Skip to main content
sharethis

ข้อมูลล่าสุดจาก 'กรีนพีซ' ระบุในหนึ่งวินาที 'บริษัทยูนิลีเวอร์' ขายผลิตภัณฑ์แบ่งบรรจุที่ทำจากซองพลาสติก หรือที่เรียกว่า 'ซองซาเช่' (sachet) ถึง 1,700 ซอง ซองประเภทนี้เป็นซองที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซ้ำเติมวิกฤตมลพิษพลาสติกโลก ทำให้เจอขยะในสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

รายงาน “UNCOVERED: Unilever’s complicity in the plastics crisis and its power to solve it” (เปิดโปงยูนิลีเวอร์: ความเกี่ยวข้องกับมลพิษพลาสติกและทางออกของปัญหา) ระบุถึงข้อมูลที่น่าตกใจของการใช้พลาสติกของบริษัทยูนิลีเวอร์ รายงานยังระบุว่ายูนิลีเวอร์ขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซองพลาสติกขนาดเล็ก หรือซองซาเช่ถึง 53,000 ล้านซองในปี 2566 [1] แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทเคยพูดถึงบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ว่า “ไม่ดี เพราะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้” [2]

“ยูนิลีเวอร์กำลังราดน้ำมันเข้ากองไฟ และเร่งให้เกิดวิกฤตมลพิษพลาสติก” นีน่า แชรงค์ หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ สหราชอาณาจักรกล่าว “ยูนิลีเวอร์มีแบรนด์ดังอย่างโดฟ และพยายามบอกโลกว่าแบรนด์นี้กำลังทำสิ่งดีๆ แต่กลับสร้างขยะพลาสติกออกมาจำนวนมหาศาล ขยะเหล่านี้เป็นมลพิษต่อโลก ทางแบรนด์จะอ้างว่าเป็นบริษัทที่ทำสิ่งดี ๆ ในขณะที่กำลังก่อมลพิษพลาสติกไปด้วยไม่ได้ ยูนิลีเวอร์ต้องเปลี่ยน”

ซองซาเช่ หรือซองบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าแบบแบ่งปริมาณ (ขนาดทดลอง) ได้มาบุกตลาดในประเทศกำลังพัฒนา ยูนิลีเวอร์เป็นบริษัทหนึ่งที่ใช้ซองซาเช่มาแบ่งขายสินค้าของตน การขายผลิตภัณฑ์ในซองซาเช่ในจำนวนมหาศาลทำให้เพิ่มปัญหามลพิษพลาสติกเพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บซองประเภทนี้แล้วนำไปรีไซเคิล ขยะจากบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนและแหล่งน้ำในสิ่งแวดล้อมที่ขยะไปอุดตัน ทำให้เกิดน้ำท่วมตามมา

ในปี 2565 แบรนด์โดฟเพียงแค่แบรนด์เดียวใช้ซองซาเช่ราว 6.4 พันล้านซอง ซึ่งนับเป็น 10% ของยอดขายของผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ที่ใช้ซองซาเช่ [3] เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโดฟ ได้เคยกล่าวว่า “เรามุ่งมั่นอย่างมากที่จะเป็นแบรนด์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องขยะพลาสติก” [4] แต่ล่าสุด กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกรีนพีซ สหราชอาณาจักรได้เปิดเผยภาพขยะพลาสติกที่เป็นซองซาเช่แบรนด์โดฟที่พบบนชายหาดและแหล่งน้ำในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงการดำเนินการที่ล่าช้าของยูนิลีเวอร์ในการมุ่งสู้เป้าหมายลดพลาสติกที่บริษัทได้เคยตั้งไว้ รวมถึงความพยายามที่ไม่ต่อเนื่องในการเปลี่ยนจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปเป็นการใช้ซ้ำ แม้ว่ายูนิลีเวอร์เคยประกาศว่าจะลดใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในบรรจุภัณฑ์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2568 แต่จากการวิเคราะห์ของกรีนพีซพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ยูนิลีเวอร์จะพลาดเป้าหมายนี้ไปเกือบ 10 ปีและอาจทำได้ตามเป้าหมายราวปี 2577 [5]

และแม้ยูนิลีเวอร์จะอ้างว่ากำลังพยายามหา “วิธีการเติมผลิตภัณฑ์แบบรีฟิลและการใช้ซ้ำให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก” แต่กรีนพีซพบว่าการดำเนินการของยูนิลีเวอร์ตอนนี้ อาจใช้เวลาหลายปี อาจจะถึงปี 3543 กว่าที่ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ 100% จะมีระบบใช้ซ้ำได้ [6]

กรีนพีซเรียกร้องให้ยูนิลีเวอร์ลด ละ เลิก ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในกระบวนการผลิต และเปลี่ยนไปสู่ระบบการบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเริ่มจากการลดพลาสติกที่จัดการยากที่สุดอย่างซองพลาสติกซาเช่ กรีนพีซยังเรียกร้องให้ยูนิลีเวอร์สนับสนุนเป้าหมายเดียวกันนี้ในการประชุมเจรจาของสหประชาชาติด้านสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่กำลังมีขึ้น และทำตามเป้าหมายของสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ครอบคลุมถึงการลดการผลิตพลาสติกให้ได้ 75% ทั่วโลกภายในปี 2593

มาเรียน เลเดสมา นักรณรงค์จากกรีนพีซ ฟิลิปปินส์กล่าวว่า “ซองซาเช่ของโดฟแต่ละซองที่เราเจอบนชายหาดและแหล่งน้ำควรจะเป็นเครื่องเตือนโดฟและยูนิลีเวอร์ว่าพวกเขาจะต้องไม่ก่อผลกระทบในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ด้วยซองขยะเหล่านี้อีกต่อไป ยูนิลีเวอร์ใช้ซองพลาสติกซาเช่มาหลายสิบปี แต่ยังไม่เคยต้องมารับผิดชอบกับมลพิษที่ตัวเองก่อเลยสักครั้ง ซองพลาสติกซาเช่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความไม่เป็นธรรมทางสังคม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการผลิตพลาสติกและวงจรชีวิตพลาสติกทั้งหมด”

“ถ้ายูนิลีเวอร์อยากเป็นผู้นำด้านความเปลี่ยนแปลง ยูนิลีเวอร์จะต้องหยุดสร้างผลกระทบ พวกเขาควรจะทำให้คนเห็นว่าเขาจริงจังกับปัญหาพลาสติกและตั้งใจลด ละ เลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเริ่มที่ซองพลาสติกแบบซาเช่ แล้วมุ่งสนับสนุนให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกเข้มแข็งขึ้นโดยทำให้การลดการผลิตพลาสติกเกิดขึ้นได้จริง”

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ https://www.greenpeace.org/international/publication/63935/unilever-uncovered/
ภาพถ่ายขยะพลาสติกแบรนด์โดฟ: https://media.greenpeace.org/collection/27MZIFJF7Z7Z7

 

หมายเหตุ
[1] ตัวเลขจาก Future Market Insight ซึ่งระบุไว้ในรายงาน “UNCOVERED:  Unilever’s complicity in the plastics crisis and its power to solve it” ของกรีนพีซสากล
[2] ฮันเนเก เฟเบอร์ (Hanneke Faber) ประธานฝ่ายโภชนาการของยูนิลีเวอร์อธิบายพลาสติกหลายชั้น (multilayer plastic) ว่า “ไม่ดี เพราะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้” ในงานสำหรับนักลงทุนเมื่อปี 2562 (นาทีที่ 27.11 https://www.youtube.com/watch?v=S7aBXPvMPE0)
[3] ตัวเลขจาก Future Market Insights ซึ่งระบุไว้ในรายงาน “UNCOVERED:  Unilever’s complicity in the plastics crisis and its power to solve it” ของกรีนพีซสากล
[4] คำพูดของมาเซลา เมเลอโร (Marcela Melero) รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวของโดฟ ใน https://www.dove.com/us/en/stories/about-dove/plastics-commitment.html
[5] รายงานประจำปี 2565 ของยูนิลีเวอร์ระบุว่าการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทลดลง 13% เมื่อเทียบกับปี 2562 หากการลด 13% เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2565 จะหมายความว่าแต่ละปียูนิลีเวอร์ลดการผลิตได้ 4.3% ต่อปี และนั่นจะใช้เวลาถึงปี 2577 จึงจะทำให้การใช้พลาสติกบริสุทธิ์ของยูนิลีเวอร์ลดลงน้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2562
[6] จากข้อมูลในรายงานความมุ่งมั่นระดับโลกของมูลนิธิ Ellen McArthur ระบุว่ามีเพียง 0.1% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกของยูนิลีเวอร์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 0.2% ในรายงานปี 2565 หากบริษัทเพิ่มสัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ 0.1% ต่อปี เราจะต้องใช้เวลาไปจนถึงทศวรรษใหม่ จึงจะเห็นบริษัทเปลี่ยนแปลงไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net