Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกล ชี้ ขึ้นค่าแรงไม่ควรต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ หวังทุกพรรคหนุน กม.คุ้มครองแรงงาน

นายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคีมีมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตรา 2-16 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เตรียมนำเข้า ครม. ในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ เพื่อรับรองและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ว่า เรื่องนี้ทำให้มีการถกเถียงกันว่าการขึ้นค่าแรงแบบนี้เพียงพอหรือไม่ อย่างไร ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นนโยบายที่หลายพรรคการเมืองใช้หาเสียงมาตลอด

นายสหัสวัตกล่าวว่า ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ เกิดขึ้นเพราะการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ทำให้ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอนว่าเมื่อไรจะได้ขึ้นต่ำแรงขั้นต่ำ นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้จริงๆ แล้วแต่ละปีแรงงานไทยได้ค่าแรงลดลงทุกปีโดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทุกปี เช่น หากเรามีค่าแรง 400 บาท แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% หมายความว่าเราจะเหลือค่าแรงจริงเพียง 388 บาท หากไม่มีการขึ้นค่าแรง

นายสหัสวัตกล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอย่างยั่งยืน คือการทำอย่างไรให้ค่าแรงไม่ถูกลด หรือสู้กับอัตราเงินเฟ้อได้ เราจึงเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยหนึ่งในสาระสำคัญของร่าง คือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอย่างอัตโนมัติ โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ หมายความว่า หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี พรรคก้าวไกลเชื่อว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ จะอุดช่องว่างปัญหาค่าแรงขั้นต่ำได้อย่างยั่งยืน เพื่อที่แรงงานไทยจะไม่ต้องเผชิญปัญหาแบบปัจจุบัน ที่ในอดีตอาหารตามสั่งจานละ 35 บาท ผ่านมาสิบปี ขึ้นเป็นจานละ 60-70 บาท แต่ค่าแรงยังขึ้นไม่ถึงไหน และเพื่อที่จะไม่ต้องมาลุ้นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำใหม่ๆ ทุกการเลือกตั้ง ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

“ตอนนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เข้าสภาแล้ว หวังว่าเมื่อร่างฉบับนี้เข้าสู่วาระพิจารณา จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ส.ส.ทุกพรรคการเมือง เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นวาระที่ทุกพรรคเห็นร่วมกันได้ เพื่อทำให้พี่น้องแรงงานได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม” นายสหัสวัตกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/12/2566

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ "ภูเก็ต" เพิ่มมากสุด 16 บาท เป็น 370 บาท เพิ่มต่ำสุด 330 บาท 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วน กทม. ปรับขึ้น 363 บาท เฉลี่ย 77 จังหวัด 345 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

8 ธ.ค. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) เพื่อพิจารณา ค่าแรงขั้นต่ำ ประจำปี 2566 โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม

เริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 -15.00 น. เบื้องต้นข้อมูลจากที่ประชุมพบว่ามี 5 จังหวัด ไม่ได้เสนอขอปรับ ค่าแรงขั้นต่ำ เข้ามา หนึ่งในนั้นคือ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม การจากหารือเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุป

นายไพโรจน์ ในฐานะกรรมการไตรภาคี แถลงผลการพิจารณา ค่าแรงขั้นต่ำ ประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าแรงขั้นที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท

ทั้งนี้ จะมีการเสนอผลการประชุมวันนี้ไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธ.ค. และจะมีการเริ่มปรับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ในวันที่ 1 ม.ค.2567

สำหรับรายละเอียดการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แบ่งออกเป็น 17 อัตรา ดังนี้

1.กลุ่มที่เพิ่มเป็น 370 บาทต่อวัน มี 1 จังหวัดคือ จังหวัดภูเก็ต (เดิม 354 บาท)

2.ปรับเพิ่มเป็น 363 บาท มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (เดิม 353 บาท) จังหวัดนครปฐม (เดิม 353 บาท) นนทบุรี (เดิม 353 บาท) ปทุมธานี (เดิม 353 บาท) สมุทรปราการ (เดิม 353 บาท) และสมุทรสาคร (เดิม 353 บาท)

3.ปรับเพิ่มเป็น 361 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี (เดิม 354 บาท) และระยอง (เดิม 354 บาท)

4.ปรับเพิ่มเป็น 352 บาท มี 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา (เดิม 340 บาท)

5.ปรับเพิ่มเป็น 351 บาท มี 1 จังหวัด สมุทรสงคราม (เดิม 338 บาท)

6.ปรับเพิ่มเป็น 350 บาท มี 6 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา (เดิม 343 บาท) สระบุรี (เดิม 340 บาท) ฉะเชิงเทรา (เดิม 345 บาท) ปราจีนบุรี (เดิม 340 บาท) ขอนแก่น (เดิม 340 บาท) และเชียงใหม่ (เดิม 340 บาท)

7.ปรับเพิ่มเป็น 349 บาท มี 1 จังหวัด คือ ลพบุรี (เดิม 340 บาท)

8.ปรับเพิ่มเป็น 348 บาท มี 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี (เดิม 340 บาท) นครนายก (เดิม 338 บาท) และหนองคาย (เดิม 340 บาท)

9.ปรับเพิ่มเป็น 347 บาท มี 2 จังหวัด คือ กระบี่ (เดิม 340 บาท) และตราด (เดิม 340 บาท)

10.ปรับเพิ่มเป็น 345 บาทมี 15 จังหวัด คือ กาญจนบุรี (เดิม 335 บาท) ประจวบคีรีขันธ์ (เดิม 335 บาท) สุราษฎร์ธานี (เดิม 340 บาท) สงขลา (เดิม 340 บาท) พังงา (เดิม 340 บาท) จันทบุรี (เดิม 338 บาท) สระแก้ว (เดิม 335 บาท) นครพนม (เดิม 335 บาท) มุกดาหาร (เดิม 338 บาท) สกลนคร (เดิม 338 บาท) บุรีรัมย์ (เดิม 335 บาท) อุบลราชธานี (เดิม 340 บาท) เชียงราย (เดิม 332 บาท) ตาก (เดิม 332 บาท) พิษณุโลก (เดิม 335 บาท)

11.ปรับเพิ่มเป็น 344 บาท มี 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี (เดิม 335 บาท) ชุมพร (เดิม 332 บาท) สุรินทร์ (เดิม 335 บาท)

12.ปรับเพิ่มเป็น 343 บาท มี 3 จังหวัด คือ ยโสธร (เดิม 335 บาท) ลำพูน (เดิม 332 บาท) นครสวรรค์ (เดิม 335 บาท)

13.ปรับเพิ่มเป็น 342 บาท มี 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช (เดิม 332 บาท) บึงกาฬ (เดิม 335 บาท) กาฬสินธุ์ (เดิม 338 บาท) ร้อยเอ็ด (เดิม 335 บาท) เพชรบูรณ์ (เดิม 335 บาท)

14.ปรับเพิ่มเป็น 341 บาท มี 5 จังหวัด คือ ชัยนาท (เดิม 335 บาท) สิงห์บุรี (เดิม 332 บาท) พัทลุง (เดิม 335 บาท) ชัยภูมิ (เดิม 332 บาท) และอ่างทอง (เดิม 335 บาท)

15.ปรับเพิ่มเป็น 340 บาท มี 16 จังหวัด ระนอง (เดิม 332 บาท) สตูล (เดิม 332 บาท) เลย (เดิม 335 บาท) หนองบัวลำภู (เดิม 332 บาท) อุดรธานี (เดิม 340) มหาสารคาม (เดิม 332 บาท) ศรีสะเกษ (เดิม 332 บาท) อำนาจเจริญ (เดิม 332 บาท) แม่ฮ่องสอน (เดิม 332 บาท) ลำปาง (เดิม 332 บาท) สุโขทัย (เดิม 332 บาท) อุตรดิตถ์ (เดิม 335 บาท) กำแพงเพชร (เดิม 332 บาท) พิจิตร (เดิม 332 บาท) อุทัยธานี (เดิม 332 บาท) และราชบุรี (เดิม 332 บาท)

16.ปรับเพิ่มเป็น 338 บาท มี 4 จังหวัด คือ ตรัง (เดิม 332 บาท) น่าน (เดิม 328 บาท) พะเยา (เดิม 335 บาท) แพร่ (เดิม 332 บาท)

17.ปรับเพิ่มเป็น 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส (เดิม 328 บาท) ปัตตานี (เดิม 328 บาท) และยะลา (เดิม 328 บาท)

นายไพโรจน์ก ล่าวว่า เหตุผลของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาพการจ้างงาน อัตราการว่างงาน ซึ่งอาจจะมีคำถามว่าบางจังหวัดขึ้นค่าจ้างน้อย บางจังหวัดขึ้นค่าจ้างสูง ต้องย้ำว่า ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด มีสูตรการคำนวณตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ แล้วนำมาพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถดูได้จากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง จะต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบ

เมื่อถามถึงกรณี จ.ภูเก็ต ที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดเป็น 370 บาท จากข้อมูลการหารือในช่วงเช้าระบุว่า จ.ภูเก็ต ไม่ได้มีการเสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ประชุมมีเหตุผลในการพิจารณาอย่างไรบ้าง นายไพโรจน์กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดพิเศษ เนื่องจากมีภาคเกษตรกรรมน้อยมาก แต่มีแหล่งท่องเที่ยวเยอะที่สุด และมีอัตราการจ้างงานสูง บางธุรกิจมีการจ้างมากกว่า 400 บาทต่อวัน และอีกสาเหตุหนึ่งก็เรื่องค่าครองชีพในพื้นที่ ดังนั้น ค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน เราคิดว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม

ถามถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทตามที่รัฐบาลประกาศไว้ นายไพโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นการพิจารณาในระยะถัดไป ซึ่งจะพยายามปรับให้ขึ้นเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้คือ 400 บาท แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นการพิจารณาร่วมกันใน 3 ภาคี ที่ต่างก็มีเหตุผลเห็นสมควร

เมื่อถามว่าหาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง สั่งให้มีการทบทวนเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะต้องทำอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่หากจะมีการปรับค่าจ้างใหม่ ก็ต้องมีการพิจารณาในปีหน้า

เมื่อถามว่าในกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทำได้เพียงปีละครั้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในปีหน้า ไพโรจน์กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างด้วย ซึ่งหากจะมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในรอบปี ทางอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด จะต้องพิจารณาหลักการและเหตุผล เพราะเราไม่สามารถขึ้นโดยคณะกรรมการค่าจ้างเพียงอย่างเดียว

เมื่อถามว่าในการประชุมครั้งนี้มีปัญหาการปรับตัวเลขมากที่สุดในภูมิภาคใด นายไพโรจน์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่วันนี้ก็ถือว่าเป็นการประชุมที่เสร็จเร็วกว่ากำหนด แม้ว่าจะมีการขอเวลานอกออกไปประชุมก่อนกลับมาร่วมพิจารณาในที่ประชุม เพื่อความรอมชอมและความเห็นอกเห็นใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/12/2566

รถเมล์ TSB แจงเหตุ พนง.strike หยุดงาน กลัวโดนตัดเงินเดือนจากระบบ AI จับรถออกขวาไม่เข้าป้าย

จากกรณีที่รถเมล์บางสายของ บ.ไทย สมายล์ บัส (TSB) เช่น รถของอู่พระประแดง อู่ธารทิพย์ หยุดวิ่งเมื่อช่วงเช้า-สายของวันที่ 8 ธ.ค. 2566 เนื่องจากพนักงาน strike หยุดงานประท้วงนั้น TSB ได้ออกมาชี้แจงดังนี้

เรียนท่านผู้โดยสารที่เคารพ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ขอให้ข้อมูลกรณีเหตุการณ์ขัดข้องซึ่งทำให้การเดินรถเกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการบางส่วนในช่วงเช้าที่ผ่านมา เนื่องจากมีเหตุขัดข้องทางการสื่อสารภายในบางอู่ หลังมีการปรับใช้ระบบกำกับการเดินรถ (Fleet Management) ซึ่งจะเข้ามาช่วยควบคุมดูแลให้รถทุกคัน วิ่งเลนซ้ายภายใต้ความเร็วที่กฎหมายกำหนด และเข้าป้ายรับผู้โดยสารอย่างครบถ้วน กรณีพนักงานไม่จอดรับผู้โดยสารจะมีการตัดเงินในระบบทันที

แต่ด้วยความคลาดเคลื่อนจากการสื่อสาร เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของพนักงาน และบางกลุ่มไม่อยากปรับตัวกับการยกระดับบริการขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้การออกเดินรถบางเส้นทางเกิดความล่าช้าจนกระทบถึงผู้โดยสาร โดยทางบริษัทได้ดูแลปัญหาที่เกิดแล้ว พร้อมออกให้บริการเดินรถตามปกติได้ทุกเส้นทาง 100%

อย่างไรก็ตามทางบริษัท ขออภัยในความไม่สะดวกครั้งนี้ และขอยืนยันว่า TSB รับฟังทุกข้อร้องเรียนของผู้โดยสาร พร้อมขอสัญญาจะทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งมวลชนแก่พี่น้องประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด ทั้งความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง

ทั้งนี้ หากมีผู้โดยสารท่านใดได้รับความไม่สะดวกจากการให้บริการของพนักงาน ขอให้แจ้งข้อมูลหมายเลขข้างรถ กับสายรถที่ใช้บริการ เข้ามาที่ Call Center หมายเลข 02-405-9789 กด 1 โดยทางบริษัทจะดำเนินการลงโทษด้วยมาตรการสูงสุดในทันที

ที่มา: Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์, 8/12/2566

กทม. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติในเขตเมือง

วันที่ 6 ธ.ค. 66 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการ และจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ด้วยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการให้บริการด้านสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ การตรวจสุขภาพ และการประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่าหน่วยบริการในเขตกรุงเทพมหานครไม่เพียงพอต่อการให้บริการแรงงานข้ามชาติ และการกระจายตัวของหน่วยบริการยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติดังกล่าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการด้านสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ และจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครขึ้น

ที่ประชุมได้รายงานข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้ 1. ข้อเสนอแนะในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) โดยเสนอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการขยายการให้บริการสุขภาพผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง และจัดบริการเชิงรุกให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประสาน สสส. เพื่อพัฒนากลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นกลไกและเครือข่ายสนับสนุนการจัดบริการเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (PP) แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการบริหารจัดการและจัดระบบบริการสุขภาพของหน่วยงานต่าง ๆ

2. การรับบริการสุขภาพกรณีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โดยแนวทางการรับบริการคือแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 8 แห่ง แรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์สามารถรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ได้ทุกแห่ง (11 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 69 แห่ง

3. การดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว (โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ) โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หรือสัญชาติอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเพิ่มเติม ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมผู้ติดตามทุกราย ต้องอยู่ในระบบประกันสุขภาพในช่วงระยะเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าว โดยเพิ่มระยะเวลาการคุ้มครองประกันสุขภาพ 1 ปี 6 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว และ 4. การจัดบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวของโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางการผลักดันให้ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และแนวทางการขับเคลื่อนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งกลุ่มคณะทำงานขึ้น 2 คณะ ดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และอีกกลุ่มหนึ่งจะเจาะจงไปที่ผู้ลี้ภัยเขตเมืองเป็นหลัก โดยหลังจากนี้จะมีการออกแบบรายละเอียดงานให้รอบคอบมากขึ้น รวมถึงในแง่ของเงื่อนไขทางกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวขึ้นต่อไป

การประชุมวันนี้มี กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กทม. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ที่มา: Hfocus, 7/12/2566

รมว.แรงงานเมียนมาเยี่ยมแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทย ณ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร

6 ธ.ค. 2566 MR.U MYINT NAUNG (นาย อู เมี๊ยะ นาว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมียนมา พร้อมด้วย MR.U Chit Swe เอกอัครราชทูตเมียนมา, อธิบดีกรมแรงงาน, อธิบดีตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานสันติบาล ดูแลการออก Passport โดยตรง, อธิบดีกรมสรรพากรแรงงาน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ รวม 31 คน เดินทางมาตรวจเยี่ยมแรงงานเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทย ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด, ปลัดจังหวัด, ผอ.รมน.จังหวัด, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด, แรงงานจังหวัด, จัดหางานจังหวัด, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด, ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 27, ผู้แทนประกันสังคมจังหวัด, ประชาสัมพันธ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ

ด้าน MR.U MYINT NAUNG (นาย อู เมี๊ยะ นาว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมียนมา กล่าวว่า ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ให้การต้อนรับ ทางคณะที่เดินทางมาเยี่ยมเยียน พบปะกับแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานเมียนมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเมียนมาจำนวนกว่า 300,000 คน ทำงานอยู่ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด เกือบ 30,000 คน ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ดูแลสวัสดิการให้กับแรงงานเมียนมาเป็นอย่างดี และขอให้ดูแลแรงงานเมียนมาด้วยความเป็นธรรม

นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาคร ยินดีต้อนรับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงานเมียนมาพร้อมคณะ ที่ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนจังหวัดสมุทรสาครและแรงงานเมียนมา และขอขอบคุณผ่านไปทางการรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ให้การสนับสนุนแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเมียนมาจำนวนกว่า 300,000 คน ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครจะดูแลแรงงานเมียนมาให้เสมือนเป็นคนไทย โดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักการอยู่อาศัย การทำงาน สวัสดิการ และการคุ้มครองแรงงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อเนื่อง ตลอดไป

สำหรับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (Thai Union) ตั้งอยู่ที่ 72/1 หมู่ 7 ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลระดับโลก กว่า 40 ปี เป็นผู้นำผลิตสินค้าจากปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานในประเทศไทย 36,948 คน เป็นคนไทย 34.77% แรงงานเมียนมา 64.58% และกัมพูชา 0.65% มีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสัญญา มีสิทธิมนุษยชน มีการใช้แรงงานอย่างสมัครใจ ไม่ใช้แรงงานเด็ก มีนโยบายจ้างงานอย่างมีจริยธรรม ปัจจุบันมีการไปสรรหาแรงงานจากประเทศต้นทางโดย MOU เข้ามา ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ต้นทาง อาทิ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่า Passport ประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี ทางบริษัทออกให้ทั้งหมด ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีโบนัส ค่ากะ ค่าทักษะ เบี้ยขยัน เงินเกษียณ เงินพิเศษสำหรับหญิงตั้งครรภ์ มีห้องสันทนาการ ห้องแม่ให้นมบุตร ห้องพักผ่อน ห้องสมุด ยิมสำหรับออกกำลังกาย ท่องเที่ยวประจำปี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเพื่อดูแลพนักงาน มีการตั้งกล่องและรับฟังข้อร้องเรียนจากพนักงาน อีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6/12/2566

ผู้นำสหภาพแรงงานพบ รมว.แรงงาน หนุนนโยบายค่าจ้าง-ดูแลสิทธิสวัสดิการ เข้าถึงประกันสังคม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแนะนำคณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเรียนเชิญเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาฯ ครั้งที่ 1/2566 โดยสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสหภาพแรงงานโตโยต้า สหภาพแรงงานผู้บริหารโตโยต้า สหภาพแรงงานฮีโน่ ประเทศไทย และสหภาพแรงงานซูมิโตโม รับเบอร์ ซึ่งสหภาพแรงงานโตโยต้า เป็นสหภาพแรงงานที่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ปัจจุบันมีกรรมการ 50 คน มีสมาชิกประมาณ 7,266 คน โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณ ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้เข้าพบเพื่อแนะนำคณะกรรมการบริหารของสภาฯ และผู้นำสหภาพแรงงาน รวมทั้งยังสนับสนุนพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อมีหลักประกันทางสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ สภาฯ ยังเห็นด้วยกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสัดส่วนของแต่ละจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด รวมทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมไว้แล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้วย

ด้าน ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสหภาพแรงงานภายใต้สภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่ละสหภาพเรามีระบบการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดี บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ผ่านมาไม่เคยมีการใช้มาตรการด้านแรงงานสัมพันธ์ เช่น การปิดงาน หรือนัดหยุดงาน นายจ้างและลูกจ้างสามารถพูดคุยกันได้ ในนามสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวันนี้ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าพบและท่านยินดีที่จะไปเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาฯ ครั้งที่ 1/2566 ให้ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ด้วย ซึ่งการพบปะในวันนี้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างสภาฯ กับกระทรวงแรงงานมากยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/12/2566

รมว.แรงงาน หารือ กูเกิ้ล สร้างแชทบอต AI หางานสู่ตลาดโลก ฝ่าย IT ก.แรงงาน เด้งรับลูก นำแพลตฟอร์มใหม่ เสริมแกร่ง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้บริหารกลุ่มองค์กรภาครัฐ Google Cloud ประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีและหารือเรื่อง Digital Transformation เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการทำงานในองค์กรภาครัฐ โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ให้การต้อนรับ ผู้บริหารกลุ่มองค์กรภาครัฐ Google Cloud ประเทศไทย และคณะ ที่มาเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการทำงานในองค์กรภาครัฐ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินการแล้ว ผมได้ให้หัวหน้าฝ่ายไอทีของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานประชุมหารือกันว่าจะนำเทคโนโลยี AI ที่ว่านี้เข้าไปพัฒนาแพลตฟอร์มตามภารกิจของกระทรวงแรงงานตรงส่วนไหนได้บ้างเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน เราจะนำเทคโนโลยี AI ตรงส่วนนี้มาพัฒนาเป็น Google Cloud up skill program ซึ่งจะช่วยให้แรงงานสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบ Business matching ให้สามารถแมชชิ่งตำแหน่งงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนหางานได้หางานจากตลาดแรงงานทั่วโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งใช้แชทบอต AI for public service ในการให้บริการตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายด้านแรงงานให้กับพี่น้องแรงงานโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนให้แก่พี่น้องประชาชน

“กระทรวงแรงงาน เราพยายามตอบสนองนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งพี่น้องแรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าในหลายๆ กระทรวงก็มีความกระตือรือร้นที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญเมื่อสำเร็จแล้วข้อมูลแต่ละกระทรวงจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ในวันนี้จึงขอขอบคุณกูเกิ้ลประเทศไทยที่เล็งเห็นคุณค่าที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาค ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมให้การสนับสนุนโดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะดิจิทัล การแมชชิ่งตำแหน่งงานระหว่างนายจ้างกับคนหางาน และช่วยตอบปัญหาข้อกฎหมายแรงงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ว่านี้ ” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ด้าน ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้บริหารกลุ่มองค์กรภาครัฐ Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า ในนามกลุ่มองค์กรภาครัฐ Google Cloud ประเทศไทย ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เปิดโอกาสให้ทางเราได้มาเข้าพบและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านเทคโนโลยีของ Google และการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐในประเทศไทยรวมถึงการดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานและการบริการภาครัฐ สู่กระบวนการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และการจัดเตรียมและบูรณาการข้อมูลและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งเราเห็นว่ากระทรวงแรงงานมีเรื่องระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่จะต้องรับรู้ ในเรื่องนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่แต่ละหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลให้สำเร็จและเชื่อมโยงระหว่างกันได้ ซึ่งหลังจากการหารือในครั้งนี้แล้วจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่จะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับกลุ่มองค์กรภาครัฐ Google Cloud ประเทศไทยต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/12/2566

หน่วยงานรัฐขานรับเปิดเจรจาเอกชนซาอุฯ เพิ่มโอกาสเกษตรกรไทย

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเดินทางร่วมการประชุมสุดยอด ASEAN-GCC Summit ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้หารือเพื่อโอกาสเพิ่มความร่วมมือระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรวมถึง Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) เอกชนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรและปศุสัตว์ชั้นนำของโลก และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะมีความร่วมมือกันเพื่อการค้าทางด้านปศุสัตว์ที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล เพื่อเป็นการติดตามผลการหารือของนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมประชุมกับนายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต นางนวลละออง ศรีชุมพล นายกสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทย และนายอภิชาติ ประเสริฐสุด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ โดยเข้าพบหารือกับ Eng. Sulaiman AlRumaih – Group CEO บริษัท SALIC และคณะผู้บริหารของบริษัท SALIC พร้อมด้วยนาย Norberto Giangrande ประธานบริษัท MINERVA และนาย Fernando Queiroz – CEO บริษัท MINERVA ณ บริษัท SALIC

โดยจากการพบหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะสนับสนุนความร่วมมือในการลงทุนด้านปศุสัตว์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งความร่วมมือในด้านการเกษตรต่างๆ อาทิ ข้าว และปุ๋ย ในการนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอข้อมูลและศักยภาพด้านการผลิตและการลงทุนอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย โดยบริษัท SALIC และ MINERVA แสดงความพร้อมที่จะเดินทางเยือนไทย เพื่อสำรวจลู่ทางการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมโคเนื้อไทย ในช่วงเดือนมกราคม 2567

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่ขานรับการทำงานตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีริเริ่มไว้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่เกษตรกรไทย และรัฐบาลพร้อมที่จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพื่อหาโอกาสช่องทางการค้าสินค้าเกษตรและสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีรายได้มากขึ้น มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 4/12/2566

จ่ายทันที เงินช่วยแรงงานไทยถูกปล่อยตัวจากฮามาส รายละ 215,000 บาท

4 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย 17 ราย (จากแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยทั้งหมด 19 ราย) โดยทั้ง 17 คน กลับถึงไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ด้วยเที่ยวบินที่ LY081 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 15.12 น. โดยมาพร้อมกับคณะของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

ในวันดังกล่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน รับแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เงินช่วยเหลือทั้งหมดที่แรงงานไทย 17 ราย ได้รับทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทย รายละ 125,000 บาท ประกอบด้วย

1. เงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รายละ 15,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบแรงงานไทยทั้ง 17 ราย เป็นสมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของกองทุน จำนวน 14 ราย และสิ้นสุดความคุ้มครอง จำนวน 3 ราย

2. เงินสด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือมาจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในเบื้องต้นทุกราย รายละ 10,000 บาท

3. เงินช่วยเหลือจากอิสราเอล ก้อนแรกจำนวน 10,000 เชเกล หรือประมาณ 100,000 บาท ในรูปแบบบัตรเงินสด ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งได้รับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ หากแรงงานไทยดังกล่าวประสบปัญหาด้านร่างกายหรือจิตใจ ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รายละ 30,000 บาท โดยต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ (มีใบรับรองแพทย์)

แรงงานไทยทุกรายที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับเงินช่วยเหลือจากอิสราเอลนั้น ซึ่งนอกจากเงินก้อนแรกข้างต้น 10,000 เชเกล หรือประมาณ 100,000 บาท จะได้รับอีก 6,900 เชเกลต่อเดือน (ประมาณเดือนละ 60,000 บาทต่อเดือน) ช่วง 6 เดือนแรก

หากแรงงานไทยได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าได้รับผลกระทบด้านร่างกายหรือจิตใจ สามารถนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมอิสราเอลเพื่อประเมินขอรับเงินช่วยเหลือรายเดือนหลังจาก 6 เดือนได้ โดยแต่ละรายจะได้รับเงินไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการประเมินของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล

สำหรับค่าชดเชยอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล แรงงานไทยทั้ง 17 ราย ได้กรอกข้อมูลและยื่นคำร้องเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล จะส่งให้สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และในส่วนเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (เงินปิซูอิม) นั้น ผมได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เร่งตรวจสอบติดตามกับนายจ้างเพื่อดำเนินการ จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (ปิซูอิม) แล้วเช่นกัน

“กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พวกเราห่วงใยและพยายามดำเนินการในทุกทางอย่างเต็มที่ที่สุด และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจา ทำให้แรงงานไทยได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย และขอให้ญาติของแรงงานมั่นใจได้ว่ารัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการประสานทุกฝ่าย เพื่อเร่งช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดให้ได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อพบครอบครัวในเวลาที่รวดเร็วที่สุด” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/12/2566

ตัวประกันถึงไทยอีก 6 คน ก.แรงงาน ช่วยเหลือ-ดูแลสิทธิประโยชน์ เล็งหางานใหม่ให้ทำ

4 ธ.ค. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแรงงาน รับแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันเนื่องจากการสู้รบในประเทศอิสราเอล และได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย โดยเดินทางกลับประเทศไทยเพิ่มอีกจำนวน 6 ราย ด้วยเที่ยวบินที่ LY081 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เวลา 13.55 น.

นายอารี กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงแรงงาน ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของพี่น้องแรงงานไทยทุกคนที่ได้รับการปล่อยตัวจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลในวันนี้ ทำให้ปัจจุบันมีแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัว เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 23 ราย

“ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาทำให้ได้มีการปล่อยตัวประกันแรงงานไทยอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล และมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และขอแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องแรงงานไทยที่เหลืออีกจำนวน 9 ราย และขอให้ญาติของแรงงานมั่นใจได้ว่า รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการประสานทุกฝ่าย เพื่อเร่งช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดให้ได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อพบครอบครัวในเวลาที่รวดเร็วที่สุด” นายอารี กล่าว

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน วันนี้ได้จัดรถไปส่งแรงงานไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 3 ราย เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานดอนเมืองอำนวยความสะดวกดูแล สำหรับแรงงานไทย 2 ราย ที่จะเดินทางต่อเครื่องจากสุวรรณภูมิไปยังภูมิลำเนานั้น จะมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิอำนวยความสะดวกดูแลเช่นกัน

“นอกจากนี้ แรงงานจังหวัดและหน่วยงานในกำกับ จะลงพื้นที่ไปยังบ้านของแรงงานไทยเพื่อดูแลเรื่องเอกสาร เนื่องจากเอกสารทั้งหมดของแรงงานไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยอำนวยความสะดวกในการแปลและเรียบเรียงเอกสาร พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือต่างๆแก่แรงงานและญาติของแรงงานได้รับทราบเพื่อให้แรงงานไทยได้รับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด รวมทั้ง ยังได้เตรียมตำแหน่งงานทั้งในประเทศและในต่างประเทศให้กับผู้ที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรมการจัดหางาน (กกจ.) จะได้สอบถามความสมัครใจของแรงงานเพื่อหางานให้ตรงกับความต้องการอีกครั้ง ซึ่งครอบคลุมถึงการประกอบอาชีพอิสระและการเข้ารับการฝึกทักษะด้านอาชีพเสริมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ด้วย” นายอารี กล่าว

นอกจากนี้ นายอารี กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือจากประเทศไทยที่แรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับนั้น ประกอบด้วย

1.เงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยแรงงานไทยที่ เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบแรงงานไทย จำนวน 6 ราย พบว่า เป็นสมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของกองทุนฯ จำนวนทั้ง 6 ราย

2.หากแรงงานไทยดังกล่าวประสบปัญหาด้านร่างกายหรือจิตใจ ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนฯ รายละ 30,000 บาท โดยต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ (ใบรับรองแพทย์)

3.เงินสด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือมาจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในเบื้องต้นทุกราย รายละ 10,000 บาท

“ส่วนสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือจากอิสราเอลที่แรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับ ประกอบด้วย 1.เงินช่วยเหลือจากอิสราเอล ก้อนแรกจำนวน 10,000 เชคเกล หรือประมาณ 100,000 บาท ในรูปแบบบัตรเงินสด ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งได้รับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว 2.แรงงานไทยทุกรายที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับเงินช่วยเหลือซึ่งนอกจากเงินก้อนแรกข้างต้นนั้น ในช่วง 6 เดือนแรก แรงงานไทยจะได้รับเงิน 6,900 เชคเกลต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยประมาณเดือนละ 60,000 บาท รวมถึง หากแรงงานไทยได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าได้รับผลกระทบด้านร่างกาย หรือจิตใจ สามารถนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมอิสราเอลเพื่อประเมินขอรับเงินช่วยเหลือรายเดือนหลังจาก 6 เดือนได้ โดยแต่ละรายจะได้รับเงินไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการประเมินของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล ด้านค่าชดเชยอื่นๆ ของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล แรงงานไทยทั้ง 6 ราย ได้กรอกข้อมูลและยื่นคำร้องเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล จะส่งให้สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายอารี กล่าวและว่า 3.เงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (เงินปิซูอิม) นั้น อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะเร่งตรวจสอบติดตามกับนายจ้างเพื่อดำเนินการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (ปิซูอิม) ต่อไป

สำหรับรายชื่อแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางกลับ จำนวน 6 ราย มีดังนี้ 1.นายพัฒนายุทธ ต้อนโสกรี ภูมิลำเนา จ.นครพนม 2.นายโอวาส สุริยะศรี ภูมิลำเนา จ.ศรีสะเกษ 3.นายไพบูลย์ รัตนิล ภูมิลำเนา จ.หนองบัวลำภู 4.นายกง แซ่เล่า ภูมิลำเนา จ.เชียงราย 5.นายจักรพันธ์ สีเคนา ภูมิลำเนา จ.อุดรธานี และ 6.นายเฉลิมชัย แสงแก้ว ภูมิลำเนา จ.นครพนม

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/12/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net