Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงพนักงานสอบสวนเพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีกับสหกรณ์บริการจักรเพชรและพวก ฐานปล่อยกู้ที่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พาตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทรจำนวนหนึ่ง เข้าพบ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( บก.ปอศ. ) เพื่อเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์บริการจักรเพชร , ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และสยามพารากอน รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากกระทำการที่อาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เนื่องจาก คดีไม่มีความคืบหน้า นับจากมีผู้เสียหายมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทั้งได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อกล่าวโทษ ตั้งแต่ปี 2562 ให้จัดการคนผิดในฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานลวงขาย และความผิดฐานไม่ส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

สำหรับคดีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2558 มีผู้ก่อเหตุคือ สหกรณ์บริการจักรเพชร ซึ่งรับเป็นนายหน้าขายตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร โดยมี ธนาคารออมสิน สาขาเยาวราชกับสยามพารากอนปล่อยกู้ แต่ไม่ใช่เพื่อซื้อตุ๊กตุ๊ก ทว่าทำสัญญา 2 แบบ ได้แก่ สินเชื่อห้องแถว และ สินเชื่อองค์กรพัฒนาชุมชน แถมการคิดยอดหนี้รวมดอกเบี้ย ของ แบงก์ออมสิน 2 สาขา ไม่เท่ากัน ที่สำคัญ เป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้า โดยไม่ได้เงินก้อนมาอยู่ในมือไม่ได้เล่มรถ เพราะสหกรณ์บริการจักรเพชร เอาไปเก็บไว้เอง ที่สำคัญยังหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเข้าบัญชีสหกรณ์บริการจักรเพชร ทำให้แบงก์ออมสิน ที่เป็นฝ่ายปล่อยกู้ยื่นฟ้องผู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊กให้ชำระหนี้ ซึ่งคดีของกลุ่มที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร ถึงแม้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้สอบปากคำผู้เสียหายเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2563 และได้เรียกสอบปากคำผู้เสียหายกลุ่มสามล้อเพิ่มเติม เพื่อมิถุนายน 2566 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของการดำเนินคดี ที่สำคัญผู้เสียหายในกลุ่มรถเมล์ประจำทาง และ กลุ่มแม่ค้า ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น จึงขอให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินคดีพร้อมทั้งแจ้งต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ได้รับทราบ

ทั้งนี้พ.ต.อ. ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( บก.ปอศ. ) ซึ่งมารับหนังสือ ได้ชี้แจงว่า การมารับหน้าที่ต่อจากชุดก่อนๆ ซึ่งได้วางแนวทางการทำคดีใหม่ ทำให้ใช้เวลานาน และมีปัญหาในการรวบรวมข้อมูล เพราะข้อมูลที่ได้จากการสอบปากคำยังขาดหลักฐานยืนยัน ทางตำรวจจึงต้องใช้เวลาในการค้นหาเอกสารประกอบสำนวนคดีเพิ่มเติมค่อนข้างมากส่วนเนื้อหาคดีได้สอบปากคำเพิ่มเติมทั้งจากฝั่งผู้เสียหาย และสหกรณ์บริการจักรเพชร ซึ่งพบความผิดปกติในการบริหารงานของสหกรณ์ฯ เบื้องต้น ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว คาดว่า จะสรุปสำนวนส่งอัยการช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567

นายกิตติศักดิ์ บอกว่า หากนับจุดเริ่มปี 2558 ที่มีการปล่อยกู้ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทรเข้าข่ายฉ้อโกง จนถึง ปี 2566 เท่ากับคดีนี้กินเวลายาวนานถึง 9 ปี แต่หากนับจาก มีผู้เสียหายมาร้องรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทั้งได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 เท่ากับ 5 ปีที่ยังไม่สามารถเอาคนผิดมาดำเนินคดี ซึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือเร่งรัดถึงพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบการทำคดีอย่างต่อเนื่องทุกปี และจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหากพบมีการกระทำความผิดอื่นใด หรือพาดพิงไปถึงบุคคลใดก็ถือว่าคำร้องทุกข์กล่าวโทษนี้เป็นการร้องทุกข์ในความผิดฐานนั้นและบุคคลนั้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net