Skip to main content
sharethis
  • จากรายงานเชิงข่าวต้นปี 63 การตั้งคำถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเคลื่อนไหวบนท้องถนน สู่การอภิปรายในสภา การพิจารณาของกรรมาธิการพิจารณางบฯ การอธิบายตอบโต้ และการสู้กันในชั้นศาล ขณะที่อีกฝ่ายชี้บิดเบือนงบฯ สถาบันกษัตริย์ สร้างวาทกรรม ‘เงินรายปี’
  • ความเคลื่อนไหวในสภาและกรรมาธิการ รวมทั้งข้อเสนอ ‘แผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ’ ของก้าวไกลที่ไม่ถูกนำไปใช้ สส.ก้าวไกลยังประเมินว่ามีพัฒนาการจากหน่วยงาน แต่คนในสภาเองที่พยายามเซ็นเซอร์กันเอง
  • ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ปรับวิธีแจงการใช้งบ-ขอหน่วยงานอื่นเลี่ยงต่อท้ายชื่อโครงการด้วย ‘เฉลิมพระเกียรติ’
  • ขณะที่กระบวนการในศาลยุติธรรมที่มีการฟ้องคดีจากการวิพากษณ์วิจารณ์งบส่วนนี้ มีทั้งลงโทษมีทั้งยกฟ้อง เปิดมุมมองนักวิชาการนิติศาสตร์เบิกความในศาลชี้ คำว่า ‘งบสถาบันพระมหากษัตริย์’ ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรม หรือการกระทำของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ที่ได้รับความคุ้มครองตาม ม.112

3-5 ม.ค.2567 นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 67 ในวาระที่ 1 โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจตาม เอกสารงบประมาณ (เอกสารขาวคาดแดง) ที่เว็บไซต์สำนักงบประมาณเผยแพร่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.66 นั้นคือเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระบุรายละเอียดหน่วยงานสำคัญคือ ส่วนราชการในพระองค์ ปีนี้ลดลงเหลือ 8 หน้าหน้ากระดาษ และตั้งงบประมาณไว้ที่ 8,478,383,000 โดยปีที่แล้วหรืองบประมาณปี 66 นั้นมีจำนวน 9 หน้ากระดาษ เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ที่รับงบประมาณในระดับเดียวกัน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ราว 8,800 ล้านบาท แต่กลับมีรายละเอียดถึง 366 หน้ากระดาษ แม้ที่ผ่านมาจะมีความเคลื่อนไหวทั้ง สส. และนอกสภาเพื่อเรียกร้องให้ส่วนราชการในพระองค์ชี้แจ้งรายละเอียดมากกว่านี้ก็ตามทามกลางกระแสเรียกร้องปฏิรูป ‘งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘งบสถาบันฯ’ กว่า 3 ปีที่ผ่านมา

ในโอกาสก่อนที่สภาจะพิจารณางบประมาณกว่า 3.48 ล้านล้านบาท จะขอย้อนทบทวนความเคลื่อนไหวหรือวาทกรรมเกี่ยวกับ ‘งบสถาบันฯ’ ที่ผ่านมา ตั้งแต่การตรวจสอบ การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป ปฏิกิริยาจากรัฐ รวมทั้งการต่อสู้ในคำอธิบายหรือนิยามของคำๆ นี้

เปิดเมื่อ มี.ค.63

พายชาร์ตงบประมาณส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ประชาไทจัดทำและเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2563

ประชาไทเผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท” เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2563 สร้างปรากฎการณ์ที่มีผู้เข้ามาอ่านในจำนวนมาก รวมทั้งกระแสในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยในครั้งนั้นประชาไทกำชับหรืออธิบายประกอบสิ่งที่เรียกว่า ‘งบสถาบันฯ’ ไว้ว่า

“..แบ่งการใช้จ่ายงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนดังกล่าว โดยนิยามของรายจ่ายโดยตรงคือ รายจ่ายที่ใช้จ่ายกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง เช่น งบรักษาความปลอดภัย งบการเดินทาง งบพิทักษ์สถาบัน นิยามของรายจ่ายโดยอ้อมคือ รายจ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น โครงการในพระราชดำริ โครงการที่เป็นไปในลักษณะเทิดพระเกียรติ โครงการประชาสัมพันธ์  นอกจากนี้หากจะกล่าวกันอย่างเคร่งครัด ยังมีนิยามของส่วนที่สาม โครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวเนื่อง นิยามของมันคือ โครงการของหน่วยงานใดๆ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานแต่มีชื่อเกี่ยวเนื่องกับสถาบันเพื่อเทิดพระเกียรติ เช่น โครงการสร้างทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 ราย เป็นต้น...”

เดิมการเปิดเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มุ่งไปที่ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ภายหลังจากที่มี พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.60 เพื่อจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยโดยได้โอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และงบประมาณของ 5 หน่วยงานเดิม ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และกรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งที่แรกๆ ที่พูดถึงงบประมาณในส่วนนี้คือบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.60 บีบีซีไทย รายงานหัวข้อ งบประมาณ 2561: "งบส่วนราชการในพระองค์" ลด 14% กลาโหมเพิ่ม 4.2%

  • เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท https://prachatai.com/journal/2020/03/86761
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2564 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ https://prachatai.com/journal/2020/08/89306
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปี 65 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบฯ พบราว 3.57 หมื่นล้าน https://prachatai.com/journal/2021/08/94506
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปี 66 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบฯ พบราว 3.47 หมื่นล้านhttps://prachatai.com/journal/2022/08/99977

อย่างไรก็ตามงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งหมายรวมถึงองคาพยพและกลไกต่างๆ นั้น ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในส่วนราชการในพระองค์เท่านั้น หากแต่ยังอยู่ในหน่วยรับงบอื่นๆ ที่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ตามเอกสารงบประมาณอีก เช่น งบกลาง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น กระบวนการนับและเผยแพร่ผลการนับจึงเริ่มขึ้นอย่างที่กล่าวข้างต้น

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

ภายหลังจากเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับงบสถาบันในเดือนมีนาคม 2563 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ชลธิชา แจ้งเร็วและโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและชี้แจงการใช้การใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอานนท์ ระบุเหตุผลว่า เนื่องมาจากมีการถกเถียงกันว่า งบประมาณที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มาจากภาษีประชาชนหรือไม่ หลังจากนั้นตนก็ถูกเพจของกลุ่มกษัตริย์นิยมที่มาล่าแม่มด แจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตนจึงต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ภาพ อานนท์ และชลธิชา ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและชี้แจงการใช้การใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63

ข้อเรียกร้องของทนายอานนท์ที่ระบุไว้ในหนังสือ มีทั้งหมด 3 ข้อคือ ข้อแรกให้มีการชี้แจงการใช้งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีทำหนังสือถึงพระราชวังให้ชี้แจงการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเงินคงเหลือทั้งหมด

ข้อสอง ให้ขอรับเงินงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จากทุกหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนที่เกินจำเป็นและที่คงเหลือคืน เพื่อนำมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทนายอานนท์ได้ยกตัวอย่างงบลักษณะดังกล่าว เช่น งบสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทั้งในและต่างประเทศ งบส่วนราชการในพระองค์ และค่าประชาสัมพันธ์แฟชั่นของกระทรวงพาณิชย์ โดยเขาได้แนบเอกสารประกอบเป็นรายงาน “เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท" ที่จัดทำโดยประชาไท เพื่อประกอบการพิจารณา

ข้อสุดท้าย ทนายอานนท์ยังขอให้ส่งเอกสารที่ตรวจสอบแล้วแก่พนักงานสอบสวนในคดีที่เขาตกเป็นผู้ต้องหา และหากคดีต้องไปถึงชั้นศาลตนก็ขอให้พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นพยานฝ่ายจำเลยในคดีด้วย

อย่างไรก็ตามเดือนธันวาคมปีเดียวกัน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับอานนท์ โดยระบุว่า ได้ประสานส่งเรื่องให้ สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีที่ท่านได้มีหนังสือกราบเรียนนายกฯ ดังกล่าว เพื่อรับทราบข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่เเละอำนาจต่อไปเเล้ว

อานนท์ ยังปราศรัยวันที่ 3 ส.ค.63 ซึ่งมีข้อเรียกร้องหนึ่งถึงการตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

3 ส.ค.2563 อานนท์ ยังปราศรัยระหว่างกิจกรรม 'เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย' ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะครั้งแรกในช่วงการเคลื่อนไหวระลอกปี 63 ซึ่งตอนหนึ่งอานนท์ ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับงบส่วนนี้ว่า การใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นต้องถูกตรวจสอบตามระบอบ โดยการจัดกิจกรรมนี้นอกจาก อานนท์แล้ว ผู้จัดยังถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ด้วย

จากนั้นวันที่ 10 ส.ค.63 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดชุมนุมโดยใช้ชื่อกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ โดย 1 ใน 10 ข้อ ระบุว่า “ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ” จากนั้นเป็นต้นมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่ชู 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ 2. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนมีการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและวันที่ 10 พ.ย.64 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ซึ่งมีอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย

งบสถาบันฯ ในมุมของ iLaw และ Common School ที่ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่มองในเชิงสถาบัน

สำหรับรายงานเกี่ยวกับงบสถาบันฯ นั้น iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เคยนำเสนอ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 64 โดยดูย้อนหลังไปถึง 10 ปี ขณะที่ Common School ซึ่งหน่วยงานทางความคิดของคณะก้าวหน้าก็ เผยแพร่ข้อมูลในชื่อ "เผยละเอียดทุกรายการ ทุกโครงการ งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์! ยอดรวมทั้งสิ้น 36,388.74 ล้านบาท" ซึ่งระบุ ผู้ค้นและเรียบเรียงข้อมูล คือ เอกวิทย์ ทองดีวรกุล เมื่อวันที่ 22 ส.ค.65

บุณยนุช มัทธุจักร ผู้จัดทำรายงานของ iLaw อธิบายการนับงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของเธอกับประชาไทไว้เมื่อปลายปี 65 ว่า เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง อิงสถานะบุคคล และอิงกับตัวพระมหากษัตริย์ รวมถึงตัวสถาบันที่เป็นบุคคลรอบข้างว่ารูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้เขาจำเป็นต้องใช้งบประมาณอะไรบ้างเพื่อให้ดำรงอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ได้

หากแบ่งเป็นกรอบเป็น 6 ส่วนใหญ่ๆ  1. เรื่องเกี่ยวกับพระราชฐาน ที่พำนัก  2. องคาพยพที่ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึงตัวองค์กรที่ทำหน้าที่เลขาฯ อย่างสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ ก่อนตั้งส่วนราชการในพระองค์ 3. งบฯ การเสด็จพระราชดำเนิน 4. การถวายความปลอดภัย 5. งบฯ การประชาสัมพันธ์ และ 6. งบฯ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระบรมราโชบายหรือโครงการจิตอาสา 904

จุดตัดของ iLaw ในการกำหนดกรอบวิธีคิดในการนับงบสถาบันฯ คือ สถาบันได้ประโยชน์จากงบประมาณเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งประโยชน์กาจจะไม่ใช่ประโยชน์โดยตรง อาจเป็นประโยชน์รอบๆ ตัว เช่น สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกหรือมีคนถวายความปลอดภัย แต่อีกอย่างที่สำคัญคือการจะนับงบสถาบันฯต้องดูวัตถุประสงค์ในการใช้งบฯนั้นๆ ด้วย สมมติมีการตั้งสถานที่หากตั้งสถานที่แล้วมีห้อยชื่อ 'เฉลิมพระเกียรติ' ก็อาจไม่สามารถนับว่าเป็นงบฯ สถาบันได้ แม้การตั้งโดยห้อยชื่อในยุคเริ่มต้นอาจจะต้องการประชาสัมพันธ์ แต่เราก็ต้องไปดูในเนื้อนั้นด้วยว่างบฯที่ลงกับสถานที่นั้นถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์จริงๆ หรือไม่ หรือมันเป็นการใช้อย่างอื่นแต่ว่าได้มีการห้อยชื่อเฉลิมพระเกียรติเฉย เช่น รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แม้ว่าชื่อจะห้อยคำว่า "เฉลิมพระเกียรติ" มีคีย์เวิร์ด แต่งบฯก็ใช้ไปกับประชาชนที่เขามีสิทธิการรักษาในพื้นที่

อีกแบบที่ไม่ค่อยนับรวมเป็นงบฯสถาบันเท่าไหร่ คือ งบฯ เครื่องราชฯ แม้จะมองเป็นงบฯสถาบันก็ได้เพราะเป็นการสืบสารวัฒนธรรมรากเหง้าจากระบบเดิมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่ทาง iLaw ก็ไม่ได้นับ เพราะคนที่ได้ประโยชน์ปลายทางจริงๆ คือคนที่ใส่เครื่องราชฯ มากกว่า ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อยู่ ว่ามันควรนับหรือไม่ควรนับ  ส่วนโครงการในพระราชดำริที่หมายเหตุว่าไม่ได้นำมาคำนวนงบสถาบันฯ นั้น บุณยนุช กล่าวว่าเป็นเหตุผลเรื่องการทำงานมากกว่าเพื่อให้งานเสร็จทัน แต่ส่วนตัวคิดว่าหากจะนับโครงการพระราชดำริเป็นงบสถาบันฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้อยู่เช่นกัน

กราฟิกประกอบรายงานของ iLaw เผยแพร่เมื่อ 3 ม.ค. 64

กรณีที่ iLaw ทำงบสถาบันฯ นับย้อนหลังไปถึง 10 ปี นั้น นอกจากยอดที่เพิ่มขึ้นแล้ว บุณยนุช กล่าวว่า 10 ปี อาจเป็นตัวเลขที่มีข้อบกพร่องอยู่จากที่เห็นช่วง 3 รัฐบาล แต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นก็เห็นไม่ครบ สำหรับเชิงตัวเลขนั้น ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตั้งงบประมาณสถาบันฯ ค่อนข้างสูง แต่ว่าในเชิงรายละเอียดก็พบว่าในแง่หน่วยรับงบประมาณบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เช่น งบประชาสัมพันธ์หรือพีอาร์ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นภายใต้ยุครัฐบาลประยุทธ์

อีกสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรงบสถาบันฯ คือ ในรัฐบาลประยุทธ์ มีการโอนย้ายหน่วยงานอย่างสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และกรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงตำรวจราชสำนักภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ เมื่อมีการฟอร์มรูปแบบหน่วยงานใหม่ภายใต้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ทำให้เกิดงบประมาณที่ไปตั้งในหน่วยงานใหม่ซึ่งมันไม่มีในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้ และอีกอย่างเมื่อไปตั้งในหน่วยงานใหม่ก็จะมีงบประมาณบางอย่างที่ยังหลงเหลือจากหน่วยงานเดิมที่เขาโอนย้ายมา ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนในการตั้งงบประมาณกับหน่วยงานเดิม เช่น กระทรวงกลาโหมอาจจะมีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อนเรื่องการถวายความปลอดภัยทั้งที่นำกำลังพลไปส่วนราชการในพระองค์แล้ว และส่วนราชการในพระองค์ก็ควรจะรวมถึงเงินเดือนของข้าราชการที่รักษาความปลอดภัยแล้ว แต่กลับปรากฏมีงบส่วนนี้ห้อยอยู่ที่กระทรวงกลาโหมอีก ซึ่งเมื่อดูงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ที่มีการชี้แจงกับกรรมาธิการตอนพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 และ 66 พบว่างบประมาณส่วนราชการในพระองค์ประมาณ 90% เป็นเงินเดือนของข้าราชการ จึงทำให้เข้าใจได้ว่างบประมาณส่วนราชการในพระองค์ตั้งแต่งบเงินเดือน อาจจะมีส่วนอื่นบ้างแต่เล็กน้อย อาจส่งผลให้งบประมาณที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย เช่น การจัดซื้อวัสดุต่างๆ มันถึงไปห้อยที่กระทรวงกลาโหม เนื่องจากส่วนราชการในพระองค์ไม่ครอบคลุม

"ถ้าเราจะต้องรักษาพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งให้มีชีวิตอยู่ได้เพื่อเป็นประมุขของรัฐ เราต้องรักษาความปลอดภัย เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเพื่อการมีอยู่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง เพราะฉะนั้นเราควรนับงบประมาณขององคาพยพของคนที่ทำหน้าที่เหล่านั้นว่าเป็นงบสถาบันฯ มันไม่ได้หมายความว่าการนับงบสถาบันฯมันจะจบแค่ว่าเงินไปเข้ามือสถาบันฯ โดยตรง ส่วนตัวมองว่าแม้กระทั้งทำระบบบางอย่างให้สถาบันสามารถอยู่ต่อไปได้ สามารถทำงานมีกลไกขับเคลื่อนต่อไปได้มันก็ต้องนับ" บุณยนุช กล่าว

ขณะที่ เอกวิทย์ ผู้จัดทำรายงานงบสถาบันฯ ของ Common School เปิดเผยถึงกรอบในการนับงบประมาณของเขากับประชาไทไว้เมื่อปลายปี 65 เช่นกันว่า อะไรก็ตามที่ไม่มีการอ้างอิงใดๆ กับประมุขแล้วมันไม่น่าจะเกิดโครงการนั้นได้ คิดว่านี่เป็นงบสถาบันฯ ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าที่กำลังก่อสร้าง แม้ว่าไม่ได้มีชื่อโดยตรง แต่ที่มาที่ไปของพิพิธภัณฑ์นี้เกี่ยวข้องกับประมุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โครงการอาคารเฉลิมพระเกียรติหลายๆ แห่งแม้ว่าจะมีชื่อประมุขอยู่ ตนมองว่าไม่ใช่งบประมุขเพราะหลายที่มันต้องมีการก่อสร้างอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนต่างๆ ถ้าไม่ใส่ชื่อประมุข อาคารเรียนก็ได้สร้างอยู่แล้ว

ในกรณี โครงการชลประทาน “ในพระราชดำริ” อย่างไรเสียก็ต้องเป็นงบประมุข เพราะความหมายมันคือโครงการที่เป็น “นโยบาย” ของประมุข ซึ่งเปรียบเสมือนการบริหารงานโดยประมุข การอ้างว่ารัฐบาลเป็นคนบริหารโครงการนี้เองโดยรับเอานโยบายจากประมุขมาทำ อย่างไรก็ผิดหลักการประชาธิปไตย ซึ่งในบริบทประชาธิปไตยมันอธิบายไม่ได้ งบส่วนนี้จึงควรเป็นของประมุขอย่างแน่นอน เป้าหมายคือการนำนโยบายประมุขไปทำต่อ เปรียบเสมือนนักการเมืองคนหนึ่งที่ใช้นโยบายนี้หาเสียงต่อไปเรื่อยๆโดยไม่ได้ยึดโยงกับนโยบายรัฐบาลที่ประชาชนเป็นคนเลือก เนื่องจากหลักการ King can do no wrong ที่รัชกาลที่ 9 เคยพูดไว้นั่นเอง โครงการ “ในพระราชดำริ” ไม่เพียงแต่เป็นงบประมุข แต่เป็นงบที่ประมุขไม่ได้ใช้กำไรจากทรัพย์สินประมุขลงทุนเองเสียด้วยซ้ำ ซึ่งในที่สุดแล้วประมุขสามารถที่จะทำได้หากใช้เงินส่วนพระองค์ เหมือนกับที่อังกฤษมีโครงการทางสังคมของตัวเอง ก็ใช้งบประมาณของวังเอง ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีกรอบที่มากจนทำอะไรแทบไม่ได้

ส่วนอื่นๆ ก็คืองบโครงการจากแนวคิดของคนในพระราชวงศ์ ก็ควรเป็นงบประมุขเช่นกัน ในอีกนัยหนึ่งถ้าไม่มีระบบประมุขที่เป็นกษัตริย์คงไม่มีงบตรงนี้เกิดขึ้น เช่น งบเครื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ภาพที่ Common School เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.65

ผู้จัดทำรายงานงบสถาบันฯ ของ Common School ระบุด้วยว่า ในความเป็นจริง หากจากเปรียบเทียบงบประมาณกับอังกฤษ งบสถาบันฯไทยควรจะขึ้นไปถึง 5 หมื่นล้านอย่างน้อยๆ เป็นการรวมงบ สามหมื่นล้านจากงบสามล้านล้าน และงบจากกำไรทรัพย์สินพระฯอีกประมาณ สองหมื่นล้านอย่างต่ำๆ อาจจะมากกว่านี้ ไม่มีงานศึกษาแน่ชัด แต่ถ้าคิดจากทรัพย์สินที่เคยรายงานกว่า ล้านล้านบาท หากกำไรปีละ 1% ก็ได้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท สุดท้ายแล้วข้อถกเถียงเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเป็นของร้อน ว่าสรุปเป็นของส่วนพระองค์หรือเป็นของรัฐ นี่คือระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง แม้อานนท์ นำภา จะเคยนำมาอภิปรายไปแล้วก็ตาม แต่ถูกทำให้ลืมๆ ไปโดยนิติสงคราม

แม้กรอบการนับงบสถาบันฯ ของประชาไท พรรคก้าวไกล iLaw และ Common School อาจจะไม่เหมือนกัน 100% แต่ในส่วนใหญ่ก็เห็นไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะไม่ได้มองเพียงแค่ตัวบุคคลหรือกษัตริย์ แต่มองที่องคาพยพหรือกลไกและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบสร้างความเป็นสถาบันขึ้นมา

ขณะที่อีกฝ่ายชี้บิดเบือนงบฯ สถาบันกษัตริย์ สร้างวาทกรรม ‘เงินรายปี’

อย่างไรก็ตามไม่ได้มีเพียงกระแสทำความเข้าใจทรัพยากรหรือกลไกของรัฐผ่านงบประมาณส่วนนี้ไปทางเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการโต้แย้ง โดยเฉพาะ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า และยังเป็นหนึ่งในคณาจารย์สถาบันทิศทางไทย ออกมาเขียนบทความโต้ รวมทั้งรวมเล่มเป็นหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ ที่จัดเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค.65 ในงานดังกล่าว อานนท์ กล่าวว่า งบประมาณถูกหยิบยกขึ้นมา เนื่องจากง่ายที่จะทำให้คนผิดใจกัน ดังนั้น จึงมีความพยายามใส่ไฟ และบิดเบือน เรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ คือ ‘เงินรายปี’

นักวิชาการนิด้า แย้งว่าเขาไม่เคยได้ยินคำว่า “เงินรายปี” เพราะในประเทศไทยปกติจะมีคำว่า “เงินปี” หรือเป็นเงินที่รัฐบาลถวายให้องค์พระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว และพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีต่างประเทศก็มีเหมือนกันอย่างในประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่น และเงินปีส่วนนี้ไม่ได้จำนวนมาก นอกจากนี้ จะยังมีงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ด้วย

มีคนที่พยายามเอางบประมาณส่วนราชการในพระองค์ภายใต้สำนักพระราชวัง สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มารวมกัน ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานมีบุคลากรจำนวนราว 14,000 คน และมาเรียกงบฯ ทั้งหมดว่า “เงินรายปี” และมีการนำมาตีความว่าเป็น “เงินปี” ซึ่งเป็นเงินที่ในหลวงใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งอานนท์ มองว่า ‘เงินปี’ และงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ฯ สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ เป็นงบฯ คนละส่วน ต้องมองแยกกัน

ภาพ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (ขวา) ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ ที่เขาเป็นผู้เขียน เมื่อวันที่ 13 ต.ค.65

“อันหนึ่งเป็นเรื่องใช้ส่วนพระองค์ คือ เงินปี ส่วนเงินงบประมาณประจำปี เป็นเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน กับราชการส่วนพระองค์ มาประดิษฐ์คำใหม่ว่า ‘เงินรายปี’ ให้คนงงเล่นๆ ใช้วิธีการในการโกหกได้ง่ายที่สุดคือการประดิษฐ์คำพูดใหม่” อานนท์ กล่าว

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุว่าในความเป็นจริง พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่เคยรับเงินปีที่รัฐบาลถวาย และพระราชทานคืน ‘กรมบัญชีกลาง’ ทั้งหมด และเงินในส่วนที่ถวายให้พระบรมวงศานุวงษ์ ในหลวงใช้เงินส่วนพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่รัฐบาลถวาย

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2563 ทางรัฐบาลมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก ไปเป็นหน่วยบัญชาการความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทำให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างกองทัพส่วนพระองค์

อานนท์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า นี่เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของทุกประเทศต้องได้รับการคุ้มครอง อย่างในสหรัฐฯ การดูแลความปลอดภัยของประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปีหนึ่งใช้งบฯ ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท และมีคนในหน่วยงานหลายหมื่นคน

อานนท์ ระบุว่า เป็นการโอนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 8,000 รายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เยอะมากพอจะไปตั้งเป็นกองทัพส่วนพระองค์ตามที่ถูกกล่าวอ้าง และเป็นคนเดิมที่ถวายงานอารักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว และการโอนอัตรากำลังพลครั้งนี้ โอนมาแค่กำลังพล และไม่มีการโอนอาวุธยุทโธปกรณ์มาด้วย

นักวิชาการสถิติศาสตร์ ระบุว่า ตามประวัติศาสตร์ กองพันทหาร ราบ 1 และราบ 11 แต่เดิมเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย 2475 คณะราษฎรกังวลว่า พระเจ้าแผ่นดินจะมีทหารรักษาความปลอดภัยในมือ ก็มีการโอนทหารไปขึ้นอยู้กับกองทัพบก สุดท้ายก็แค่โอนกลับไปอยู่ทางพระราชวังเหมือนเดิม เป็นกองบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ความเคลื่อนไหวในสภาและกรรมาธิการ รวมทั้งข้อเสนอ ‘แผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ’ ของก้าวไกลที่ไม่ถูกนำไปใช้

อีกด้านคือการอภิปรายงบประมาณในสภาโดยเฉพาะบทบาทของ สส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ เริ่มจาก 20 ส.ค. 63 ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นการพิจารณางบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. ซึ่งเป็นสัดส่วนพรรคก้าวไกล ร่วมซักถามโดยขอให้สำนักงบประมาณช่วยชี้แจงว่า ทำไมงบประมาณส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นในอัตราสูงมาก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงบฯ ชี้แจงว่า ที่วงเงินเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากรของหน่วยงานที่รับโอนมาตาม พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ด้วย

ภาพ เบญจา แสงจันทร์ ขณะอภิปราย งบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64

ขณะที่ในสภาวันที่ 1 มิ.ย.64 ระหว่างประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 นั้น เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อพูดถึงการกำหนดวงเงินของหน่วยงานรับงบประมาณต่างๆ ที่ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่อย่างน้อยๆ 33,712,000,000 บาท (สามหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสิบสองล้านบาท) เป็นรายการตามที่แสดงเป็นชื่อโครงการในเอกสารงบประมาณ ยังไม่ได้รวมงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจซ่อนอยู่ในหมวดหมู่โครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออื่นๆ ในจำนวนนี้แบ่งงบออกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1. งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์  2. งบถวายความปลอดภัย 3. งบส่วนราชการในพระองค์  4. งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่าง ๆ  5. งบอื่น ๆ เช่น พระราชทานเพลิงศพ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

“ต้องย้ำก่อนว่า เงินจำนวนสามหมื่นกว่าล้านนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นคือผลผลิตของการตั้งงบประมาณ และประสิทธิภาพของโครงการที่ควรจะมีการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดนั้นตกเป็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด19 เช่นนี้” ความตอนหนึ่งที่ เบญจา อภิปรายในครั้งนั้น

ในครั้งนั้น เบญจา ยังเสนอให้มีการตั้งแผนบูรณาการแผนใหม่ คือแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้สำนักงาน กปร. เป็นแม่งานในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อ ‘อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ และ ‘โครงการหลวง’ ทั้งหมด โดยสาเหตุที่ต้องทำให้อยู่ในรูปแบบของแผนบูรณาการนั้น มี 3 ประการ

หนึ่ง เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน ไม่ปล่อยให้หลายหน่วยงานเข้ามารุมทำแค่เพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง ที่อาจไม่ใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานนั้น ๆ

สอง เพื่อให้สำนักงาน กปร. สามารถจัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของแต่ละโครงการได้ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

สาม คือเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี แอบอ้างนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเกราะกำบัง อันจะส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ได้

สส.พรรคก้าวไกล ยืนยันด้วยว่า การรวมงบประมาณเข้าด้วยกันเป็นแผนบูรณาการ จะทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดข่าวลือผิดๆ ที่อาจทำให้พระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตามภายหลัง เบญจา เสนองบบูรณาการไปนั้น ประชาไทได้สอบถามถึงความคืบหน้าไปเมื่อปลายปี 2565 เบญจา กล่าวว่า ตามข้อเสนอนั้นเราอยากให้ตั้งแผนบูรณาการแผนใหม่ขึ้นมาเลยในเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เลย เช่น โครงการตามพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการหลวง ฯลฯ เพราะตอนนี้โครงการเหล่านี้ไปอยู่ในทุกกระทรวงหมดแล้ว และเราก็ชี้แจงเขาไป แต่ในปีล่าสุดดูเงียบ แม้เราจะมีการถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้เป็นแม่งานในการดูแล จัดลำดับความสำคัญโครงการที่ใช้ชื่อว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการหลวง ทางเขาก็แจงต่อกรรมาธิการว่าส่วนนี้เป็นเหมือนการได้รับตามพระราชอัธยาศัยด้วยส่วนหนึ่งและคงต้องไปขอรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานก่อน และก็บอกด้วยว่ายังไม่สามาถทำได้ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งเราขอโครงการลักษณะนี้ที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ให้รวมเป็นข้อมูลเดียวได้ไหม เขาก็ชี้แจงกลับมาว่าอาจเป็นไปได้ยาก การตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็นอีกหน่วยงานเพื่อเป็นแผนบูรณาการเลยก็ต้องมีงบประมาณ งบบุคลากร เพิ่มขึ้น เขาจึงยังมีความกังวลในส่วนนี้

สำหรับปฏิกิริยาของ สส. พรรคการเมืองอื่นต่อข้อเสนอนี้นั้น เบญจา เคยเปิดเผยกับประชาไทด้วยว่า หลังจากอภิปรายจบไปเสียงตอบรับดีมาก 60% ขึ้นที่เดินมาบอกเราว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เราอภิปราย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาก็เป็นความผิดปกตินี้ แต่ว่าตัวเองก็ไม่กล้าที่จะพูดถึง เขาก็ชื่นชมการทำงานของพรรคก้าวไกล แต่ว่าก็อยากให้รักษาสิ่งที่ทำอยู่ในระดับแบบนี้ต่อไป คงคิดว่าเป็นตอบรับที่ดี รวมทั้ง สว. เองก็เดินเข้ามาแนะนำตัวต่อเราและบอกกับเราว่าได้ดูการอภิปรายงบสถาบันและชื่นชม รวมทั้งยินดีที่สภามีการอภิปรายเรื่องเหล่านี้ จึงรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่มี สว. มาแสดงปฏิกิริยาลักษณะนี้

“นี่คือการคืนความปกติดให้กับสภาไทยและให้การพูดถึงสถาบันเป็นเรื่องปกติเหมือนเฉกเช่นสภาในอดีต หลัง 2475 ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เราก็คิดว่ามันเป็นการคืนความปกติให้กับสภาเหมือนกับอดีต ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” เบญจา กล่าว

แต่อย่างไรก็ตามจนปัจจุบันยังไม่มีการนำข้อเสนอของเบญจาไปใช้ ขณะที่ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 21 ส.ค.64 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระ 2 และ 3 นั้น สส.พรรคก้าวไกล 4 คน ประกอบด้วย เบญจา, รังสิมันต์ โรม, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ และสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา  ขอแปรญัตติให้ตัดงบส่วนราชการในพระองค์ แต่มติที่ประชุมซึ่งมีจำนวนผู้ลงมติ 392 รายเห็นด้วย 337 ราย ไม่เห็นด้วย 47 ราย งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 5 ราย สรุปส่วนนี้เป็นไปตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ตั้งไว้

ตั้งใจจะอภิปรายปีแรกที่เป็น สส. กับข้ออ้างเรื่อง ‘ประเพณีสืบทอดต่อกันมา’

เมื่อปลายปี 2565 ประชาไทยังได้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมกับ เบญจา ถึงเหตุผลที่อภิปรายงบฯ ส่วนนี้ โดย เบญจา กล่าวว่า จริงๆ เราตั้งใจจะอภิปรายปีแรกที่เป็น สส. ซึ่งเราเห็นความผิดปกติ แม้ไม่ใช้กรรมาธิการพิจารณางบประมาณ แต่ในการออกกฎหมายหรือร่างกฏหมายมาใช้เราจะเห็น แม้แต่ข้อบังคับหรือร่างกฎหมายที่พอจะพูดถึงพระมหากษัตริย์ก็จะมีข้อกำหนดมีอะไรที่เป็นรายละเอียดยิบย่อยที่ห้ามพูดถึง แม้แต่ข้อบังคับในสภาเมื่อเราพูดถึง ตอนที่พิจารณาข้อบังคับกันก็จะมีการแจ้งเลยว่าห้ามพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น มันจึงเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นที่เป็นคำถามถึงว่าอะไรที่เรียกว่า “ไม่จำเป็น” อย่างเช่นหากเราพิจารณารัฐธรรมนูญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เองมีสถานะเป็นสถาบันและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรที่จะพูดถึงได้และจำเป็นที่จะต้องพูดถึง แต่สุดท้ายก็ถูกห้ามไม่ให้พูด หรือเมื่อเวลาที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือแม้แต่การอภิปรายทั่วไปสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์หรือองค์พระมหากษัตริย์ แต่เราก็จะเห็นในทุกๆ ครั้งที่มีการประท้วง หรือประธานสภาก็จะปิดไมค์ ไม่อนุญาตให้ใช้สไลด์ที่เกี่ยวข้อง เราก็เลยมีการตั้งคำถามตั้งแต่ปีแรกที่เป็น ส.ส. หากจำได้ตอนนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็มีการอภิปราย พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก ก็เป็นประเด็นและทำให้เราได้พูดคุยกันในทีมและพรรคว่าทำไมต้องมีอะไรที่ต้องละเว้นเมื่อพูดอภิปรายในสภา แม้แต่การตรวจสอบงบฯ ที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และมีหน้าที่ที่จะตรวจสอบการทำงานของทั้งฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่ขอจัดสรรงบฯจากสภาโดยงบฯเหล่านี้ก็มาจากประชาชน แล้วเราในฐานะ ส.ส.มีหน้าที่ตรวจสอบงบฯ เหล่านั้นตามระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมเรากลับไม่ได้รับความร่วมมือจากในสภาเองหรือจากเจ้าหน้าที่สภา

ตอนปีแรกที่เราเข้าไป เราก็ดูเหมือนตัวแปลกปลอมที่เมื่อเราตั้งคำถามแล้วทุกคนก็มไม่กล้าพูดกับเราประเด็นพวกนี้ พอเป็นแบบนี้หลายๆ ครั้งเข้า ก็รู้สึกว่านี่ล่ะมันคือการปิดกั้น และเป็นเหมือนเป็นอะไรที่ปิดปากพวกเรา เราก็มาหารือกันในพรรค สรุปแล้วก็เป็นปีต่อมาที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มานั่งเป็น กมธ.พิจารณางบฯ ชุดสามัญ และ ธนาธร ได้พูดถึงประเด็นพวกนี้ จะได้เห็นว่าตอนที่ธนาธรพูดในกมธ.งบ ก็จะถูกกีดกันและปิดกั้น เช่น ปิดไลฟ์ และ กมธ.ในพรรคก้าวไกลก็ถูกปิดกั้นไม่ให้พูดถึงหรือพูดถึงได้ก็น้อยมาก ส.ส.จากพรรคอื่นก็มีความกังวลและห้ามพูด

และในปีแรกนั้นเอง ตอนพิจารณางบฯ ก็มีเอกสารในการแปรญัตติเพื่อปรับลด แต่ในเอกสารแปรญัตติเพื่อปรับลดงบฯ ในปีนั้นมีตนคนเดียวที่แปรปรับลดงบฯ ส่วนราชการในพระองค์ ในปีแรกเลย แม้จะไม่ได้อภิปราย แต่เราแปรญัตติประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่ก็ติดต่อกลับมาเลยแล้วถามว่าตนแปรญัตติผิดหรือเปล่า ซึ่งเราก็ยืนยันว่าไม่ได้ผิด โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ามาตรานี้ มาตรา 36 เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เคยมีใครแปรญัตติมาตรานี้เลย ไม่เคยมีใครปรับลด จึงถามว่าตนใส่ผิดหรือไม่ เพื่อจะแก้ไขให้ ตนก็ยืนยันว่าไม่ได้ผิดเนื่องจากเราดูตัวเลขแล้วมันไม่สมเหตุสมผล เมื่อย้อนกลับไปดูของปี 61 และ 60 จีงเห็นความผิดปกติของตัวงบฯ ที่เพิ่มขึ้น เราก็ทราบกันดีว่าในปีนั้นเดือน ต.ค. ก็มี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก เราก็เห็นความผิดปกตินี้ ตัวเลขมันก็เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่มันโอนกำลังพลไปแล้วงบฯก็ควรถูกจัดสรรออกไป ตัวที่เป็นส่วนราชการในพระองค์สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่แปลกใจ แต่ในส่วนงบฯ ส่วนอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของสถาบันฯ กลับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จึงมองว่าไม่สมเหตุสมผลทำให้แปรญัตติไป ทำให้เจ้าหน้าที่ก็บอกกับตนว่าไม่เคยมี ส.ส.คนใดที่แปรญัตติปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ จึงขอความร่วมมือเพราะว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่กล้าให้เราแปรไปจริงๆ เนื่องจากไม่เคยมีใครแปร

เบญจา กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรบ้างกับเรื่องนี้หากเรามีการแปรญัตตินี้ เจ้าหน้าที่ก็ชี้แจงโดยใช้คำนี้ว่า “มันเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาในการไม่ปรับลดงบประมาณ” ซึ่งตอนนั้นตนก็ไม่เข้าใจว่าประเพณีสืบทอดต่อกันมามันเกี่ยวข้องอะไรกับ ส.ส.ในการทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ จึงมีการถกเถียงกันพักหนึ่งจนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ขอความร่วมมือ รวมทั้งแจ้งว่าแม้ปรับลดไปก็ไม่สามารถอภิปรายเพราะทางสภาก็น่าจะไม่ให้อภิปรายมาตรานี้ จึงเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่เราเห็นว่ามันมีความผิดปกติ และทำไมงบเหล่านี้จะตรวจสอบไม่ได้หรืออภิปรายพูดถึงไม่ได้จึงเป็นจุดกำเนิดและเหตุผลแรกๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเราจะต้องพูดถึงงบ เพราะเมื่อมันเป็นแบบนี้มันก็มีความเสี่ยงที่หน่วยงานรับงบเอาไปใช้ในทางที่ถูกต้องหรือไม่ โดยที่หน่วยงานไม่ต้องชี้แจงอะไรเลย เมื่อเป็นมาตรานี้เราก็สังเกตใน กมธ.งบ ที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไปเลยโดยไม่มีการชี้แจง สำนักงบฯ ชี้แจงว่าเอาไปใช้เพื่ออะไร เพื่อสนับสนุนกิจการสถาบันกษัตริย์แล้วก็ผ่านไปเลย นี่เป็นเหตุการณ์ในปีแรก เมื่อถึงปีที่ 2 เราก็เลยคิดว่าจะทำให้สถานการณ์ในสภาเป็นสถานการณ์ตรวจสอบงบฯ ได้ปกติ ต้องไม่มีลักษณะที่ว่าเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาว่าควรห้ามแปรญัตติปรับลดงบประมาณในมาตราใด ตอนนั้นมีคำพูดถึงขนาดว่า “แม้แต่บาทเดียวปรับลดลงไม่ได้เลย” จึงรู้สึกว่าต้องปรับงบประมาณในส่วนนี้เพื่อให้นำไปใช้อย่างเปิดเผยโปร่งใสและตรวจสอบได้

‘ส่วนราชการในพระองค์’ ปรับวิธีแจงการใช้งบ-ขอหน่วยงานอื่นเลี่ยงต่อท้ายชื่อโครงการด้วย ‘เฉลิมพระเกียรติ’

ขณะที่กระบวนการในชั้นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณนั้น 14 ก.ค. 65 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้นโพสต์ผ่านแฟนเพจของตัวเอง 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ถึงความก้าวหน้าของ “ส่วนราชการในพระองค์” ในการชี้แจงระหว่างการพิจารณางบประมาณประจำปี 2566 โดยเขาได้ระบุถึงความก้าวหน้าทั้งในกระบวนการชี้แจงและเนื้อหา ส่วนราชการในพระองค์ปรับกระบวนการชี้แจงการใช้งบทั้งเพิ่มรายละเอียดข้อมูลการใช้และบุคลากรของแต่ละสำนัก อีกทั้งยังขอให้หน่วยงานราชการเลี่ยงการเติม “เฉลิมพระเกียรติ” ท้ายโครงการ ชี้ว่าการชี้แจงดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ หวังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา

พิธา ระบุความก้าวหน้าขึ้นในส่วนกระบวนการครั้งนี้มีการปรับใน 3 เรื่องคือ

1. มีแจกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้กับ กมธ. งบฯ (แม้จะมีเพียง 3 หน้า ที่เป็นข้อมูลใหม่)

2. มีวิดีทัศน์ความยาว 5 นาที เพื่อให้ข้อมูลและแจกจายรายละเอียด รวมถึงจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก

3. มีการมอบหมาย เลขาฯ ครม. มาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณและตอบคำถามคณะกรรมาธิการ

พิธายังระบุอีกว่า กมธ.สังกัดพรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในได้เล่าให้เขาฟังว่า เมื่อถามตรงนี้ไป เลขา ครม.ในฐานะผู้ชี้แจง ได้ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า "ขอให้หน่วยงานต่างๆ หลีกเลี่ยงคำว่า ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ในการจัดทำโครงการ โดยเฉพาะบางหน่วยงานที่มักใช้ต่อท้ายชื่อโครงการและรายการต่างๆ"

ภาพจากสารบัญเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระบุรายละเอียดหน่วยงานสำคัญคือ ส่วนราชการในพระองค์ ปีนี้ลดลงเหลือ 8 หน้าหน้ากระดาษ และตั้งงบประมาณไว้ที่ 8,478,383,000 โดยปีที่แล้วหรืองบประมาณปี 66 นั้นมีจำนวน 9 หน้ากระดาษ เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ที่รับงบประมาณในระดับเดียวกัน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ราว 8,800 ล้านบาท แต่กลับมีรายละเอียดถึง 366 หน้ากระดาษ 

มีพัฒนาการจากหน่วยงาน แต่คนในสภาเองที่พยายามเซ็นเซอร์กันเอง

ขณะที่ เบญจา สส.ก้าวไกล กล่าวว่า กรรมาธิการงบประมาณเมื่อเราพูดถึง เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ไปขอตั้งงบประมาณในทุกหน่วยงานที่เป็นกองทัพ และปีที่ผ่านมาๆ เมื่อดูย้อนกลับไป ก็มีการตั้งงบประมาณในลักษณะนี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าให้เราได้เห็น ผลสัมฤทธิ์ของงานเอกสารในการชี้แจงแทบไม่มี แต่ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างหนึ่งคือมีเอกสารเข้ามาชี้แจงถึงแม้ว่าจะน้อยมาก แต่ก็ถือว่ามีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น หรืออย่าง โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อภิปรายในสภาเมื่อปี 2564 เมื่อปีล่าสุดก็มีเอกสารเพิ่มมากขึ้นและเขาก็พยายามกำชับหน่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เป็นการกำชับต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่มีการตรวจสอบ รวมทั้งชี้แจงเหตุผลที่โครงการนี้ผ่านมา 10 ปีแล้วเหตุใดถึงยังไม่เสร็จ ซึ่งเกินจากสัญญา

“แม้การชี้แจงจะไม่สิ้นกระบวนสงสัย ก็ยังถือว่ามีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม” เบญจา กล่าว พร้อมระบุด้วยว่าแม้แต่โครงการที่มีนามสกุลต่อท้ายอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับพระราชดำริทางหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง เลขาสำนักนายกรัฐมนตรีก็มีหน่วยงานในพระองค์ก็มีฝากประเด็นนี้มาเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณเป็นผู้ชี้แจง แต่ปีล่าสุดนั้นสำนักเลขาเขามาชี้แจงโดยที่อ้างถึงว่าหน่วยงานในพระองค์คอมเมนท์ว่าต่อไปอาจจะให้ลดการใช้คำว่าโครงการเทิดทูน โครงการเทิดพระเกียรติ และโครงการตามพระราชดำริ เป็นการชี้แจงจากหน่วยงาน แต่ไม่ได้บอกว่ากระบวนการจะลดลงอย่างไร เมื่อชี้แจงลักษณะนี้ก็ดีในส่วนของกรรมาธิการเมื่อมีหน่วยงานเขามาชี้แจงก็จะใช้คำพูดของสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่เข้ามาชี้แจงนี้ในการชี้แจงต่อให้กับหน่วยงานรับงบประมาณทราบว่ามันมีคอมเมนท์แบบนี้จากหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์มา ดังนั้นการใช้ชื่อต่อท้ายในโครงดารเหล่านั้นต้องมีความระมัดระวัง จึงมองว่าเป็นส่วนพัฒนาการที่ดีขึ้น

ในส่วนที่เป็นพัฒนาการในมุมลบหลังจากกระบวนการตรวจสอบงบประมาณในส่วนนี้นั้น เบญจา กล่าวว่า เราอาจยังเห็น สส. ที่อาจจะไม่ได้ปรับตัวตามหน่วยงานเหล่านี้ เพราะสุดท้ายเมื่อหน่วยงานเหล่านั้นเข้ามาชี้แจงแล้ว แต่กลับเป็นตัว สส.และกรรมาธิการเองก็จะยังมีความกังวลในส่วนนี้อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเรามีการอภิปรายในงบประมาณส่วนนี้ก็จะพยายามปิดจบและให้ผ่านไปโดยเร็ว ไม่อย่างให้เราพูดถึง สุดท้ายกลายเป็นคนในสภาเองที่พยายามปิดกั้น หรือแม้แต่การไลฟ์สดออกมาด้านนอกเพื่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เขามาชี้แจงก็ไม่เปิดโอกาสให้ใช้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยันโดยหลักการและเหตุผลที่จะสนับสนุนในการพูดถึงเรื่องเหล่านั้น

อย่างไรก็ตามในส่วนเอกสารชี้แจงที่ส่วนราชการในพระองค์ก็ยังไม่ถึง 10 หน้า โดย เบญจา ยืนยันด้วยว่าสุดท้ายก็ยังไม่มีอะไร  เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นที่ใช้งบประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท เล่มชี้แจงจะต้องมีรายจ่ายที่ใช้และรายละเอียด รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ แม้แต่เงินเดือนก็ระบุรายละเอียด

สำหรับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช/พรรณไม้หายากในสมเด็จพระเทพฯ โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี  และ โครงการ TO BE NUMBER ONE ที่งบกระจายเป็นงบอุดหนุนไปตามหน่วยงานต่างๆ นั้น เมื่อหน่วนรับงบประมาณเข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการมีการชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของโครงการโดยรวมหรือไม่นั้น เบญจา กล่าวว่า นี่เป็นข้อสังเกตหนึ่งเหมือนกันว่าไม่มีเอกสารผลสัมฤทธิ์มาให้ดู แม้เราจะพยายามขอทุกปี แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เอกสารในส่วนนี้ และเมื่อเป็นโครงการที่มีนามสกุลต่อท้ายก็จะไม่มีรายละเอียด

“สมมติว่าในกรรมาธิการมีอยู่ประมาณ 10 คน แล้วกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมีอยู่ 2 คน [อีก] 8 คน ก็จะบอกว่า ไม่เป็นไร นั้นนำไปใช้เทิดพระเกียรติก็ปล่อยผ่านไป เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้เราโหวตอย่างไรเราก็แพ้ คือ มันสามารถโหวตได้เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม หรือเสนอเป็นญัตติว่าขอให้มีการนำเอกสารผลสัมฤทธิ์หรือเอกสารอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณากด้วย ถ้าไม่มีเราก็ไม่สามารถที่จะปล่อยให้งบประมาณตรงนี้ผ่านไปได้ แต่ว่านี่เองสุดท้ายมันก็ทำให้เราไม่สามารโหวตผ่านได้ด้วยเสียงที่เราอาจจะมีน้อยกว่า การสนับสนุนจากเพื่อน สส. ด้วยกันอาจจะน้อยมากจริงๆ พอใช้คำพูดแบบนี้ทุกคนมีความกังวล พอมีนามสกุลทุกคนก็จะปล่อยผ่านในทันที” เบญจา กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า หากเป็นหน่วนงานปกติทั่วไปแล้ว เอกสารเหล่านี้ก็ขอได้หมด แต่โครงการลักษณะนี้จะขอไม่ได้

สำหรับส่วนราชการในพระองค์นั้น เบญจากล่าวว่า ไม่ได้มาชี้แจง ปีก่อนเป็นสำนักงบประมาณชี้แจงและอธิบายแทน ส่วนปีล่าสุดมีความพิเศษคือสำนักเลขาธิการนายกฯ มาชี้แจง และอ้างถึงส่วนราชการในพระองค์ด้วยว่ามีคอมเมนท์มาว่าการจะใช้ชื่อโครงการพระราชดำริต่อท้ายนั้นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเป็นการชี้แจงปากเปล่า ขณะที่หน่วยงานอื่นที่รับงบประมาณนั้นก็จะเข้ามาชี้แจงเอง

ในชั้นศาลมีทั้งลงโทษมีทั้งยกฟ้อง

นอกจากการโต้แย้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สภา หรือกรรมาธิการ จนถึงศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มี 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มี 1 ใน 10 ข้อพูดถึงการปฏิรูปงบสถาบันนั้นเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ยังมีกระบวนการต่อสู้ในศาลยุติธรรมผ่านการดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับงบสถาบันฯ ด้วย ม.112 หรือกฎหมายหมมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยจะยก 3 คดีที่น่าสนใจ ซึ่ง 1 คดีศาลลงโทษ ขณะที่อีก 2 คดีศาลยกฟ้อง

คดีแรกที่มีผู้โพสต์ประเด็นเกี่ยวข้องกับ ‘งบสถาบัน’ นั้น คือคดีของ 'มีชัย' เกษตรกรวัย 51 ปี จากจันทบุรี ถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 2 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ โดยคดีนี้ 27 ก.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้ มีชัยถูกอัยการฟ้องรวมเป็นสองกรรม ได้แก่

  • กรรมแรก จากข้อความ “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย”
  • กรรมสอง จากข้อความ “ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ 2-3 หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช.”

ทั้งสองกรรมเป็นข้อความที่โพสต์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษเขาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 (ตามรายงานของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ) ระบุไว้น่าสนใจถึงนิยาม ‘งบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์’ ในความเห็นของศาลระบุว่า  งบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนั้น ไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัวเสียทั้งหมด แต่ได้มีการกระจายไปที่หลายหน่วยงาน กระทรวงต่างๆ และมีกสรดำเนินโครงการในพระราชดำริฯ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในสื่อทั่วไป ก็ได้มีการรายงานว่า พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานรถเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาด ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงเป็นข้อความเท็จ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทำพระราชกรณียกิจและพระราชทานเงินบริจาคแก่ประชาชน

แม้ว่าตัวมีชัย ยืนยันว่า ตนเองเพียงพูดเจาะจงไปที่งบสถาบันฯ ไม่ได้เจาะจงไปที่ตัวบุคคลไหน และได้ศึกษาเรื่องกฎหมาย มาตรา 112 มาบ้างว่าข้อความไหนเข้าข่ายไม่เข้าข่าย จึงระมัดระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด ข้อความที่โพสต์ไปก็คิดว่าเนื้อความไม่ได้เป็นการให้ร้าย อาฆาตมุ่งร้ายต่อสถาบันฯ หรือองค์รัชทายาท แต่ศาลได้พิจารณาออกมาอย่างนี้ ก็ค่อนข้างแปลกใจ พร้อมทั้งยืนยันเจตนาของตนว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต

  • ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก "มีชัย" 2 ปี 8 เดือนคดีม.112 กรณีโพสต์ตั้งคำถามการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ ศาลสมุทรปราการยังให้ประกัน https://prachatai.com/journal/2023/09/106097
  • ศาลจังหวัดเชียงราย พิพากษายกฟ้อง 'สุปรียา' คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ถูกกล่าวหาว่าวางป้ายผ้าปรากฏข้อความ "งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน" เห็นว่าวิจารณ์งบฯ แผ่นดิน ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112 https://prachatai.com/journal/2023/12/107416
  • ศาลจังหวัดลำปางพิพากษา ยกฟ้อง 5 นักศึกษาและประชาชน ข้อหา ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ คดีแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” เห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษปรับ 5,000 บาท 1 คน ข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด  https://prachatai.com/journal/2023/01/102544

ภาพการแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 63 ซึ่งเป็นเหตุที่มีการฟ้องร้องคดี (ที่มาภาพ เพจพิราบขาวเพื่อมวลชน)

อย่างไรก็ตามมีอีก 2 คดีที่แสดงออกเกี่ยวกับ ‘งบสถาบัน’ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีแรกเมื่อวันที่ 31 ม.ค.66 ศาลจังหวัดลำปางพิพากษายกฟ้องคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยศาลเห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษปรับเฉพาะจำเลยที่ 1 ข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด ปรับ 5,000 บาท

อีกคดีที่ยกฟ้องซึ่งเป็นการแสดงออกในลักษณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.66 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง สุปรียา ใจแก้ว อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย และทีมงานพรรคเพื่อไทย ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน" บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564

โดยในคดีดังกล่าว ศาลเห็นว่า ใจความของข้อความคำว่า "งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน" เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณแผ่นดิน ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการจัดการงบประมาณแผ่นดินนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นการใส่ความหรือให้ร้ายพระมหากษัตริย์

แม้จะมีพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทนายความ จะเบิกความว่าข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้เงินฟุ่มเฟือยมากกว่างบประมาณที่ใช้สำหรับดูแลประชาชน หรือข้อความตามป้ายดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณมากกว่างบเยียวยาประชาชน รวมทั้งเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด

แต่ก็มีพยานโจทก์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์บางส่วนให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นเป็นความผิด โดยงบสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งการตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ พยานโจทก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ยังเบิกความให้ความเห็นว่า การตีความถ้อยคำขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของแต่ละบุคคล เมื่อไม่ได้ติดตามการเมือง จึงไม่เข้าใจว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงอะไร

ศาลจึงเห็นได้ว่าพยานโจทก์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นว่าเป็นความผิด กับไม่เป็นความผิด ซึ่งการตีความจะต้องพิจารณาจากภาวะวิสัย ไม่ใช่พิจารณาลงโทษจำเลยตามอัตวิสัยตามความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล จึงยังไม่เพียงพอฟังได้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112

นักวิชาการนิติศาสตร์เบิกความในศาลชี้ คำว่า ‘งบสถาบันพระมหากษัตริย์’ ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรม หรือการกระทำของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ที่ได้รับความคุ้มครองตาม ม.112

นอกจากนี้ในคดีที่ลำปางข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ฝ่ายจำเลยได้นำพยานขึ้นเบิกความผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดย สาวตรี สุขศรี รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งความตอนหนึ่งที่ศูนย์ทนายความฯ ได้สรุปไว้ สาวตรี ชี้ว่า คำว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่หมายถึง งบประมาณแผ่นดินรายการหนึ่งที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีฯ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยงบสถาบันพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายฉบับนี้ จะมีทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณโดยตรงที่จัดสรรให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้ในกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์เอง และงบประมาณโดยอ้อม คือ งบประมาณที่แฝงอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งระบุว่าเป็นงบประมาณที่จะนำไปใช้ในกิจการเพื่อสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ได้ใช้งบประมาณทางอ้อมนี้เอง หากแต่กระทรวง ทบวง กรมที่เสนอจะเป็นผู้ใช้

เช่นนี้จึงย่อมชัดเจนว่า คำว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรม หรือการกระทำของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งใน 4 ตำแหน่ง กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 แต่อย่างใดเลย การกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งด่าทอ “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ย่อมเป็นการกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าทอการทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการเสนองบประมาณดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเท่านั้น อันเป็นเรื่องปกติวิสัยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีพึงกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย หากประชาชนเห็นว่างบประมาณรายการใดรายการหนึ่ง หรือหลายรายการที่รัฐบาลเสนอขึ้นไปนั้นไม่เหมาะสม หรือมากเกินไป ไม่แตกต่างจากกรณีที่เคยมีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีของพวกเขาไปซื้อเรือดำน้ำ แทนที่จะเอาไปใช้เพื่อการอย่างอื่นที่จำเป็นกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งสามารถจัดทำโดย “อิสระ” เมื่อพิจารณาตามเหตุผลความจำเป็นที่กระทรวง ทบวง กรม นำเสนอขึ้นมาให้พิจารณาในแต่ละปี รัฐบาลไม่ได้ทำงานภายใต้คำสั่งการ หรือความต้องการของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ

การที่โจทก์ผู้ฟ้องคดีตีความว่า เมื่อจำเลยกล่าวถึง “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เท่ากับ หรือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยกำลังวิพากษ์วิจารณ์ หรือต่อว่าพระมหากษัตริย์ด้วย จึงเป็นการตีความที่เกินเลย และแสดงให้เห็นว่า โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีขาดความเข้าใจอย่างมากในเรื่องการเสนองบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังคิดเอาเองด้วยว่า “พระมหากษัตริย์คือผู้สั่งการให้รัฐบาลกำหนดงบสถาบันพระมหากษัตริย์ตามใจชอบ” ซึ่งไม่เป็นความจริง และความคิดลักษณะนี้ของโจทก์เองย่อมไม่เป็นประโยชน์ หรือสะท้อนว่าเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ดังกล่าวมาแล้วว่าคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” นั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ถูกบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น การตีความแบบขยายความออกไปจนเกินเลยไปกว่าถ้อยคำและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีองค์ประกอบกว้างขวาง ครอบคลุมตำแหน่งและหน่วยงานจำนวนมาก ทั้งไม่อาจ “ระบุเจาะจง” ได้ว่าหมายถึงบุคคลใดกันแน่ ล้วนได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 ไปด้วย จนทำให้เพียงการเขียนข้อความเช่นนี้ลงในป้ายผ้าของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และขัดกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายอาญา

แม้ข้อความในแผ่นป้ายที่ว่า ‘งบสถาบันพระมหากษัตริย์ > วัคซีน COVID 19’ จะทำให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นอ่านแล้วเข้าใจได้ว่า งบสถาบันพระมหากษัตริย์ มีจำนวนมากกว่า งบที่ใช้เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งกำลังระบาดร้ายแรงและสร้างปัญหากับประชาชนไทยอย่างมาก ก็จริง

สาวตรียังชี้ด้วยว่า ปัญหาในเรื่องการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ ประชาชนผู้มีเหตุมีผลอย่างวิญญูชน ย่อมต้องรู้สึกโกรธเคือง ไม่พอใจ หรือถึงขั้นเกลียดชังการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำหนดและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในภาพรวมต่างหาก หาได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือการกระทำใดๆ ขององค์พระมหากษัตริย์ฯ แต่อย่างใดไม่ ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะที่จะเข้าข่ายทั้งการ “ใส่ความ” “ดูหมิ่น” หรือ “อาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ฯ ตามความหมายที่อธิบายมาแล้วข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net