Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ณ หมู่บ้านประมงขนาดเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี สภาพบ้านชั้นเดียว หลังคาสังกะสีที่เต็มไปด้วยรูโหว่ขนาดใหญ่ มีฝาไม้เป็นผนังแต่ก็เต็มไปด้วยความเก่าและผุพัง ในบ้านแทบจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรที่ดูมีค่า นอกจากหม้อหุงข้าว มุ้งเก่า และพัดลม ถึงแม้ว่าจะมีห้องน้ำแต่ก็ไม่มีประตู ทางเข้าบ้านเป็นโคลนเลน มีเพียงหินและปูนซีเมนต์เล็กๆ กั้นไว้เป็นทางเดิน

บ้านของนางปิ (นามสมมติ) ตั้งอยู่ใกล้ริมทะเลอ่าวไทย ครั้นเกิดพายุใหญ่จะต้องอพยพไปอยู่ในโรงเรียนเพื่อความปลอดภัย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งมาแล้ว 70 ปี เคยมี 4 หมู่บ้าน แต่ต้องจมหายไปอยู่ใต้ท้องทะเล ชาวประมงที่เหลือจึงต้องถอยร่นเข้ามาอยู่ในผืนดินมากขึ้น ในพื้นที่ที่ถูกประกาศภายหลังว่าเป็นป่าอนุรักษ์ชายเลน 

ฉันได้เข้าไปคุยกับนางปิ หญิงชราอายุ 62 ปี ผิวสีคล้ำ รูปร่างผอม ที่พยายามพยุงร่างที่บอบช้ำจากการลื่นหกล้มหน้าบ้านเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา 


สภาพบ้านนางปิ ก่อนจะซ่อมแซมด้วยเงินฌาปนกิจลูกชายคนโต ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566

ยาม่วงแต้มบริเวณฝามือ และเท้า ที่เต็มไปด้วยบาดแผล ทำให้ฉันตกใจจนต้องถามถึงสาเหตุของบาดแผลและยาม่วงเหล่านี้ นางปิ ตอบว่า “ฉันลื่นหกล้มที่หน้าบ้าน ฝนมันตก” นอกจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุแล้ว สิ่งที่ทำให้ฉันสะเทือนใจคือ นางปิ ยังเจ็บป่วยเรื้อรังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่เกิดจากอาชีพการแปรรูปปลา และซ่อมอวน

สภาพบาดแผลและยาม่วงที่มือ

ท่านั่งกับพื้นปูน และเก้าอี้เตี้ย ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ส่งผลให้ปัจจุบัน สภาพร่างกายของผู้หญิงชาวประมงขนาดเล็กในหมู่บ้านแห่งนี้ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เพราะความยากจน รายได้น้อย จึงต้องทำงานหนักตลอดทั้งวัน ถึงแม้ว่าชีวิตจะไม่ได้ทำงานอยู่ในโรงงาน แต่สภาวะความยากจนเรื้อรังซ้ำซาก ทำให้การใช้ชีวิตแทบจะไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงที่ต้องทำงานอยู่ในโรงงานนรก

ความยากจนยังทำให้สามีของผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านต้องทำงานหนัก และได้รับการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก แต่ด้วยบทบาทความเป็นผู้นำครอบครัว ผู้ชายในหมู่บ้านจึงต้องประกอบอาชีพทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ตระเวณไปตามจังหวัดและพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีการศึกษาน้อย รวมทั้งยากจน แต่หลายคนเป็นคนดี ขยันขันแข็ง บางคนจึงต้องทำงานมากกว่า 3 อย่าง ใน 1 วัน 

ในอดีต โครงการพัฒนาเข้าไม่ถึงพื้นที่ชายขอบแบบนี้ เพราะคนที่นี้พูดภาษาไทยไม่ได้ และข้าราชการไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้เช่นเดียวกัน ส่วนระบบการศึกษาที่มีการพัฒนามาจากกรุงเทพและผู้คนในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบบการศึกษาจากส่วนกลางจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนประมงที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแบบชีวิตบนท้องทะเลและชายฝั่ง เด็กๆ ในหมู่บ้านจะต้องไปช่วยพ่อแม่จับสัตว์น้ำ เมื่อถึงฤดูกาล หรือต้องเดินทางไปพร้อมกับพ่อแม่ที่ต้องทำงานรับจ้างตามจังหวัดอื่นๆ


เรือประมงขนาดเล็ก

ผืนดินบริเวณแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์มาก หลักฐานเชิงประจักษ์คือปล่องไฟสำหรับสีข้าว ที่เคยมีทุ่งนาและป่าไม้โกงกางอยู่เต็มดาษดื่น แต่เมื่อมีถนนและการพัฒนาเข้าถึง ป่าชายเลนเริ่มหาย โดยมีบ้านและสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาแทนที่ ขยายตาม 2 ฝั่งที่ถนนตัดผ่าน นายทุนกว้านซื้อที่ดินที่ไม่เคยได้อยู่อาศัย ปล่อยทิ้งร้าง ขนาบข้าง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ถูกบีบให้อยู่ในพื้นอัดแคบลง ทำให้ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีสภาพไม่แตกต่างจากสลัม


ภาพขอบเขตแผนที่หมู่บ้านที่ได้รับการอนุญาติให้อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถซื้อขายได้


สภาพขยะในหมู่บ้าน


ป่าชายเลนในหมู่บ้าน

ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ไม่ได้ไปเรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินซื้ออาหารกลางวัน โครงการอาหารกลางวันฟรีที่กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ มาทีหลังเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2546[1]  เด็กๆ ในยุคนั้นจึงไม่ได้เรียน 

การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา นำไปสู่ความยากลำบากในการเลื่อนฐานะทางสังคม ภาวะความยากจนจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง

ผู้ชายชาวประมงในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนมาก ไม่มีเรือเป็นของตัวเอง ต้องไปเป็นลูกเรือของเพื่อนที่เป็นเจ้าของเรือ ออกทะเลช่วงเวลา 5-6 โมงเย็น และเดินทางกลับเข้าฝั่งอีกทีตอนหัวเช้า ประมาณ ตี 5 – 6 โมงเช้า แต่ไม่ทุกวันที่เรือจะโชคดีได้ปลา บางวันไม่ได้ปลาสักตัวก็มีและเริ่มบ่อยครั้ง 

ชาวประมงพื้นบ้านยากจนจะมีวิธีจับปลาที่ต่างจากชาวประมงร่ำรวย พวกเขาจะใช้ความรู้และความคุ้นชินกับฤดูกาลในท้องทะเล ส่วนชาวประมงร่ำรวยบนเรือมีโซนาร์ที่สามารถค้นหาปลาได้อย่างแม่นยำ แน่นอนว่าชาวประมงพื้นบ้านยากจนหลายครั้งกลับบ้านมือเปล่าก็มี

ชายชาวประมงที่ไม่มีเรือ จะใช้แห หรือเบ็ด หาปลาตามริมชายหาด เอามาให้ภรรยาแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง เพื่อนำไปขายในตลาดอีกทอดหนึ่ง


ปลาตากแห้ง 

วิถีชีวิตของผู้ชายชาวประมงพื้นบ้านเมื่อถึงฝั่ง จะนอนพักสัก 2-3 ชั่วโมง ก่อนเริ่มกิจกรรมการซ่อมอวนในท่านั่งขัดสมาดประมาณ 7 โมงเช้า ส่วนภรรยาจะบริการน้ำชา ที่เขี่ยบุหรี่ อาหาร ไว้พร้อมข้างกาย กิริยาดังกล่าว แทบจะทำให้ไม่ต้องลุกออกจากที่เดิม เพื่อไปยืดเส้นยืดสายที่ไหน สุดท้ายหลายคนเกิดภาวะพิการกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ผู้ชายชาวประมงแห่งนี้จะไม่นิยมเดินทางไปตรวจสุขภาพเพราะความหวาดกลัว ประกอบกับการทำงานหนักหลายอย่าง จึงป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน หอบหืด และมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 50 ปี เท่านั้น

ผู้หญิงชาวประมงในหมู่บ้านแห่งนี้ จำนวนไม่น้อยเรียนจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 2 เพราะต้องตระเวณตามแม่ที่ยากจน ไปทำงานยังหมู่บ้านและจังหวัดอื่นเป็นเวลากว่า 2-3 ปี หรือมากกว่า ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยศึกษาก็ตาม จนเกิดเป็นภาวะการอ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ บางคนเขียนได้แค่ชื่อตัวเองพอเป็นลายเซ็นเวลาไปธนาคาร นับเงินได้เพียงรู้แค่สีของกระดาษเท่านั้น

เนื่องจากการศึกษาน้อยและแต่งงานกับสามีที่มีสภาพไม่แตกต่างกัน เมื่อมีลูก ลูกก็ขาดโอกาสในชีวิต เพราะพ่อแม่ ไม่มีความสามารถให้เรียนหนังสือในระดับที่สูงกว่าประถมศึกษา ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ลูกๆ เติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จึงได้เรียนหนังสือเพียงประถมศึกษาตอนปลาย หรือมัธยมศึกษาตอนต้น หลายคนต้องออกจากโรงเรียน แต่งงาน และเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย 

ด้วยวัฒนธรรมของชาวประมงในพื้นที่แห่งนี้ หลายคนจึงแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย เพียง 13-15 ปี บางคนพ่อแม่จับให้แต่งงานและไม่ให้เรียนหนังสือ เพียงแค่ลูกของเพื่อนบ้านมีแฟน ทำให้โอกาสในการเรียนหนังสือที่ริบหรี่อยู่แล้ว กลับมืดบอดสนิท หมดโอกาสในการเลื่อนสถานะทางสังคม ครั้นเมื่อมีลูก จึงไม่สามารถส่งเสียให้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับได้เช่นกัน วัฎจักรของความยากจนข้ามรุ่นจึงถูกผลิตซ้ำ และยากที่จะหลีกหนี

นางปิ นอกจากเสียสามีในช่วงวัยสาวแล้ว ลูกชาย 2 คน ที่เคยเป็นเด็กเรียนดีตั้งใจเรียน แต่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ เพราะสภาพทางบ้านที่อัตคัต ยากจนแสนสาหัส ต้องเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย แต่ก็ติดยาเสพติดอย่างหนัก จนทำงานไม่ได้และต้องกลับมาอยู่กับแม่ในหมู่บ้าน 

ลูกชายคนโตของนางปิ พึ่งเสียชีวิตเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เพราะยาเสพติดทำลายสมองจนกลายเป็นคนสติไม่ดี ซึ่งมักจะเดินไปเรื่อยเปื่อยตามหมู่บ้านอื่น ขณะนั่งเล่นอยู่บนเกาะกลางถนน แต่โชคร้ายถูกรถพ่วงทับจนเสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกชายคนที่ 2 ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากสมองสูญเสียความสามารถจากยาเสพติดเช่นเดียวกัน แต่ยังพอพึ่งพาให้อยู่เป็นเพื่อนแม่ในหมู่บ้าน 

ตอนนี้นางปิ ซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยใหม่จากเงินสงเคราะห์ชดเชยของลูกชายที่ถูกรถพ่วงทับ แต่อนาคตของครอบครัวนี้มืดดับ เนื่องจากทั้งสามี และลูกชายคนโตได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนนางปิและลูกชายคนเล็ก มีเพียงการทำงานเล็กน้อยพอประทังชีวิตเพื่อซื้อข้าวสารกรอกหมอ และได้แต่เพียงรอวันหมดลมหายใจ สิ้นเฮือกสุดท้าย ตายในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยได้แต่ขอพรจากพระเจ้าให้ไปอยู่ในโลกหน้ากับพระองค์ ที่เชื่อว่าหากมีศรัทธาที่มั่นคง พระองค์จะมอบชีวิตที่ดีแตกต่างจากโลกบัดซบที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน

 

อ้างอิง

[1] สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน. (2017). ความเป็นมาของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน. http://www.obecschoollunch.com/history/

 

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ พ่อตายอายุน้อย แม่พิการยามแก่ ลูกอายุสั้นเพราะยาเสพติด ชีวิตไร้อนาคตในชุมชนประมงขนาดเล็กในปัตตานี


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net