Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้ลดแจกเงินดิจิทัล เศรษฐกิจโตลดลงปีหน้าแต่ยั่งยืนกว่า ความเสี่ยงการคลังลดลง วิเคราะห์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นได้อีก คาดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ขาขึ้น ทุบตลาดหุ้นทรุดทั่วโลก หวั่นสงครามอิสราเอลขยายวง ราคาทองและน้ำมันพุ่งต่อ

29 ต.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดขนาดและวงเงินของการแจกเงินดิจิทัลลงมาจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้นจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้างแต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาทและอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือ ตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิ ประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือ ตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาทและ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำ โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่นๆด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็น การลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว

หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่นๆและภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา (หากสามารถบูรณาการข้อมูลได้) เช่น ที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การที่ตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตราแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และ ขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและ เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน  

ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท ก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือ บางท่านอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือ บางท่าน มีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก  ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไหร่ ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น หรือ MPC (Marginal Propensity to Consume) สูง  การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแจกเงินจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงกว่า ใช้งบประมาณน้อยลง ก่อหนี้ก่อภาระผูกพันในอนาคตน้อยลง ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลงมาก  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เอง เศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร  ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกแตะเกือบ 9 แสนล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1 % บวกต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกัน เฉพาะสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่ม 12% เป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.4% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เพิ่ม 166.2% ข้าว เพิ่ม 51.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 3.7% น้ำตาลทราย เพิ่ม 16.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 12.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 27.1% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 17.3% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 3.1% ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เพิ่ม 7.9% ไข่ไก่สด เพิ่ม 52.7% ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องแม้นอาจชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบสงครามอิสราเอลฮามาส

ผลกระทบต่อการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ การแยกขั้วของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของโลก (Geo-Economic Fragmentation – GEF) ต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นหากสงครามในฉนวนกาซาลุกลามสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัน รัฐบาลควรรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เอาไว้ หากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะได้มีงบประมาณเพียงพอแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตหากมีความจำเป็น ถ้าแจกเงินอย่างถ้วนหน้า พื้นที่ทางการคลังจะลดลง ช่วงต้นปี GEF เพิ่มอย่างแน่นอนหากสงครามอิราเอลขยายวงสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน  

ช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นได้อีก แม้นในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 31 ต.ค. -1 พ.ย. ศกนี้จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤศจิกายน ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมน่าจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ คาดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีอาจแตะระดับ 6% ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดพันธบัตร และเทขายการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลกระทบสงครามอิสราเอลขยายวง ทำให้ราคาทองและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป  
        
หน้าที่ของอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ปริมาณเงินและอุปสงค์ของเงินมีความสมดุล เป็นหลักประกันว่า เงินออมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่การลงทุนหรือการบริโภคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการเงินของทางการ รวมทั้งเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรและสินเชื่อไปยังโครงการลงทุนที่คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด เส้น Yield Curve สามารถเป็นตัวสะท้อนข้อมูลตลาดและภาวะเศรษฐกิจ บอกถึงกิจกรรมเศรษฐกิจในอนาคตและการคาดการณ์หรือคาดคะเนของตลาด (Market Expectation) ถ้าเส้น Yield Curve ทอดขึ้น ผู้คนในตลาดและระบบเศรษฐกิจจะคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยจะผันแปรไปตาม วัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะคาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจกำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ Yield Curve ที่ทอดลงจะสะท้อนจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ลักษณะและความชันของ Yield Curve มีความสำคัญและมีผลต่อสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร และ บริษัทเงินทุน กู้เงินจากตลาดการเงินระยะสั้นแล้วปล่อยกู้ ในโครงการระยะยาว ยิ่ง Yield Curve ทอดขึ้นและมีความชันมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินย่อมได้รับผลตอบแทนมากเท่านั้น เนื่องจากส่วนต่าง (Spread) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะมีมากขึ้น กำไรของสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงินย่อมเพิ่มขึ้น ขณะนี้ เส้นผลตอบแทนจะมีลักษณะทอดขึ้นจากซ้ายไปขวาอาจจะเรียกว่า เป็น Ascending Yield Curve ก็ได้ ในกรณีนี้จะมีการคาดคะเนว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตจะสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนระยะยาว คือ ค่าเฉลี่ยของอัตราปัจจุบันกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นอยู่เหนืออัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน แสดงว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น กองทุนขนาดใหญ่และเฮดจ์ฟันด์ยังคงเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้น มายัง ตลาดพันธบัตร ต่อไป จนกว่า ราคาหุ้นจะปรับฐานลงมาสู่ระดับที่ทำให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจหรือบริษัทต่างๆสามารถจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ หรือ มี Market P/E Ratio ลดลงมากพอ อัตราผลตอบแทนเมื่อปรับความเสี่ยงแล้วของตลาดหุ้นสามารถแข่งขันกับอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอยู่ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เงินเช่นเดียวกับสินค้าทั่วไปที่ระดับราคาของมัน หรือ อัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หน่วยการผลิตจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย (Marginal Efficiency of Investment-MEI) กับ อัตราดอกเบี้ยในตลาด เมื่อ MEI ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด หน่วยการผลิตจะยังขยายการลงทุนไปเรื่อยๆจนกระทั่ง MEI เท่ากับ อัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมาก ทางการไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกแม้นในหนึ่งหรือสองไตรมาสข้างหน้า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม อัตราดอกเบี้ยจึงทำหน้าที่เป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรของสังคมและระบบเศรษฐกิจตามการขึ้นลงของราคาของเงิน หรือ อัตราดอกเบี้ย ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย ณ. ระดับใดระดับหนึ่งในระบบการเงิน หน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนจะสามารถประมูลเงินทุนไปดำเนินในกระบวนการผลิต (คือสามารถรับภาระของดอกเบี้ย) ส่วนหน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำย่อมไม่สามารถได้เงินทุนไปขยายการผลิต หน่วยธุรกิจที่สามารถมีกำไรได้และมีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้หมายความว่า การผลิตจะมีคุณค่าต่อสังคมเสมอไป เช่น โรงงานผลิตสุรา โรงงานผลิตยาสูบ สถานอาบอบนวด เป็นต้น กำไรมากแต่มีผลกระทบทางสังคม หรือการผลิตบางอย่าง กำไรต่ำหรือบางครั้งก็มีประสิทธิภาพต่ำแต่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ เช่น สถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา หรือ การทำนาหรือเกษตรกรรม เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถอาศัยกลไกอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ในการจัดสรรทรัพยากรของสังคม จำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมืออื่นๆรวมทั้งการแทรกแซงโดยรัฐด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเหล่านี้มักอาศัยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการเข้ามาดูแลในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจรวมทั้งการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและธุรกิจขนาดเล็กด้วย นอกจากนี้ หากรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินดิจิทัล วอลเลตอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดการเงินภายใน อาจจะเกิด Crowding out Effect ดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้นและไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมอาจไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ผลสุทธิของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายแจกเงินจะเบาบางลงจากการลดลงจากต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนลดลงของภาคเอกชน ส่งผลต่อการสะสมทุนลดลง (Less Capital Accumulation) นำมาสู่การเติบโตที่ลดลงในระยะยาว แม้นในระยะสั้น มาตรการแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคก็ตาม    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net