Skip to main content
sharethis

รายงานประจำปี 2566 เนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงคนข้ามเพศฯ หรือ TDOR ระบุว่า มีคนข้ามเพศจากทั่วโลกถูกสังหารรวมแล้ว 321 รายในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย โดยมีร้อยละ 80 เป็นคนเชื้อชาติสีผิวอื่นที่ไม่ใช่คนขาว จนชวนให้ทบทวนเรื่องอำนาจทับซ้อนที่ทำให้คนผิวสีเสี่ยงต่อการเผชิญความรุนแรงมากกว่า

ในวันที่ 20 พ.ย. ของทุกปีนับเป็นวันแห่งการรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Transgender Day of Remembrance หรือ TDOR) มีจัดงานรำลึกดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยนักกิจกรรม เกวนโดลิน แอนน์ สมิทธ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้หญิงข้ามเพศที่ชื่อ ริตา เฮสเตอร์ ผู้ที่ถูกสังหารในปี 2541 จากนั้นจึงกลายมาเป็นประเพณีการรำลึกประจำปีถึงอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เกิดขึ้นกับคนข้ามเพศทั่วโลก

สำหรับในปี 2566 นี้ มีการสำรวจประจำปีพบว่ามีคนข้ามเพศและบุคคลที่มีเพศสภาพหลากหลายถูกสังหารรวม 321 รายจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นคนผิวสี มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้ในวันเดียวกับวันรำลึกคนข้ามเพศประจำปี 2566

การสำรวจดังกล่าวจัดทำโดย "ทรานส์เจนเดอร์ยุโรป" (TGEU) ในโครงการที่ชื่อ "โครงการเฝ้าติดตามกรณีฆาตกรรมคนข้ามเพศ" ซึ่งมีเป้าหมายต้องการติดตามเรื่องการเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงของคนข้ามเพศและบุคคลที่หลากหลายทางเพศสภาพทั่วโลก

ผลการสำรวจของปี 2566 ระบุว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 - 18 พ.ย. 2566 มีคนข้ามเพศถูกสังหารรวม 321 ราย น้อยกว่าปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย โดยที่ในปีที่แล้วมีตัวเลขอยู่ที่ 327 ราย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุว่าร้อยละ 80 ของกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการฆาตกรรมคนข้ามเพศที่ได้รับผลกระทบจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 15 โดยที่ในยุโรปมีกรณีฆาตกรรมคนข้ามเพศที่เกิดขึ้นร้อยละ 45 จากกรณีทั้งหมดมีผู้ประสบเหตุเป็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

ฟาราห์ อับดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายของ TGEU กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นความเปราะบางต่อการถูกละเมิดและความเสี่ยงที่กลุ่มคนข้ามเพศคนผิวสีที่เป็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ มันเน้นย้ำให้เห็นถึงการต่อสู้ในเชิงอำนาจทับซ้อนที่พวกเขาต้องพบเจอ จากการที่ต้องใช้ชีวิตโดยเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ, ความรุนแรง และการถูกกีดกันหลายรูปแบบ

อับดีบอกอีกว่า เรื่องนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงการช่วยเหลือ, คุ้มครอง และเรียกร้องสิทธิอย่างครอบคลุมให้กับคนข้ามเพศที่เป็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเหล่านี้ รวมถึงต้องเรียกร้องให้เลิกเกลียดกลัวคนนอกแล้วหันมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความรุนแรงและเกิดการทำให้เป็นชายขอบต่อบุคคลเหล่านี้ด้วย

รายงานของ TGEU ระบุว่ากรณีการฆาตกรรมส่วนใหญ่ (รวม 235 กรณี) มีรายงานว่าเกิดขึ้นในละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ "มีระบบการเฝ้าติดตามแบบฝังรากอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้" ในขณะที่ประเทศ อาร์เมเนีย, เบลเยี่ยม และสโลวาเกีย มีการรายงานกรณีคนข้ามเพศที่ถูกฆาตกรรมเป็นครั้งแรก

ทาง TGEU ระบุว่า สถิตินี้เป็นแค่เหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับรายงานเท่านั้น อาจจะมีกรณีที่ตกสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก และมีบางกรณีผู้ประสบเหตุไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็นคนข้ามเพศหรือบุคคลหลากหลายทางเพศสภาพโดยตรง

หนึ่งในกรณีที่ได้รับการพูดถึงในสื่ปีนี้ คือกรณีของ บริอันนา เกย์ วัยรุ่นหญิงข้ามเพศอายุ 16 ปี ที่ถูกฆาตกรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะสื่อมีส่วนในการสุ่มไฟความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศด้วย โดยที่หลังจากเกิดเหตุหลายสัปดาห์ก็มีผู้คนในอังกฤษหลายพันคนเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกถึงการเสียชีวิตของเธอ

TGEU ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กร LGBTQ+ อื่นๆ อีก 5 องค์กรระบุว่า กรณีการเสียชีวิตที่มีการไว้ทุกข์ให้เหล่านี้ เกิดขึ้นจากปมปัญหาหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดกฎหมายต่อต้านการกีดกันเลือกปฏฺิบัติ หรือเป็นเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติทั้งที่มีอยู่, ปัญหาการขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม, การขาดโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยหรือการงาน เพราะการถูกปฏิเสธ การกีดกันเลือกปฏิบัติ หรืออุปสรรคทางการเงิน, รวมถึงการกีดกันเลือกปฏิบัติเชิงโครงสร้างโดยรวมที่เปิดโอกาสให้เกิดการละเลยทางสังคม การล่วงละเมิด และการทำร้าย ต่อคนข้ามเพศและบุคคลหลากหลายทางเพศทั่วโลก

"ในปีนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้นักกิจกรรม, ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้บัญญัติกฎหมาย, และเหล่าผู้บริจาค รับฟังเสียงของชุมชนของพวกเรา แล้วก็มีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองชีวิตของคนข้ามเพศและบุคคลที่หลากหลายทางเพศสภาพ มันเป็นความรับผิดชอบที่พวกเรามีร่วมกันในการสร้างโลกที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิตของคนข้ามเพศ" TGEU ระบุในแถลงการณ์

 

เรียบเรียงจาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อเรียกร้องสืบเนื่องจาก 'วันสตรีสากล' ให้คำนึงถึงและนับรวม 'ผู้หญิงข้ามเพศ' ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net