Skip to main content
sharethis

แรงงานอิสราเอลหลังกลับเมืองไทยเผยแม้รู้ว่าไปแล้วทำงานแล้วอันตรายแต่เพราะความจึงต้องเสี่ยง

นายกรัชกร พุทธสอน อายุ 40 ปี 128 หมู่ 14 บ้านโนนเปือย ตำบลโนนเปือย อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธรว่าตนมีภูมิลำเนาเดิม 203 หมู่ 8 ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งมีภรรยาที่จังหวัดยโสธรและปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 3 คน

ก่อนหน้านี้ทำงานในประเทศไทยกับภรรยาแต่ด้วยค่าแรงค่าใช้จ่ายในครับครัวไม่เพียงพอถ้ายังทำต่อไปก็มีแต่สร้างหนี้เพิ่มจึงปรึกษาภรรยาจะไปทำงานต่างประเทศที่ประเทศอิสราเอลจึงตัดสินใจไปกู้เงินกว่าสองแสนบาทจากนั้นก็ไปสมัครที่จัดหางานจนได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลและถูกยิงได้รับบาดเจ็บแต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้วเพราะโดนยิงที่ตรงหัวเข่าด้านซ้าย

ทั้งนี้ นายกรัชกร ยังกล่าวอีกว่าก่อนจะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลก็ทราบอยู่ว่ามีการยิงกันแต่ด้วยความจนจึงเสี่ยงที่จะไปทำงานเพราะค่าแรงเฉลี่ยแล้วก็ประมาณเดือนละ6หมื่นบาทพอจะมีเงินเก็บและใช้หนี้อีกทั้งทำทุนการศึกษาให้กับลูกทั้ง3คนแต่มันไม่เป็นอย่างที่คิดเมื่อตนกับเพื่อนคนงานนั่งรถกระบะของนายจ้างที่ไปรับกลับที่พักโดยนั่งมากับเพื่อนคนงาน10คนขณะรถวิ่งมาก็ได้ยินเสียงปืนและทราบว่าตนถูกยิงแล้วจึงบอกเพื่อนให้มอบลงแต่โชคดีนายจ้างขับรถเร็วจึงรอดมาได้และภายในบนรถถูกยิงจำนวน 3 คน

ต่อมาตนได้เดินทางกลับประเทศไทยเป็นชุดแรกของแรงงานไทยและตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำงานเลยมาช่วยแม่ยายตากข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวที่จังหวัดยโสธร

ที่มา: สยามรัฐ, 18/11/2566

กรมการจัดหางาน ประชุมระดับวิชาการไทย - เมียนมา

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และ นายมอง มอง ตาน (Mr. Maung Maung Than) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานร่วมฝ่ายเมียนมา ในการประชุมระดับวิชาการไทย – เมียนมา เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยฝ่ายไทยมีนายยุทธนา บัวจุน ผู้ตรวจราชการกรม นายจำนงค์ ทรงเคารพ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว นางเจนจิรา เดชะรัฐ เลขานุการกรม นางสาวมนทวรรณ อุดมปณิธ ผู้อำนวยการกองนิติการ นายภูวกร โตสิงห์ขร จัดหางานจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านฝ่ายเมียนมามีนายนายโย มิน อ่อง (Mr. Myo Min Aung) อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานทูตแรงงาน สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และคณะ ร่วมประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 พ.ย. 2566 ณ โรงแรมสยาม เบย์ชอร์ รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี

โดยมีประเด็นหารือ ดังนี้

1. ประเด็นที่ฝ่ายไทยขอหารือกับฝ่ายเมียนมา คือ การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ให้แก่แรงงานเมียนมา และการจัดทำช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแจ้งรายชื่อนายจ้าง ผู้แทนนายจ้าง และบริษัทจัดหางานที่ถูกขึ้นบัญชี (Black List) รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขและต่ออายุบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

2. ประเด็นที่ฝ่ายเมียนมาขอหารือกับฝ่ายไทย คือ แนวทางการบริหารจัดการการจัดส่งแรงงานทางอากาศภายใต้ระบบ MOU การลงนามสัญญาจ้างงานโดยนายจ้างหรือผู้แทนทางกฎหมายของนายจ้าง โดยแสดงตัวที่ประเทศเมียนมา การออกใบอนุญาตทำงานและการตรวจลงตราเป็นระยะเวลา 2 ปี ให้แก่แรงงานที่ถือเอกสารรับรองบุคคล (CI) และเอกสารประจำตัวอื่น ๆ ที่ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการโอนเงินรายได้จากการทำงานผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายและความร่วมมือของการป้องกันนายหน้าจัดหางานที่ให้บริการโอนเงินโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งฝ่ายเมียนมาให้ทราบเกี่ยวกับการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 17/11/2566

รมว.แรงงาน จ่อตรวจสอบเหตุ คนไทยถูกหลอกค้ามนุษย์ที่ ‘เล่าก์ก่าย’ เผย ส่งแรงงานกลับอิสราเอลแน่นอน หาก รบ.อิสราเอล ยืนยันความปลอดภัย 100%

17 พ.ย. 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการในการตรวจสอบกระบวนการที่คนไทยถูกหลอกไปใช้แรงงาน และค้ามนุษย์ในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง รัฐฉานเหนือ ประเทศเมียนมาร์

โดย พิพัฒน์ กล่าวว่า เราต้องดูให้ดีว่า แรงงานที่อยู่เมืองเล่าก์ก่าย หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นั้น เป็นการสมัครใจ หรือถูกหลอกหลวงไป แม้ว่า วันนี้จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า แรงงานเหล่านั้นไปทำงานอะไร ไม่ว่าจะเป็น งานคอลเซ็นเตอร์ หรืองานอื่นๆ แต่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมแรงงานเหล่านั้นถึงไปทำงานตรงนั้น ทั้งที่ตนในประเทศเพื่อนบ้านกลับมาทำงานในประเทศเราในจำนวนหลักล้าน

พิพัฒน์ ย้ำว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน คงตอบเรื่องดังกล่าวได้ไม่ชัด แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การนำเพื่อนๆ (คนไทย) กลับมาสู่ประเทศไทยให้ได้ก่อน

ส่วนมาตรการในการนำแรงงานไทยกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลนั้น พิพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการเยียวยาครอบครัวละ 50,000 บาท มาตรการพักหนี้ทั้งต้น และดอก หากรัฐบาลส่งแรงงานไทยกลับสู่อิสราเอลเวลานี้ จะเท่ากับว่า ทั้งหมดที่ทำมามันสูญเปล่า

เพราะฉะนั้นหากจะไม่ให้สูญเปล่าทั้งหมด ทางการอิสราเอลต้องมีการยืนยัน 100% ว่า แรงงานไทยที่กลับไปทำงานจะได้รับการดูแลอย่างดี เพราะนี่คือความเป็นห่วงของท่านนายกรัฐมนตรี

พิพัฒน์ ยังแสดงความเข้าใจอีกว่า แม้พื้นที่บางส่วนในอิสราเอลจะเป็นพื้นที่สีเขียว และสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติได้ แต่ถึงกระนั้น เราก็อยากส่งกลับไปให้คนไทยมีรายได้ พร้อมย้ำว่า อิสราเอลต้องมีการยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวปลอดภัยดี

ที่มา: Voice TV, 17/11/2566

รับร่าง 5 แรงงานไทยจากอิสราเอลกลับถึงมาตุภูมิ ก่อนส่งกลับประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูมิลำเนา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วย น.ส.กรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานรับศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลอีกจำนวน 5 ราย พร้อมร่วมวางพวงหรีดแสดงความอาลัย โดยมี น.ส.เชาวนี ตังวงศ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการกองกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธี ณ บริเวณอาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

นายอารี กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด เข้าแจ้งสิทธิประโยชน์ครอบครัวของแรงงาน ทั้งในส่วนรัฐบาลไทยเรียบร้อยแล้ว และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่อยู่ในจังหวัดภูมิลำเนาของแรงงานไทยได้ประสานครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับร่างแรงงานทุกรายกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูมิลำเนาใน 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ อุดรธานี และ เชียงราย แล้วเช่นกัน

โดยหลังจากร่างผู้เสียชีวิตไปถึงภูมิลำเนา กระทรวงแรงงานจะนำเงินช่วยเหลือไปมอบให้กับทายาทของแรงงานไทยที่เสียชีวิต จำนวน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ นอกจากนี้ มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมอิสราเอล

ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้ตรวจสอบสิทธิแรงงานที่เสียชีวิต 5 ราย เรียบร้อยแล้ว พบว่า มีสิทธิจากกองทุนประกันสังคม 4 ราย อีกจำนวน 1 ราย ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน รวมเป็นเงินประโยชน์ทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับทายาทผู้เสียชีวิต เป็นเงิน 91,700.44 บาท

สำหรับแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ได้ส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับมา 5 รายล่าสุด มีรายชื่อ ดังนี้

นายเทียนชัย ยอดทองดี จ.บุรีรัมย์

นายจักรพันธ์ เดี่ยวไธสง จ.บุรีรัมย์

นายไชยา รักษานนท์ จ.อุดรธานี

นายศักดิ์สิทธิ์ จำปาสิม จ.อุดรธานี

นายสมชัย แซ่ยาง จ.เชียงราย

ที่มา: Thai PBS, 16/11/2566

ทีมกระทรวงแรงงานกลับถึงไทย หลังปิดภารกิจอพยพแรงงานจากอิสราเอล เพราะสถานการณ์ในอิสราเอลอยู่ในสถานะเฝ้าระวัง รวมทั้งแรงงานต้องการกลับน้อยลงมาก

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับและให้กำลังใจ ทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ที่ไปปฏิบัติภารกิจอพยพแรงงานไทยที่อิสราเอล จำนวน 9 ราย ณ ห้องทำงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงานส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าสนับสนุนภารกิจอพยพแรงงานกลับไทย ที่อิสราเอล จำนวน 10 ราย ขณะนี้ ภารกิจการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการอำนวยความสะดวกและประสานการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่แรงงานไทย ณ บริเวณสนามบินและศูนย์พักพิงเสร็จสิ้นแล้ว

โดยทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน จำนวน 9 ราย ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอีก 1 ราย เดินทางกลับไปยังสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) เนื่องจากประจำอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

“ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เสียสละทำงานด้วยความทุ่มเทในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งหลังจากเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว

กระทรวงแรงงานจะนำการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้มาถอดบทเรียน โดยเน้นถอดบทเรียนเรื่องการอพยพแรงงาน รวมถึงการดูแล ช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเกิดเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ” นายไพโรจน์ กล่าว

ด้านนายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม หัวหน้าทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการอพยพแรงงานไทยที่อิสราเอล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในอิสราเอลและการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสถานะเฝ้าระวัง รวมทั้งแรงงานไทยที่มีความวิตกกังวลและประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก

ประกอบกับทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ (สอท.) ได้ปิดศูนย์อพยพทั้ง 4 แห่งที่กรุงเทลอาวีฟ แล้วย้ายมาเปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ณ ที่ทำการ สอท.

โดยทีมกระทรวงแรงงานยังคงภารกิจการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยร่วมกับทีมกระทรวงการต่างประเทศ แต่ด้วยจำนวนแรงงานที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือมีจำนวนไม่มากในแต่ละวัน ทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ทีมกระทรวงการต่างประเทศ ทีมกระทรวงแรงงานและทีมเจ้าหน้าที่การทูตทหาร จึงร่วมกันปรับแผนและปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน

สำหรับรายชื่อทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการอพยพแรงงานไทยที่อิสราเอลกลับประเทศไทยในครั้งนี้ จำนวน 10 ราย มีดังนี้

1) นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม

2) นายกอบชัย ว่องไวยุทธ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน

3) นางสาวอรอนงค์ ศรีสุวิทธานนท์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

4) นายชาติชาย เทียมสนิท ที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (ประจำอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยบินตรงจากอิสราเอลกลับไปยังซาอุดิอาระเบีย)

5) นายณฐกร จานเขื่อง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน

6) จ่าเอก พันธ์ชิต กิจหวัง ผู้อำนวยการกลุ่มงานช่วยอำนวยการ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

7) นายธีระศักดิ์ อยู่เพชร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

8) นายธนัตถ์ ช่างสาน นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ กองการเจ้าหน้าที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

9) นายเบญจรงค์ ว่องจรรยากุล หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง สำนักงานประกันสังคม

10) นางสาวบุษบัญชลี ภู่แก้วเผือก นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/11/2566

ปลัดแรงงาน เผยอัตราว่างงานของคนไทยลดลง มีผู้ประกันตน ม.33 เพิ่มขึ้นกว่า 3.32%

วันที่ 16 พฤศจิกายน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจแรงงานไทยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ขณะนี้มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,842,335 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา (ปี 2565 มีจำนวน 11,462,256 คน) และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 11,788,218 คน)

ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคม ในเดือนกันยายน 2566 นั้น มีผู้ว่างงาน จำนวน 229,070 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 แต่ลดลง ร้อยละ -7.58 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 247,846 คน) โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ มีจำนวน 74,067 คน ลดลงร้อยละ -8.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลง ร้อยละ -12.64 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 74,067 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.90 และอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนกันยายน 2566อยู่ที่ร้อยละ0.8%

ขณะที่ ตัวเลขผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง จากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 36,260 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลง ร้อยละ -0.29 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเลิกจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.30

ด้านสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ส่งผลถึงการจ้างงานในประเทศนั้น พบว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP Annual Growth Rate) ในไตรมาส 2 ของปี2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งคาดว่า เป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่านักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย

ขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว และตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

“ภารกิจของกระทรวงแรงงาน มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายและงานหลักสำคัญของกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ดี ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มีนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันดำเนินการในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถและให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเเรงงานทักษะสูงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังขาดแคลนอยู่มาก ในขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อการมีงานทำของไทยมากขึ้น” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/11/2566

ลูกจ้างแอลฟ่า สปินนิ่ง และ AMC สปินนิ่ง ร้องกมธ.แรงงาน ให้ช่วยเหลือติดตามเงินชดเชย หลังถูกลอยแพ

นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานคนที่สาม รับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้างบริษัทแอลฟ่าสปินนิ่ง และบริษัท AMC สปินนิ่ง ซึ่งถูกลอยแพไม่ได้เงินชดเชย โดยขอให้กมธ.แรงงาน ดำเนินการติดตามช่วยเหลือแรงงาน ทั้งนี้ ตัวแทนลูกจ้าง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี

“ขณะนี้สำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 5 เดือน ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือนจากการไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้น กมธ.จะเร่งดำเนินการพิจารณา พร้อมกับประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงสอบหาข้อเท็จจริงว่า เกิดเหตุอะไรขึ้นไม่สามารถจ่ายเงินเยี่ยวยาให้กับลูกจ้าง และติดตามนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง” นายเซีย กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/11/2566

ก.แรงงาน จ่ายแล้ว 74 ล้าน ช่วยแรงงานจากอิสราเอล เกือบ 5,000 คน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยจากภัยสงครามอิสราเอล -ฮามาส ว่า มีการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ (ณ วันที่ 14 พ.ย.2566)

ขณะนี้มีแรงงานไทย ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์แล้วกว่า 7,100 คน เจ้าหน้าที่ วินิจฉัย สั่งจ่ายแล้ว 4,903 คน รวมเป็นเงินกว่า 74.1 ล้านนบาท แบ่งเป็น เงินชดเชยคนละ 15,000 บาท กว่า 4,800 คน จากกรณีภัยสงคราม

ส่วนผู้เสียชีวิตได้รับคนละ 40,000 บาท สั่งจ่ายแล้ว 21 คน จากผู้เสียชีวิต 39 คน และผู้บาดเจ็บรายละ 30,000 บาท สั่งจ่ายแล้ว 3 คน จาก 18 คน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอล มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับไทยแล้ว กว่า 9,200 คน ยังคงอยู่ที่อิสราเอลกว่า 20,000 คน ขณะนี้มีคนไทยเสียชีวิต 39 คน ส่งร่างกลับไทยแล้ว 34 คน

ส่วนคนไทยที่ถูกจับกุมตัวขณะนี้มี 25 คน ขณะที่ผู้บาดเจ็บ 18 คน ในจำนวนนี้รักษาตัวในโรงพยาบาล 4 คน และระบุชื่อไม่ได้ 1 คน ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า กระทรวงแรงงาน ได้ทยอยจ่ายเงินชดเชยให้แล้วกว่า 80% และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสัปดาห์นี้

ขณะที่ การช่วยเหลือตัวประกันคนไทย 25 คน ล่าสุด น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้พบหารือกับนาย อิลิยาฮู รีวิโว่ (Eliyahu Revivo) สมาชิกรัฐสภาอิสราเอล และประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยแรงงานต่างชาติ เมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทางการอิสราเอล เร่งติดตามตัวประกันชาวไทย และคุ้มครองให้อยู่ในความปลอดภัย

รวมถึงช่วยผลักดันจัดตั้งกองทุน Deposit Fund สำหรับแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรกรรม และการเจรจาความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอลเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคการก่อสร้างของอิสราเอลด้วย

ที่มา: Thai PBS, 14/11/2566

รมว.แรงงาน หารือ ม.เกษตรฯ ลุยนำร่องระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต ยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัยเดินหน้า อัพสกิล แรงงานไทย ผลิตนักบินโดรนภาคเกษตร เทรนนิ่ง นักค้าขายออนไลน์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือจัดทำความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตร และยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัย โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมขอขอบคุณคณาจารย์จากสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกท่านที่ได้มาเยี่ยมเยียนและหารือความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตรและยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัย โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ถือเป็นการเริ่มต้นร่วมมือกันในการที่จะต่อยอด ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ลงไปต่อยอดให้กับหลายภาคส่วน เราต้องไปจับมือกับภาคการศึกษา และสถาบันการศึกษาหลายๆ สถาบัน ซึ่งแต่ละสถาบันมีสิ่งดีๆ ที่แตกต่างกัน เราจะใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละสถาบันเหล่านั้นมายกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถทดสอบเพื่อออกใบรับรองความรู้ความสามารถให้ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนจบระดับ ปวช.ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็สามารถเรียนรู้และทดสอบความรู้ความสามารถของตนเองได้ เพื่อให้ได้ใบรับรองความสามารถตามที่สถานประกอบการต้องการ เพราะแต่ละคนมีความสามารถและพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน เมื่อมาสอบกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็สามารถบอกได้ว่าฝีมือของเราอยู่ในระดับใด

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานมีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวงอยู่แล้ว ทั้งมหาดไทย ศึกษาธิการ อว. และแรงงาน ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน Up Skill แรงงาน และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ ให้ได้ค่าแรงที่สูงขึ้น

ด้าน รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในนามสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะที่ได้เปิดโอกาสให้เข้าพบและหารือความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตร และยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัย โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ในวันนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองเรามีความพร้อมที่ทั้งด้านบุคลากร และศักยภาพในการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อที่จะยกระดับพัฒนาทักษะแรงงาน และต่อยอดความร่วมมือไปด้วยกัน

รศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัย เสนอการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ว่า อาชีพทางการเกษตร เช่นอาชีพควบคุมโดรนด้านการเกษตร ต้องรู้เรื่องการเกษตร ต้องเรียนรู้เรื่องการบังคับควบคุมโดรน วางแผนควบคุมโดรน รู้พฤติกรรมของพืชต่างๆ เป็นความเชี่ยวชาญ รวมถึงอาชีพนักการขายออนไลน์ และอาชีพนวัตกรรมการจัดการเป็นต้น

ที่มา: พรรคภูมิใจไทย, 13/11/2566

แรงงานพม่ากว่า 180 คน ร้องสื่อถูกนายจ้างปล่อยลอยแพไม่ได้รับค่าจ้าง ต้องหาขุดมันสำปะหลังและเก็บผักมาต้มกิน ปะทังชีวิต

ผู้สื่อข่าว TalknewsOnline ได้รับรายงานจากชาวบ้านว่ามีแคมป์คนงานก่อสร้างชาวเมียนมา ชาย-หญิง จำนวน180 คน ถูกนายจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอกชนชื่อดัง ซ.10 ต.พนานิคม อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ปล่อยลอยแพ แรงงานต่างไม่ได้รับค่าจ้างนานกว่า 2 เดือน ทุกคนอยู่อย่างอดอยาก ต้องขุดหัวมันสำปะหลังและผักในพื้นที่กิน โดยมีชาวบ้านคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อปะทังปากท้อง

ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ดังกล่าว พบว่าเป็นแคมป์คนงานกลุ่มใหญ่ตั้งอยู่ในป่าพงหญ้าขึ้นรกทึบ เนื้อที่กว่า 10 ไร่ ที่พักสร้างด้วยการนำสังกะสีมามุงหลังคา และกั้นเป็นผนังเพื่อกันแดดกันฝน พบคนงานเป็นจำนวนมากกำลังยืนออกันอยู่หน้าแคมป์ และเดินออกมาจากที่พักพร้อมถือเอกสารพาสปอร์ตติดมือออกมาและนั่งเรียงแถวกัน แต่ละคนมีสภาพอิดโรยและมีสภาพหิวโหยกันมาก บางคนกำลังเก็บผักบุ้ง เก็บหัวมันสำปะหลังเตรียมมาต้มกิน เป็นภาพสุดเวทนากับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่และผู้พบเห็น

จากการสอบถามตัวแทนชาวเมียนมา นางสาวพิว อายุ 25 ปี เล่าว่า พวกตนทั้งหมด 240 คนทำงานก่อสร้างที่ไซด์งานแห่งนี้มากว่า 6 เดือนแล้ว ได้รับค่าจ้างวันละ 340 บาท ก่อนหน้านี้ได้รับค่าจ้างตรงเวลา หลัง ๆ มาเริ่มจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา หัวหน้างานที่เป็นชาวกัมพูชาบอกว่าวันที่ 10 ต.ค. 66 จะมาจ่ายให้ จนตอนนี้ผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่ได้เงินค่าจ้างเต็มจำนวน เอามาให้เพียงเงิน 1,500 บาท และก็คูปองเงินสดที่ใช้ซื้อได้เฉพาะร้านค้าในแคมป์ แต่ก็ซื้อไม่ได้เพราะร้านค้าเป็นของคนกัมพูชาปิดร้านไปแล้ว ถามหัวหน้าชาวกัมพูชาว่าเงินจะจ่ายวันไหน ได้รับคำตอบว่านายจ้างเงินหมดแล้ว พวกตนชาวพม่าทุกคนก็เงินหมดแล้ว ที่อยู่กันมาได้เพราะมีความช่วยเหลือจากแรงงานชาวพม่าที่ทำงานต่างจังหวัด คอยเอาข้าวเอาน้ำมาให้และก็คนไทยบริเวณใกล้เคียงที่คอยช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้

นางสาวพิว กล่าวต่อว่า ตอนนี้บางคนก็ต้องหลบเข้าป่า บางคนก็หนีไปแล้วเพราะรอไม่ไหว จาก 240 คน เหลือ ประมาณ 180 คน พาสปอร์ตบางคนก็หมดอายุ งานก็ไม่มี เงินก็ไม่มี รายการหักเงินที่หัวหน้าชาวกัมพูชาเอามาให้ ก็หักเงินไปตั้งเยอะ มีทั้งหักค่าน้ำค่าไฟ หัก 3 เปอร์เซ็นต์ และหักเงินที่อ้างว่าเป็นค่าตำรวจ อีก 900 บาท/เดือน เคยบอกว่าจะต่อพาสปอร์ตให้ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทั้งเงินเดือนและพาสปอร์ต และยังมาข่มขู่แถมเอา ตม. เข้ามาจับ

นอกจากนี้ในกรณีขอเบิกเงินค่าแรงงาน นายจ้างจะจ่ายเป็นคูปองที่ทำขึ้นมาเองและเขียนระบุจำนวนเงินราคาต่าง ๆ มีตั้งแต่ 5 บาท 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท มาให้พวกตนแทนเงิน เพื่อต้องการบังคับไม่ให้พวกตนไปใช้ซื้อของที่อื่นต้องซื้อจากร้านค้าของหัวหน้าคุมงานก่อสร้างเท่านั้น

นายเอ็ม อายุ 35 ปี ชาวเมียนมา บอกว่า วันนี้ทุกคนทำงานมาเหนื่อยและลำบากมาก อยากจะเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างที่พวกเค้าทำงานกันมา และเงินที่หักค่าต่อพาสปอร์ตให้นำไปต่อพาสปอร์ตให้พวกเขาอย่างถูกต้อง เพราะตอนนี้ทุกคนไม่มีเงินและอดอยากมาก บางคนไม่กล้าออกไปไหนเพราะพาสปอร์ต ขาดหากมีพาสปอร์ตก็จะออกไปหางานทำได้

อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่อยู่ใกล้แคมป์พักแรงงานเมียนมายืนยันว่า แรงงานเมียนมาอยู่กินกันแบบอดอยากและลำบากจริง บางวันเห็นนั่งล้อมวงกินข้าวกับน้ำปลา เห็นแล้วน่าสงสาร บางรายต้องออกไปขุดหัวมันสำปะหลังมาต้มกินแทนข้าว หรือไปเก็บผักบุ้งหรือผักต่าง ๆ มาต้มกิน ที่ผ่านมาเคยมีชาวบ้านนำข้าวของมาแบ่งปันให้แรงงานเมียนมาร์เหล่านี้กินอยู่เรื่อย ๆ เพราะอดสงสารไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายราชการได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ที่มา: TalknewsOnline, 13/11/2566

หวั่นนักจัดตั้งแรงงานกวาดเรียบตัวแทนบอร์ดประกันสังคม ปลัดแรงงานเตรียมเรียกรายชื่อผู้สมัครมาดู-ดันจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่ได้ปิดรับสมัครและปิดการลงทะเบียนสำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งไปตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. 2566

โดยมีผู้มาลงทะเบียน 9.4 แสนคน ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะนำรายชื่อผู้สมัครทั้งในส่วนของฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาดู เนื่องจากมีนักข่าวถามเรื่องการกำหนดอายุเกิน 70 ปีหรือไม่ ซึ่งไม่มีข้อห้าม แต่เหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้คนเก่าที่เป็นกรรมการชุดเดิมเข้ามาเป็นบอร์ดได้อีก

“ที่มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนน้อยอาจเป็นเพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ของการมาใช้สิทธิ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับเขา เพราะไม่เหมือนการเลือก สส. แต่ผู้ที่สมัคร บอร์ดประกันสังคมครั้งนี้มีคนกลุ่มเดิมๆมากันเยอะ อยู่แถบปริมณฑลและกทม. ซึ่งผู้ประกันตนในต่างจังหวัดเขาไม่รู้จัก แต่เรื่องนี้มันเป็นระเบียบที่ออกมาก่อนที่ผมจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง” นายไพโรจน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วทำไมถึงต้องให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนก่อนไปใช้สิทธิ ทั้งๆที่ทุกคนต่างมีบัตรประกันสังคมซึ่งสามารถนำไปใช้ได้เลย ประธานบอร์ด สปส.กล่าวว่า บางคนที่เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ครบ 3 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 14 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปส.จะมีการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่ากำลังดูระเบียบว่ามีการจัดเวทีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็เห็นผู้สมัครจัดรณรงค์หาเสียงกันเองเพียงแต่ส่วนราชการยังไม่ได้ดำเนินการ เมื่อถามอีกว่า สปส.ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งและมีความพร้อมกว่าใครๆ ทำไมถึงไม่ดำเนินการเอง  นายไพโรจน์กล่าวว่า กำลังหาแนวปฎิบัติอยู่ คิดว่าก่อนวันที่ 24 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง หากไม่ติดขัดอะไรก็จะดำเนินการ

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)กล่าวว่า หลายคนหวั่นใจว่าผู้นำแรงงานคนเก่าที่เคยเป็นบอร์ดประกันสังคมมาทั้งชีวิต ครั้งนี้ก็ยังลงเลือกตั้งอีก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร บางคนเคยถูกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ปลดออก แต่ยังได้รับสิทธิมาสมัครอีก หลายคนวิจารณ์ว่าเมื่อถูกปลดไปแล้ว เขายังมีคุณสมบัติครบหรือไม่ แถมยังมีข่าวว่ามีการไปฮั้วกับนายจ้างด้วยเพื่อช่วยกันไปลงคะแนนเพื่อให้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แต่เราไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ทั้งนี่ สสรท.ผลักดันให้ผู้ประกันตน 1 คน มี 1 เสียง เราจึงต้องการให้คนใหม่เข้าไปบริหารประกันสังคม ไม่ใช่เอาแต่คนหน้าเดิมๆ อนาคตแล้วเห็นว่าควรมีการจำกัดวาระ เพราะคนเดิมๆ ที่เคยเข้าไปก็ไม่เห็นพัฒนาอะไร

“การเลือกตั้งครั้งนี้ สปส.ไม่มีความพร้อมเลย เพราะถ้าพร้อมก็ต้องเตรียมตัวดีกว่านี้ ได้ยินมาว่า สปส.ติดเรื่องเงิน เพราะตอนแรกเขาเสนอบอร์ดให้อนุมัติ 630 ล้านบาทมาใช้เลือกตั้ง แต่บอร์ดตัดเหลือ 207 ล้านบาท และต้องกระจายเงินออกไปทุกจังหวัด และพื้นที่ไหนที่มีผู้ลงคะแนนเยอะ อาจไปเพิ่มงบประมาณให้ทีหลังเพื่ออำนายความสะดวกให้ผู้ไปลงเลือกตั้ง”นายชาลี กล่าว

นายชาลีกล่าวว่า ที่น่าเป็นกังวลหลังจากนี้คือเรื่องการจัดหน่วยเลือกตั้ง เพราะแต่ละจังหวัดมีเพียงไม่กี่แห่ง และเท่าที่ทราบการเลือกตั้งต้องจัดในพื้นที่ของราชการ แต่กลับมีการเก็บค่าเช่าแพง จึงทำให้ สปส.ไม่แน่ใจว่าจะจัดหน่วยเลือกตั้งกันที่ไหน หากผู้ประกันตนมีถิ่นฐานอยู่ต่างอำเภอหรืออยู่ไกลหน่วยเลือกตั้งก็อาจไม่ไปใช้สิทธิ ดังนั้นแม้จะมีผู้มาลงทะเบียนเลือกตั้งไว้ 9.4 แสนคน แต่อาจมาใช้สิทธิเพียง 3 แสนคนก็ได้

“ผมเห็นด้วยหากจะมีการจัดให้ผู้สมัครมีเวทีแสดงวิสัยทัศน์ แต่ใครจะเป็นตัวหลักในการดำเนินการ เพราะไม่แน่ใจว่า สปส.จะจัดหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามีการจัดตั้งกันไว้หมดแล้ว เช่น สมมุติว่าสมาชิกของสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งมี 5 พันคน เมื่อตัวผู้นำสหภาพฯ แนะนำให้สมาชิกเลือกใคร ผู้ประกันตนกลุ่มนั้นก็ต้องเชื่อ เขาก็ต้องมีการขนคนกันไปลงคะแนนด้วย ผมจึงมองว่า การที่ สปส.ต่อเวลาให้มีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ต.ค. มาเป็น 10 พ.ย. ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมีการจัดตั้งคนไว้หมดแล้ว”นายชาลี กล่าว

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงานธุรกิจโรงแรมและบริการ ภูเก็ต กล่าวว่าบรรยากาศที่  จ.ภูเก็ตค่อนข้างเงียบเหงา โดยสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมฯพยายามกระตุ้นแล้ว แต่การตื่นตัวยังน้อยมากเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ว่าใครได้เป็นบอร์ดก็ไม่มีผลกับเขา โดย จ.ภูเก็ตมีผู้ประกันกว่า 1 แสน แต่มาลงทะเบียนไม่ถึง 1 หมื่นคน และมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คนเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

“การเลือกบอร์ด เราต้องการคนที่มีศักยภาพในระดับที่มีความรู้ความเข้าใจและพื้นฐานเรื่องประกันสังคม ผมอยากเห็นการจัดสรรเรื่องสวัสดิการให้ผู้ประกันตนมีความทั่วถึง การรักษาพยาบาลควรมีการควบคุมคุณภาพจากโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ดีและครอบคลุม ผมเคยเป็นโรคหมอนiองกระดูกทับเส้นประสาท แต่หมอกับรักษาแบบใช้ต้นทุนต่ำ ผมต้องต่อสู้จนเขายอม แต่เพราะผมเป็นผู้นำแรงงานถึงกล้าสู้ แต่ผู้ประกันตนทั่วๆไปถ้าเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน เขาจะกล้าหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากได้บอร์ดประกันสังคมเข้าไปแก้ปัญหานี้ด้วย” นายวิจิตร กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/11/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net