Skip to main content
sharethis

14 ตุลา - 6 ตุลา การก่อตัวขึ้นของขบวนการนักเรียนก่อน 6 ตุลา 2519 ที่ได้รับอิทธิพลความคิดทางการเมืองหลัง 14 ตุลา 2516 กิจกรรมสานสัมพันธ์และการจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ 47 ปีที่ไร้เงาผู้รับผิดชอบจากอาชญากรรมรัฐ ทำให้นักเรียนบางคนต้องเข้าป่าจับปืน พร้อมการสนับสนุนขบวนการนักเรียนในปัจจุบัน

  • จาก 14 ตุลา 2516 สู่ 6 ตุลา 2519 มีอิทธิพลทางความคิดต่อนักเรียนผ่านหนังสือและกิจกรรมทางการเมือง ที่มีการชุมนุมกระแสสูง ประกอบกับการจัดตั้งโดย พคท. ทำให้นักเรียนหลายคนได้มีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวขณะนั้น
  • ชุมนุม-ค่ายอาสาฯ-ลอยกระทง กิจกรรมในโรงเรียนช่วงนั้นทำให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ สันทนาการ สังคมศึกษา นักเรียนต่างเข้าร่วมการชุมนุมตามประเด็นที่สนใจ
  • บรรยากาศการเมืองในโรงเรียนและการจัดตั้งทั้งจากฝ่ายซ้าย-ขวา มีการจัดตั้งนักเรียนฝ่ายซ้ายโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการรวมตัวของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งคุณครูจากฝ่ายขวาผ่านการอบรมเป็นกลุ่มนวพล กอ.รมน. และลูกเสือชาวบ้าน โดยครูเหล่านี้มักหยิบคำพูดตีตราฝ่ายซ้ายจากหน้าหนังสือพิมพ์มาเล่าให้นักเรียนฟัง 
  • ก่อนวันที่ 6 ต.ค. 2519 ได้มีนักเรียนเข้าร่วมการชุมนุมอยู่เสมอแต่หลายคนไม่สามารถค้างคืนปักหลักได้ จึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ขณะที่นักเรียนบางคนไม่สามารถกลับบ้านได้ในคืนวันที่ 5 ต.ค. 2519 จึงต้องเผชิญกับเหตุความรุนแรงและถูกจับไปพร้อมนักศึกษาขณะนั้น
  • หลัง 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนักเรียนบางกลุ่มได้พยายามรื้อฟื้นกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนเอง ขณะที่บางส่วนเข้าป่าไปพร้อมนักศึกษาในสมัยนั้น เมื่อออกจากป่ามาก็มีบางคนที่สามารถใช้ชีวิตทั่วไป เรียนจบมหาวิทยาลัย หางานทำ ขณะที่บางคนได้รับบาดเจ็บ ใจสลาย และหลีกหนีการพบปะผู้คน
  • มองย้อนไปเมื่อ 47 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลา เปรียบเหมือนแผนการของฝ่ายอำนาจนิยมพยายามสร้างสถานการณ์ความรุนแรงและช่วงชิงความคิดทางการเมือง พร้อมทิ้งมรดกเพิ่มโทษ มาตรา 112 จำคุกสูงสุด 15 ปี
  • รัฐควรชำระประวัติศาสตร์ ทำความจริงให้ปรากฎ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่รัฐสร้างขึ้น พร้อมกำหนดแนวนโยบายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ปราบปรามผู้เห็นต่างในอนาคต อย่างน้อยที่สุดควรมีการแก้ไขหรือปรับมาตรฐานการบังคับใช้ มาตรา 112
  • เสนอคนรุ่นใหม่กลับมาประสานพลัง นักเรียน-ชาวนา-กรรมกร อย่าลืมหาแนวร่วมสร้างความเข้าใจให้สังคม การต่อสู้ครั้งนี้ยังอีกไกล แม้ไม่จบที่รุ่นป้าแต่หวังให้จบที่รุ่นเรา

หากกล่าวถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือ 6 ตุลา หลายคนคงนึกถึงขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชาวนา และชนชั้นกรรมาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมเรียกร้องต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งขบวนการสำคัญที่เป็นส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวและยังไม่ถูกพูดถึงในสังคมมาก นั่นคือ ขบวนการนักเรียนมัธยม ที่มีทั้งผู้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมการชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ และบางรายก็เข้าป่าไปพร้อมกันนักศึกษาในเวลานั้น 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา และ 47 ปี 6 ตุลา จึงชวนพูดคุยกับ 3 อดีตนักเรียนที่เข้าร่วมในเหตุการณ์นั้น เพื่อย้อนทวนบรรยากาศกิจกรรมที่แทรกประเด็นการเมืองซึ่งนำพานักเรียนมัธยมสนใจปัญหาสังคม การจัดตั้งทั้งจากฝ่ายซ้าย-ขวา ขบวนการนักเรียนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ความรับผิดชอบจากอาชญากรรมโดยรัฐ พร้อมทั้งชวนมองขบวนการนักเรียน-นักศึกษาช่วง 2563 – ปัจจุบัน

ชุมนุม-ค่ายอาสาฯ-ลอยกระทง กิจกรรมแทรกประเด็นการเมืองพาเด็กมัธยมสนใจปัญหาสังคม

ภาพกุลวดี (เครดิตภาพ iaonnic) - ภาพศราวุฒิ - ภาพวรพจน์ (เครดิตภาพ creativecitizen)

“เมื่อ 47 ปีที่แล้ว เป็นนักเรียนมัธยมปลาย ปี 2519 อยู่ ม.ศ. 5 เป็นคณะกรรมการนักเรียนที่ รร. เตรียมอุดมศึกษา”

กุลวดี ศาสตร์ศรี (วรรณ) ได้เล่าถึงช่วงวัยมัธยมของเธอว่า เมื่อ 47 ปีที่แล้ว กุลวดีเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ม.ศ. 5 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการเรียนมัธยมปลายตามแผนการศึกษา 2503 และได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งกิจกรรมที่ได้ทำในช่วงเวลานั้น คือ การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทแถบภาคอีสานประมาณ 2 ครั้ง แม้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.) แต่ก็ได้มีส่วนร่วมในการทำโปสเตอร์เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมือง การเคาะประตูชาวบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง 2518 หรือชวนทำความเข้าใจข้อเรียกร้องในการชุมนุมแต่ละครั้ง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่สานสัมพันธ์นักเรียนแต่ละโรงเรียนผ่านชมรมวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ ศูนย์สังคมนิทรรศน์ (นิทรรศการเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ในสมัยนั้น) การศึกษาปัญหาสลัม การเข้าร่วมเสวนาการเมือง หรือการอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและการเมือง

ภาพการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 13 ต.ค.2516

กุลวดีเล่าว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ได้เริ่มมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยนักเรียนและนักศึกษาแล้ว และด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพพร้อมเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองและมีการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมต่อต้านการเข้ามาของฐานทัพอเมริกาที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพสำหรับการทิ้งระเบิดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามในยุคสงครามเย็น การชุมนุมต่อต้านจอมพล ประภาส จารุเสถียร และจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรื่นเริงอย่างงานเทศกาลหรือประเพณีที่เป็นพื้นที่ให้นักเรียนจากต่างโรงเรียนได้พบปะกันบ่อย ๆ นอกจากการชุมนุมทางการเมือง เช่น งานปีใหม่ ลอยกระทง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งงานเหล่านี้ก็จะมีการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองด้วย 

“ตอนเรียนมีเพื่อนที่ร่วมงานกับศูนย์นักเรียนอยู่บ้างแล้วเพื่อนก็ได้มาเล่าให้ฟังว่าทำอะไรบ้าง แต่เราก็ไม่ได้ไปเข้าร่วมแค่ฟังเฉย ๆ ตอนนั้นโรงเรียนค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการชุมนุมเพราะกลัวว่านักเรียนจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองแต่ที่เพื่อนไปทำกิจกรรมพวกนี้โรงเรียนก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ”

ศราวุฒิ ประทุมราช

ศราวุฒิ ประทุมราช (ตู่) ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) อดีตนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เล่าว่าขณะนั้นตนเองอยู่ ม.ศ. 5 และไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศูนย์นักเรียนหรือองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียนหรือนักศึกษาในยุคนั้นผ่านข่าวโทรทัศน์หรือวิทยุตลอด และได้เข้าร่วมการชุมนุมก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อยู่ 2-3 ครั้ง เพราะบรรยากาศทางการเมืองตอนนั้นเป็นช่วงตื่นตัว และมีกิจกรรมชมรมค่ายอาสาหรือชมรมเกษตรกรซึ่งเพื่อนที่เข้าร่วมก็จะมาเล่าให้ฟังว่ามีอะไรบ้าง

“ตอนนั้นพึ่งเข้า ม.ศ. 1 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีขบวนการนักเรียนในโรงเรียนอยู่แล้วทำให้มีหลายกิจกรรมนักเรียนมีเนื้อหาก้าวหน้าในสมัยนั้น โดยนักเรียนหัวก้าวหน้าเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมในโรงเรียน”

วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ (ตั้ม) กลุ่มดินสอสี ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อซัปพอร์ตองค์กรสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุยชน การเมือง เยาวชน และกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน ซึ่งช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาศึกษาอยู่เพียงมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ได้เล่าว่าตอนนั้นเขาได้ถูกทาบทามจากรุ่นพี่ในโรงเรียนเทพศิรินทร์ให้เข้าร่วมชมรมสังคมศึกษา ซึ่งชมรมเหล่านี้จะมีทั้งกิจกรรมที่สอดรับกับประเด็นสังคมขณะนั้น เช่น การรณรงค์สนับสนุนประชาธิปไตย การต่อต้านฐานทัพอเมริกา 

แต่มีบางกิจกรรมที่ปิดลับรู้กันเพียงไม่กี่คนในชมรม คือ การจัดกลุ่มศึกษา 5-6 คน ช่วงเวลาพักเที่ยงในวัดของโรงเรียน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคติพตน์เหมาเจ๋อตุง ชีวทัศน์เยาวชน การเสียสละเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มสำหรับแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีทฤษฎีเหล่านี้พร้อมการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งนี้ หลายชุมนุมได้มีการจัดตั้งกลุ่มทฤษฎีศึกษาซ้อนในชุมนุมต่าง ๆ ดังนั้น ทุกชุมนุมเลยมีแกนนำที่สัมพันธ์กับฝ่ายซ้ายและนักเรียนที่สนใจในแต่ละประเด็นมาร่วมกันและคนที่เป็นแกนนำส่วนใหญ่ก็ไปม็อบกันหมด

วรพจน์มองว่าสาเหตุที่ตนได้รับการทาบทามเข้าร่วมชุมนุมสังคมศึกษาเพราะช่วงแรกเข้า ม.ศ. 1 ได้มีกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ (เปลี่ยนจากคำว่า ‘รับน้อง’ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รูปแบบกิจกรรมจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยพร้อมพี่เลี้ยงประจำกลุ่มเพื่อพูดคุย ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยน เพื่อสำรวจนักเรียนใหม่ว่าใครมีทีท่าสนใจประเด็นสังคมและการเมือง เช่น คิดอย่างไร? หากมีนักเรียนใส่รองเท้าแตะมาที่โรงเรียน ซึ่งมีทั้งคนที่แสดงความคิดเห็นและคนที่นั่งเงียบ จากนั้น พี่ที่เป็นแกนก็จะจดบันทึกไว้ว่าใครน่าชวนมาร่วมกิจกรรม เมื่อจบงาน พี่เลี้ยงที่เป็นแกนนำชุมนุมต่าง ๆ เช่น สังคม วิทย์ อนุรักษ์ ก็จะแบ่งกันว่าใครจะไปตามน้องคนไหนมาเข้าร่วม ซึ่งแกนหลายคนมักเป็นนักเรียนฝ่ายซ้ายอยู่แล้วหรือบางคนก็ได้รับการจัดตั้งจากภายนอกเข้ามา

บรรยากาศการเมืองในโรงเรียนและการจัดตั้งทั้งจากฝ่ายซ้าย-ขวา

จากการบอกเล่าเรื่องกิจกรรมนักเรียนที่มีการสอดแทรกประเด็นการเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมตามประเด็นที่สนใจ รวมถึงการจัดตั้งนักเรียนฝ่ายซ้ายโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการรวมตัวของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ทำให้บรรยากาศในโรงเรียนหลายแห่งดูเป็นช่วงเวลาที่มีการตื่นตัวทางการเมืองสูงแต่นักเรียนที่สนใจประเด็นการเมืองจริงจังไม่ได้มีมากจนเป็นส่วนใหญ่ของโรงเรียน เพียงพวกเขามีบทบาทสำคัญทำให้สามารถชักจูงหรือเชิญเพื่อนนักเรียนด้วยกันมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองได้

ศราวุฒิเล่าว่าขณะที่ตนเรียนอยู่ที่สาธิตประสานมิตรได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนซึ่งในกิจกรรมก็มีประเด็นเกี่ยวกับการเมือง พร้อมการเล่นดนตรีหรือร้องเพลงเพื่อชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงที่รู้จักกันอยู่แล้วตั้งแต่หลัง 14 ตุลา เช่น เพลงเปิบข้าว

ขณะที่โรงเรียนของวรพจน์ได้มีกลุ่มกิจกรรมนักเรียนซึ่งนำโดยแกนนำเป็นฝ่ายซ้ายและบางคนก็เป็นเครือข่ายการจัดตั้งจากภายนอกเข้ามา เช่น พคท. สิ่งที่น่าสนใจ คือ มีครูที่เข้ามาสอนวิชาคณิตศาสตร์ขณะนั้นก็เป็นสายของ พคท. แม้จะมีการพยายามปิดเป็นความลับแต่ก็มีนักเรียนในสายจัดตั้งหลายคนรู้จักหรือบางครั้งก็พบครูคนนี้เมื่อมีการชุมนุม

แน่นอนว่าหากมีการจัดตั้งภายในโรงเรียนโดยฝ่ายซ้ายก็ต้องมีการจัดตั้งโดยฝ่ายขวาเช่นกัน วรพจน์เล่าว่าในโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มีครูบางคนที่ถูกจัดตั้งโดยฝ่ายขวาผ่านการอบรมเป็นกลุ่มนวพล กอ.รมน. และลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งครูเหล่านี้มักหยิบคำพูดตีตราจากหน้าหนังสือพิมพ์มาเล่าให้นักเรียนฟัง เช่น เมื่อสมัยที่มีกลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษาไปรวมตัวกันเกือบ 20 คน เพื่อคุยงานที่บ้านของคนหนึ่งแล้วถูกบุกจับทำให้ต้องติดคุกอยู่หลายวัน สื่อก็ได้เผยแพร่ว่าพบถุงยางจำนวนมาก พร้อมโจมตีว่านักเรียนเหล่านี้เป็นพวกรักรวมหมู่หรือมีเซ็กส์หมู่

“ตอนนั้นเราโดดเรียนทิ้งกระเป๋าไว้แล้วกระเป๋าก็มีสติกเกอร์ม็อบ หรือพอมีกิจกรรมเราก็เอาเพลงคนกับควายไปร้อง ก็โดนครูเรียกสอบสวนพร้อมมีการให้สาบานต่อพระพุทธรูปว่าไม่ได้มีเจตนามาปลุกปั่นปลุกระดม” วรพจน์เล่าประสบการณ์ที่พบจากครูฝ่ายขวา

6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นอยู่ที่ไหน?

วรพจน์ได้ร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 3 ต.ค. 2519 และหลังย้ายการชุมนุมเข้าไปใน ม.ธรรมศาสตร์ ก็ยังโดดเรียนไป โดยระหว่างที่เข้าร่วมการชุมนุมนั้นเขาก็ได้เห็นภาพความรุนแรงเรื่อย ๆ ตั้งแต่การที่กลุ่มกระทิงแดงพยายามเข้ามาป่วนในสนามบอลหรือมีคนถูกยิงเสียชีวิต และในคืนวันที่ 5 วรพจน์ก็ได้สัมผัสถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบริเวณที่ชุมนุมแล้ว คือ มีการส่งข่าวว่าจะปักหลักตอนกลางคืนให้มากที่สุดไม่งั้นคนอาจจะน้อยและถูกสลายการชุมนุมได้ง่ายแต่ตนจำเป็นต้องกลับบ้านจึงไม่ได้อยู่ค้างคืน เมื่อตื่นเช้าวันที่ 6 กำลังเตรียมตัวไปโรงเรียนเหมือนปกติ ครอบครัวก็ไม่ให้ออกจากบ้านเพราะเห็นข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น

ด้านศราวุฒิได้เข้าร่วมการชุมนุมก่อนวันที่ 6 ตุลาแต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เนื่องจากวันนั้นตนมีเรียนในช่วงเช้าและโรงเรียนประกาศหยุดเรียนในช่วงบ่าย ส่วนตัวศราวุฒิชอบฟังข่าวจากวิทยุอยู่แล้วและได้ติดตามสถานการณ์จากวิทยุยานเกราะอยู่บ้างทำให้ตนพอทราบว่ามีการระดมพลไปที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้น เมื่อเลิกเรียนเขาและเพื่อนจึงแวะไปที่แถวสนามหลวงในช่วงบ่ายซึ่งเหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ ทำให้เห็นคนโดนเผาบริเวณอาคารถนนราชดำเนินและหน้าศาลฎีกา พร้อมเสียงปืนดังอยู่ทาง ม. ธรรมศาสตร์ มีคนเสียชีวิตอยู่หน้าสนามฟุตบอลและหน้าหอประชุมใหญ่ เขารู้สึกว่ามันเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวและได้ยืนอยู่ตรงนั้นสักพักหนึ่งค่อยกลับบ้าน

“ตอนนั้นผมไปกับเพื่อนกลุ่มอื่น ก็ชวนกันไปเดินดูเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ สนามหลวง เดินไปก็ยังหดหู่ใจอยู่เหมือนกันว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในบ้านเมืองของเราได้อย่างไร แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะเราก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ เป็นเพียงผู้ติดตามสถานการณ์อยู่รอบนอกและคิดว่ามันเป็นเรื่องโหดร้ายนะที่เกิดการฆ่ากันแบบนี้” ศราวุฒิกล่าว

ภาพการจับกุมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เครดิต doct6.com) 

ขณะที่กุลวดีเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เนื่องจากได้เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมและไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ด้วยสถานการณ์ภายนอกที่ไม่ปลอดภัย คือ เกิดการปะทะกันระหว่างการ์ดม็อบและขบวนการจากฝ่ายขวาบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ กระทั่งเวลาประมาณ 05:00 น. ก็ได้มีการยิง M79 เข้ามาในมหาวิทยาลัย 2 รอบ หลังจากนั้นก็มีกระสุนยิงเข้ามาเยอะมาก ๆ พร้อม ตชด. ทหาร และกลุ่มจัดตั้งอย่างกระทิงแดงเข้ามาล้อมมหาวิทยาลัย ทำให้มีการประกาศให้ทุกคนหาที่ซ่อนตามอาคารเรียนซึ่งกุลวดีได้ไปซ่อนหลังตึกโดม และด้านหลังที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีนักศึกษาพยายามพังรั้ว กระโดดลงแม่น้ำ และพยายามปีนขึ้นกันตรงริมถนนพระจันทร์ 

จากนั้นมีตำรวจมาช่วยดึงขึ้นจากแม่น้ำพร้อมตะโกนบอกว่า ‘วิ่ง! วิ่งหนีไป!’ กุลวดีและเพื่อนจึงรีบวิ่งไปบ้านเพื่อนที่อยู่แถวนั้นพร้อมผู้ที่หนีมาด้วยกันกว่า 20 คน เธอบอกว่าระหว่างที่อยู่ในบ้านเพื่อนก็ได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังอยู่ตลอดต่อเนื่องประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทำให้ทุกคนที่หลบอยู่ด้วยกันไม่สามารถออกไปไหนได้ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณเที่ยงวันก็มีทหารหรือตำรวจไล่เคาะประตูและบังคับให้เปิดบ้านทุกหลัง โดยสั่งให้คนที่แอบอยู่ในบ้านทุกคนเอามือกุมศีรษะและออกมาเพื่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ชายบางคนโดนเตะและทำร้ายร่างกายระหว่างทาง บางคนก็โดนเอาปืนกระทุ้งหรือเหยียบย่ำบนตัว

“ระหว่างนั้นก็มีคนโดนบังคับให้ออกจากตึกเรียน ตอนนั้นเราเห็นมีรถเมล์จอดรออยู่ 2-3 คัน มีคนถูกจับกว่า 3080 คน เขาก็ควบคุมเราให้ทยอยขึ้นรถไปคุมขังตามที่ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนตำรวจพลบางเขน นครปฐม ชลบุรี ระหว่างขึ้นรถก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยก่นด่าตลอดทาง เขาสั่งห้ามเราเงยหน้า ห้ามมอง แต่ก็พูดว่า ‘มองสิ พวกมึงโดนแขวนคออยู่’ แต่เราก็ไม่ได้มองตามที่เขาบอก” กุลวดีเล่าประสบการณ์ที่ตนพบในวันที่ 6 ตุลา

แม้จะถึงพื้นที่คุมขังแล้วแต่ระหว่างเข้าตึกก็มีตำรวจคอยเตะ ต่อย ผลักทีละคน ผู้ชายทุกคนโดนบังคับให้ถอดเสื้อ 

ส่วนผู้หญิงที่ถูกจับจากตึกบัญชีก็ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและเหลือแค่เสื้อใน ตอนนั้นกุลวดีถูกขังอยู่ 3 คืนที่บางเขนและที่บ้านก็มาประกันตัว ก่อนออกมาก็ถูกบังคับให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา เช่น ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น  ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อเป็นกบฏ ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดชนิดธรรมดาและชนิดที่ใช้แต่เฉพาะในการสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น 

หลัง 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนักเรียนเอาไงต่อ?

ภาพกุลวดี เมื่ออายุ 27 ปี หลังออกจากป่ากลับมาสอบเทียบ ม.ปลาย แล้วเข้าเรียน มศว. ประสานมิตรจนจบ

เมื่อมีการทำร้ายและจับกุมผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนแล้ว ช่วงเย็นวันที่ 6 ก็มีการทำรัฐประหารโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้จัดตั้งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจในเวลา 18:00 น. โดยอ้างเหตุนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีอาวุธหนัก ทำให้ตอนนั้นมีการตั้งข้อหาภัยสังคมเยอะมาก คือ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเรียกตัวใครด้วยข้อหานี้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งช่วงนั้นเป็นเวลาปิดเทอมของโรงเรียนก็มีหมายจากนครบาลส่งถึงกุลวดีที่บ้าน จากนั้นเพื่อนกุลวดีก็มาบอกว่าเราต้องเข้าป่าเพราะสถานการณ์ไม่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีนักเรียนเตรียมอุดมถูกจับประมาณ 20 กว่าคน และตัดสินใจเข้าป่าประมาณ 10 คน

“พอผ่านไป 4 ปีเขาก็ให้กลับเข้ามาได้เลยเลือกไปสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย และเข้าเรียนที่ มศว. เรียนจบก็ไปสอบข้าราชการได้เป็นครูที่ต่างจังหวัด สอนได้ 1 เทอมก็ตัดสินใจลาออก เพราะงานที่ทำตอนนั้นมันเหมือนทุกอย่างที่เราเคยต่อต้าน เช่น การคอรัปชั่น เส้นสาย ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การขูดรีดชาวนา มันทำให้เรานึกได้ว่าตอนนั้นเราเข้าร่วมการชุมนุมเพราะเหตุผลเหล่านี้ เรามีความคิดในอุดมคติแบบนี้ และตอนนี้ปัญหานั้นก็ยังมีอยู่” กุลวดีกล่าว

ภาพวรพจน์ ร่วมวงดนตรีนักเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมหลัง 6 ตุลา ที่ไปร่วมกิจกรรมของนักศึกษามหาลัย ในช่วงที่เริ่มกลับมาฟื้นฟูขบวนนักเรียนนักศึกษาในเมือง

ขณะที่วรพจน์และเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็รู้สึกเคว้งคว้างเพราะไม่รู้ว่าควรทำอะไรต่อหลังเกิดเหตุความรุนแรงเช่นนี้ ส่วนตัวได้พยายามติดต่อรุ่นพี่ ซึ่งพอเปิดเทอมคนที่เป็นแกนนำก็เริ่มหายไปทำให้รู้ว่าหลายคนก็เข้าป่าตั้งแต่ ม.ศ. 3 แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้เข้าไปและฝ่ายจัดตั้งยังให้ทำงานในเมืองต่อ โดยกิจกรรมแรก ๆ คือการรวมตัวกันไปเยี่ยมนักโทษคดี 6 ตุลา ที่เรือนจำบางขวาง ก็จะมีนักเรียน นักศึกษา และมวลชนบางส่วนไป นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้มีคณะกรรมการนักเรียนหรือสภานักเรียนที่ถูกยุบไปหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และกิจกรรมในโรงเรียนก็มีสอดแทรกประเด็นทางการเมืองบ้างแต่ไม่ซ้ายเท่าก่อน 6 ตุลา

ด้านศราวุฒิไม่ได้มีเพื่อนนักเรียนที่ตนรู้จักเข้าป่าไปและเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติเพราะมีรัฐประหารเลยทำได้แค่ติดตามสถานการณ์ข่าวอยู่ห่าง ๆ เขารู้สึกว่าการนักศึกษาตอนนั้นไปเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์เป็นเพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากในเมืองเกิดการฆ่าและปราบปรามนักศึกษาอย่างมาก ทั้งทำลายขบวนการแรงงานและชาวนาด้วย นอกจากนั้น ยังมีการสร้างเรื่องว่านักศึกษาเล่นละครแขวนคอหมิ่นฯ ซึ่งการสร้างเรื่องพวกนี้ขึ้นมาทำให้สังคมเกิดความเคียดแค้นและทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยไม่จำเป็น

“ขณะที่มีภาพข่าวจากดาวสยามที่ใช้ภาพละครแขวนคอประกอบ ผมก็สงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมทำภาพเหมือนพระบรมฯ นัก แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะใช้วิธีการแบบนี้ในตอนนั้นนะ ไม่เข้าใจว่าจะทำภาพแบบนี้ให้เหมือนทำไม เพื่ออะไร แต่ยุคนั้นยานเกราะก็ได้โหมประโคมข่าวมากเรื่องนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ว่ามีพวกลาว ญวน เวียดนาม เข้ามาแทรกแซงหรือชุมนุมอยู่ในธรรมศาสตร์ มีอุโมงค์อาวุธต่าง ๆ” ศราวุฒิกล่าว

ภาพข่าวจากดาวสยามที่ใช้ภาพละครแขวนคอประกอบขณะนั้น

สิ่งที่น่าสนใจจากการติดตามสถานการณ์ข่าวของศราวุฒิ คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 (ช่อง 9 ในปัจจุบัน) โดย สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 4 ขณะนั้น ได้พยายามเข้าไปถ่ายภาพและรายงานข่าวว่าไม่ได้มีอุโมงค์ตามที่วิทยุยานเกราะได้กล่าวหา พร้อมเผยให้เห็นว่าคนที่เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงนี้มีแต่คนไทย ไม่มีลาว เวียดนาม ตามที่วิทยุยานเกราะบอก และนั่นก็กลายเป็นเหตุทำให้ช่องสี่ก็ถูกปิดจากคณะรัฐประหาร

อิทธิพลทางความคิด จาก 14 ตุลา 2516 สู่ 6 ตุลา 2519 

“ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลา เพราะตอนนั้นอยู่ ม.ศ. 2 และเรียนอยู่ที่สมุทรปราการ เลยไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ” กุลวดีกล่าว

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ เกิดบรรยากาศเสรีภาพทางการเมือง การเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้าย แม้กุลวดีจะไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2516 แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองให้ติดตามเยอะ ทั้งประเด็นนักเรียน นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร ประกอบกับช่วง 2518-2519 มีการลอบสังหารผู้นำชาวนาและนักศึกษาหลายคน เช่น นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหิดล และมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองเพื่อเตรียมตัวหากมีการรัฐประหาร ทำให้ช่วงก่อน 6 ตุลา มีกระแสการชุมนุมสูง ทำให้กุลวดีสนใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว

ขณะที่วรพจน์เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาขณะนั้น ก็ได้อิทธิพลทางความคิดจากเหตุการณ์14 ตุลา อยู่บ้าง คือ มีน้า 2 เป็นนักศึกษาขณะนั้น คนหนึ่งเรียนวารสาร มธ. อีกคนเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ที่บ้านของวรพจน์มีหนังสือเยอะ ทั้งน้าที่เรียนวารสารก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหาเสียงให้พรรคพลังใหม่ ขณะที่หนังสือของน้าที่เรียนคณะอักษรทิ้งไว้ให้ ทั้งสองอย่างนี้มีส่วนให้วรพจน์รับรู้ปัญหาสังคมและเข้าใจความคิดฝ่ายซ้ายส่งผลให้เขาสามารถตอบคำถามในกิจกรรมรับเพื่อนเมื่อ ม.ศ. 1 และทำให้ได้รับความสนใจจากรุ่นพี่

ผ่านมา 47 ปีแล้ว มองเหตุการณ์นั้นยังไง?

เมื่อมองย้อนไป 47 ปีที่แล้ว ศราวุฒิในฐานะบุคคลที่วางตนเองเป็นผู้สังเกตการณ์และติดตามสถานการณ์การชุมนุมผ่านสื่ออยู่ตลอด เขารู้สึกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา เป็นหนึ่งในแผนการของฝ่ายอำนาจนิยมที่อยากสร้างสถานการณ์ความรุนแรงและไม่อยากให้ประชาชนไทยตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งการพยายามช่วงชิงอำนาจระหว่างสถาบันฯ กับฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมีมาตลอดตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมาตลอดตั้งแต่ 14 ตุลา ที่ดูเหมือนว่าเราชนะแต่ความจริงก็ไม่

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายอำนาจนิยมได้หยิบสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการทำลายขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย ทำให้พัฒนาการทางระบอบประชาธิปไตยของไทยสะดุดลงเป็นระยะ นอกจากนั้น วันที่ 21 ต.ค. 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็ได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเพิ่มโทษเข้าไปตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 จากเดิมที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีกลายเป็นโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี

“เพราะนักศึกษายุคนั้นไม่ได้มีความคิดในการล้มล้างสถาบันฯ เลย เขาแค่อยากได้ประชาธิปไตย พวกเขาเพียงไม่ต้องการให้เผด็จการกลับเข้ามา แต่ผู้มีอำนาจหรือฝ่ายขวาก็พยายามเข้ามาช่วงชิง... เรื่องพวกนี้ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยไทยไม่สามารถก้าวไปไหนได้เพราะเอาสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือ มันกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เราขาดโอกาสในการพัฒนาประเทศ เราอาจจะก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจแต่ในทางการเมืองเราแทบไม่ไปไหนเลย” ศราวุฒิ

สอดคล้องกับกุลวดีที่เห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สาธารณสุข เริ่มมีการเปิดกว้างและตระหนักถึงสิทธิมากขึ้น หรืออย่างน้อยตั้งแต่มีรัฐบาลทักษิณก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง คือ การเปิดโอกาสให้คนเข้าไปทำงานราชการได้มากขึ้น แต่สุดท้ายประเทศไทยก็ยังเต็มไปด้วยคนด้อยโอกาสซึ่งมันต้องถูกแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและใช้อำนาจรัฐมาช่วย ตอนนี้ประเทศไทยยังมีการโกงอยู่มาก การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็ยังไม่มีฉบับไหนที่ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างของประเทศได้จริงแม้แต่รัฐธรรมนูญ 60 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

ทวงถามความรับผิดชอบจากอาชญากรรมโดยรัฐ

ภาพวรพจน์กับโปสเตอร์ 20 ปี 14 ตุลาอยู่ด้านหลัง

“ผลกระทบของ 6 ตุลา ที่มีต่อนักเรียน คือ การพรากอนาคตหรือความหวังดีของนักเรียนซึ่งยังเด็กอยู่ อายุไม่บรรลุนิติภาวะ มันเป็นเรื่องใหญ่มากสหรับสังคมไทยที่ทอดทิ้งให้พวกเขาไปเลือกใช้ชีวิตอีกแบบ (เข้าป่า) แม้ตอนนั้นเขาจะเลือกเองแต่สังคมมันผลักไสเขาไป แล้วเขาต้องกลับมาสู้กับชีวิตต่อหลัง พคท. แพ้ ป่าแตกกลับมา” วรพจน์กล่าว

จากการทำกิจกรรมร่วมกับรุ่นพี่ในโรงเรียนเทพศิรินทร์และได้ใกล้ชิดกับบุคคลที่มาจากสายจัดตั้งทำให้วรพจน์มองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่รัฐไทยทอดทิ้งให้เยาวชนหลายคนจำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตแตกต่างจากนักเรียนคนอื่น ๆ คือ มีหลายคนที่เข้าป่าและเกิดเหตุบาดเจ็บจากการถูกยิงทำให้ขากระเผลก บางคนสามารถกลับมาเรียนต่อได้ บางคนพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอีก บางคนก็ผิดหวังกับชีวิตไม่ออกมาเจอเพื่อนอยู่แต่บ้าน แต่ก็มีบางคนที่สามารถใช้ชีวิตต่อได้ซึ่งกลายเป็นนักเขียนหรืออาจารย์ในปัจจุบัน 

ปัจจุบัน มีความพยายามในการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมพูดถึงคนเสียชีวิตหรือวีรชน แต่ยังมีอีกหลายคนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวแต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ พวกเขาเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ได้มีความฝันสำหรับตัวเองแต่ต้องการมีชีวิตเพื่อคนอื่น นอกจากนั้น ยังมีบางส่วนที่พยายามทำงานเก็บหลักฐานเรื่องราวต่าง ๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณะชน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการทำงานของเอกชนและไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร

วรพจน์เชื่อว่าการให้ความจริงปรากฏจะทำให้เราได้เห็นภาพความรุนแรงในมุมกว้างทั้งจากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เราไม่เห็นว่ารัฐไทยจะมีความกล้ามากพอที่จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้ ที่ไม่ใช่แค่การเยียวยาหรือพูดความจริงแต่เป็นการกำหนดแนวนโยบายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต เช่น การจัดตั้งองค์กรฝ่ายขวา การสร้างวาทกรรมล้มเจ้าให้ผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการไม่สามารถแก้หรือยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 ทั้งที่แกนนำจากพรรคเพื่อไทยหรืออดีตเป็นพรรคพลังประชาชนหลายคนก็เคยเข้าป่ามาแล้ว 

ด้วยเหตุผลเดียวกับวรพจน์ ศราวุฒิมองว่าบุคคลในรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีปัจจุบันหลายคนก็เป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 14 – 6 ตุลา ซ้ำรัฐบาลนี้ยังมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ศราวุฒิจึงอยากให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อรื้อประวัติศาสตร์ว่าในช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวาและคำสั่งใช้กองกำลังทหาร ตชด. ในการปราบปรามประชาชน พร้อมผลักดันร่างนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล การชำระล้างประเด็นเหล่านี้มีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และป้องกันขบวนการทำลายการพัฒนาทางประชาธิปไตยไทยในอนาคต

“สิ่งที่หวังอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในตอนนี้ คือ การแก้กฎหมายที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 2519 ที่คณะปฏิรูปแผ่นดินเข้ามาแก้กฎหมายเพิ่มโทษมาตรา 112 ถ้ายอมรับว่าสิ่งนี้เป็นมรดกที่ถูกสืบทอดมาจากการรัฐประหารครั้งนั้น อย่างน้อยก็ควรมีการให้นิรโทษคดีมาตรา 112 ...ถ้าดีที่สุดก็คือการยกเลิกไปเลยหรือหากทำไม่ได้จริง ๆ กฎหมายนี้ก็ต้องมีการถ่วงดุลทั้งเรื่องสิทธิการประกันตัว บทลงโทษ และการจับกุม” กุลวดีกล่าว

ขบวนการนักเรียน-นักศึกษาช่วง 2563 – ปัจจุบัน

วรพจน์สังเกตว่าขบวนการนักเรียนในช่วง 2563 นั้นมีความคล้ายกับขบวนการนักเรียนในช่วงก่อน 6 ตุลาอยู่บ้าง คือ เกิดจากการรวมตัวกันของนักเรียนหลายโรงเรียน เช่น สตรีวิทยา เตรียมอุดมศึกษา แต่ต่างตรงที่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนปัจจุบันไม่ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจัดตั้งหรือพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนเมื่อ 47 ปีที่แล้ว วรพจน์เห็นว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันล้วนมีเจตจำนงของตนเอง การมองโลกของตนเอง และเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะศึกษาและวิเคราะห์หนทางการเคลื่อนไหวของตัวเองต่อไป และอย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างเดียวอาจทำให้เสียคนเข้าร่วม อย่าลืมออกแบบการเคลื่อนไหวพร้อมสร้างความเข้าใจให้คนอื่นในสังคมควบคู่กัน

“ผมว่าผมไม่ควรไปแนะนำอะไรคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นมาเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่ 14- 6 ตุลาก็เกิดขึ้นเพราะนักเรียนและนักศึกษาตอนนั้นก็เป็นคนรุ่นใหม่ในตอนนั้น นักเรียนและนักศึกษาพวกนี้ก็เป็นคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ผมว่าคนรุ่นใหม่จะเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ตราบใดที่บ้านเมืองของเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ศราวุฒิ

นอกจากนั้น ศราวุฒิยังมองว่าขบวนการภาคประชาชนตอนนี้ค่อนข้างเข้มแข็งแม้จะมีการแยกขบวนการแรงงาน ประชาชนทั่วไป หรือขบวนการนักศึกษา แต่เขาเชื่อว่าขบวนการนักเรียนและนักศึกษาก็ยังเป็นพลังบริสุทธิ์ที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาสังคมได้ ตอนนี้ เราอาจขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างภาคนักศึกษา ประชาชน และแรงงาน ศราวุฒิจึงอยากฝากให้ขบวนการนักเรียนปัจจุบันให้มีการสรรหาแนวร่วมจากภาคสังคมอื่นให้มากขึ้น และอย่าลืมการถอดบทเรียนและศึกษาว่าในอดีตฝ่ายขวาเคยทำลายขบวนการนักศึกษาอย่างไร เราต้องไม่ทำให้เกิดการซ้ำรอยนั้น ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทุกวิถีทางให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ภาพซ้าย - กุลวดีกับกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการเมื่องานรำลึก 47 ปี 6 ตุลา; ภาพขวา - กุลวดีขณะร่วมมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนคนธรรมดาในงานรำลึก 47 ปี 6 ตุลา (เครดิตภาพ iaonnic)

“คนรุ่นใหม่ตอนนี้คือคนที่อยู่ในปัจจุบันและต้องใช้ชีวิตอีกในอนาคต เราเชื่อว่าพวกเขาออกมาเพราะตระหนักถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ไฟดวงนี้อาจถูกจุดติดเพราะประวัติศาสตร์แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเรียนรู้ปัญหา ซึ่งมันเป็นไฟในใจของพวกเราเอง การต่อสู้กับเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ยากและยังมีหลายด่านที่อาจจะต้องเหนื่อย ป้าอยากบอกว่า อย่าท้อแท้ ขอให้พวกเราเชื่อมั่นในตนเอง ส่วนตัวป้าคงไม่สามารถไปกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวของเด็ก ๆ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากไปกำหนดหรือชี้นำ อยากให้เด็ก ๆ ทำกันเอง” กุลวดี

กุลวดีเล่าว่าตนเองและเพื่อนหลายคนที่ออกจากป่าต่างไปใช้ชีวิตของตัวเองกัน แต่บางคนก็ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไป เช่น สนับสนุนขบวนการชาวนา ขบวนการนักศึกษา หรือช่วยเคลื่อนไหวในพฤษภา 35 แม้แต่ช่วงการเมืองเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก็ยังมีบางส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ และหลายคนก็ยังคงรวมตัวกันค่อนข้างเหนียวแน่น การชุมนุมล่าสุดช่วง 2563 - 2564 ก็ได้เข้าร่วมชุมนุมกับขบวนการนักเรียนนักศึกษาอยู่บ้าง หรือบางครั้งก็ระดมเงินกันเพื่อสนับสนุนกองทุนราษฎรประสงค์ เพื่อช่วยสมทบเงินค่าประกันตัวคดีการเมือง

“พูดตรง ๆ ตอนนี้เราก็ยังไม่หยุดคิด แม้มันจะไม่จบที่รุ่นป้า แต่ก็ยังหวังให้มันจบที่รุ่นเด็ก ๆ” กุลวดีกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net