Skip to main content
sharethis

รมว. แรงงาน เผยยอด นายจ้าง ผู้ประกันตน ลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมกว่า 9.49 แสนราย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สำนักงานประกันสังคม ประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อหาผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งนายจ้าง ที่จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม จะมีโอกาสเข้าคูหาเลือกตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนและบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ของนายจ้างและผู้ประกันตนให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่เปิดระบบให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม จนกระทั่งปิดระบบลงทะเบียน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 23.59 น. มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 945,609 ราย ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 4,209 ราย รวมจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 949,818 ราย สำหรับผู้สมัครผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มีจำนวน 247 ราย และผู้สมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 69 ราย ทั้งนี้จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 - 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)

ที่มา: Newtv18, 11/11/2023

“จ๊อบไทย” ชี้ตลาดแรงงานโตพุ่ง 10.8%

จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงานออนไลน์ที่มีผู้เข้าใช้งานเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย เผยพฤติกรรมการหางาน สมัครงาน และความต้องการบุคลากรจากฐานข้อมูลช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2566 พบว่า ภาพรวมความต้องการแรงงานทั่วประเทศมีการเปิดรับรวม 1,746,346 อัตรา (การเปิดรับรายเดือนรวมกัน) เพิ่มขึ้น  10.80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจที่รับพนักงานเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว เติบโตถึง 76% ธุรกิจโรงแรม  39% เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ที่ในช่วงก่อนหน้าธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมมีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก และกลับมาเปิดรับใหม่อีกครั้งหลังจากที่การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ ตามด้วยธุรกิจเชื้อเพลิง/พลังงาน เติบโต 39% โดยคนหางานมีผู้ใช้งาน 17.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.72 % (นับจำนวนแบบไม่ซ้ำกันตามอุปกรณ์การใช้งาน) มีการสมัครงาน 14.7 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.44%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมิถุนายนมีการสมัครงานกว่า 2 ล้านครั้ง

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย www.jobthai.com เปิดเผยว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศของผู้ใช้งานจ๊อบไทยพบสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

-คนทำงานอายุ 25 – 34 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก  โดยผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุ 25 – 34 ปี คิดเป็น 30.27% ลำดับถัดมาเป็นช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น  25.09% ช่วงอายุ 35 – 44 ปี คิดเป็น  23.45% และอายุ 18-24 ปี คิดเป็น  21.19%

-ระดับการศึกษาและสาขาของผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น  69.69% ระดับ ปวส. คิดเป็น 14.22%  ระดับปริญญาโท คิดเป็น 4% และในระดับการศึกษาอื่น ๆ รวมกันอยู่ที่ 12.09% เมื่อแยกตามสาขาวิชาที่จบของผู้หางาน พบว่าอันดับหนึ่ง ได้แก่ บัญชี/การเงิน/การธนาคาร 10.88% อันดับสอง การบริหาร/การจัดการ/บุคคล 9.66% อันดับสาม เลขา/ประชาสัมพันธ์/ธุรการ/คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 7.91% อันดับสี่ ช่างอิเล็กทรอนิกส์/ช่างไฟฟ้า/ช่างคอมพิวเตอร์ 6.28% อันดับห้า อักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์ 5.53%

5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  เปิดรับรวม 167,261 อัตรา เนื่องมาจากการด้านท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจะเห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2  (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงมีการจ้างงานสูงเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค

2.ธุรกิจค้าปลีก เปิดรับรวม 137,421 อัตรา การขายปลีกยังคงมีขยายตัวทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้มีการประเมินถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปี 2566 ว่ามีการขยายตัวเติบโตต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยบวกจากการกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี เช่น ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน

3.ธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์  เปิดรับรวม 119,609 อัตรา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งและการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐที่มีมาตรการต่าง ๆ อาทิมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ภาครัฐให้เงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศและมีการจ้างงานในธุรกิจนี้

4.ธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง เปิดรับรวม 108,491 อัตรา มีปัจจัยสนับสนุนจากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่องจากในอดีต และมีความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ และการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชนในการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ และการก่อสร้างโครงการ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC))

5.ธุรกิจบริการ เปิดรับรวม 106,143 อัตรา เนื่องจากการขยายตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ตลอดจนการมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวนั้นมีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย

นางสาวแสงเดือน กล่าวอีกว่า สำหรับ 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง งานขาย คิดเป็น 21.43% อันดับสอง งานช่างเทคนิค คิดเป็น 9.37% อันดับสาม งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.09% อันดับสี่ งานธุรการ/งานจัดซื้อ คิดเป็น 6.26% อันดับห้า งานวิศวกรรม 5.87% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน และ 5 สายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด พบว่างานผลิต/งานควบคุมคุณภาพ มีการสมัครสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 16.03% อันดับสอง งานธุรการ/งานจัดซื้อ คิดเป็น 14.12% อันดับสาม งานวิศวกรรม คิดเป็น 10.98% อันดับสี่ งานช่างเทคนิค คิดเป็น 9.20% อันดับห้า งานขาย คิดเป็น 8.54% ของผู้สมัครทั้งหมด

ทั้งนี้ถ้าเปรียบเทียบความต้องการจากฝั่งองค์กรและความนิยมในการสมัครงาน พบว่า งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด คือ อันดับหนึ่ง งานทรัพยากรบุคคล 5.8 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสอง งานวิทยาศาสตร์ 5.5 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสาม งานนำเข้า/ส่งออก 5.5 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสี่ งานจัดซื้อ/งานธุรการ/ประสานงาน 4 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับห้า งานสิ่งแวดล้อม/ความปลอดภัย 3.8 คน ต่อ 1 อัตรา

สำหรับพฤติกรรมในการค้นหาประวัติผู้หางานของฝั่งองค์กร องค์กรมีการค้นหาประวัติผู้หางานโดยค้นหาจากช่วงประสบการณ์ทำงานเพิ่มขึ้น 31% มีการค้นหาผู้ที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป คิดเป็นกว่า 19.19% ของทั้งหมด และยังพบว่าองค์กรมีการค้นหาผู้สมัครงานจากทักษะและการใช้โปรแกรม โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจแบ่งเป็นกลุ่มหลักได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ทักษะด้านการใช้ภาษา โดยมีการค้นหาทักษะภาษาจีนมากที่สุด ตามมาด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งองค์กรยังมีการค้นหาระดับความสามารถในการใช้ภาษาต่าง ๆ อย่าง TOEIC (การสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ) และ HSK (การสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีน)

กลุ่มที่ 2 ทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานไอที โดยมีการค้นหาทักษะด้านภาษาคอมพิวเตอร์และการใช้เครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนี้ C#, JAVA, .NET, ANGULAR, PHP, SQL, GOLANG, และ PYTHON ตามลำดับ

กลุ่มที่ 3 โปรแกรมและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ได้แก่ SAP (System Application Products) และ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการวางแผนการจัดการขององค์กร, EXPRESS โปรแกรมทางด้านบัญชี และ Tiktok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารสินค้าและบริการยอดนิยมขององค์กรในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คุณแสงเดือน กล่าวเสริมอีกว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจจากเฟซบุ๊กกลุ่ม “JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน” ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มกว่า 1.1 ล้านคน โดยพบว่าคนทำงานได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังนี้ คนทำงานอายุเยอะหางานยาก, งานในต่างจังหวัดเงินเดือนน้อย, เด็กจบใหม่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารในการทำงาน, ปัญหาด้านเวลาในการทำงาน เช่น การต้องทำงานนอกเหนือเวลางาน หรือตอบข้อความหลังเวลางาน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญ

สำหรับโลกการทำงานแล้ว คนคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งทั้งฝั่งคนทำงานและองค์กรต่างต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ โดยสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มหางานควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเนื้อหาในเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอให้ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัครและควรมีการเตรียมตัวในการสัมภาษณ์งาน เช่น ฝึกซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองและสร้างความประทับใจกับผู้สัมภาษณ์งาน ก็จะทำให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น ส่วนคนทำงานที่มีประสบการณ์นั้นต้องแสดงศักยภาพให้องค์กรเห็นว่า สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร ตลอดจนต้องพัฒนาทักษะให้ทันกับความการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ในขณะที่องค์กรควรมีการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (Well-being) ให้กับพนักงานในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพด้านกาย สุขภาพด้านจิตใจ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของพนักงานโดยให้พื้นที่ในการแสดงความสามารถ และมีการสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้สนใจสามารถหางาน สมัครงาน และค้นหาบุคลากรจากจ๊อบไทยได้ที่ www.jobthai.com

ที่มา: สยามรัฐ, 10/11/2566

ผลสำรวจชี้ 'แรงงานไทย' ความสุขลดลง องค์กรอย่าชะล่าใจ รีบจัดการก่อนสาย

รายงานแนวโน้มการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน ประจำปี 2567 ของ Qualtrics บริษัทให้บริการด้านการบริหารจัดการประสบการณ์ ที่ทำการสำรวจพนักงานเกือบ 37,000 คนทั่วโลก โดยมีกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,000 คนจากประเทศไทย พบว่า ตัวชี้วัดการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในทุกด้าน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก มีเกณฑ์ชี้วัดในแต่ละด้าน รายละเอียดดังนี้

- 76% ของพนักงานรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมกับองค์กรในปี 2567 ลดลงจากปี 2566 ที่คิดเป็น 82% แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 68%

- การได้รับการยอมรับจากองค์กรอยู่ที่ 82% ลดลง 5% จากปี 2566 ที่มีคิดเป็น 87% ส่วนการยอมรับของคนทั่วโลกอยู่ที่ 73%

- ในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในไทยอยู่ที่ 75% ลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 84% ส่วนทั่วโลกอยู่ที่ 72%

นอกจากนี้ มีพนักงาน 47% มองว่าบริษัททำได้ดีเกินกว่าความคาดหวังของตน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ในระดับ 38% แต่ยังต่ำกว่าในปี 2566 ที่สูงถึง 58%

เมื่อถามว่าตั้งใจจะทำงานอยู่ที่องค์กรนี้เป็นระยะเวลา 3 ปีขึ้นไปหรือไม่ พบว่า พนักงานไทย 76% ตั้งใจจะทำงานที่เดิม ลดลงจากปี 2566 ที่มีพนักงานถึง 82% ตั้งใจจะทำงานที่เดิม แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 76%

แนวโน้มประสบการณ์ที่ดีของพนักงานไม่ได้ลดลงแค่ในไทย แต่ลดลงทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนในสิงคโปร์เกิดการหยุดชะงัก แสดงให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องกลับมามุ่งเน้นความสำคัญของพนักงานเป็นอันดับแรก

ดร. เซซิเลีย เฮอร์เบิร์ต ประธาน XM Catalyst จากสถาบัน Qualtrics XM กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพและการพัฒนา การสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่สุดในการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและผลการดำเนินงานขององค์กร

ทีมผู้เชี่ยวชาญของ Qualtrics ยังได้วิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบในการศึกษานี้ พบแนวโน้มความต้องการของพนักงานในสถานที่ทำงานที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าออฟฟิศแบบผสมผสาน เป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานชอบ พวกเขาอยากเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราว มากกว่าทำงานที่บ้านตลอดเวลา แต่ก็ไม่อยากเข้าออฟฟิศทั้ง 5 วัน โดยสะท้อนออกมาว่าผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญของการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานเชิงบวกสูงต่อเมื่อพนักงานได้ทำงานแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นระดับการมีส่วนร่วม ความตั้งใจที่จะอยู่ทำงานต่อ ความรู้สึกของความเป็นอยู่ที่ดีและการยอมรับในองค์กร

ที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ พบว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานเปิดรับเอไอมากที่สุดในโลก โดยมีพนักงานถึง 62% ยินดีที่จะให้เอไอมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกในระดับ 42% โดยพวกเขารู้สึกสบายใจมากขึ้น ถ้ารู้ว่าตนเองสามารถควบคุมเอไอได้ เช่น มีเอไอเป็นผู้ช่วย ให้เอไอเขียนงานให้ ใช้เอไอติดต่อฝ่ายสนับสนุนในหน้าที่ต่าง ๆ แต่พนักงานยอมรับว่ายังไม่สบายใจที่จะให้เอไอทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ด้านการศึกษา ใช้ตัดสินใจจ้างงาน หรือให้เอไอประเมินผลงานของตน

ขณะที่ “พนักงานระดับแนวหน้า” เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร และพนักงานค้าปลีก กลับไม่ความสุข ไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้าง ตลอดจนไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ คือ พวกเขารู้สึกไม่มีปากมีเสียง ไม่มีสิทธิ์เสนอความเห็นอะไร แถมรู้สึกว่าตนเองได้รับค่าจ้างและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ และมักเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อเทียบกับพนักงานทั้งหมด

ส่วน “พนักงานใหม่” ก็มีปัญหากับการทำงานเช่นกัน แม้ว่าในระยะแรก ๆ พวกเขาจะมีไฟในการทำงาน มีความสุขและตื่นเต้นที่ได้ไปทำงาน และในช่วงปีแรกรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่เมื่อผ่านช่วงปีแรกไปพวกเขากลับรู้สึกว่าได้รับการยอมรับน้อยลง เมื่อเทียบกับพนักงานเก่า

จากข้อมูลเผยให้ว่าในช่วงเดือนแรก ๆ ของการทำงานใหม่ เป็นช่วงที่สำคัญในการสร้างความมุ่งมั่นและความภักดีต่อองค์กร แต่มีหัวหน้าเพียง 41% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ และพยายามทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรโดยสมบูรณ์

อีกหนึ่งที่ค้นพบในการศึกษาครั้งนี้ คือ พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจกับองค์กรที่ใช้ “อีเมล” ในการทำงาน ทั้งในการส่งไฟล์งาน บันทึกการประชุม หรือแม้แต่สั่งงานและส่งฟีดแบ็กในการทำงาน มากกว่าการโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทั้งแบบไม่ระบุชื่อและไม่เปิดเผยตัวตน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/11/2566

ล็อตสุดท้าย 8 'แรงงาน' เสียชีวิตใน 'อิสราเอล' กลับถึงไทยครบแล้ว

นายอารี ไกรนรา เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงาน เดินทางมาร่วมรับศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลอีกจำนวน 8 ราย พร้อมร่วมวางพวงหรีดแสดงความอาลัย โดยมี นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลสิทธิประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธี ณ บริเวณอาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสมุทรปราการ

นายอารี  ระบุว่า แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 8 ราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งกลับมาเป็นชุดที่ 4 โดยกลับมา ด้วยเที่ยวบินที่ LY081 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 12.15 น. ทั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด เข้าแจ้งสิทธิประโยชน์ครอบครัวของแรงงาน ทั้งในส่วนรัฐบาลไทยเรียบร้อยแล้ว

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่อยู่ในจังหวัดภูมิลำเนา ของแรงงานไทยได้ประสานครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับร่างแรงงานทุกรายกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูมิลำเนาใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม เชียงราย อุดรธานี น่าน บึงกาฬ และ ลำปาง แล้วเช่นกัน

โดยหลังจากร่างผู้เสียชีวิตไปถึงภูมิลำเนา กระทรวงแรงงานจะนำเงินช่วยเหลือไปมอบให้กับทายาทของแรงงานไทยที่เสียชีวิต 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ

นอกจากนี้ มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมอิสราเอล  ซึ่งในกรณีที่เสียชีวิตนี้ บิดา มารดา ภรรยาตามกฎหมาย และบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี  และยังมีสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม โดยครอบครัวของแรงงานไทยซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลจะได้รับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมตามมาตราที่แรงงานเป็นสมาชิก

ท้ังนี้ แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลทั้งหมด 34 ราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตยืนยันจากทางการอิสราเอลนั้น ขณะนี้สถานทูตฯ ได้ส่งร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาครบแล้ว โดย 8 รายล่าสุด มีรายชื่อ ดังนี้

1.นายเศรษฐา โฮมสร จ.นครพนม

2.นายดัว แซ่ย่าง จ.เชียงราย

3.นายไกรสร อรัญถิตย์ จ.อุดรธานี

4.นายเกียรติศักดิ์ พาที จ.อุดรธานี

5.นายธวัชชัย แซ่ท้าว จ.น่าน

6.นายศรายุทธ ปั้นกิจวานิชเจริญ จ.น่าน

7.นายไกรสร ทุมโยมา จ.บึงกาฬ

8.นายปพนธนัย โป่งเครือ จ.ลำปาง

ที่มา: คมชัดลึก, 9/11/2566

สั่งจ่ายแล้ว เงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีแรงงานไทยเดินทางกลับจากภัยสงคราม

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลว่า การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีแรงงานไทยเดินทางกลับจากภัยสงคราม จะได้รับคนละ 15,000 บาท ขณะนี้มีแรงงานยื่นคำขอมาแล้ว 6,125 คน ในจำนวนนี้สั่งจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 3,000 คน ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้รับเงิน คาดว่าอีกไม่เกิน 7 วันจะดำเนินการสั่งจ่ายเรียบร้อยทั้งหมด ส่วนกรณีบางรายจ่ายล่าช้านั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน จึงได้กำชับกรมการจัดหางานเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด เพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น เพราะเป็นเงินก้อนแรกที่แรงงานต้องได้รับ

ส่วนเงินเยียวยาเพิ่มเติมของรัฐ 50,000 บาท กระทรวงแรงงานได้ส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ และนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการแล้ว โดยจะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งแรงงานที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล รวมถึงผู้เสียชีวิต และผู้ที่กลับมาก่อนเกิดสงครามกลุ่ม Re-entry Visa เป็นกลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยาเพิ่มเติม 50,000 บาท

ส่วนการเบิกจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้กับแรงงานไทยที่ซื้อตั๋วกลับมาเอง ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานได้ให้แรงงงานจังหวัดรวบรวมเอกสารหลักฐาน เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเบิกจ่ายคืนให้กับแรงงาน ซึ่งขณะนี้รับยื่นหลักฐานคำขอจากแรงงานมาแล้ว 2,400 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นคำขอเบิกค่าตั๋วเครื่องบิน 1,100 คน ส่วนที่เหลือ 1,300 คนเป็นคำขอเบิกค่าแท็กซี่ที่อิสราเอลที่ใช้เดินทางมาที่สนามบิน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงานในจังหวัดลงพื้นที่ไปที่บ้านของแรงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐาน เพื่อดำเนินการเบิกเงินโอนเข้าบัญชีของแรงงานโดยเร็ว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8/11/2566

'ศรีสุวรรณ' เตรียมร้องปลัดฯ แรงงาน สอบประกันสังคม พิรุธฮั้วประมูล 31 โครงการ 6,500 ล้าน

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้พบข้อพิรุธกระบวนการจัดทำทีโออาร์ สืบราคากลาง และการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีลักษณะเอื้อประโยชน์ ให้บริษัทเอกชนให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการจ้างงานด้าน IT จำนวน 2-3 รายมาตลอด โดยแต่ละโครงการมีการกำหนดบริษัทผู้ชนะการประมูลงานไว้ล่วงหน้าแล้ว, ร่วมมือกันทุจริตเป็นขบวนการ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม กรรมการทีโออาร์ กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกระทรวง, รวมทั้งสิ้น 31 โครงการ เป็นเงินกว่า 6,500 ล้าน

โดยช่วงระยะเวลาระหว่างเดือน กันยายน ถึง พฤศจิกายน 2566 มีการประมูลและเซ็นสัญญาจ้างงานด้าน IT อีก 6 โครงการมูลค่าเกือบ 650 ล้าน โดยได้ผู้ชนะการประมูลงานเป็นกลุ่มเดิมอีก

ทั้งนี้ กระบวนการขั้นตอนการสืบราคากลาง มาจากบริษัทในกลุ่มเดียวเครือข่ายเดี่ยวกัน ช่วยกันฮั้วทำราคากลางให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นหน้าเดิมๆ หรือบางครั้งมาจากบริษัทลูก หรือบริษัทแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นเดียวกันที่มีหุ้นไขว้กัน สลับกันเป็นคู่เทียบเข้างาน คู่ฮั้วประมูล หรือนำบริษัทลูกของบริษัทในกลุ่มในเครือข่ายเดียวกันมา คอนโซเตี้ยม หรือ จับมือกันในรูปกิจการร่วมค้า เพื่อเข้าประมูลงาน หลังจากชนะการประมูลงานแล้ว ก็รับจ้างช่วงงานกันอีกทอดหนึ่ง หรือซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน หรือไขว้งานกันหรือมีหุ้นไขว้กัน เพราะต่างฝ่ายก็เป็นตัวแทนสินค้าหรือตัวแทนผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ในโครงการ

อย่างไรก็ตาม บริษัทหน้าเดิมๆ ที่ชนะการประมูลงานเหล่านี้ เป็นพวกที่หากินอยู่กับโครงการที่ใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสังคม ร่วมมือกันปิดกั้น หรือป้องกันคู่แข่งรายอื่นที่ไม่ได้เป็นพวกหรือเครือข่ายเดียวกันมาเข้าประมูลงานแข่ง โดยมีผู้บริหารกระทรวงระดับสูงเป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกให้ทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผู้ชนะการประกวดราคาตามโผที่กำหนดไว้ โดยผู้ชนะงานจะจ่ายเงินทอนให้ไปรวมแล้วหลายพันล้านบาท อันถือเป็นความเสียหายต่อชาติต่อแผ่นดิน และเป็นความผิดตาม พรบ.ฮั้วประมูล 2542 และ พรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ2560 โดยตรง

"ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงจะนำความไปร้องเรียนปลัดแรงงานคนใหม่ ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม ให้ตั้งกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องตามครรลองของกฎหมายต่อไปในวันพฤหัสที่ 9 พ.ย.656 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กทม. " นายศรีสุวรรณ กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 8/11/2566

นายกสั่งดูแลเงินชดเชยแรงงานไทย ย้ำขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ใช่ตอนนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้มีการประชุม ครม. ได้เห็นชอบเรื่องสำคัญหลายเรื่อง ส่วนเรื่องการชดเชยค่าเดินทางให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล หลังมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า แรงงานวิพากษ์วิจารณ์ จึงมอบหมายให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไปกำกับดูแลให้ดี และให้แน่ใจว่าบุคคลที่ควรได้ ต้องได้เงินชดเชย ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหา ไปพูดว่า กลับจากประเทศอิสราเอลแล้วไม่ได้เงินชดเชย ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนที่ยังอยู่ประเทศอิสราเอลจะไม่เดินทางกลับมาประเทศไทย

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการสมรสเท่าเทียม ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการเพื่อจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

นายกฯ กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ในการติดตามเขตพื้นที่เศรษฐกิจ หรือ EEC ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีความล่าช้าอย่างมาก ซึ่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ ไปกำกับและเร่งรัด และดูแลอย่าให้ล่าช้า และต้องเป็นไปตามสัญญาที่จะส่งมอบ ให้เป็นข้อคิดกับรัฐมนตรีคนอื่นว่า หากเป็นงานของรัฐ และมีโครงการที่ล่าช้า ต้องเร่งติดตามความคืบหน้า ไล่บี้ผู้รับเหมา อย่าให้ส่งงานล่าช้า อย่าเข้าใจเขามากไป เพราะเราเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน การส่งมอบงานล่าช้า จะส่งผลกระทบกับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก จึงอยากให้ดูแลเรื่องนี้ให้ดี

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลฝุ่น PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูของฝุ่น PM 2.5 แล้ว โดยแต่งตั้งให้ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ และแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดูแลด้าน EEC ดูแลปัญหาผลกระทบในพื้นที่เศรษฐกิจ EEC ซึ่งจะมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธาน และมีเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการชุดนี้

นอกจากนี้ ได้สั่งการเรื่องเหมืองโพแทสเซียม เพราะโพแทสเซียมถือเป็นสารตั้งต้นของการทำปุ๋ยเคมี ซึ่งประเทศไทยมีแร่ธาตุนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศแคนาดา ซึ่งสารดังกล่าว เมื่อคุณเจาะมาแล้วสามารถนำไปขายได้ราคาดี เมื่อนำไปขายส่งออกไปที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีความต้องการสูง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับสัมปทาน 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงาน จึงให้เร่งรัด หากไม่สามารถทำได้ ให้ผู้รับประมูลเข้ามาดำเนินการใหม่

อีกทั้งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องของอาหารฮาลาล และได้เห็นชอบที่ได้เล็งเห็นว่าจะเป็นอาหารเศรษฐกิจ ที่สามารถส่งออกไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก เช่นตะวันออกกลาง และแอฟริกา จึงอยากจะยกระดับโรงงานอาหารฮาลาลขึ้นมาเป็นกรม จึงได้สั่งการไป และพูดคุยกับสำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ กพ. เพื่อยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม เพื่อจะได้ให้ความสำคัญ และสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการจำกัดจำนวนบุคคลที่มียาเสพติดครอบครอง จากตอนแรกที่กระแสข่าวออกมาว่า ครอบครองจำนวน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพนั้น นายเศรษฐา ระบุว่า ได้เปลี่ยนแปลงลดลงมาเหลือ 5 เม็ด

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่อยู่ตามสื่อว่า มีการแฮกข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชน นำข้อมูลของประชาชนกว่า 15 ล้านคน ไปเผยแพร่ จึงได้กำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงมหาดไทย ไปช่วยกันกำกับดูแลภายในหนึ่งสัปดาห์ นำกลับมาเสนอแผนงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความกังวลของประชาชนสำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงขั้นต่ำว่า จะส่งผลกระทบต่อขึ้นราคาสินค้า โดยระบุว่า ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ขึ้นเงินเดือน แต่ให้ไปศึกษาเพื่อดูถึงแนวทางและผลกระทบ ขณะเดียวกันราคาสินค้ายังไม่ได้ขึ้นราคา จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ซึ่งเรื่องการขึ้นราคาสินค้า มีกรมการค้าภายในดูแลควบคุมอยู่แล้ว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/11/2566

แรงงานไทยแฉมีนักพนันตีเนียนไปทำงานที่อิสราเอลด้วย เปิดวงเล่นหลังเลิกงานโจ๋งครึ่ม

แรงงานไทยในอิสราเอลรายหนึ่งเปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ตนสงสารผู้ใช้แรงงานไทยบางคนที่มาทำงานยังประเทศอิสราเอลต้องมาติดเล่นการพนันกับคนไทยด้วยกันเองที่แฝงตัวมาทำงานกับพวกตนอย่างไม่น่าเชื่อ ชึ่งอำนาจเจริญมีแรงงานไทยไปทำงานยังประเทศอิสราเอล จำนวน 80 ราย เป็นหญิง 2 ราย นอกนั้นเป็นชายทั้งหมด ขณะนี้ทราบว่าเดินทางกลับมายังจังหวัดอำนาจเจริญแล้วจำนวน 8 ราย

นอกนั้นยังอยู่ที่ ประเทศอิสราเอล ซึ่งก็ยังไม่ทราบแน่นชัดว่ามีคนไทยในจังหวัดอำนาจเจริญถูกจับเป็นตัวประกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ประชาชน ตลอดถึงผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญยังเข้าไม่ถึงข้อมูลดังกล่าวว่า มีคนไทยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนกี่รายหรือไม่อย่างไร

ทางด้าน นายสุระพล วัย 32 ปี หนึ่งในผู้เดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศอิสราเอล ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทั้งน้ำตาว่า ตนและเพื่อนๆ เพิ่งเดินทางมาทำงานที่ประเทศอิสราเอลเพียงไม่กี่เดือน ก็เกิดสงครามขึ้น แต่ตนอยู่ในที่ปลอดภัย คงจะไม่เดินทางกลับ นายจ้างก็ดี ในช่วงนี้ตนไม่ขอกลับ อีกอย่างเงินที่ตนยืมมาร่วม 200,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่นับว่ามากพอสมควร หากกลับไปก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้เขา เพราะครอบครัวก็ไม่ได้ร่ำได้รวย มีอาชีพทำนาหากินไปวันๆ

หากตนไม่ตัดสินใจมาทำงานที่ประเทศอิสราเอลซึ่งมีเงินเดือนร่วม 50,000 บาทต่อเดือนแล้ว จะเอาปัญญาที่ไหนไปสร้างบ้านและอยู่ในสังคมที่ประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญได้อย่างเป็นสุขเล่า ที่มาขายแรงงานก็เพราะเห็นว่าได้เงินเดือนสูงถึง 45,000 บาทต่อเดือน แถมมีเงินโอทีให้อีกด้วย ถึงจะเกิดสงครามก็ต่อสู้หากกลับไม่รู้ว่าจะได้มาอีกปีไหน คือเงินล่วงเวลาก็มี

นายสุระพลกล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนเห็นกับตาก็คือ มีนักพนันที่เป็นคนไทยแฝงตัวมากับแรงงานไทยด้วย แล้วหลังเลิกงาน ชวนแรงงานเปิดเล่นพนันกับคนไทยด้วยกัน แทงพนันกันอย่างโจ๋งครึ่ม แรงงานไทยบางคนกล่าวว่า เงินเดือนส่งทางบ้านหมดแล้วไม่ต้องห่วงนะ เงินที่เล่นนี้คือเงินพิเศษเงินล่วงเวลา แต่ตนก็เห็นว่าเมื่อเล่นเงินล่วงเวลาหมดแล้วก็คงเอาเงินเดือนเล่นต่อไปอย่างแน่นอน และยังได้ข่าวอีกว่าถึงกำหนดเวลา สัญญาที่ทำงาน ให้เดินทางกลับบ้าน เหลือเงินเพียงไม่กี่บาท บางรายเหลือแต่ตัวกลับบ้าน เสียพนันกันหมด มันเป็นที่น่าอดสูยิ่งนัก น่าสงสารยิ่งนัก คนไทยกันเอง มาเล่นพนันกินกันเอง

เช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งไม่ดีอย่างยิ่ง อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ทางเมืองไทย หามาตรการเข้มไม่ให้มีการพนันเกิดขึ้น กับผู้ที่มาใช้แรงงาน ที่ประเทศอิสราเอลโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม อาจจะกำชับให้ทางนายจ้าง หรือทูตไทยที่มาประจำอยู่ที่ประเทศอิสราเอล ให้เข้มงวด ไม่ให้มีการพนันเกิดขึ้นได้กับแรงงานไทยที่มาทำงานยังประเทศอิสราเอลอย่างเด็ดขาด

เพราะตนเห็นแล้ว คิดสงสารพ่อแม่ ลูกเมีย ที่ส่งเงินให้มาทำงานยังต่างประเทศถึง 4 ปี 5 ปี พอหมดสัญญาจะกลับบ้าน เหลือแต่ตัวมันเสียเวลาเสียความรู้สึกยิ่งนัก

ซึ่งนักพนันส่วนใหญ่จะแฝงตัวเข้ามากับแรงงานไทยเป็นกลุ่มๆ กลุ่มหนึ่งจะมีนักพนัน 1 ถึง 2 คน จะกระจายกันอยู่ ทุกจุดทั่วประเทศอิสราเอล พวกนี้เวลาทำงาน ก็จะทำตัวเป็นคนงานลงไปทำงานเช่นกัน แต่ก็ทำไปอย่างนั้น ไม่ขยันไม่กระตือรือร้น รอเล่นการพนันเอาตอนเลิกงาน เมื่อเล่นการพนันดึก ตอนเช้าก็ทำงานก็ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่เพราะนอนไม่อิ่ม รวมถึงแรงงานที่ร่วมเล่นพนันด้วยกัน ฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ให้ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย อย่าให้มีการพนันเกิดขึ้นอีกจะเป็นการดีที่สุด ตนขอร้องเพราะสงสารคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องลูกเมียที่รออยู่ที่ประเทศไทย อุตส่าห์ไปกู้หนี้ยืมสินเงินทองส่งมาทำงานหวังจะมีเงินกลับบ้าน แต่ ขากลับกลับบ้านมือเปล่า แล้วจะสู้หน้าญาติๆ ลูกเมียพ่อแม่ได้อย่างไรเล่า

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/11/2566

รวมมาตรการช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล คนอยู่ต่อ-คนกลับ ได้อะไรบ้าง

ถึงแม้สถานการณ์สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลบริเวณอิสราเอล-กาซามีการปฏิบัติภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่อง แต่จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า มีแรงงานไทยตัดสินใจไม่กลับเนื่องจากความเป็นอยู่สบายดี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และกลัวว่าถ้ากลับมาแล้วจะหาเงินจ่ายหนี้สินที่กู้ยืมเอาไว้ไม่ได้

เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้ดีเท่าที่อยู่ในอิสราเอลหรือไม่ นอกจากนั้น นายจ้างอิสราเอลดึงเรื่องการจ่ายเงินเดือนออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และมีการเพิ่มค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบเพิ่มขึ้น เชื่อว่าแรงงานไทยจะตัดสินใจกลับประเทศแน่นอน

ตัวเลข ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 มีแรงงานเดินทางกลับถึงไทยแล้ว 54 เที่ยวบิน ยอดรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,813 คน สำหรับมาตรการเยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบอิสราเอลมีดังนี้

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์เยียวยาจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีที่มีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ กองทุนจะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

– กรณีแรงงานที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเข้ามาเอง สามารถนำเอกสารมาเบิกค่าตั๋วเครื่องบินได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยกระทรวงแรงงานจะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศเบิกคืนให้แรงงาน ไม่เกิน 1 เดือน ได้รับเงินคืน

สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ยังได้รับสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ดังนี้

– ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย: กรณีบาดเจ็บหรือพิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย

– กรณีแรงงานเสียชีวิต: ภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โดยภรรยาจะได้เงิน 34,560 บาทต่อเดือน ส่วนบุตรได้เงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/11/2566

นายกฯ สั่งศึกษาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ-เงินเดือนขรก.-จนท.รัฐ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือลงโดยนายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ความว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติมีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมสอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี นั้น

จึงขอมอบหมาย ดังนี้

1.ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

2.ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือนรับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วภายในเดือนพฤศจิกายน 2566

ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามบัญชีแนบท้ายทราบด้วยแล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/11/2566

รมว.แรงงาน ออกโรงทวงคืน Service Charge 10% ให้ลูกจ้าง

ขณะที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะพิจารณาในช่วงปลายปีนี้ ว่าจะขึ้นในอัตราใดนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ได้ออกมาทวงคืนค่า Service Charge 10 % ของค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ทั่วประเทศ โดยระบุว่า เป็นรายได้เพิ่มเติม ในส่วนของพนักงาน ซึ่งมีไม่ถึง 50 % ของสถานบริการที่เรียกเก็บ Service Charge 10 %  จากลูกค้าแล้วจะนำมาให้พนักงาน

“บางประเทศที่เจริญแล้ว ต้องมีค่าทิป กี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่น้อยกว่า 10% สำหรับคนที่เป็นพนักงานพวกเราได้รับรู้  บอกได้เลยมีไม่ถึง 50% ที่นายจ้างจะให้กับลูกจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ผมไปกินร้านอาหารทุกร้าน ผมจะทักท้วงก็ถึงขั้นว่า ถ้ามีผู้จัดการอยู่จะเรียกผู้จัดการมาคุยบอกพวกคุณเอาเปรียบน้องๆ พวกคุณเงินเดือนสูง แต่น้องๆเงินเดือนต่ำ คุณตั้งเซอร์วิสชาร์จมาแล้ว 10% คุณควรจะให้พนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการเอาไป นั่นหมายความว่า คุณกำลังโกงลูกค้าที่ไปทานอาหารในร้านด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว  ในช่วงหนึ่งกับ นายสาวิทย์ หวานหนู ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ตนไม่เห็นด้วย แต่นั่นคือกฎเกณฑ์ของพวกคุณ ไม่เป็นไร ผมเติมให้เวลาผมไปทานอาหาร ค่าเซอร์วิสชาร์จ ผมก็แจกน้องไปหลายบุคคลเลย บอกไม่ต้องรวม เอานี้เป็นส่วนตัวสำหรับน้องๆ ผมก็คุยกับร้านอาหารหลายแห่งว่า คุณเอาเปรียบลูกน้อง คุณลองไปอยู่ในยุโรป ในอเมริกา บางประเทศในยุโรป  เขามีกฎหมายกำหนด แต่บางประเทศไม่มี  อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดว่าต้องคิดกี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือความชัดเจน 

ที่มา: พรรคภูมิใจไทย, 5/11/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net