Skip to main content
sharethis

เยาวชนไทยคว้า 6 เหรียญจากการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ คะแนนรวมสูงสุดติด Top 5 ระดับเอเชีย

2 ธ.ค. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบเกียรติบัตรและรางวัลให้แก่เยาวชนที่ชนะการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2  และมอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้สนับสนุนในการแข่งขัน ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวภายหลังจากมอบรางวัลว่า ในนามของกระทรวงแรงงานต้องขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ถึง 6 เหรียญ ประกอบด้วย 1 เหรียญทองจากสาขาแต่งผม นายสิทธิพร พาสง่า สนับสนุนโดยโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล  เหรียญเงิน 2 เหรียญ ได้แก่สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม นายสิทธิชัย ไชยวิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม) ได้แก่ นายภัคพล  ปรีชาวนา และนายฬูค่า ชนกันต์ บอนด์ จากศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์  เหรียญทองแดง 1 เหรียญ จากสาขาเทคโนโลยีเว็บ นายณฐนันท์ แพน้อย วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) และคว้าเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมมาได้อีก 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น นายหัตศนัยต์ บุญแก้วคง จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลา และสาขากราฟิกดีไซน์ นางสาวปภัชญา พีรกรวรธรรม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ วิทยาเขตสะพานใหม่ ส่วนสาขาที่พลาดเหรียญรางวัล ได้แก่ สาขาการเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ นายพุทธ เอี๊ยบรุ่ง จากวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา และสาขาแฟชั่นเทคโนโลยี นายสุเมธ แป้นพยัคฆ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม

จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและศักยภาพด้านทักษะฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก โดยไทยมีคะแนนรวมติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 27 ประเทศ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าเยาวชนไทยและแรงงานไทยมีทักษะฝีมืออยู่ในระดับสากล เป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยความพร้อมของทักษะฝีมือที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของเอเชีย  ส่วนเยาวชนที่พลาดรางวัลก็ต้องขอชื่นชม การก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับเอเชียถือว่าเป็นคนที่มีคุณภาพแล้ว และการตัดสินแพ้ชนะเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาความสามารถของตนเอง ต้องนำเอาประสบการณ์ในครั้งนี้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ต้อง Upskill ตนเองให้สูงขึ้น

นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกัน การสนับสนุนของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา  ที่สนับสนุนตั้งแต่การเก็บตัวฝึกซ้อม การดูแลเยาวชนไปร่วมการแข่งขัน จนคว้าเหรียญรางวัลมาฝากประเทศไทย ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงจัดพิธีมอบเกียรติบัตรและเงินรางวัลให้แก่เยาวชน รวมถึงมอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้สนับสนุนด้วย โดยเหรียญทองได้รับเงินรางวัลคนละ 261,000 บาท เหรียญเงินคนละ  161,500 บาท เหรียญทองแดงคนละ 82,000 บาท เหรียญฝีมือยอดเยี่ยมคนละ 35,000 บาท (เหรียญฝีมือผ่านเกณฑ์มาตรฐาน) ในส่วนของน้อง ๆ ที่พลาดเหรียญรางวัลจะได้รับทุนการศึกษาคนละ 10,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจและเกียรติประวัติให้แก่เยาวชน  “ต้องขอแสดงความยินดีและขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในครั้งนี้อีกครั้ง” อธิบดีกพร.กล่าว

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ มอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานด้วย ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ โอเอซิส ซาลอน โรงเรียนออกแบบทรงผมอาดัม ธงชัย แฮร์เทรนนิ่ง ศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท เมช แมคคานิสซึ่ม ดีไซน์ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนวารีเชียงใหม่ โรงเรียนเสริมสวยอรอุบล วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บริษัท เอส ซี เสรีชัยบิวตี้ จำกัด บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด บริษัท ลินคอล์น (อีเล็คทริค) ประเทศไทย จำกัด บริษัท วี.ซี.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไทย โกเบลโก้ เวลดิ้ง จำกัด บริษัท ตรัยจักรกล จำกัด บริษัท แอสเวลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท เมซเสอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรเจริญเคเบิลเวอร์คส์ จำกัด บริษัท เอเค เวลดิ้ง จำกัด บริษัท เทอร์มอล แมคคานิคส์ จำกัด บริษัท แดนฟอส์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย)

ที่มา: สยามรัฐ, 2/12/2566

'สนุกดอทคอม' เลย์ออฟพนักงาน นโยบายใหม่ลดไซส์องค์กร

ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า "เว็บไซต์ sanook.com (สนุกดอทคอม)"  ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แจ้งเลย์ออฟพนักงาน หลังมีผู้บริหารชุดใหม่จากจีนเข้ามาบริหารงาน

โดยรายงานข่าวจากสุนกดอทคอมระบุกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า หลังจากมีผู้บริหารชุดใหม่มาจากจีน ได้มีนโยบายในการลดต้นทุนและลดจำนวนพนักงานลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน

"พนักงานที่โดนเลย์ออฟมีมากกว่า 10 คน จากมี 30 กว่าคน ทำให้เหลือพนักงานประมาณ 20 คน เพราะผู้บริหารชุดใหม่จากจีนมีนโยบายลดไซส์องค์กร" รายงานข่าวระบุกับฐานเศรษฐกิจ

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 1/11/2566

ILO ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “Safe Journey with Her” รณรงค์สิทธิเพื่อแรงงานหญิงข้ามชาติ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ UN Women (องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) ร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) จัดงานภายใต้ชื่อ “Safe Journey with Her: Ending Violence against Women for Safe and Fair Migration” (“ช่วยพวกเธอเดินทางอย่างปลอดภัย: หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อการย้ายถิ่นทำงานที่ปลอดภัยและเป็นธรรม”) เพื่อปลุกจิตสำนึก ความสนใจของสาธารณชน ให้รับรู้ถึงปัญหาและความท้าทายที่แรงงานข้ามชาติหญิงในประเทศอาเซียนต้องเผชิญ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการองค์การสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อแรงงานข้ามชาติหญิง รวมทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน มีส่วนช่วยให้แรงงานสตรีข้ามชาติได้รับการปกป้องที่ดีขึ้น

“องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญ กับการคุ้มครองในมิติของงานที่มีคุณค่า หรือที่เราใช้คำว่า decent work คือเรื่องของความเป็นธรรม ในสภาพของการทำงาน เช่น ค่าจ้าง ต้องได้รับความเท่าเทียม ที่สำคัญคือต้องมีส่วนจัดตั้งองค์กร หรือตั้งกลุ่มของตัวเอง เพื่อที่จะสะท้อนสิทธิ์ของตัวเองได้ มีกลไกของสหภาพแรงงาน ที่จะเปิดโอกาสให้เวทีของตัวเอง ในการนำเสนอปัญหา ร่วมคิดหาทางออก เพื่อสิทธิอันพึงมี พึงได้ อย่างไรก็ตามมิติชองแรงงานข้ามชาติ การตั้งสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีบ้างประเทศ เช่น มาเลเชีย หรือไทย สหภาพแรงงานได้พยายามให้แรงงานต่างด้าวเข้ามามีส่วนด้วย”

“การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของแรงงานหญิง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม ทั้งในแง่ของนโยบาย กฎหมายและอื่นๆ”

“เป็นเรื่องที่น่ายินดี ขณะนี้ มีภาคีองค์กรต่างๆร่วมช่วยกันหาทางออก ทั้งภาครัฐ แรงงาน นายจ้าง ชุมชน ภาคีระดับชาติ และในระดับอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญและทำงานร่วมกัน เพื่อหาทางออกให้กับแรงงานหญิง“

ด้าน ซาราห์ นิบส์ (Ms Sarah Knibbs) รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาค UN Women กล่าวว่า โครงการนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือกันที่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้คนเข้าใจชีวิตจริงของผู้หญิงที่สมควรได้รับการปกป้อง

“ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โครงการ Safe and Fair (“ปลอดภัยและเป็นธรรม”) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ILO, UN Women และ UNODC (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) ได้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานหญิงมีความปลอดภัยและเป็นธรรม แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมากที่ทำให้แรงงานหญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถพูดภาษาของประเทศที่ตัวเองไปทำงานอยู่ แม้ว่าหนทางที่จะลดความรุนแรงต่อสตรียังอีกยาวไกล แต่อยากเรียกร้องให้ทุกคนในสังคมรวมทั้งสถาบันและองค์กรต่างๆร่วมมือกันทำให้ความรุนแรงต่อสตรีหมดไป”

งานครั้งนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย เพื่อบอกเล่าเรื่องราว และประสบการณ์ การแก้ปัญหา ของแรงงานหญิงข้ามชาติ จำนวนหนึ่ง ในประเทศอาเซียน ที่เป็นตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ขณะทำงาน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง รวมถึงและในประเทศไทย และยังมีการแสดงผลงานภาพศิลปะ ของ ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา โดยได้สะท้อนชีวิตแรงงานข้ามชาติหญิงในแขนงต่างๆ เช่น ประมง เกษตร และใช้สัญลักษณ์ดอกไม้ สีที่สดใส ใส่ไว้ในผลงานเพื่อแสดงถึงความหวัง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 1/12/2566

รปภ.4 แสนราย เตรียมเฮ รมว.แรงงาน ปลดล็อค แก้ กม.ให้ "ค่าล่วงเวลา" ดีเดย์ ชงเข้า ครม.12 ธ.ค.นี้ เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

30 พ.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย แกนนำกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานและประสานความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ จำนวน 15 กรณี  โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ต้องขอบคุณ พวกเรากลุ่มแรงงานเพื่อสังคม ที่สะท้อนปัญหาระหว่างพี่น้องแรงงาน กับกระทรวงฯ แน่นอนว่าอะไรที่เราสามารถเจรจาได้ กระทรวงแรงงานก็จะเจรจาให้ได้ข้อยุติ ส่วนเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายก็จะให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาหารือตามกระบวนการของกฎหมาย

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมายอัตราการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนลูกจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) กรณีเกิน 8 ชั่วโมง โดยในเรื่องนี้ผมได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เสนอร่างเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว กระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ให้กับพี่น้องแรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อดีที่เรามีเพื่อนๆ ที่ทํางานในอาชีพ รปภ.ถึง 400,000 คนโดยประมาณ

“ถามว่าตรงนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีไหม ในอดีตพวกเราก็จะได้ยิน แล้วได้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ทํางานเป็น รปภ. 12 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าล่วงเวลา ซ้ำร้าย เพื่อนกะต่อไปไม่เข้ามา เราก็ต้องเข้ากะพ่วงอีกหนึ่งกะ เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งผมคิดว่ามันเกินศักยภาพของร่างกายของคนเรา ที่จะไปทํางานในลักษณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ได้มีการออกเป็นกฎกระทรวง ออกมาว่า 1วัน รปภ. สามารถทํางานได้ 8 ชั่วโมง ถ้าหากว่าจะทํางานเกิน 8 ชั่วโมง ทางนายจ้างต้องให้ค่าล่วงเวลา เหมือนกับอาชีพอื่นทั่วไป” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ด้าน นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย แกนนำกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า ในวันนี้ผมในนามกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมรู้สึกดีใจและประทับใจท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นอย่างมากที่ท่านให้การต้อนรับอยู่รับฟังปัญหาของลูกจ้างทุกเรื่องทั้ง 15 เรื่อง ไม่คิดว่าท่านจะใส่ใจปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงขนาดนี้ ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องการรัฐมนตรีอย่างนี้ ผมเชื่อในศักยภาพของท่านรัฐมนตรีว่าจะช่วยแก้ไขปัญหากรณีต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเร็วต่อไป

ที่มา: พรรคภูมิใจไทย, 30/11/2566

17 ตัวประกันล็อตแรกถึงไทย 'เศรษฐา' วิดิโอคุย เร่งหาทางช่วยอีก 9 คน

30 พ.ย.2566 เมื่อเวลา 16.00 น. ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าวต้อนรับ 17 คนไทยที่ถูกปล่อยจากตัวประกัน โดยการแถลงข่าวครั้งนี้มีการวิดีโอคอลจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มาสอบถามสารทุกข์สุขดิบคนไทย โดยถามว่าดีใจหรือไม่ที่กลับมา และสอบถามว่าได้ติดต่อกับเพื่อนคนไทยที่ยังเหลืออยู่ว่าสบายดีหรือไม่

ทั้งนี้ตัวแทนคนไทย บอกว่ามีกำลังใจดีมากแต่ยอมรับว่าไม่ทราบข่าวเพื่อนคนไทยที่เหลือ และได้รับการดูแลดีในระดับหนึ่งไม่ถึงกับเลวร้าย

เศรษฐา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาล รวมทั้งนายปานปรีย์ ได้ติดต่อให้ความช่วยเหลือกับหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และกาตาร์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน และนับแต่วันที่ 7 ต.ค.ได้หาแนวทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และทุกคนมีความเป็นห่วง จนนำมาสู่วันนี้ที่คนไทยได้รับการช่วยเหลือ และอยากให้คนที่เหลือได้รับการช่วยเหลือกลับมา

ปานปรีย์ กล่าวว่า คนไทย 17 คนที่ได้รับการปล่อยตัวมา ทุกคนมีสภาพจิตใจดี และทางอิสราเอลได้การดูแลเป็นอย่างดีในโรงพยาบาล ซึ่งคนไทยประสบปัญหามาและห่วงว่าจะกระทบสุขภาพจิต แต่พบว่าทุกคนยังสุขภาพจิตดีและอยากกลับไทยเร็วที่สุด

"ในช่วงที่อยู่ในอิสราเอลได้ข่าวดีว่ามี 2 คนถูกปล่อยตัวมารวมกับชุดนี้เป็น 19 คนและเพิ่มมาอีก 4 คนระหว่างที่เดินทาง มีตัวประกันปล่อยตัวมาแล้ว 23 คนและค้างอยู่อีก 9 คน และยังทำงานต่อจนกว่าทั้งหมดจะได้รับอิสรภาพกลับมา" ปานปรีย์ กล่าว

ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า โดยวันนี้กลับมาชุดแรก 17 คน และอีก 6 คนบางส่วนเข้ารับการตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าอีก 6 คนจะได้เดินทางกลับมาในเร็ววัน และขอขอบคุณมิตรประเทศที่ช่วยเหลือ เพราะเท่าที่สัมผัสเขารักคนไทยมาก และมาเที่ยวไทยจึงอยากให้คนไทยได้รับการช่วยเหลือ โดยจำนวนตัวประกัน 200 คน พบว่า คนไทยได้รับการปล่อยตัวในลำดับต้นๆ และมีการปล่อยตัวมากที่สุด

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจยังได้พบกับประธานาธิบดีอิสราเอล และ รมว.ต่างประเทศ เพื่อขอความมั่นใจว่าพี่น้องคนไทยที่ไปทางอิสราเอลจะได้รับความปลอดภัยและได้รับสิทธิประโยชน์ และเขารับปากว่าจะดูแลอย่างดี ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลว่าจะถูกตัดชื่อทิ้ง

เมื่อถามว่าการช่วยเหลือตัวประกันที่ผ่านมามาถูกทางหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ความสำเร็จมาถูกทาง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีตัวประกันคนไทยถูกปล่อยกลับมาจากตัวเลข 17 คนและมีจำนวนที่ถูกปล่อยตัวออกมาเรื่อยๆ ส่วนอีก 9 คนยังไม่หยุดหน้าที่ เป็นเรื่องที่เราห่วงใยและกังวลไม่ต่างกับ 17 คนแรกที่ได้รับการปล่อยตัวมาก อีกทั้งจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานกระทรวงต่างประเทศเป็นด่านหน้า

ถ้าถามว่าเป็นความสำเร็จทางการทูตหรือไม่ คิดว่าได้ทำหน้าที่ว่าทำหน้าที่ทางการทูตอย่างเต็มที่ การพูดคุยกับมิตรประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จตรงนี้

ตัวแทนคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรี และนายปานปรีย์ และทุกหน่วยงาน รวมทั้งเอกอัครราชทูต และคนไทยที่ส่งกำลังใจให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน และขอแสดงความเสียใจกับเพื่อนแรงงานไทยที่เสียชีวิต 39 คน จากนั้นขอให้ทุกคนร่วมยืนไว้อาลัยกับเพื่อนๆ แรงงาน

“ขอบคุณทุกหน่วยงาน ขอบคุณทุกกำลังใจที่ได้กลับบ้าน” เสียงจากแรงงานหญิงคนเดียวที่ได้รับการปล่อยตัว

เมื่อถามว่าตอนที่ได้ไปเจอตัวประกันที่ถูกปล่อยมา นายปานปรีย์ บอกว่าเป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจ มาตลอดระยะเวลา 2 เดือน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับตัวประกันทั้งหมดเราไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิต และมีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไร จะปลอดภัยหรือไม่ เราเอาใจเขาไปใส่ใจเรา

"ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเราหรือญาติพี่น้อง เมื่อพบทั้ง 17 คนจึงยินดี ดีใจ โล่งอก สบายใจว่าทั้ง 17 คนมีชีวิตและปลอดภัย และทุกคนยิ้มแย้มได้ เป็นความอิ่มเอมใจ" ปานปรีย์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต ถึงผลการคัดกรองสุขภาพตัวประกันชาวไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล จำนวน 17 คน เบื้องต้น ผลการคัดกรองสุขภาพกาย ไม่พบผู้ป่วยสงสัยโรคติดต่อหรือมีไข้ แต่พบมีอาการป่วยทางกาย 6 ราย แบ่งเป็น มีปัญหาการได้ยิน 2 คน ปวดเข่า 1 คน ชานิ้วโป้ง 1 รคน ปวดท้องโรคกระเพาะ 1 คน และโลหิตจาง สงสัยธาลัสซีเมีย 1 คน โดยเจาะตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมแล้ว

ส่วนการคัดกรองทางด้านสุขภาพจิต พบมีความเครียดเล็กน้อย 2 คน ที่เหลือ 15 คน อาการปกติ ภาพรวมไม่มีผู้ป่วยที่ต้องประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม จะมีการประสานโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการติดตามเรื่องสุขภาพต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 30/11/2566

ภาคธุรกิจห่วงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กระทบต้นทุนผลิต สินค้าแพงขึ้น แนะจ่ายตามทักษะฝีมือ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 ในเดือน พ.ย.2566 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 256 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด

โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความกังวลกรณีที่ภาครัฐจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

"จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11-20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด"

ดังนั้นผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

รวมทั้งมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้นในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 29/11/2566

ออกมาตรการคุ้มครองแรงงานเชิงรุกเฝ้าระวังการเลิกจ้าง พร้อมเตือนนายจ้าง หากเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน

นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงนี้ที่มีกระแสข่าวสถานประกอบกิจการหลายแห่งปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต รวมทั้งเลิกจ้างลูกจ้าง ว่า กสร. มีความห่วงใยทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการและการจ้างงานของนายจ้างจนอาจเกิดปัญหาการเลิกจ้างตามมา จึงอยากขอเน้นย้ำว่า กสร. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง กสร. ได้ดำเนินการออกมาตรการคุ้มครองแรงงานเชิงรุกเฝ้าระวังการเลิกจ้าง โดยหากพบว่ามีการค้างจ่ายค่าจ้างให้ดำเนินการตรวจแรงงานเชิงรุก ดำเนินการออกคำสั่งและช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย กรณีที่มีการค้างจ่ายค่าจ้างที่ส่งผลต่อลูกจ้างจำนวนมากให้พนักงานตรวจแรงงานอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างนอกสถานที่ พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้รวมถึงการชี้แจงสิทธิให้ลูกจ้างทราบอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่หยุดกิจการชั่วคราว และมีแนวโน้มในการเลิกจ้าง โดยมีการวางแผนป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกินไป และที่สำคัญคือต้องดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการกลุ่มดังกล่าวนำมาตรการในการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างของกรม เช่น การลดค่าใช้จ่ายโดยความร่วมมือของลูกจ้าง การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และเกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามมาตรา 118 กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งรวมถึงการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง โดยนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป มิฉะนั้น ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้างต้น สามารถยื่นคำร้อง คร.7 ต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ สำหรับนายจ้างหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งความผิดทางอาญากรณีค้างจ่ายเงินอื่นด้วย เช่น ค่าชดเชย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 29/11/2566

เผย 'อิสราเอล' ให้สิทธิประโยชน์เยียวยาตัวประกันแรงงานไทย รายละ 9.4 หมื่น รับรายเดือนอีก 6.4 หมื่น นาน 6 เดือน

28 พ.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้าเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอลที่ได้รับการปล่อยตัวทั้ง 17 ราย พร้อมกับคณะของ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าเยี่ยมแรงงานด้วย ณ โรงพยาบาล Shamir Medical Center ประเทศอิสราเอล

โดยนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ได้พบปะพูดคุยพร้อมให้ข้อมูลกับแรงงานไทยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถูกจับกุมตัว ซึ่งทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนแรก จำนวน 10,000 เชเกล (1 นิวเชเกลอิสราเอล = 9.4361 บาทไทย) ในรูปแบบบัตรเงินสด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั่วโลก รวมถึงช่วง 6 เดือนแรกจะได้รับเงิน 6,900 เชเกลรายเดือน รวมถึงหากแรงงานประสบปัญหาด้านร่างกาย หรือจิตใจ ขอให้ไปพบแพทย์ พร้อมใบรับรองแพทย์มายื่นให้อิสราเอล เพื่อประกอบการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือรายเดือนหลังจาก 6 เดือนแรก โดยแต่ละรายจะได้รับเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการประเมินด้วย

ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวทั้ง 17 ราย จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 081 ถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 12.05 น.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/11/2566

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ 18,000 บาท ภายหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีนี้ ส่วนข้าราชการที่ยังเงินเดือนไม่ถึงจะปรับขึ้นไปเช่นกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยจะปรับขึ้นในอัตรา 10 % เป็นระยะเวลา 2 ปี ในปีงบประมาณ 2567-2568 คาดว่าจะเริ่มต้นการขึ้นเงินเดือนงวดแรกได้ภายหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีนี้

“การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จะเริ่มต้นที่ข้าราชการบรรจุใหม่ก่อน โดยในช่วง 2 ปีนี้ จะปรับเพิ่มเงินเดือนให้ไปถึง 18,000 บาท ส่วนข้าราชการรุ่นพี่ที่เข้ามาแล้วเงินเดือนไม่ถึงจะปรับขึ้นไปเช่นกัน เพื่อให้มีส่วนต่างของเงินเดือนเพิ่มขึ้นไปด้วย” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28/11/2566

เลขาฯ ประกันสังคม ชวนผู้ประกันตน ใช้สิทธิทำฟันฟรี 900 บ. ต่อคนต่อปี

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผู้ประกันตน มาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และมาตรา 39 (ที่ประกันตนเอง) สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในกรณีทันตกรรม อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ในอัตรา 900 บาท/คน/ปี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม ลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทน ลดระยะเวลารอคอย ลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางของผู้ประกันตน

สำหรับจำนวนยอดผู้ประกันตนที่มาใช้บริการ ข้อมูลในเดือนต.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกันตนมาใช้บริการแล้วกว่า 262,088 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 234,325,226.85 บาท จากข้อมูลการเข้ารับบริการของผู้ประกันตนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกันตนให้ความพึงพอใจ มีความมั่นใจในการให้บริการโดยไม่ต้องสำรองจ่าย

“ผมขอเชิญชวนผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิกรณีทันตกรรม อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ประจำปี 2566 สามารถขอรับบริการในสถานพยาบาลเอกชนและเครือข่าย หรือสถานพยาบาลของรัฐ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 นี้ หากไม่ใช้สิทธิในปีนี้เท่ากับเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพในช่องปาก

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่จะไปใช้สิทธิฯ ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย”

เลขาฯสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วยใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จและใบรับรองแพทย์

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ข่าวสด, 28/11/2566

ใกล้สิ้นปี กสร.ห่วงข้อพิพาทแรงงาน ตั้งศูนย์แก้ข้อขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้าง 5 ภาค

27 พ.ย. 2566 นางโสภา เกียรตินิรชา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี เป็นเวลาที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของสถานประกอบกิจการที่ทำขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือองค์กรด้านแรงงานส่วนใหญ่จะสิ้นสุดลงตามรอบระยะเวลาที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินโบนัสและการปรับค่าจ้างประจำปี ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่าย ก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้

“สำหรับช่วงเวลาใกล้สิ้นปี 2666 จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน ขอให้เร่งดำเนินการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก โดยแนะนำ ส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้าง ใช้ระบบทวิภาคี เจรจากันด้วยความสุจริตใจ เข้าอกเข้าใจกัน เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน การเจรจาต่อรองก็จะสามารถยุติกันได้ไม่นำมาซึ่งข้อขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงาน” นางโสภา กล่าว

ด้าน น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ กสร.มีความมุ่งหวังให้การเจรจาปรับปรุงสภาพการจ้างและการตกลงข้อตกลงสภาพการจ้างจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้างและครอบครัวควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของสถานประกอบกิจการ ทั้งเป็นเครื่องมือในการรักษาการจ้างและการดำเนินกิจการของสถานประกอบกิจการที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรายได้ลดลง หรือขาดทุนยังคงดำเนินการต่อไปได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี

“อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติการด้านแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก กสร.ได้จัดตั้งศูนย์แรงงานสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชลบุรี จ.นครราชสีมา จ.ลำพูน และ จ.สงขลา ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังและสนับสนุน ให้คำปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์แก่สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง มุ่งเน้นการปฏิบัติการเชิงรุกโดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เข้าส่งเสริมและร่วมแก้ไขข้อขัดแย้งที่จะนำมาสู่ข้อพิพาทแรงงานที่อาจมีความรุนแรง เช่น การปิดงาน นัดหยุดงานหรือการผละงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับสถานประกอบกิจการและลูกจ้างตลอดจนความน่าเชื่อถือในด้านการลงทุนของประเทศ” น.ส.กาญจนา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 27/11/2566

รมช.ต่างประเทศ เผย “ฮามาส” ปล่อยตัวประกันเพิ่ม 3 คน

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปล่อยตัวประกันภัยเพิ่มเติมที่อิสราเอล ว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาได้รับรายงานว่ามีการปล่อยตัวประกันเพิ่มอีก 3 คน  ขณะนี้กำลังรักษาตัวที่โรงบาลในอิสราเอล โดยคืนวันนี้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)  จะเดินทางไปรับ  และขณะนี้กำลังประสานงานกับทางการอิสราเอลอยู่ และคาดว่า 2-3 วันนี้จะเดินทางกลับมามายังประเทศไทย  ซึ่งมีการเตรียมเครื่องบินพาณิชย์ไปรับแล้ว  พร้อมยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องในเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยทางกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ประสาน

ส่วนมีการส่งสัญญาณปล่อยประกันที่เหลือเพิ่มเติมหรือไม่ นายจักรพงษ์   ระบุว่า ช่วงนี้เป็นสัญญาณที่ดี  ทางกลุ่มฮามาสจะพยามปล่อยตัว  โดยขอให้ประชาชนรอและมีความหวัง  ว่าคนไทยจะได้เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยทุกคน รมช.ต่างประเทศ  คาดว่าขณะนี้ยังมีคนไทยที่ถูกควบคุมตัวอีก 15 คน  แต่ทางกลุ่มฮามาสก็จะพยามปล่อยตัวประกันออกมาเรื่อยๆ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/11/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net