Skip to main content
sharethis

หลังผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าที่สภาลงมติเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ “พนัส” อดีตคณบดีนิติ มธ.ชี้ว่าผิดหลักการแบ่งอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายกลายเป็นตุลาการธิปัตย์ ส่วน “อานนท์” อาจารย์นิติ มธ.เห็นว่าต้องระวัง ศาล รธน.จะยิ่งตอกย้ำการตีความการใช้ข้อบังคับที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็น “ง่อย”

เมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) หลังจากเกิดกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาที่สภาลงมติญัตติการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลให้สภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นการเสนอญัตติซ้ำและผิดข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 41

มีนักวิชาการด้านกฎหมายออกแสดงความกังวลต่อการยื่นเรื่องดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ซึ่งมีทั้งประเด็นเรื่องเสียสมดุลย์อำนาจระหว่าง 3 เสาหลักที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องแยกกันอย่างชัดเจน รวมถึงปัญหาว่ากรณีดังกล่าวที่เป็นการยื่นให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาว่าใครเป็นคนมีสิทธิร้องต่อศาลกันแน่ ใครบ้างเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิบ้างจากการลงมติของสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งผลหลังคำวินิจฉัยของศาลอาจเป็นการตอกย้ำว่าการตีความว่าการเสนอชื่อพิธาเป็นการเสนอญัตติซ้ำที่รัฐสภาลงมติกันไปนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

ทำให้สมดุลย์ “บริหาร-ตุลาการ-นิติบัญญัติ” เสีย

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้ช่องทางนี้ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่นอจกากจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วยังขอศาลให้สั่งรัฐสภาให้หยุดทำงานรอจนกว่าศาลจะตัดสินด้วย เพราะเป็นการทำให้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ต่ำลงไปกว่าอำนาจตุลาการมากยิ่งขี้นไปอีก ทำให้สมดุลย์ระหว่างอำนาจอธิปไตย 3 อำนาจไปโดยสิ้นเชิง

“ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย และหลักอำนาจรัฐสภาธิปัตย์ (Parliamentary Sovereignty) กลายเป็นตุลาการธิปัตย์ (Judicial Sovereignty) ซึ่งหนักข้อยิ่งกว่าตุลาการภิวัตน์ (Judicial Activism) ขึ้นไปอีก ความจริงเรื่องความผิดพลาดของรัฐสภาที่ดันลงมติว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นญัตตินั้นรัฐสภามีอำนาจแก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้หรอก”

ส่งให้ศาล รธน.พิจารณาต้องระวังผลลัพธ์ที่จะตามมา

อานนท์ มาเม้า จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศาสตร์ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กของตนถึงเรื่องเดียวกันนี้ไว้เช่นกันซึ่งเขาได้ชี้ปัญหาของการยื่นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ใช้มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญให้ศาลพิจารณาว่าการที่สภาลงมติว่าการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบเมื่อวันที่ 19 ก.ค.นั้นเป็น “ญัตติซ้ำ” เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่ยังเป็นปัญหาต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิและสิทธิในการร้องต่อศาลอยู่ที่ใคร

อานนท์มองว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 นั้นบัญญัติว่าเป็นสิทธิของ “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้” จึงต้องบรรยายให้ได้ว่าถูกละเมิดสิทธิและถูกละเมิดอย่างไรในเมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการตีความของรัฐสภาเกี่ยวกับการดำเนินการของที่ประชุม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงมีเพียงพิธาหรือไม่ และเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ” มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่มีสิทธิยื่นคำร้อง

“ถ้าการตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่พอใจ กลุ่มคนหรือประชาชนฝ่ายใด แล้วอ้างว่ากลุ่มคนนั้น ๆ หรือประชาชนทุกคนถูกละเมิดสิทธิ ก็คงจะทำให้ช่องทางการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ที่มุ่งให้สิทธิต่อปัจเจกบุคคล บานปลายเป็นใครก็ได้ในสังคมไทย ที่สามารถหยิบยกนำคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ดูเห็นจะไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ที่รับแนวคิดเรื่อง Constitutional Complaint มาจากระบบกฎหมายเยอรมนี”

อย่างไรก็ตามอานนท์มองว่ามีเรื่องที่ต้องคิดอีกว่าตกลงแล้วเรื่องนี้เป็น “การตรวจสอบการกระทำที่กระทบสิทธิ” หรือ “การตรวจสอบการใช้อำนาจ” เนื่องจากมีความแตกต่างกันและเขามองว่าประเด็นหลังนี้ได้ถูกมองข้ามไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ทำไมสถานการณ์ตีความรัฐธรรมนูญให้เป็นง่อยว่าเป็นญัตติซ้ำ หลายคนมองข้ามเรื่องการตรวจสอบปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่กำหนดว่า ให้มีการยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ว่าการใช้อำนาจตีความของรัฐสภานั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่”

อานนท์ก็ยังมองเห็นปัญหาในทางปฏิบัติหากจะมีการยื่นด้วยมาตรา 210 (2) ด้วยเช่นกันเนื่องจากเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภาเห็นว่าการตีความข้อบังคับที่ทำให้รัฐธรรมนูญใช้การไม่ได้แล้วก็จะไม่ยอมให้เกิดมติในที่ประชุมของรัฐสภาในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยเช่นกัน เพราะในมาตรานี้ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าถ้าเกิดปัญหาในรัฐสภาจะต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภากี่คนถึงจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อไม่ได้กำหนดไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปคือมติของที่ประชุมรัฐสภา ประธานสภาไม่สามารถส่งเรื่องต่อศาลเองได้

อาจารย์นิติ มธ.มองว่าที่เกิดการใช้มาตรา 213 ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจเป็นเพราะอุปสรรคข้างต้น แต่เมื่อใช้มาตรา 213 แล้วจึงต้องคิดและพิจารณาถึงการอธิบายว่าใครเป็นผู้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพและถูกละเมิดในเรื่องอะไรด้วยเช่นกัน และเรื่องที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง

อานนท์เห็นว่าถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินที่เป็นการ “ตอกตะปูซ้ำ” ลงไปว่าการตีความว่าเป็นญัตติซ้ำของรัฐสภาชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ก็อาจจะถูก ส.ส.และ ส.ว.ที่เปิดประเด็นเรื่องเสนอชื่อพิธาเป็นการเสนอญัตติซ้ำนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาตอกย้ำในเรื่องนี้อีก

“เหนือสิ่งอื่นใด ตัวต้นเรื่อง คือ สส. กับ สว. ที่ตีความข้อบังคับทำให้รัฐธรรมนูญเป็นง่อย ใครตีความอะไรไว้ ก็ขอให้ประวัติศาสตร์ไทยจารึกครับ ท้ายสุด ผมเห็นว่า การตีความของรัฐสภาครั้งนั้นเป็นการตีความยึดอำนาจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขามาเหนือประชาชน” อานนท์ระบุ

นอกจากนั้น อาจารย์นิติ มธ.มองถึงเรื่องความพยายามตีความว่าการเสนอชื่อพิธาเพื่อให้สภาโหวตเมื่อ 19 ก.ค.เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้นเกิดจากความหวาดกลัวของ ส.ส.และส.ว.ที่เสนอเรื่องขึ้นมาว่าจะต้องเจอกับแรงกดดันจากประชาชนหากมีการเสนอชื่อพิธาเข้ามาในสภาซ้ำๆ ได้แล้วพวกเขาจะต้องตีตกหรืองดออกเสียงไปเรื่อยๆ

“อะไรที่ไม่ชอบธรรมก็อยู่ยากหน่อยนะครับในสังคมยุคนี้ และเชื่อว่า ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกปรับ รัฐสภาก็ต้องถูกปรับครับ หลังจากที่สังคมได้เห็นที่มาและผลการทำงานครับ ผมรอดูวันนั้นเสมอ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net