ศรีมานนท์ จัดหางานจังหวัดพิษณุโลก นายวีระศักดิ์ สุวรรณโณที่ปรึกษาจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก/อนุกรรมธิการการมีส่วนร่วมของประชาชา-วุฒิสภาพร้อมคณะภาคีเครือข่าย ระดมแนวคิดการจัดหาแรงงานยังตำแหน่งที่ว่างงาน โดยเฉพาะให้ผู้ว่างงานมาลงทะเบียนและภาคเอกชนจะเป็นผู้เลือกหรือช็อปปิ้งในระบบออนไลน์

พร้อมรับฟังสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลว่า จะเปิดพื้นที่สีเขียวบริเวณใดบ้าง หรือยังมีพื้นที่สีแดงเขตใดบ้างเพื่อเตรียมส่งแรงงานไทยกลับไปทำงานในต่างแดนอีก

จัดหางานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ใครที่อยากไปทำงานต่างประเทศ หากไม่เข้าใจ จะต้องมาที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง ไม่ต้องรอให้กลุ่มมิชฉาชีพ อ้างว่า จะหางานให้ทำ แม้จะอ้างผ่านระบบแรงงานก็ตาม หากถูกหลอกแล้วย้อนกลับมาหาหน่วยงานราชการ จะแก้ไขลำบาก ยากที่จะทวงเงินคืน ที่ผ่านมาพบเจออยู่บ่อยครั้ง

อันดับแรก คนที่จะไปต่างประเทศ ต้องมาตรวจสอบว่า บริษัทดังกล่าว มีตัวตนหรือไม่ ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานหรือไม่ หรือ แม้จะทราบว่าบริษัทดังกล่าวนั้นมีจริง แต่อาจมีบุคคลอื่นแอบอ้างชื่อ โดยที่บริษัทไม่รู้ก็ได้ ซึ่งจัดหางานจังหวัด ทราบถึง ตัวบุคคลนั้นๆว่า เป็นพนักงานจริงหรือไม่

ส่วนสถานการณ์ในอิสราเอล ยืนยันว่า การรบคงไม่ยืดเยื้อ แบบไม่มีจุดสิ้นสุด นายจ้างฝั่งอิสราเอล ยังต้องมีการผลิตหรือประกอบธุรกิจ ณ.วันนี้ กระทรวงแรงงานได้หารือกับกระทรวงต่างประเทศว่า พื้นที่อิสราเอล เป็นสีเขียวหรือสีแดงบริเวณใดบ้าง หากรับรองว่า เป็นพื้นที่สีเขียว ก็พร้อมจัดส่งแรงงานได้ หากคนไทยมีความประสงค์

อย่างไรก็ตาม หากถามว่า สถานการณ์ปกติหรือยัง ณ.วันนี้ คงตอบเพียงว่า ยัง แต่แรงงานแถบประเทศรัฐเซียหรือประเทศใกล้เคียงได้เดินทางไปทำงานบ้างแล้วในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็ทำงานได้ปกติ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศอิสราเอล จะประกาศสงครามยาว และเป็นไปไม่ได้ที่นักธุรกิจจะหยุดการผลิต มิฉะนั้นประเทศก็อยู่ไม่ได้ สรุปคือ อิสราเอลยังต้องหาแรงงานไทยอยู่

เท่าที่สอบถาม แรงงานไทยที่กลับมาเพราะสงคราม ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำงานอะไร บอกเพียงว่า ช่วงนี้ต้องการผักผ่อน ไม่คิดจะทำอะไร คาดว่า แรงงานไทยคงหาโอกาส รอจังหวะสถานการณ์คลี่คลายแล้วย้อนกลับเข้าไปทำงานในอิสราเอลใหม่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในต่างแดน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/1/2567

แรงงานโรงแรมยังขาดหนัก ผู้ประกอบการ 60% รับกระทบคุณภาพบริการ

สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า สมาคมได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel Business Operator Sentiment Index) เดือนธันวาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 8-25 ธันวาคม 2566) จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 75 แห่ง พบว่าโรงแรมกว่า 60% ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

โดยมีผู้ประกอบการเพียง 35% ที่ระบุว่าสถานการประกอบการไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน และผู้ประกอบการที่บอกว่ามีปัญหาและยอมรับว่ากระทบต่อคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้ และ 15% ที่มีปัญหาระบุว่า การขาดแคลนแรงงานยังกระทบกับจำนวนลูกค้าที่รับได้ แต่ไม่กระทบกับคุณภาพการให้บริการ ส่วนอีก 15% ยอมรับว่ากระทบทั้งคุณภาพการให้บริการและจำนวนลูกค้าที่รับได้

อย่างไรก็ตาม โรงแรมกว่า 50% สามารถปรับราคาห้องพักได้สูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ขณะที่โรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวส่วนใหญ่ยังปรับราคาได้จำกัด

ทั้งนี้ โรงแรมในภาคใต้มีสัดส่วนของโรงแรมที่ปรับราคาได้สูงกว่าก่อน COVID-19 สูงกว่าภาคอื่น ๆ ขณะที่โรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ยังมีราคาห้องพักใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/1/2567

สนค. เผยวิกฤตการศึกษาไทย ระดับคะแนนต่ำในภูมิภาคอาเซียน เด็กเมินสายอาชีวะ ส่งผลกระทบขาดแคลนแรงงานสายอาชีพ

15 ม.ค. 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึง การพัฒ นาการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อแรงงานที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะและกระบวนการคิดที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน

จึงมีเสียงสะท้อนให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตแรงงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแต่ละภาคส่วนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากบางส่วนมองว่า แรงงานของไทยยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองในบางอุตสาหกรรม

จากผลสำรวจความต้องการแรงงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปี 2565 พบว่า มีภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มากถึง 12,000 ตำแหน่ง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แม้รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ปี 2566 จะแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของกำลังแรงงานในระยะยาวที่ดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงว่า ไทยอาจประสบปัญหาแรงงานทักษะที่ไม่เพียงพอในภาคบริการ

ในขณะที่คู่แข่งด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ต่างเร่งการพัฒนาด้านแรงงานทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ ซึ่งในอนาคตอาจทำให้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยทำได้ยากขึ้น และเป็นความท้าทายที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เมื่อย้อนดูคุณภาพการศึกษาของไทยซึ่งเป็นต้นทางการผลิตแรงงาน พบว่า คะแนนของเด็กไทยต่ำลงในทุกหมวด ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน อย่างไรก็ตาม หากเทียบเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ระดับคะแนนของไทยยังต่ำกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งยังมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทย คือ การผลิตบุคลากรที่ไม่ตรง หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เกิดขึ้นจากค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาในสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ประกอบกับภาพลักษณ์ในเชิงลบที่มีต่อผู้เรียนในสายอาชีวะ ทำให้ความต้องการศึกษาในสายอาชีวะลดลง

"ไทยขาดแคลนแรงงานในสายอาชีวะจำนวนมาก ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามายังไทย รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานบางสาขาในอนาคต และขาดบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีในการสอนให้เพิ่มสูงขึ้น"

นายพูนพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้น เช่น ขาดแรงงานทักษะใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า ไทยมีผู้ทำงานจริงเพียง 39.6 ล้านคน จากประชากร 66.1 ล้านคน

ขณะที่ผลสำรวจด้านแรงงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 พบว่า ไทยยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับการศึกษา ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานกว่า 168,992 คน แบ่งออกเป็นความต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีขึ้นไป 29,037 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน และอื่น ๆ อีก 5,090 คน

สะท้อนว่าระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาแรงงานได้น้อยกว่าความต้องการของตลาดอยู่มากพอสมควร ในขณะที่ ผู้ประกอบการต่างชาติมีค่าแรงสูง มีการแย่งตัวแรงงานด้วยการแข่งขันด้านค่าแรง ทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนแรงงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า

ที่สำคัญคือ แรงงานที่มีลักษณะการทำงานซ้ำ ๆ อาจถูกแทนที่ด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ และอาจส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานรวมของประเทศลดลง และการศึกษาที่ขาดคุณภาพส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมีผลิตภาพต่ำ และมีทักษะที่ไม่หลากหลาย ทางเลือกในการประกอบอาชีพจึงมีน้อย เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ฯ ย้ำว่า การศึกษานับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ทั้งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร ไม่สามารถสร้างหรือปรับเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น ควรต้องเร่งพัฒนาการศึกษาตั้งแต่วันนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ

ที่มา: Thai PBS, 15/1/2567

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net