Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' หารือรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ - ย้ำ 3 แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยง เชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุมมอสโกนี นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครซานฟรานซิสโก นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีฯ สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของสหรัฐฯ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องนโยบายและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และสนใจส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ (reliable partner) ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ย้ำความพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ย้ำ 3 แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยง เชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข

เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม Moscone Center นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) ในหัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” พร้อมร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 โดยก่อนการกล่าวถ้อยแถลงของ นายกฯ (ลำดับที่ 18 ต่อจากจีนไทเป ก่อน ปธน. เวียดนาม) นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยวานนี้ ได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายกฯ เห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค
 
1. ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ จากโครงการมากกว่า 280 โครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ในขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge รวมถึงการจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
 
2. เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมี WTO เป็นแกนกลางนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (the Thirteenth Ministerial Conference (MC13))
ซึ่ง ไทย ผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และ ไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 
 
3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการ Landbridge เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป 

หารือกับ U.S. APEC Business Coalition ตอกย้ำการทำงานของรัฐบาลเพื่อพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

ก่อนหน้านั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้พบหารือกับ U.S. APEC Business Coalition ซึ่งประกอบด้วย National Center for APEC (NCAPEC) สภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกฯ ย้ำความเป็นกว้างของรัฐบาลไทยด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าที่จะทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับอนาคตให้เจริญเติบโตท่ามกลาง “วิกฤตหลายด้าน” ของเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาในเส้นทางการพัฒนาด้วยมาตรการ "quick-win" รวมถึงการลดค่าครองชีพ การสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และการขยายการลงทุนและธุรกิจ
 
ไทยมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้านการพาณิชย์และโลจิสติกส์ โดยเน้นมาตรการระยะกลางและระยะยาว ทั้งการเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ เร่งการเจรจา FTA เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาค
 
การจัดลำดับความสำคัญของความเชื่อมโยงผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโครงการ “Landbridge” เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งจะเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยนายกฯ กล่าวเชิญชวนและยินดีต้อนรับการลงทุนของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร Satellite 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตและท่าอากาศยานล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่ และแผนการปรับปรุงท่าอากาศยานอื่นๆ ของไทย เพื่อรองรับความเชื่อมโยงภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การก้าวเป็น hub คมนาคมขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึง soft power ท้องถิ่นของจังหวัดต่างๆ ด้วย
 
นายกฯ ยังได้ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จึงหวังว่า U.S. APEC Business Coalition จะสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึง APEC ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในด้านที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
 
ไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลังงานสะอาด และอื่นๆ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ตอนนี้เป็นเวลาที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย” โดยไทยกำลังดำเนินการด้านกฎระเบียบที่ครอบคลุม การแปลงบริการภาครัฐเป็นดิจิทัล และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับมาตรการส่งเสริม
 
พร้อมกันนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย

 

ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net