Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความคิดเห็นและข้อถกเถียงในเรื่องร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับอนาคตของสังคมการเมืองไทย เพราะการขยายตัวและเพิ่มบทบาทของหน่วยงาน กอ.รมน. ที่มากขึ้นมากในสมัยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและรัฐบาล “แสร้งว่า” มาจากการเลือกตั้ง (โดยผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับขัดขวางประชาธิปไตย ให้ใจแก่นายทุน) ได้ทำให้หน่วยงานนี้ทำหน้าที่หลักคือการควบคุมความคิดและการกระทำของผู้คนให้สยบยอมใต้อำนาจของรัฐอย่างไม่มีปาก ไม่มีเสียง ด้วยการสร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว”

“อาณาจักรแห่งความกลัว” เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ ๒๕๑๗ ถึงก่อนการเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2543 ที่สำคัญ “ อาณาจักรแห่งความกลัว” นี้ได้กลับมาและเริ่มขยายเงามืดครอบคลุมสังคมไทยกว้างขวางและลึกมากขึ้น

“อาณาจักรแห่งความกลัว” เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ด้านหนึ่ง หน่วยงาน กอ.รมน. “ปลอมตน” แทรกไปสอดส่องการกระทำที่ผู้มีอำนาจไม่พึงพอใจและมองว่าเป็นภัยต่อการครองอำนาจของตน การ “ปลอมตน” นี้ดำเนินไปในทุกส่วนของสังคมและทำให้สามารถสร้าง “ข้อมูลข่าวสาร” ได้อย่างที่ไม่ได้ตระหนักว่าจริงหรือเท็จและพร้อมที่จะ “เอาผิด” แก่ผู้ที่ถูกจับจ้อง นักการเมืองอาวุโสที่อยู่สภาขณะนี้ก็รับรู้ในเรื่องราวแบบนี้อย่างแน่นอน อดีตนายกรัฐมนตรี ชวนหลีกภัย ก็คงจะรับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และ/หรือโดยเฉพานักการเมืองที่เคยเป็น “สหายเก่า” ทั้งหลาย (คุณภูมิธรรม คุณอดิศร คุณจาตุรนต์ ฯลฯ )

อีกด้านหนึ่ง การทำงานอย่างไม่เปิดเผยและไม่โปร่งใสของ กอ.รมน.ได้ทำให้ผู้คนในสังคมไม่สามารถรู้ได้ว่าการติดต่อ/สนทนาอยู่กับเพื่อนนั้นจะถูกรายงานไปอย่างไร และเมื่อใด การกลั่นแกล้งสามารถเกิดได้ในทุกขณะของความสัมพันธ์ทางสังคม ความระแวง/หวาดหวั่นในความสัมพันธ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมอย่างสูง ผู้คนจำนวนมากอยู่ภายใต้ความกลัวก็ต้อง “ปิดปาก” และลดทอนตัวเองเหลือเป็นเพียง “อณู” เล็กๆที่จำต้องล่องลอยไปตามกระแส ( การลดทอนมนุษย์ให้เป็น “อณู” คือ กลไกสำคัญที่ทำให้นาซีมีอำนาจเหนือแผ่นดินเยอรมัน)

การกลับมาและขยายตัวของ กอ.รมน.เกิดขึ้นชัดเจนจากเป้าประสงค์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และถูกสถาปนาไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมไปถึงการเชื่อมเข้ากับกองทัพและหน่วยงานด้านการปกครอง ที่สำคัญ การทำงานของหน่วยงานนี้ไม่ถูก/ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้องานหรือการใช้งบประมาณ

การยุบหรือไม่ยุบ กอ.รมน.จึงเป็นเรื่องของสังคมว่าต้องการจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือไม่ หากไม่เปลี่ยนแปลง สังคมไทยก็จะจมอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความกลัว”หนักกว่าเดิม “อาณาจักรแห่งความกลัว” ที่จะกดทับผู้คนและสังคมจนไม่สามารถเกิดความคิดสร้างสรรค์ใดๆขึ้นมาได้ หากเปลี่ยนแปลงได้ การผลิบานของความคิดสร้างสรรค์ (หมายถึง “ซอฟต์ เพาเวอร์” ตามความหมายสากล) ก็มีโอกาสเกิดได้ง่ายมากขึ้น

ช่วงเวลานี้ ควรจะเป็นเวลาที่สังคมโดยรวมได้เรียนรู้ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจของสังคมอย่างแท้จริง เพื่อที่สังคมจะได้แสวงหาหนทางเดินไปสู่อนาคตของสังคม ไม่ใช่แค่อนาคตของเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำ 

ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจึงควรได้รับการบรรจุเข้าไปถกเถียงพูดคุยในรัฐสภาว่า กอ.รมน.ได้ทำงานอะไร อย่างไร การใช้เงินเหมาะสมไหม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไร เพื่อสังคมโดยรวมจะได้ร่วมตัดสินใจในทางเดินสู่อนาคตของตนเอง การรับฟังความคิดเห็นโดยรัฐสภาอย่างที่กำลังทำนี้ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เพราะจะถูกอ้างความชอบธรรมโดยจำนวนเท่านั้น ( แม้ว่าคนอยากจะให้เลิกมียี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องได้โอกาสในการฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง )

การปฏิเสธร่างพระราชบัญญัตินี้ของนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสินต่อหน้านายทหารใหญ่จึงเป็นเรื่องแสดงให้เห็นถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์และปราศจากความเข้าใจระบอบการเมือง (รวมทั้งเป็นการแสดงการอ่อนข้ออย่างยอมจำนนให้กับอำนาจทหาร)

คนไทยและสังคมไทยต้องการที่จะเลือก “อนาคต” ของตนเองครับ เราทนอยู่ภายใต้การครอบงำจาก “อนาคตของผู้นำและชนชั้นนำ ”มานานเกินไปแล้วครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net