Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง และถอนหมายจับ ม.157 คดีอดีตนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์' ย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' จากเลขาฯ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ โดยมิชอบ ชี้ไม่ได้มีเจตนาทุจริต 

 

26 ธ.ค. 2566 เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ บีบีซีไทย ไทยพีบีเอส และ The Reporters รายงานวันนี้ (26 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 ที่มีอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีโอนย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

วันนี้ ยิ่งลักษณ์ยังอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2558 และไม่ได้มาตามนัดศาลครั้งแรกเมื่อปี 2565 ได้ส่ง นรวิชญ์ หล้าแหล่ง และ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลย เป็นตัวแทนรับฟังคำพิพากษา 

สำหรับศาลฎีกาฯ นี้ถือเป็นการอ่านคำพิพากษาศาลที่ 3 หลังจากก่อนหน้านี้ มีคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยิ่งลักษณ์ พ้นจากการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากใช้ตำแหน่งแทรกแซงโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในครอบครัว ถือเป็นการกระทำทุจริต เช่นเดียวกับศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายถวิล เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

'ไม่มีเจตนาพิเศษ' ยกฟ้อง-ถอนหมายจับ ม.157

ศาลพิเคราะห์แล้วให้ยกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับในข้อหาตามมาตรา 157 โดยศาลได้ไต่สวน และใช้ดุลยพินิจแล้วชี้ว่า ในคำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาของศาลปกครอง และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน และต้องมีการไต่สวนอีกครั้ง

ตุลาการเสียงข้างมาก พิเคราะห์ว่า ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายถวิล "ไม่ได้มีเจตนาพิเศษ" ที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถวิล หรือมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 

โดยพยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำแตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป ประกอบกับยิ่งลักษณ์ หรือจำเลย ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งส่วนตัวกับถวิล และยิ่งลักษณ์เคยกล่าวอ้างว่า ถวิลเคยเป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง (สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือ นปช.) ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะย้ายถวิล และนำ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาแทน ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง

นอกจากนี้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ในฐานะพยาน เคยเบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจึงต้องการผู้ที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดมาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. ก่อนหน้านี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยโยกย้าย พลโท สุรพล จากเลขาฯ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ก่อนถวิล จะมาแทน จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.  

ศาลพิเคราะห์ว่า ถ้าจะโอน พล.ต.อ.วิเชียร เพื่อเปิดทางให้เพรียวพันธ์ มารับตำแหน่ง ผบ.ตร.นั้น ต้องมีการทาบทามให้วิเชียร ยินยอมก่อนมาเป็นเลขาฯ สมช. แต่ในขั้นตอนการโอนย้าย ไม่พบพยานให้การว่ามีการทาบทามวิเชียรก่อน มีเพียงหลักฐานว่า ครม.เห็นชอบก่อน และค่อยทาบทามวิเชียร นอกจากนี้ ขั้นตอนการโยกย้ายถวิล ไม่ได้มีหลักฐานแสดงว่า วิเชียร สมัครใจย้ายมาหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่ายิ่งลักษณ์ ย้ายถวิล เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์

ประเด็นสุดท้าย การที่ขั้นตอนการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เวลา 4 วัน ถือว่าเป็นการเร่งรีบผิดปกติหรือไม่นั้น ศาลมองว่าการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้ทันการประชุม ครม. เป็นเรื่องปกติ จึงไม่ได้ถือเป็นข้อพิรุธ

"การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ. พ. จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง เเละให้ถอนหมายจับคดีนี้" คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ระบุตอนหนึ่ง

ถวิล เปลี่ยนศรี

ย้อนรอยคดีย้ายเลขาฯ สมช.

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ก.ย. 2554 ยิ่งลักษณ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งให้ ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเมื่อ 4 ต.ค. ในปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. แทนถวิล 

ต่อมา เมื่อ 19 ต.ค. 2554 คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และมีกำหนดเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. 2555 ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แทนวิเชียร โดยมียิ่งลักษณ์ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ บีบีซีไทย ให้ข้อมูลด้วยว่า ในด้านความสัมพันธ์กับตระกูลชินวัตร เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นพี่ชายของพจมาน ณ ป้อมเพชร (เดิมนามสกุล ดามาพงศ์) อดีตภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และมีศักดิ์เป็นพี่ชายของอดีตพี่สะใภ้ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

20 ก.พ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายถวิล โดยชี้ว่า "เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" คดีนี้มีถวิล เป็นผู้ร้องต่อศาลปกครอง 

ต่อมา 7 พ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 จากกรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะซ่อนเร้น และเป็นการกระทำทุจริต โดยคดีนี้มี ไพบูลย์ นิติตะวัน ปัจจุบันเป็นรองประธานพรรคพลังประชารัฐ สว. และคณะรวม 28 ราย ยื่นคำร้องผ่านประธาน สว. ให้ศาล รธน.วินิจฉัย

ต่อจากนั้น ในวันที่ 1 ก.ค. 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ ยิ่งลักษณ์ และส่งให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

28 ก.พ. 2565 อัยการสูงสุดจึงได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ และศาลฎีกาฯ มีการออกหมายจับยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเมื่อ 21 พ.ย. 2565 ไม่เดินทางมาศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล 

การสืบพยานหลักฐานดำเนินต่อไปจนกระทั่งมีการอ่านคำพิพากษา แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 เนื่องจาก 1 ในองค์คณะผู้พิพากษามีปัญหาเรื่องสุขภาพ และครั้งที่ 2 วันที่ 29 พ.ย. 2566 สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อดีตรองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาในองค์คณะในคดีฯ ถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือกกษิดิศ มงคลศิริภัทรา เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 11 เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นองค์คณะแทนที่มีเวลาเพียงพอ กระทั่งมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าวในวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net