Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในกระแสหนัง “สัปเหร่อ” มาแรง มิตรสหายถามผมว่า คิดยังไงกับเรื่องที่ "โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สัปเหร่อ และผู้สนับสนุนทุนของ “จักรวาลไทบ้าน เดอะซีรีส์” มาแต่แรกๆ เคยเป็นอดีต ส.ส. ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย และปัจจุบันก็เป็นผู้ช่วย รมว. ศึกษาธิการอีกด้วย 

ผมตอบว่าเท่าที่รู้เขาไม่ได้ใช้ความคิดทางการเมือง หรือตำแหน่งทางการเมืองมาชี้นำการทำหนังของจักรวาลไทบ้าน คนทำหนังก็มีอิสระที่จะทำตามความคิดของตน ล่าสุดเขายังให้คำแนะนำคณะกรรมการ Soft Power ไปด้วยว่า “ไม่ควรไปกำหนดว่าหนังควรเป็นแบบไหน ควรให้เขาครีเอทเองมากกว่า” (ดู https://www.dailynews.co.th/news/2846289/)

อย่างไรก็ตาม มีคำถามทางปรัชญาการเมืองว่า การยืนยันว่าให้ “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” (individual liberty) อย่างเต็มที่ เช่น ให้เสรีภาพปัจเจกบุคคลแก่บริษัทหนัง หรือคนทำหนัง และอื่นๆ มัน “ย้อนแย้ง” กับการมีจุดยืนทางการเมืองบนอุดมการณ์ฝ่ายขวาที่ขัดกับ “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) หรือไม่ 

ถ้าตอบตามความคิดทางปรัชญาแบบคานท์ (Immanuel Kant) และรอลส์ (John Rawls) ก็ตอบได้ว่า “ย้อนแย้ง” หรือ “ขัดแย้งกัน” เพราะสำหรับคานท์และรอลส์ การยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลต้องควบคู่กับการยืนยันเสรีภาพทางการเมืองด้วยเสมอ เพราะการใช้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลจะต้องไม่ถูกขัดขวางโดยอำนาจทางการเมืองแบบเผด็จการ หรือกฎหมายแบบเผด็จการใดๆ ที่ขัดขวางการใช้เสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ครอบคลุมถึงเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การเขียน การแสดงออกใดๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ระบบ หรือโครงสร้างทางสังคมและการเมืองให้ดีขึ้น หรือมีความเป็นธรรมมากขึ้น  

สมมติว่าจักรวาลไทบ้านอยากทำหนังเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของไทบ้านอิสาน เช่น เกี่ยวกับเรื่องที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคอิสานรณรงค์ยกเลิก 112 หรือเรื่องลูกไทบ้านอิสานอย่าง “อานนท์ นำภา” ที่มีวิถีชีวิตกินลาบ ก้อย ซอยจุ๊กับเพื่อนมิตร ควบคู่กับวิถีชีวิตของทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และชีวิตการเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นผู้ริเริ่มนำประเด็น “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” มาปราศรัยบนเวทีชุมนุมทางการเมือง หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ “ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง” ให้ตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบได้ เสรีภาพปัจเจกบุคคลที่จะครีเอทหนังเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ ก็ย่อมถูกยับยั้งจากอำนาจทางการเมืองที่ยึดจุดยืนบนอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งเป็นอุดมการณ์แบบเดียวกับที่ผู้สนับสนุนทุนยืนยันอยู่แล้วโดยพฤตินัยนั่นเอง

พูดง่ายๆ คือ ถ้า “ให้อิสระ” แก่คนทำหนังจริง คุณอยากทำหนังไทบ้านในประเด็นไหนก็ต้องทำได้ เพราะมันมีไทบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ มีไทบ้านสู้เพื่อประชาธิปไตย มีไทบ้านที่ไม่เอา 112 มีไทบ้านที่เผา “รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์” และอื่นๆ เหมือนกับคุณนำเสนอฉากพระร้องไห้ เพื่อนที่เป็นโยมตบหัวพระ หรือพระกินข้าวแลง (ทานอาหารเย็น) เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีเสรีภาพทางการเมือง คุณไม่มีอิสระครีเอทหนังขนาดนั้นหรอก มองลึกๆ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนสนับสนุนทุนทำหนังที่บอกว่า “ให้อิสระ” แก่คุณมากที่สุด กลับเป็นคนที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาที่ขัดขวางการมีเสรีภาพทางการเมืองเสียเอง

ที่พูดเช่นนั้น ไม่ใช่ผมกำลังกล่าวโทษ “ตัวบุคคล” คือคุณ “โต้ง-สิริพงศ์” แต่กำลังพูดถึงความเป็นจริงของความย้อนแย้งดังกล่าวว่ามันเป็นผลของ “ความทับซ้อน” กับ “ความซับซ้อน” เชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมระหว่าง “จักรวาลไทบ้าน” กับ “จักรวาลการเมืองไทย” คือจักรวาลไทบ้านซ้อนอยู่ในจักรวาลการเมืองไทยที่มีซีรีส์ต่อเนื่องไม่รู้จบเหมือนกัน วิถีชีวิตในจักรวาลไทบ้านมีอัตลักษณ์และคุณค่าของตนเองที่เป็นอิสระ แต่ก็เป็นอิสระได้เท่าที่กฎจักรวาลการเมืองไทยอนุญาตให้เป็นได้

ตัวอย่างเช่น ฉากหนัง “สัปเหร่อ” เกี่ยวกับประเพณีการบวชพระของไทบ้านอิสานที่ “real” มากคือ ฉากปลงผมบวชพระของ “เฮียป่อง” ที่มีเพื่อนๆ ลุง ป้า น้า อา มาปลงผมและพูดอวยพรตลกๆ แบบ “หยอกๆ” กัน ฉากที่โยมพ่อเปิดประตูกุฏิเข้าไปเห็นพระกำลังซดมาม่าตอนเย็น หรือฉากที่เพื่อนสนิทเผลอตบหัวพระ ความ real คือฉากเหล่านี้เล่าตรงๆ ว่าไทบ้านอิสานไม่ได้มองว่าพระศักดิ์สิทธิ์สูงส่งขนาดนั้น หรือคาดหวังว่าคนที่บวชพระต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องตาม “หลักธรรมวินัย” ต้องสำรวม เคร่งขรึม หัวเราะ ร้องไห้ไม่ได้ กลัวไม่เป็น วิ่งหนีผีไม่ได้อะไรทำนองนั้น แต่มองว่าพระก็มี “ความเป็นคน” ในบริบทวิถีชีวิตแบบไทบ้าน นั่นคือพระก็คือ “คน” ที่มีสายสัมพันธ์เป็นเพื่อนของเรา คือลูกหลานญาติมิตรของคนในหมู่บ้าน การนับถือพระ ไหว้พระ การทำบุญเป็นเรื่องของประเพณีความเชื่อ ส่วนการประพฤติถูกผิดตามหลักธรรมวินัยของพระ เป็นเรื่องที่มองกันแบบ “ยืดหยุ่น” และเข้าใจความเป็นคนธรรมดาของกันและกันมากกว่าที่จะถือเรื่องธรรมวินัยเป็น “กฎเหล็ก” ในการตัดสินความเหมาะสมของพระแบบที่ชนชั้นกลางในเมืองหรือกองเซ็นเซอร์หนังมอง

นอกจากไทบ้านอิสานจะมองการบวชพระเป็นเรื่องทำตามประเพณีมากกว่าเพื่อบรรลุนิพพานแล้ว ยังมองว่าการบวชเป็นโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็น “เส้นทางดิ้นรนต่อสู้” เหมือนเส้นทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายนา หรือกู้หนี้ยืมสินส่งลูกเรียน แต่บางคนไม่มีกำลังเช่นนั้นก็ให้ลูกบวชเรียน แต่เส้นทางการบวชเรียนคือการก้าวจากจักรวาลไทบ้านสู่จักรวาลการเมืองไทย 

จักรวาลการเมืองไทย คือจักรวาลแห่งการผูกขาดและแบ่งปันอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ ระหว่าง “นายทุน ทหาร ศักดินา” เส้นทางการบวชเรียนคือเส้นทางที่ถูกกำหนดโดยระบบการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์คือ “มหาเถรสมาคม” ที่เป็น “ศาสนจักรของรัฐ” ที่ผมเรียกว่า “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” เพราะเป็นศาสนจักรที่มีอำนาจกำหนดว่าพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมีหน้าที่สอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ห้ามสอน อภิปราย เสวนา แสดงความเห็นและชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน เพราะถือเป็นการ “ยุ่งเกี่ยวการเมือง” แต่สอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และทำกิจกรรมใดๆ สนับสนุนความจงรักภักดีดังกล่าวไม่ถือว่ายุ่งเกี่ยวการเมือง 

ถ้าลูกไทบ้านก้าวหน้าในเส้นทางบวชเรียนและอยู่เป็นพระนานๆ ก็จะได้ “สมณศักดิ์” ชั้นต่างๆ จนถึงสมเด็จพระสังฆราช ถ้าลาสิกขาบทแบบมีปริญญาตรี โท เอก ก็ไปประกอบอาชีพด้านต่างๆ ได้ หลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ แต่พระเณรลูกไทบ้านที่เดินบนเส้นทางสายนี้ต้องเดินอย่างระมัดระวัง ไม่ทำตัวให้เป็นที่สงสัยในเรื่อง “ความจงรักภักดี” ไม่งั้นอาจประสบชะตากรรมเลวร้ายได้ 

เช่น พระพิลธรรม (อาจ อาสโภ) ที่มาจากลูกไทบ้านอิสาน แต่ด้วยความรู้ความสามารถดีทำให้เจริญก้าวหน้าทางสมณศักดิ์อย่างรวดเร็ว ทว่าถูกสงสัยว่ามีความคิดในทางเห็นด้วยกับปรีดี พนมยงค์ จึงถูกศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมเล่นงาน และถูกเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ตั้งข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” และจับขังคุก 5 ปี เป็นต้น

ในยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ก็มี “พระฝ่ายซ้าย” ที่ออกมาชุมนุมกับนักศึกษา กรรมกร และชาวนาถูกกดปราบ ช่วงปี 2552-2553 ก็มี “พระเสื้อแดง” ถูกกดปราบ ขณะที่ในปรากฏการณ์การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ก็มี “พระ-เณรสามนิ้ว” ถูกกดปราบ หนึ่งในนั้นคือ “สามเณรโฟลค์ สหรัฐ สุขคำหล้า” ที่โดนคดี 112 และศาลเพิ่งตัดสินจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกันตัวสู้ดคีต่อในชั้นอุทธรณ์

นั่นคือตัวอย่างชะตากรรมของพระลูกไทบ้านที่เข้าสู่เส้นทางการบวชเรียนและการมียศตำแหน่งทางพระในระบบการปกครองและการศึกษาของศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม ถ้าเป็นพระที่ไม่ถูกสงสัยในความจงรักภักดี ก็ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง ถ้าถูกสงสัยในความจงรักภักดีก็มักจะมีอันเป็นไป ไม่ต่างกับวิถีชีวิตในจักรวาลการเมืองทางโลก

เช่นไทบ้านที่เข้าสู่จักรวาลการเมืองไทยในยามที่พวกนายทุน ทหาร ศักดินาเขาดีกัน เพราะการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ลงตัว พวกไทบ้านก็อาจได้ส่วนแบ่งที่จักรวาลการเมืองหยิบยื่นให้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น แต่ในยามที่พวกนายทุน (พรรคการเมือง) ทหาร ศักดินาเขาแตกคอกัน ไทบ้านก็ถูกกดปราบอย่างที่ “เสื้อแดง” ถูกกดปราบในปี 2553 เป็นต้น 

คนรุ่นใหม่ 3 นิ้วอย่าง “ต้องเต-ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับหนังสัปเหร่อ และอีกหลายคนที่เป็นสามนิ้ว หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นคนเท่ากัน” ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งคือลูกไทบ้านที่พ่อแม่เป็นเสื้อแดง หรือเป็นเสื้อเหลือง คนรุ่นใหม่ “ทางความคิด” เหล่านี้อยู่ในแทบทุกวงการ ในวงการเพลงลูกทุ่งที่เห็นชัดคือ “ก้อง ห้วยไร่” ผู้เขียนบทกวีทะลุแก่นจักรวาลการเมืองไทยว่า 

กูเขียนกฎให้มึงแพ้ตั้งแต่แรก
กูเขียนบทให้มึงแยกแผ่นดินหนี
กูเขียนเกมให้มึงเล่นพอเป็นพิธี
กูลิขิตเขียนชีวีพวกมึงไว้แค่ใต้ตีน

ที่มา https://www.facebook.com/konghuayrai/posts/825476778940180/

ส่วน “กู” คือใครนั้น ทุกคนก็รู้ๆ กันอยู่ ลูกไทบ้านที่เริ่มเติบโตมาในจักรวาลไทบ้านที่ดิ้นรนต่อสู้จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงที่ผ่านการดีลกับ “อำนาจทุน” อำนาจวัฒนธรรมชนชั้นในสังคมเมืองที่ด้อยค่าคนพื้นเพอีสานและอุปสรรคอื่นๆ ทำให้พวกเขาเข้าใจแก่นแท้จักรวาลการเมืองไทยที่เป็นจักรวาลการผูกขาดและแบ่งปันอำนาจ ผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มนายทุน ทหาร ศักดินาได้ไม่ยาก ต้องเตเองก็เคยโพสทะลุแก่นจักรวาลการเมืองไทยเช่นกันว่า 

ปิดสวิตซ์ 3 ป. เรียบร้อย
ประชาชน
ประชาธิปไตย
ประเทศไทย

ต้องเต ต้องเต ธิติ, 2 ส.ค.66
ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=735358101953288&id=100064373154551&set=a.465768302245604

อานนท์ นำภาก็คือลูกไทบ้านอิสานอีกคน เขามาจากครอบครัวชาวนา เส้นทางการต่อสู้ของเขาคือการผสมผสานวิถีไทบ้านกับคุณค่าสากลอย่างลงตัว เช่น เขามีความสุขกับการกินลาบ ก้อย ซอยจุ๊กับมิตรสหายควบคู่กับการทำหน้าที่ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ริเริ่มปราศรัยประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย และเสนอปฏิรูปสภาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยบนเวทีชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการ “ทะลุเพดาน” จักรวาลการเมืองไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ส่งผลให้ผู้คนกล้าพูดประเด็นดังกล่าวมากขึ้น 

ผมคิดว่าเรื่องเล่าชีวิตไทบ้านทื่ real ของจักรวาลไทบ้าน โดยเฉพาะหนัง “สัปเหร่อ” มันสะท้อนให้เห็นความ real ของชีวิตจริงในแง่มุมต่างๆ ของไทบ้านที่สู้เพื่อ “เสรีภาพ” ตั้งแต่เสรีภาพจากความอดอยากยากจน เสรีภาพจากการถูกกดเหยียด ด้วยการสร้างความสำเร็จทางฐานะเศรษฐกิจ การมีชื่อเสียง และมีบทบาททางสังคมและทางการเมืองจนเป็นที่ยอมรับ ไปถึงเสรีภาพในการเป็น “ผู้เขียนกฎ” เช่น อานนท์ต่อสู้เพื่อให้ตัวเขาเองและเราทุกคนเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเท่าเทียมกันในการบัญญัติ “กฎที่เสรีและเป็นธรรม” ให้ทุกคนได้เล่นตามกฎนั้นในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีความเป็นคนเท่ากัน

ต้องเตตอนขึ้นเวทีสามนิ้ว ก็ต่อสู้เพื่อให้ทุกคนเป็นผู้บัญญัติกฎเช่นเดียวกับอานนท์ แต่เขาอาจเห็นว่าคงอีกนานกว่าจะสำเร็จ จึงหันไปต่อสู้เพื่อเป็น “ผู้เขียนกฎของตนเอง” ดังเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของเขาว่าหนัง “สัปเหร่อ” คือผลงานที่เขาทำตามสิ่งที่ตนเองอยากทำมากที่สุด มันเป็นวิธีเล่าเรื่องที่เป็นตัวของเขาเองเสียจนไม่มั่นใจว่าคนอื่นๆ จะชอบ แต่การดีลกับเพื่อนร่วมงาน และผู้สนับสนุนทุน เขาก็คำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ 


ต้องเตขึ้นเวทีต้านเผด็จการ ณ ลานแปดเหลี่ยม มมส
ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=638757608428245&set=a.481700077467333

ทำให้เราเข้าใจได้ว่าความรักเสรีภาพในการเขียนกฎของตนเอง กับเสรีภาพในการเป็นผู้มีส่วนร่วมเขียนกฎกติกาทางสังคมและการเมืองมี “แก่นแกน” อยู่ที่การเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน 

ตัวละครในสัปเหร่อแต่ละตัวถูกเคารพจากผู้สร้างตัวละครและเขียนบทให้ตัวละครนั้นๆ เล่น ในชีวิตจริงถ้าเราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการเขียนกฎกติกาทางการเมืองให้ตนเองและทุกคนเล่น กฎกติกาที่เราร่วมกันเขียนขึ้น ก็ย่อมเป็นกฎกติกาที่เสรีและเป็นธรรม และเป็นกฎกติกาที่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของเราทุกคนในฐานะ “คนเท่ากัน” อย่างไม่ต้องสงสัย  

ผมเดาว่าความสัมพันธ์แบบคุยกันรู้เรื่องและเคารพกันและกันระหว่าง “ต้องเตกับโต้ง-สิริพงศ์” เป็นความสัมพันธ์บนพื้นฐานจักรวาลไทบ้านที่จริงใจบนพื้นฐานของการยอมรับเสรีภาพและเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้ว่า “จุดยืนทางการเมือง” ในทางพฤตินัยอาจต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องความซับซ้อนของคอนเนคชั่นระหว่างบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภายใต้จักรวาลการเมืองไทยที่มักเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง

ในความซับซ้อนและย้อนแย้งในจักรวาลการเมืองไทยนั้น เรายากจะรู้ “ความจริงทั้งหมด” เช่น ในภาพใหญ่ เราเห็นชัดว่าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขที่สยบยอมรับใช้ศักดินาและทหาร แต่ลึกลงไปในรายละเอียด เราเห็นไม่ชัดนักว่ามีการต่อสู้ต่อรองระหว่างฝ่ายเพื่อไทยกับฝ่ายศักดินาและทหาร เพื่อเปลี่ยนกติกาต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่มากขึ้นหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร 

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของวิถีไทบ้านผ่านการต่อสู้ชีวิต การการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการต่อสู้ทางการเมืองของลูกหลานไทบ้านรุ่นใหม่ๆ ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่มุง “ปลดปล่อย” (liberate) ตนเอง และสังคมการเมืองจากอำนาจครอบงำกดขี่ในมิติต่างๆ มากขึ้น หวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมให้ประชาชนเป็นผู้เขียน “กฎชีวิต” ด้วยตนเอง และเป็นผู้เขียน “กฎทางสังคมและการเมือง” ร่วมกันได้มากขึ้น

 

ที่มาภาพ: ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/2735148

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net