Skip to main content
sharethis

สส.พริษฐ์ พรรคก้าวไกล หนุนแก้ มาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ ปรับเกณฑ์จำนวนผู้มาใช้สิทธิและเห็นชอบเหลือ 25% เชื่อหากฝ่ายค้าน-รัฐบาลร่วมยื่นแก้กฎหมายผ่าน 3 วาระแน่ มั่นใจไม่กระทบกรอบเวลาทำประชามติแก้ รธน. - มั่นใจได้ สสร.ที่มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มอาชีพ หากจัดการเลือกตั้งให้ดี 

17 พ.ย. 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเงื่อนไขใน มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ชั้นที่ 1 คือ จะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนชั้นที่ 2 คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ ยกตัวอย่าง ผู้มีสิทธิ 100 คน ต้องออกมาใช้สิทธิเกิน 50 คน และต้องเห็นชอบกับคำถามประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ คือ 26 คน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติแทนที่จะออกมาใช้สิทธิ แต่กลับไม่มา จะส่งผลต่อจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ หากไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ถือว่าไม่ผ่าน
          
พริษฐ์ เห็นว่าควรทบทวนเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะชั้นที่ 1 พร้อมเสนอทางเลือกในการแก้ไข 2 แนวทาง คือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิว่าต้องเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งบางประเทศไม่มีเกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และที่ผ่านมาการทำประชามติ 2 ครั้งของประเทศไทย ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ไม่มีการกำหนดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิ ส่วนอีกแนวทาง คือ ให้เขียนว่าคนออกมาใช้สิทธิและลงคะแนนเห็นชอบเกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งจะสามารถป้องกันจำนวนของผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิที่จะกระทบกับผลของการทำประชามติได้

สำหรับกระบวนการในการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ นั้น พริษฐ์ กล่าวว่า วิธีที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุด คือ ให้รัฐบาลและฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นแก้ไขกฎหมาย มาตรา 13 หากดำเนินการยื่นเสนอไว้ เมื่อเปิดสมัยประชุมช่วงเดือน ธ.ค. นี้ จะสามารถพิจารณาวาระแรกได้ทันที และเชื่อว่าจะสามารถผ่าน 3 วาระไปได้ โดยจะไม่กระทบต่อกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ว่าจะทำประชามติหรือไม่ ในช่วงต้นเดือน ม.ค.2567 เพราะเป็นการแก้ไขเพียงมาตราเดียว
          
นอกจากนี้พริษฐ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นแล้ว หากไม่กระทบกรอบเวลาในการพิจารณาอาจเสนอให้พิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้กฎหมายประชามติรองรับการจัดทำประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้งอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดทำให้การดำเนินการด้านธุรการยุ่งยาก ซึ่งจะทำให้สามารถเลือกวันลงประชามติได้ยืดหยุ่นมากขึ้นและอาจมีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้น ตลอดจนการเสนอให้แก้ไขเรื่องจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอผ่านทางออนไลน์ เพื่อจัดทำประชามติที่ต้องใช้ถึง 50,000 รายชื่อ เป็นต้น

มั่นใจได้ สสร.ที่มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มอาชีพ หากจัดการเลือกตั้งให้ดี 

นอกจากนี้พริษฐ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เปิดเผยก่อนการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่าวัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมาธิการฯ คือ ศึกษาจัดทำข้อเสนอว่าหากมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะสามารถออกแบบการเลือกตั้งได้อย่างไร เรื่องของการได้มาจะใช้ทางเลือกใด ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน สามารถเปิดพื้นที่ให้มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ตลอดจนภาคประชาสังคม โดยโจทย์นี้เริ่มต้นจากการอภิปรายของ สส. บางคนที่แสดงความกังวลว่าหาก สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้ง 100% จะไม่มีสัดส่วนให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม คณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะยื่นให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้คลายความกังวลว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะได้ตัวแทนที่หลากหลาย หากออกแบบการเลือกตั้งให้ดี ๆ สามารถตอบโจทย์ได้
          
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย ตัวแทนภาคการเมือง ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งข้อเสนอได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วและอยู่ระหว่างนำข้อเสนอไปรับฟังความคิดเห็น โดยวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมหารือด้วย

ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net