Skip to main content
sharethis

ชาวยิวจำนวนมาก รวมถึงผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เดินขบวนไปที่ทำเนียบขาว เรียกร้องให้สหรัฐฯ และไบเดน กดดันอิสราเอล ยุติการโจมตีกาซา และพลเรือนปาเลสไตน์ ล่าสุดด้านอิสราเอล เปิดปฏิบัติการโจมตี รพ.อัล ซีฟา อ้างข้อมูลจากหน่วยข่าวกรอง มีฐานฮามาสอยู่ใต้ดิน

 

15 พ.ย. 2566 เว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่มีการยกระดับสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครั้งล่าสุดนั้น มีชาวยิวอเมริกันหลายสิบคนถูกจับกุมหลังจากที่ประท้วงหน้าทำเนียบขาว โดยในการประท้วงครั้งนั้นมีชาวยิวหลายพันคนเรียกร้องให้รัฐบาล โจ ไบเดนใช้อิทธิพลกดดันให้อิสราเอลเลิกทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซา หลังจากที่มีประชาชนชาวปาเลสไตน์สูญเสียชีวิตจำนวนมาก แม้สงครามจะเริ่มต้นเพียงแค่ 10 วันในตอนนั้น

ผู้จัดการประท้วงดังกล่าวนี้ คือ กลุ่มชาวยิวที่เรียกร้องสันติภาพชื่อกลุ่ม “IfNotNow” กับ ‘เสียงชาวยิวเพื่อสันติภาพ’ (JVP) โดยผู้จัดการประท้วงเปิดเผยว่ามีผู้คนมากกว่า 50 ราย ที่ถูกจับกุมโดยตำรวจประจำอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ และหน่วยสืบราชการลับในเครื่องแบบ หลังจากที่ผู้ประท้วงทำการปิดทางเข้าออกหลายแห่งของทำเนียบขาวในช่วงที่มีการประท้วง มีการประสานเสียงคำขวัญ "หยุดยิงเดี๋ยวนี้" และมีการร้องเพลงภาษาฮิบรู หลังจากที่พวกเขาถูกควบคุมตัว ถูกสั่งให้นั่งลงกับพื้น และถูกใส่กุญแจมือโดยให้เอามือไพล่หลัง

แถลงการณ์ของกลุ่ม IfNotNow ระบุด้วยว่า "ในทุกวันนี้ ชาวยิวอเมริกันหลายพันคนและพันธมิตรของพวกเราได้เดินขบวนไปยังทำเนียบขาว เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ใช้อิทธิพลของเขา ทำให้มีมาตรการหยุดยิง และบีบให้อิสราเอลยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในกาซา"

แถลงการณ์ระบุอีกว่า "ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนกระแสของกลุ่มชาวยิว กลุ่มก้าวหน้า และกลุ่มผู้นำเยาวชน ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ไบเดน ให้ลดระดับความขัดแย้ง ยับยั้งการรุกรานของอิสราเอล และทำให้แน่ใจว่าว่า ตัวประกันชาวอิสราเอลจะได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย"

'พวกนั้นจะทำในนามของเราไม่ได้'

อีฟวี จาโกดา นักกิจกรรมและอดีตผู้เข้าร่วมแข่งขันเกมเรียลริตีโชว์ "เซอร์ไวเวอร์" กล่าวในที่ชุมนุมว่า “เราจะไม่ยอมให้เขาใช้ความเป็น ‘ยิว’ เพื่อผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมอเมริกัน”

“พวกนั้นต้องอ้างโดยใช้เหตุผลที่แท้จริงคือนโยบายของสหรัฐฯ คือ อำนาจ อาวุธ น้ำมัน การเหยียดเชื้อชาติสีผิว การเกลียดกลัวอิสลาม"

"พวกนั้นจะทำในนามของเราไม่ได้" จาโกดา กล่าว

ในประวัติศาสตร์ชาวยิวเคยเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพรรคนาซี เยอรมนี เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้มีชาวยิวจำนวนมากในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แสดงการต่อต้านกรณีที่รัฐบาลอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา เพื่อเป็นการโต้ตอบการกระทำของฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการที่พลเรือนปาเลสไตน์ต้องมารับเคราะห์แทน

นิวยอร์กเป็นพื้นที่ที่มีชาวยิวอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก ถ้าไม่นับอิสราเอล มีชุมชนชาวยิวอยู่ที่เมืองนี้ ประมาณ 2 ล้านราย โดยกระแสความเห็นของชาวยิว แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1) มีชาวยิวที่เจ็บปวดจากการโจมตีของฮามาส และสนับสนุนการตอบโต้ของอิสราเอลในฉนวนกาซา และ 2) ชาวยิวอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์

เจสซิกา เมอร์ฟี หนึ่งในผู้ไม่สนับสนุนปฏิบัติการของอิสราเอล ชาวยิวผู้สวมจี้ฮัมซา สัญลักษณ์สากลของการคุ้มครองและความเข้มแข็ง ที่ในศาสนาอิสลามเรียกว่า "หัตถ์แห่งฟาติมา" ส่วนชาวยิวจะเรียกว่า "หัตถ์แห่งมิเรียม" มันคือเครื่องรางที่ใช้ป้องกันดวงตาประสงค์ร้ายและพลังงานด้านลบ เจสซิกา กล่าวว่า เธอรู้สึกเศร้าและไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตัวเธอเองเคยสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ 9/11 ที่ขณะนั้นเธออายุได้เพียง 5 ขวบ

เมอร์ฟี กล่าวว่า แผลในใจเช่นนี้ทำให้เธอเห็นใจพลเรือนชาวอิสราเอลที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์โจมตีของกลุ่มฮามาสไปพร้อมๆ กับความเห็นใจต่อชาวปาเลสไตน์ที่สูญเสียครอบครัว เนื่องจากการโจมตีทางอากาศโต้ตอบจากอิสราเอล

เมอร์ฟี เป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด เธอไม่แปลกใจที่อิสราเอลโต้ตอบด้วยความรุนแรงต่อปาเลสไตน์ เมื่อพิจารราจากประวัติศาสตร์ยาวนานที่อิสราเอลใช้กำลังยึดครองพื้นที่ แต่เธอก็รู้สึกแย่มากกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกลัวว่าจะเกิดความคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างผิดๆ ที่อ้างว่า "ถ้าคุณไม่สนับสนุนรัฐอิสราเอล คุณก็สนับสนุนการก่อการร้าย"

เมอร์ฟี มองว่า เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัย 9/11 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างเหตุการณ์โจมตีแบบก่อการร้ายต่อตึกเวิร์ลด์เทรด และเพนทากอน ในการรุกรานอิรัก และอัฟกานิสถาน มีการทารุณกรรมผู้ต้องขังที่เรือนจำกวนตานาโม ถึงแม้ว่าพ่อของเมอร์ฟี จะเป็นเหยื่อเหตุการณ์ 9-11 ก็ตาม แต่เธอก็ประณามการใช้กำลังโต้ตอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมมากกว่านี้

"อาชญากรรมสงครามจากกลุ่มๆ หนึ่ง ไม่ได้ให้ความชอบธรรมต่อการก่ออาชญากรรมสงครามโดยอีกกลุ่มหนึ่ง" เมอร์ฟี กล่าว

"แน่นอนว่า 9/11 เป็นอาชญากรรมสงคราม แน่นอนว่าการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสเป็นอาชญากรรมสงคราม แต่มันก็ไม่ได้ให้ความชอบธรรมต่ออาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยสหรัฐฯ ในอิรัก และที่ก่อโดยอิสราเอลในกาซ่า" เมอร์ฟี กล่าว

ในการประท้วงเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดยิงที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมอร์ฟีก็เข้าร่วมด้วยเช่นกัน

ชาวปาเลสไตน์ก็ต้องการสิ่งเดียวกับพวกเรา "สันติภาพ, อาหาร, ที่อยู่อาศัย"

ทาล ฟรีเดน นักกิจกรรมสันติภาพชาวยิว และเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับกุมในการประท้วงครั้งนั้น ฟรีเดน เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ทำให้อิสราเอลหยุดยิง และขอให้สหรัฐฯ หยุดขายอาวุธให้อิสราเอล ตัวฟรีเดน เองมีปู่ย่าตายายเป็นผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของฟรีเดน เคยพูดเล่นๆ ว่า "อย่าให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย" แต่มันก็เกิดขึ้นอีก และฟรีเดน ก็มองว่าการโจมตีพลเรือนในฉนวนกาซานับเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของสหประชาชาติ มองว่า ปฏิบัติการของอิสราเอลต่อฉนวนกาซานั้นเทียบได้กับเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอิสราเอล ก็บอกว่าเหตุการณ์ที่ฮามาสโจมตีพลเรือนอิสราเอล และอาชญากรรมสงครามอื่นๆ นั้นก็รับเป็นการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องที่ชาวปาเลสไตน์ ในที่ต่างๆ ของโลกอยากจะขอร้องชาวโลกให้เข้าใจ คือพวกเขาอยากให้แยกแยะระหว่างกลุ่มฮามาส ออกจากชาวปาเลสไตน์ เช่น อับดุล เอเลนานี เจ้าของร้านอาหารปาเลสไตน์ในแมนฮัตตัน ระบุว่า เขากังวลที่ชาวปาเลสไตน์กลายเป็นกลุ่มที่ติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบของทั้ง 2 ฝ่าย ร้านอาหารของเขาก็เผชิญกับการรีวิวถล่มในแง่ลบจากชาวอิสราเอล หลังเกิดกรณีการโจมตีของฮามาส ทั้งๆ ที่ผู้คนเหล่านี้ไม่เคยมาทานอาหารที่ร้านนี้เลย

ลอรี โรห์ริช ชาวยิวที่ทานอาหารในร้านอาหารปาเลสไตน์กับครอบครัว กล่าวว่า "ฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่พลเรือนเหล่านี้ (พลเรือนในกาซ่า) แค่พยายามใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ 140 ตารางไมล์ (ราว 363 ตร.กม.) พวกเขามีครอบครัวและต้องการสิ่งเดียวกันกับพวกเรา นั่นคือสันติภาพ อาหาร ที่อยู่อาศัย"

บอนนี สไตน์ ชาวยิวอีกคนหนึ่งเล่าว่าเธอเคยเดินทางไปอิสราเอลร่วมกับกลุ่มนักแสดงเต้นรำชาวปาเลสไตน์ แต่เผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติที่ด่านตรวจ สไตน์ มองว่า "การลดทอนความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์หลังจากเวลาผ่านมาราว 70 ปี กลายรากเหง้าของความโกรธแค้นอย่างมาก"

สไตน์ เล่าว่า เธอเคยเรียนในสถาบันการศึกษาของชาวยิวที่เล่าเรื่องแบบฝ่ายเดียวเกี่ยวกับอิสราเอล ที่มีการอ้างชุดคำอธิบายว่า "ชาวอิสราเอลกับกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเดินทางไปยังดินแดนที่ว่างเหล่าแล้วทำให้ที่นั่นเป็นบ้าน" จนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปี สไตน์ ก็รู้ว่าชุดคำอธิบายนี้ไม่เป็นความจริง

แต่ก็มีเพื่อนของสไตน์ บางส่วนปฏิเสธจะพูดคุยกับสไตน์ เพียงเพราะเธอมีเพื่อนเป็นชาวปาเลสไตน์ อ้างว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของเธอ

"แต่นี้ไม่ใช่แนวคิดทางการเมือง... มันเป็นเรื่องมนุษยธรรม เป็นแนวคิดเรื่องมนุษยธรรม" สไตน์ กล่าว

อิสราเอล เปิดปฏิบัติการบุก รพ.อัล ซีฟา

ล่าสุด (16 พ.ย.) เว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สถานการณ์ในกาซา ยังไม่ดีขึ้นนัก และกองทัพอิสราเอลได้เริ่มปฏิบัติการบุกเข้าไปในโรงพยาบาล ‘อัล ซีฟา’ เมื่อ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

แผนที่ที่ตั้งของโรงพยาบาล อัล ซีฟา (ที่มา: wikipedia)

ทางการอิสราเอล ระบุเมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองว่า สาเหตุที่ต้องบุกเข้าไปในโรงพยาบาลดังกล่าว เนื่องจากมีฐานบัญชาการของฮามาสอยู่ใต้ดิน และก่อนหน้านี้มีการแจ้งเตือนให้ฮามาส หยุดกิจกรรมทางการทหารทุกอย่างในโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว แต่ดูเหมือนทางฮามาส จะเพิกเฉยต่อคำเตือนดังกล่าว

นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ยืนยันว่าจะไม่ทำอันตรายต่อพลเรือน และโล่ห์มนุษย์ที่กลุ่มฮามาส ใช้กำบัง

ขณะที่ฮามาส ปฏิเสธการใช้โรงพยาบาลเป็นฐานบัญชาการ และเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาตรวจสอบ

ขณะที่เว็บไซต์ วอชิงตันโพสต์ รายงานด้วยว่า นับตั้งแต่เมื่อ 7 ต.ค. 2566 ถึงวันที่ 13 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของกาซา ระบุว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 11,100 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็ก และตอนนี้มีเด็กเสียชีวิตแล้ว 4,609 ราย จากการตอบโต้ของอิสราเอล 


เรียบเรียงจาก

'Not in our name': the Jewish New Yorkers speaking out against 'dehumanisation' of Palestinians, France 24, 20-10-2023

'Cease-Fire Now!': Dozens Arrested at Jewish-Led White House Protest Against Israeli War on Gaza, Common Dreams, 16-10-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net