Skip to main content
sharethis

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงสงครามอิสราเอล-ฮามาสรอบล่าสุดนี้ มีคนเจนวาย (Gen Y) ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลน้อยลงเมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ ถึงแม้ว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนเจนวายจะสนับสนุนอิสราเอลมากกว่า นอกจากนี้ยังมีชาวอเมริกันเจนซี (Gen Z) จำนวนมากกว่าครึ่งที่ไม่ชอบอิสราเอลเช่นกัน ที่น่าห่วงคือมีการอ้างความเป็นเหยื่อเพื่อสนับสนุนความโหดร้ายต่อพลเรือนของอีกฝ่ายด้วย อะไรที่ทำให้ความคิดคนในรุ่นนี้เปลี่ยนไป

 

30 ต.ค. 2566 แดเนียล โซแคตช์ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ เขาเป็นซีอีโอขององค์กร "นิวอิสราเอลฟันด์" ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในด้านที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเสมอภาคให้กับทุกคนผู้อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอล

โซแคตช์รู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้ยินข่าวเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสสังหารพลเรือนชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกสะเทือนใจยิ่งกว่านั้นคือคำพูดของเพื่อนๆ เขาที่ทำงานเรื่องสิทธิชาวปาเลสไตน์ โซแคตช์บอกว่าคำพูดของบุคคลเหล่านี้ต่อการสังหารพลเรือนโดยฮามาส "เต็มไปด้วยการใช้คำแบบเหยียดชาวยิว"

"คุณเฉลิมฉลองให้กับการสังหารผู้คนเหล่านั้นเพียงเพราะพวกเขาเป็นชาวอิสราเอล ในแบบที่คุณจะไม่เฉลิมฉลองอะไรแบบนี้ในที่อื่นๆ ของโลก" โซแคตช์พูดถึงกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ใช้โวหารเหยียดชาวยิวเพื่อแสดงความดีใจกับการสังหารพลเรือนอิสราเอลภายใต้ปฏิบัติการฮามาส

แทนที่จะทำการประณามและไว้ทุกข์ให้ ในวันที่ชาวยิวสูญเสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งอิสราเอล กลุ่มฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มกลับยินดีกับการก่อเหตุของฮามาส โดยมองว่าเป็นวีรกรรมอันกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ เช่น กลุ่มนักศึกษาเพื่อความยุติธรรมในปาเลสไตน์ (SJP) สาขาประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกการก่อเหตุของฮามาสว่าเป็น "ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการต่อสู้ขัดขืนของปาเลสไตน์"

กลุ่มแนวร่วมองค์กรนักศึกษา 34 องค์กรของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดออกแถลงการณ์ระบุว่า อิสราเอลต้องเป็นผู้ "รับผิดชอบกับความรุนแรงทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น" ทางด้านกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา (DSA) ส่งเสริมการจัดเดินขบวนของชาวปาเลสไตน์ในนิวยอร์กที่มีผู้เข้าร่วมตะโกนคำขวัญว่า "การต่อต้านเป็นเรื่องชอบธรรม เมื่อผู้คนถูกครอบงำ" มีคนหนึ่งถึงขั้นแสดงให้เห็นสัญลักษณ์สวัสดิกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนาซี กลุ่มเผด็จการเหี้ยมโหดที่เคยกวาดล้างชาวยิว

มีบัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์/เอ็กซ์รายหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นของ Black Lives Matter Chicago โพสต์ภาพของคนกระโดดร่มร่อนที่มีธงปาเลสไตน์ ซึ่งมีคนนำไปรีทวีตตีความต่อว่าเป็น "การสนับสนุนฮามาส" โดยมองว่าเป็นการสื่อถึงกรณีที่ผู้ก่อการร้ายฮามาสโดดร่มร่อนลงที่เทศกาลดนตรีเพื่อสังหารชาวอิสราเอลในเทศกาลหลายร้อยคน

โอเรน เซกัล รองประธานศูนย์ศึกษาวิจัยกลุ่มหัวรุนแรงขององค์กรต่อต้านการเหยียดชาวยิวที่ชื่อ Anti-Defamation League's (ADL) กล่าวว่า "การยกย่องและให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงต่อพลเรือนเช่นนี้ ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยในขบวนการแบบนี้ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา แต่ผมก็ได้เห็นมันในยุคนี้"

ในขณะที่พวกนักศึกษาฝ่ายซ้ายยุคใหม่มีท่าทีส่งเสริมกลุ่มฮามาสแบบไม่รู้จักแยกแยะ ฝ่ายขวาของรัฐบาลอิสราเอลก็เผยให้เห็นความโหดเหี้ยมไม่แพ้กันเมื่อพูดถึงประชาชนชาวปาเลสไตน์ โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลก็ใช้วาจาลดทอนความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์โดยบอกว่า "พวกเรากำลังต่อสู้กับคนที่เหมือนกับสัตว์ พวกเราก็ปฏิบัติเหมือนที่ทำกับพวกสัตว์นั่นแหละ"

ส่วน ส.ว. พรรครีพับลิกันจากเซาธ์แคโรไลนา ลินเซย์ เกรแฮม พูดถึงกาซ่าว่า "ถล่มที่นั่นให้ราบ"

สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

มีการตั้งข้อสังเกตจากนิตยสาร Time ว่า การต่อต้านอิสราเอลจากฝ่ายซ้ายบางส่วนในยุคสมัยนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอุดมการณ์ในประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเดิมหรือต่างรุ่นก็ตาม

การสำรวจโพลโดย Gallup เมื่อช่วงระหว่างปี 2554-2558 ระบุว่า ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตที่เป็นชาวมิลเลนเนียลหรือเจนวาย (ผู้เกิดระหว่างปี 2524-2539) เข้าข้างอิสราเอลมากกว่าปาเลสไตน์ร้อยละ 25 ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่มีมายาวนาน แต่พอเวลาผ่านมาถึงปี 2566 มีการสำรวจคนรุ่นเดิมคือเจนวาย พบว่ามีคนเข้าข้างปาเลสไตน์มากกว่าอิสราเอลร้อยละ 11 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในทำนองที่คนรุ่นเดียวกันหันมาสนับสนุนปาเลสไตน์มากขึ้นร้อยละ 36 ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยจากศูนย์วิจัยพิวเมื่อปี 2565 พบว่าชาวอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 30 ลงมา คือชาวเจนซี (Gen Z) มีคนที่ไม่ชอบอิสราเอลร้อยละ 56

ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดแบบเหยียดหรือต่อต้านชาวยิวเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ องค์กร ADL ทำการสำรวจเมื่อปี 2565 พบว่ามีกรณีการต่อต้านชาวยิวเกิดขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ที่มีการบันทึกกรณีเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ผลสำรวจในปี 2565 พบว่ามีกรณีการต่อต้านชาวยิวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ภายในระยะเวลาหนึ่งปี

จากการสำรวจของ ADL ในช่วงต้นปี 2566 ก็พบว่ามีกรณีการต่อต้านชาวยิวเพิ่มขึ้นสูงมากในหมู่ชาวอเมริกัน มีชาวอเมริกันร้อยละ 85 ที่เชื่อในภาพเหมารวมอย่างน้อยหนึ่งอย่างเกี่ยวกับชาวยิว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 61

ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของเดือน ต.ค. มีชาวอเมริกันเชื้อสายยิวจำนวนมากมองว่า สาเหตุที่มีหลายคนแสดงท่าทีสนับสนุนฮามาสที่ทำการสังหารหมู่ชาวอิสราเอลเป็นผลมาจากทั้งความรู้สึกต่อต้านอิสราเอลและกระแสเหยียดชาวยิวที่เพิ่มมากขึ้น

การวิจารณ์อิสราเอลไม่นับเป็นการเหยียดชาวยิว แต่การเฮให้กับการสังหารหมู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ไมค์ รอธไชลด์ นักข่าวและนักเขียนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเหยียดชาวยิวระบุว่า "มันถอยหลังกลับไปที่แนวคิดที่ว่า ชาวยิวที่ถูกสังหารนั้นทำตัวเอง ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่เป็นเจ้าอาณานิคม มันเป็นการโทษชาวยิวในเรื่องเลวร้ายที่พวกเขาประสบ"

"แนวคิดแบบนี้มันมีอยู่เสมอมาในวาทกรรมของพวกฝ่ายขวา แต่ผมเริ่มเห็นมันมากขึ้นในหมู่ฝ่ายซ้ายในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน" รอธไชลด์กล่าว

ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ฝ่ายซ้ายอเมริกันในปัจจุบันจะกลายมาเป็นเช่นนี้ แต่ชาวยิวจำนวนมากก็ตะลึงเมื่อเห็นฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งพูดถึงการสังหารหมู่โดยน้ำมือของฮามาสในเชิงชื่นชม

โซแคตช์กล่าวว่า "ผมปกป้องสิทธิในการที่ผู้คนจะวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลได้มาโดยตลอด แม้กระทั่งคำวิจารณ์แบบเกรี้ยวกราดก็ทำได้ แล้วก็จะไม่กล่าวหาพวกเขาว่าต่อต้านชาวยิว ... มันมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเกรี้ยวกราดต่ออิสราเอลต่อเรื่องที่อิสราเอลกระทำไว้กับเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า กับ การเฉลิมฉลองให้กับการสังหาร, ทารุณกรรม และการข่มขืนประชาชนผู้บริสุทธิ์"

การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอิสราเอลหรือวิจารณ์นโยบายของอิสราเอล ไม่ได้นับเป็นการเหยียดชาวยิวในตัวมันเอง เพราะชาวยิวจำนวนมากก็วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลเช่นกัน แต่ความรู้สึกแบบต่อต้านอิสราเอลอย่างดุเดือดเลือดพล่านและการไร้ซึ่งความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อการสังหารหมู่พลเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพวกฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่ ได้แสดงให้เห็นรอยแยกทางทัศนคติระหว่างคนต่างรุ่นในประเด็นนี้

อะไรที่ทำให้ซ้ายรุ่นใหม่บางส่วนหลงไปเชียร์ฮามาส

มีฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่จำนวนมากโยงกันไปเองว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นเดียวกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติสีผิวในสหรัฐฯ โดยอาศัยแนวคิดแบบคู่ตรงข้ามตื้นๆ ที่ว่าโลกนี้มีแค่ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่แบบโดดๆ ไม่มีมิติ

โอมาร์ แบดเบอร์ นักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์กล่าวว่า "มันกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับใครบางคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน แล้วยอมตามความคิดที่ว่าชาวปาเลสไตน์ควรจะถูกปฏิบัติแบบนี้ต่อไปได้" ซึ่งแบดเดอร์หมายถึงการถูกกดขี่ภายใต้รัฐบาลอิสราเอล แบดเดอร์กล่าวต่อไปว่า "มันไม่ต่างจากการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้"

ปัจจัยแบบเดียวกับที่ดึงดูดให้ชาวอเมริกันคนรุ่นใหม่กลายเป็นซ้ายกันมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ Black Lives Matter, โซเชียลมีเดีย หรือ ขบวนการ Occupy ต่างก็เป็นปัจจัยเดียวกับที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ใกล้ชิดกับขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์และผู้ประท้วง Black Lives Matter ที่แสวงหาจุดร่วมกันได้ในแง่ของประเด็นทางสังคมในช่วงที่มีการลุกฮือที่เฟอร์กูสันในปี 2557 ซึ่งในตอนนั้นชาวปาเลสไตน์ให้คำแนะนำต่อผู้ประท้วงด้านความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิว ว่าจะต่อต้านขัดขืนกำลังตำรวจที่ติดอาวุธแบบทหารได้อย่างไร

ดีเรย์ แมคเคสสัน นักกิจกรรมด้านความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิวผู้ที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงในเหตุการณ์เฟอร์กูสันที่มีชื่อเสียงที่สุด กล่าวว่า "มีทั้งผู้ประท้วง Occupy และผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ ที่สอนพวกเราว่าจะต้องทำอย่างไรเวลาที่ถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่"

ในขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็ช่วยทำให้เกิดการแชร์และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้นักกิจกรรมอเมริกันรุ่นใหม่ได้เห็นข่าวสารความเลวร้ายที่รัฐบาลอิสราเอลทำไว้กับชาวปาเลสไตน์ด้วย และได้รับฟังเสียงของชาวปาเลสไตน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับพ่อแม่ของพวกเขาที่ดูโทรทัศน์ช่องเคเบิลทีวี

เรื่องนี้เกิดขึ้นในแบบเดียวกับที่กล้องโทรศัพท์มือถือทำให้ผู้คนตื่นรู้ในเรื่องที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนผิวดำในสหรัฐฯ โซเชียลมีเดียก็ทำให้คนตระหนักรู้เรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นในกาซ่ามากขึ้นเช่นกัน

วาลีด ชาฮีด นักยุทธศาสตร์การเมืองหัวก้าวหน้าที่เคยทำงานให้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส และ กลุ่มจัสติสเดโมแครต กล่าวว่า "คุณมีคนรุ่นที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดียแทนที่จะเป็นโทรทัศน์แพร่ภาพกระจายเสียง ... คนรุ่นนี้เติบโตมากับการได้ดูคลิปชาวปาเลสไตน์ถูกไล่ออกจากบ้านตัวเองโดยกลุ่มผู้ตั้งรกรากใหม่ หรือคลิปเกี่ยวกับด่านตรวจ หรือเกี่ยวกับกำแพงที่แบ่งแยก"

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลอิสราเอลเอียงขวามากขึ้นและกลุ่มฝ่ายขวาอเมริกันก็แสดงความเห็นอกเห็นใจต่ออิสราเอล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่เอียงข้างปาเลสไตน์มากขึ้น

แม็กซ์ เบอร์เจอร์ เป็นนักยุทธศาสตร์สายก้าวหน้าที่ทำงานให้กับองค์กรชาวยิวเสรีนิยม "เจสตรีท" และผู้ร่วมก่อตั้ง ขบวนการ IfNotNow ซึ่งเป็นขบวนการชาวอเมริกันเชื้อสายยิวที่ต่อต้านการที่อิสราเอลยึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์และต้องการหยุดยั้งไม่ให้สหรัฐฯ สนับสนุนระบบของอิสราเอลที่ใช้แบ่งแยกกีดกันชาวปาเลสไตน์

เบอร์เจอร์บอกว่า "มันยากที่จะมองอิสราเอลว่าเป็นอะไรที่ดี เพราะว่าพวกเราได้แต่เห็นว่ามันเป็นสถานที่ๆ อะไรเลวร้ายเกิดขึ้น แล้วมันก็แย่ลงเรื่อยๆ ... ผมรู้จักมันแค่ว่ามันเป็นสถานที่ที่ผู้คนอ้างใช้นามของผม (ความเป็นชาวยิว) ในการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย"

มุมมองทางการเมืองแบบลดทอน ไร้มิติ

ขบวนการ Occupy ที่เคยประท้วงต่อต้านทุนนิยมที่หน้าอาคารวอลล์สตรีท ก็ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นถัดมาในแง่ของการเงินที่มีอิทธิพลต่อการเมืองด้วย มีนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งที่เป็นชาวยิว อยู่จำนวนมาก บอกว่าพวกเขาเริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อบทบาทของกลุ่มล็อบบี้สนับสนุนอิสราเอลในการเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ให้เงินเพื่อให้มีการกล่าวโจมตีกลุ่มผู้แทนฯ ฝ่ายก้าวหน้า

ตัวอย่างคือ คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล (AIPAC) ใช้งบประมาณไปกับการส่งเสริมนักการเมืองที่สนับสนุนอิสราเอล เหตุการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้กลุ่มฝ่ายซ้ายคนรุ่นใหม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประเด็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์มากขึ้น

เบอร์เจอร์กล่าวว่า "ถ้าหากกลุ่มคนที่มีอำนาจและเงินตรามากในระดับที่เหลือเชื่อเหล่านี้กำลังบดขยี้ใครก็ตามที่แค่ตั้งคำถามในเรื่องนี้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่คุณจะเน้นให้ความสำคัญ ... แล้วนั่นก็จะสร้างแรงดึงดูดมหาศาล"

ถึงกระนั้นก็ตาม โวหารที่น่าเป็นห่วงจากกลุ่มซ้ายจัดในเชิงสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายฮามาส ก็ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นในการสร้างแนวร่วมต่อต้านขัดขืนทางการเมืองในวงกว้าง ต่อความวินาศที่กำลังเกิดขึ้นในกาซ่า ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

มีกลุ่มผู้นำฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก เช่น ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส และ ส.ส. อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ คอร์เทซ ต่างก็แสดงออกต่อต้านการสังหารหมู่โดยกลุ่มฮามาสไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์

โอแคซิโอ-คอร์เทซ ประณามการเดินขบวนสนับสนุนปาเลสไตน์ในแมนฮัตตันที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา โดยบอกว่ามันเป็นการเดินขบวนที่สร้างความเกลียดชังและการเหยียดชาวยิว และประณาม "ลัทธิใจแคบหัวรั้นและความโหดเหี้ยมอำมหิต" ของงานในครั้งนั้น

แต่สำหรับฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่จำนวนมาก การสังหารหมู่พลเรือนอิสราเอลเป็นสิ่งที่สะท้อนความผิดพลาดของแนวคิดทางศีลธรรมแบบที่ลดทอนความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่ให้เหลือแค่มิติการต่อสู้ระหว่างผู้กดขี่กับเหยื่อเท่านั้

เบอร์เจอร์บอกว่า "แนวคิดตั้งต้นของพวกซ้ายก็คือการอยู่ข้างเหยื่อและปกป้องพวกเขาอยู่แล้ว... แล้วก็ดูเหมือนว่าชาวยิวจะไม่ใช่เหยือ"

 

 

เรียบเรียงจาก

How the Activist Left Turned On Israel, Time, 14-10-2023

https://time.com/6323730/hamas-attack-left-response/

Harvard Student Groups Face Intense Backlash for Statement Calling Israel ‘Entirely Responsible’ for Hamas Attack, The Havard Crimson, 10-10-2023

https://www.thecrimson.com/article/2023/10/10/psc-statement-backlash/

Young Adults' Views on Middle East Changing Most, GALLUP, 24-03-2023

https://news.gallup.com/opinion/gallup/472796/young-adults-views-middle-east-changing.aspx

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net